1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่นที่คนท้องถิ่นไม่ได้เลือก?

เรื่อง: ปณิธ ปวรางกูร

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ประกาศผลการคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ 2566 เรื่องนี้ทำให้ชาวโซเชียลมีเดียถึงกับมึนงงพร้อมไปกับสงสัยถึงชื่อเมนูอาหาร ”ประจำจังหวัด” ต่าง ๆ บางส่วนกล่าวว่าไม่เคยได้ยินชื่อเมนูนี้มาก่อน หลายคนคงสงสัยว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหลักเกณฑ์การเลือกเมนูเชิดชูอาหารถิ่นอย่างไร โดยกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่นเป็นกิจกรรมในโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ตามข้อมูลจากบทความเกี่ยวกับโครงการนี้ในเว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกับสื่อ ได้ความว่า โครงการนี้เกิดด้วยจุดประสงค์เพื่อเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย แล้วนำมาสร้างคุณค่าและมูลค่า รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นอาหารไทย อยู่บนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น และอนุรักษ์ โดยคัดเลือกด้วยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด สรรหาเมนูอาหารไทยพื้นถิ่น 3 เมนูที่เป็น ”อัตลักษณ์โดดเด่น” ของจังหวัดตนเองแล้วส่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯได้พิจารณาเป็น 1 เมนูให้เป็นเมนูอาหารไทยพื้นถิ่นประจำจังหวัดและประกาศยกย่องให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติ โดยในภาคเหนือเองก็มีเมนูได้รับการคัดเลือกดังนี้

1. แกงมัสมั่นกล้วยไข่ : จังหวัดกำแพงเพชร

2. ยำไกน้ำของ (สาหร่ายแม่น้ำโขง) : จังหวัดเชียงราย

3. ตำจิ๊นแห้ง : จังหวัดเชียงใหม่

4. เมี่ยงจอมพล : จังหวัดตาก

5. ทอดมันปลากราย : จังหวัดนครสวรรค์

6. แกงแคไก่พื้นเมือง : จังหวัดน่าน

7. หลนปลาส้มพะเยา : จังหวัดพะเยา

8. ยำส้มโอกระทงทองสูตรเมืองชาละวัน : จังหวัดพิจิตร

9. น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง : จังหวัดพิษณุโลก

10. ปิ้งไก่ข้าวเบือ : จังหวัดเพชรบูรณ์

11. น้ำพริกน้ำย้อย : จังหวัดแพร่

12. ข้าวส้ม โถ่โก้ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน

13. ยำปลาแห้ง : จังหวัดลำปาง

14. แกงฮังเลลำไย อำเภอเมืองลำพูน : จังหวัดลำพูน

15. ข้าวเปิ๊บสุโขทัย : จังหวัดสุโขทัย

16. อั่วบักเผ็ด : จังหวัดอุตรดิตถ์

17. ต้มส้มปลาแรด : จังหวัดอุทัยธานี

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นมีความเห็นจำนวนมากที่งงงวยกับการคัดเลือกนี้ ในบางจังหวัดถึงกับมีแรงต่อต้านจากคนในจังหวัดที่รับไม่ได้ เช่นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกระแสในโซเชียลมีเดียจนเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับขั้นตอนการคัดเลือก ยังไม่จบ! ชาวเพชรบูรณ์ รับไม่ได้ชู ‘ปิ้งไก่ข้าวเบือ’ เป็นเมนูประจำถิ่น 

ต้นกำเนิดกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(เดี่ยว?)

ก่อนทำความเข้าใจถึงโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” เราควรทำความรู้จักกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก่อนว่าหน่วยงานนี้มีที่มาอย่างไรและทำไมจึงมีเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะกองวัฒนธรรมภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ในพ.ศ.2501 จากนั้นจึงถูกย้ายไปกรมศาสนาภายใต้กระทรวงเดียวกันในพ.ศ.2515 จนกระทั่งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้ก่อตั้งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเพราะ ”วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของชาติ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศชาติ” และรวบรวมโครงสร้างองค์กรที่สนับสนุนวัฒนธรรมให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยกำหนด ให้มีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมศิลปากร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินแปดคน ซึ่งรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็นกรรมการ ให้เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ท้ายที่สุดสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ตาม พ.ร.บ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2553 

จะเห็นได้ว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นองค์กรที่ส่วนกลางจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม พัฒนา และอนุรักษ์วัฒนธรรม ที่รัฐเชื่อว่าเป็นรากฐานและแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติที่จะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงขึ้น วัฒนธรรมจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ส่วนกลางต้องช่วงชิงไว้เป็นของตนและครอบงำไปในเวลาเดียวกัน หากมองเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะเห็นในช่วง พ.ศ.2518 ที่ก่อตั้งสถามบันวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อ “ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุง รักษา ส่งเสริมเผยแพร่ และปลูกฝังวัฒนธรรมของชาติให้แก่ประชาชนและเยาวชน” จะเห็นได้ว่าไม่มีการอธิบายเพิ่มเติมว่าวัฒนธรรมที่ต้องการส่งเสริมเผยแพร่และปลูกฝังนี้หมายถึงวัฒนธรรมใด นอกจากนี้ในภาคผนวกพรบ.สำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2522 กล่าวถึงวัฒนธรรมว่า “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของชาติ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ” เป็นที่น่าสงสัยว่าในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นประเทศไทย มีวัฒนธรรมใดเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แล้ววัฒนธรรมใดที่รัฐมุ่ง ”เผยแพร่และปลูกฝัง” ให้กับประชาชนและเยาวชน  หากมองดูการจัดการศึกษาในทุกยุคสมัยของไทยนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลไม่เคยหรือให้อำนาจท้องถิ่นน้อยมากในการจัดการการศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเอง แม้จะมีพรบ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ที่สร้างสภาวัฒนธรรมขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสานงานดำเนินวัฒนธรรม แต่ก็มีหน้าที่เพียงแค่ “เสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายและแผนแม่บทวัฒนธรรมของชาติ” และดำเนินการทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เท่านั้น เห็นได้ว่าสภาวัฒนธรรมมีหน้าที่เพียงแค่เสนอแนะแต่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินหรือมีส่วนร่วมออกแบบแผนแม่บทวัฒนธรรมของชาติ จึงกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมที่รัฐมุ่ง”เผยแพร่และปลูกฝัง”ให้กับประชาชนนั้นย่อมหนีไม่พ้นวัฒนธรรมของชนชั้นนำผู้ถืออำนาจหลักอาจกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับวัฒนธรรมอื่น ๆ นั่นเอง

คนเลือกอาหารประจำถิ่นที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นและไม่มีอำนาจจัดการท้องถิ่น

หากลงลึกไปยังผู้คัดเลือกอาหารเหล่านี้คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ตามที่นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดดูจะเป็นตำแหน่งที่มีความท้องถิ่นมากที่สุดเนื่องจากคุณสมบัติข้อหนึ่งคือต้องเป็นสมาชิกกาชาดของจังหวัดมาก่อน ในขณะที่ตำแหน่งผู้ว่าราชการนั้นเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหาร ระดับสูง สายงานบริหารงานปกครอง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางโดยตรงอันเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาคหรือการแบ่งอำนาจจากส่วนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ใช่คนในพื้นที่และหากมองจากกรณีของจังหวัดเชียงใหม่ไม่เพียงมีคนพื้นที่น้อยมากที่ได้ดำรงตำแหน่ง แต่ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการตำแหน่งเชียงใหม่ยังสั้นอีกด้วย คงไม่สามารถกล่าวได้เลยว่าคนนอกพื้นที่และอยู่ในตำแหน่งในระยะสั้นจะสามารถเข้าใจและส่งเสริมอาหารท้องถิ่นได้อย่างดี

ในกรณีของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพิ่งก่อตั้งขึ้นในพ.ศ.2549 จากกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2549 ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ”ทำหน้าที่ประสานงานและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนในส่วนภูมิภาค เพื่อให้การดำเนินการด้านศาสนาและศิลปะในระดับจังหวัดเป็นไปอย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” จะเห็นได้ว่าการจัดตั้งนี้เป็นการแบ่งอำนาจส่วนหนึ่งของสำนักงานวัฒนธรรมส่วนกลางไปให้ท้องถิ่น และคำว่าทำหน้าที่ประสานงานและปฏิบัติงานในฐานะตัวแทนแสดงให้เห็นว่าสำนักงานระดับจังหวัดเหล่านี้มีหน้าที่เพียงส่งต่อและปฏิบัติคำสั่งหรือนโยบายของส่วนกลางเท่านั้น แม้ว่าจะมี อำนาจในการจัดการศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ยังคงเป็นไปในกรอบของนโยบายที่มาจากส่วนกลาง ไม่มีอำนาจในการจัดการบริหารวัฒนธรรมของจังหวัดตนเองได้อย่างอิสระ

สองในสามของผู้คัดเลือกจึงมีหนึ่งคนที่ส่วนมากมักไม่เป็นคนท้องถิ่นและดำรงตำแหน่งในจังหวัดหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และอีกหน่วยงานหนึ่งที่ไม่มีอำนาจแม้แต่จะจัดออกแบบนโยบายในการส่งเสริม ค้ำชูและเผยแพร่วัฒนธรรมของจังหวัดตนเอง ต้องรอและคอยทำตามนโยบายที่ส่วนกลางส่งมา จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เมนูอาหารที่ได้รับเลือกออกมาเป็นเช่นนี้

ถึงเวลากระจายอำนาจด้านวัฒนธรรม

กลับมาที่ตัวโครงการ “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่น่าฉงนนี้ แม้จะมีเอกสารไม่มากเกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของโครงการแต่ข้อมูลจากข่าวและบทความในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมสรุปได้ว่าโครงการนี้สนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์อาหารไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดความภาคภูมิใจ และอนุรักษ์อาหารไทยไม่ให้สูญหาย ซึ่งข้อหลังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จังหวัดต่าง ๆ เลือกเมนูอาหารที่หลายคนรู้จึกขึ้นมาเป็นเมนูเชิดชูอาหารถิ่น กระนั้นมีสิ่งที่แลดูผิดฝาผิดตัว 2 ข้อ 1.หากต้องการเชิดชูอาหารถิ่นของแต่ละจังหวัด เหตุใดจึงเลือกเพียงเมนูเดียวและไม่นำเสนอเมนูอาหารในลักษณะชุดอาหาร เพราะหากต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร การสนับสนุนในลักษณะชุดอาหารน่าจะทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับอาหารได้มากกว่า 2.เมื่อโครงการต้องการอนุรักษ์เมนูอาหารให้ยังคงอยู่เหตุใดจึงเลือกเพียงเมนูเดียว ในเมื่อเมนูอาหารในท้องถิ่นนั้นมีมากมายและใช้เกณฑ์ใดในการเลือกว่าอาหารชนิดไหนควรได้รับการอนุรักษ์มากกว่าชนิดอื่น ยังไม่นับรวมถึงการขาดส่วนร่วมจากภาคประชาชนอีกด้วยที่ทำให้โครงการนี้มีแนวโน้มไม่ประสบความสำเร็จ

ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ว่าอาหารในภาคเหนือนั้นมีฤดูกาลของแต่ละเมนูอาหาร การกล่าวว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นอาหารประจำจังหวัดจึงเป็นไปไม่ได้และไม่สมเหตุสมผล เช่น แกงผักของภาคเหนือมีกว่า 100 ชนิด สัตว์ที่นำมาประกอบอาหารได้มีกว่า 100 ชนิด การคาดหวังว่ามีอาหารยอดนิยมเพียงหนึ่งหรือสองเมนูจึงเป็นไปไม่ได้ การคิดเช่นนี้เป็นวิธีคิดแบบคนตะวันตกที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร หากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมต้องการส่งเสริมอาหารถิ่นก็ควรทำในลักษณะว่าในท้องถิ่นหนึ่งมีอาหารถิ่นจำนวนเท่าไร และหากมีเมนูที่เริ่มสูญหายจึงให้ท้องถิ่นออกมารณรงค์อนุรักษ์เมนูที่กำลังสูญหาย ศ.ดร.ธเนศวร์ เสนอแนะเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในการจัดการประเด็นอาหารไว้ว่า ถ้ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะมี 3 ภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือ 1.ครู 2.ศาสนา 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อแรกครูจะมีบทบาทเรื่องอาหารมากขึ้น โดยหากมีวิชาอาหารท้องถิ่น จะส่งผลให้เด็กนักเรียนฝึกทำอาหารถิ่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งเชิงทฤษฎี ประวัติศาสตร์และลงมือปฏิบัติ ข้อสองศาสนา บางวัดที่มีประชาชนน้อยก็มีขยมหรือลูกศิษย์วัดปรุงอาหารให้กับพระ ข้อสามคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจัดการประชุมนักปราชญ์มาประชุมกันในประเด็นอาหาร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้วัตถุดิบที่เคยนิยมในอดีตที่หายไปเพราะสารเคมีกลับมา เช่น แมงนูนหรือไข่จั๊กจั่น องค์กรปกครองจึงต้องเข้ามามีบทบาท เช่นการห้ามใช้สารเคมี ซึ่งต้องใช้เวลาและการรณรงค์ หรือจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่หายไป

กิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” ทำให้เห็นถึงเรื่องการรวมศูนย์อำนาจของรัฐในด้านวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน เห็นได้ว่าหน่วยงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่รัฐสร้างขึ้นนั้นมองวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวเท่านั้น ซ้ำร้ายองค์กรในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายวัฒนธรรมของตนเองทำได้เพียงรับสนองนโยบายและเสนอแนะเท่านั้น การที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีกิจกรรมเช่นนี้ออกมาจึงไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและประชาชน ประกอบกับการบริหารอำนาจที่รวมศูนย์อย่างมาก 

ในปัจจุบันที่เรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างจังหวัดจัดการตนเองและเลือกตั้งผู้ว่าได้ถูกยกขึ้นมาถกเถียงอย่างมาก เรื่องการกระจายทางวัฒนธรรมให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจออกแบบการศึกษา การอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของตนเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กับการกระจายอำนาจการบริหาร

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง