8888 Uprising In Chaingmai เชียงใหม่กับการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยเมียนมาหลังปี’88

เรื่อง: ปณิธ ปวรางกูร

เป็นเวลากว่า 35 ปีแล้วจากการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวเมียนมาเพื่อล้มระบบเผด็จการทหาร ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่เรียกว่า 8888 Uprising สาเหตุเกิดจากการไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร เน วิน ซึ่งทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอดีตนายกรัฐมนตรี อู นุ ในปี 1962 ในนาม สภาปฏิวัติแห่งสหภาพ (Union Revolutionary Council) และได้ตั้งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party: BSPP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวแบบเผด็จการที่ปกครองและครอบงำประเทศเมียนมาหลังจากนั้นเป็นต้นมา

การดำเนินการบริหารประเทศเมียนมาที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าและ นายพล เน วิน นั้น สร้างความลำบากกับประชาชนเป็นอย่างมาก การปิดประเทศอย่างยาวนาน จากประเทศที่ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลกกลายเป็นหนึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การยกเลิกธนบัตรราคา 75 35 และ 25 ที่ส่งผลให้เงินในมือประชาชนไร้ค่าทันที รวมไปถึงการตอบโต้ประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนชาวเมียนมาเป็นอย่างมาก 

และแล้วความไม่พอใจของประชาชนก็เกิดการประทุขึ้นในต้นปี 1988 นักศึกษาและประชาชนได้ออกมาชุมนุมประท้วงในเดือนมีนาคม ยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี่เอง นายพล เน วิน และผู้นำในกองทัพหลายคนได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ ให้เหตุผลว่าเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนลงจากตำแหน่ง นายพล เน วินได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อทหารยิงนั้นเป็นการยิงเพื่อให้ถูกเป้า ไม่ใช่ยิงเพื่อขู่ให้กลัว”

(ภาพ: npr.org)

หลังจากที่นายพล เน วินได้ประกาศลาออก ผู้ที่ได้รับไม้ต่อในการบริหารประเทศก็คือ นายพล เส่ง ลวิน ทหารคนสนิทของนายพล เน วิน และเป็นผู้บังคับบัญชาการภารกิจปราบปรามนักศึกษาและผู้ชุมนุมประท้วง ด้วยเหตุนี้สร้างความไม่พอใจแก่นักศึกษา ประชาชน รวมไปถึงพระภิกษุเป็นอย่างมาก ประชาชนชาวเมียนมากว่า 1 ล้านคน ออกมาชุมนุมในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 เรียกร้องให้นายพลเส่ง ลวิน และระบอบทหารสลายไปจากประเทศพม่า 

ด้วยเหตุการณ์การประท้วงของประชาชนชาวเมียนมานี้เอง คำพูดของนายพล เน วิน ที่กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อทหารยิงนั้นเป็นการยิงเพื่อให้ถูกเป้า ไม่ใช่ยิงเพื่อขู่ให้กลัว” ก็กลายเป็นจริงโดย นายพล เส่ง ลวิน ได้สั่งปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เกิดขึ้นมีการใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน (บางแหล่งข่าวรายงานว่าผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 10,000 คน) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนเมียนมาเป็นจำนวนมากต้องหลบหนีลี้ภัยเข้ามาสู่ประเทศไทย

(ภาพ:democracyforburma.wordpress.com)

มิตรสหายในเชียงใหม่ ห้วงยามหลังเหตุการณ์ 8888

จังหวัดเชียงใหม่ด้วยที่ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับเมียนมามายาวนานจึงเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของชาวเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ได้กลายเป็นที่พักพิงของกองทัพเอกราชพม่าที่ได้รับการฝึกจากกองทัพญี่ปุ่นก่อนที่ชาวเมียนมาจะเริ่มตีตัวออกห่างจากญี่ปุ่นในเวลาต่อมา จังหวัดเชียงใหม่จึงกลายพื้นที่ที่โอบรับนักต่อสู้ชาวเมียนมาจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน ด้วยการที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาและมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเป็นเวลานาน คนเชียงใหม่จึงเปิดรับกับความหลากหลายและมีทัศนคติที่ค่อนข้างดีกับชาวเมียนมา

ในช่วงเหตุการณ์ 8888 นักต่อสู้ชาวเมียนมาจำนวนมากลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย หนึ่งในจังหวัดที่ชาวเมียนมาเข้าลี้ภัยมากที่สุดก็คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และกรุงเทพมหานคร จากการสอบถามผู้ทำงานในประเด็นเมียนมาที่ไม่ประสงค์ออกนาม ได้ข้อมูลว่าในช่วงเวลานั้นชาวไทยได้ให้การช่วยเหลือนักกิจกรรมทางเมียนมาเป็นอย่างดี มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเอื้อเฟื้อหอพักให้ชาวเมียนมาและผู้ให้ชาวเมียนมาพักอาศัยอยู่ด้วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือในทางลับ ในภาคเหนือในช่วงเวลานั้นก็มีองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหลัก จนกระทั่งช่วงปี 1999-2000 กลุ่มนักต่อสู้ชาวเมียนมาได้ย้ายขึ้นมาที่เชียงใหม่เนื่องจากเริ่มมีการกวาดล้างในกรุงเทพฯ จากเหตุการณ์ยึดสถานทูตเมียนมาในปี 1999 และกองกำลังก็อดอาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี 2000 ได้สร้างภาพจำในแง่ลบต่อชาวเมียนมา ผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ 

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่าบรรยากาศเชียงใหม่นั้นผ่อนคลายกว่าและชาวเชียงใหม่เป็นกับคนที่หนีมามากกว่าคนกรุงเทพฯเพราะมีคนไทใหญ่เข้ามาอยู่แล้วแม้อาจจะมีการดูถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ้าง ในเวลานั้นมีมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ที่คอยช่วยเหลือนักต่อสู้ชาวเมียนมาและยังมีกลุ่มประชาชนต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งที่คอยช่วยเหลืออย่างเงียบๆ

พรพิศ ผักไหม

จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 8888 ขึ้นในประเทศไทย จากการสอบถาม พรพิศ ผักไหม อดีตเจ้าหน้าที่ประสานงาน Empower ระบุว่าการรำลึกถึงเหตุการณ์ 8888 นั้นเกิดขึ้นหลายรูปแบบโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเรียกร้องให้เปิดประชาธิปไตยโดยประชาชนขึ้นในเมียนมา กิจกรรมที่จัดมีทั้งการเดินขบวน เวทีเสวนา ไฮด์ปาร์ค ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับกิจกรรม จากการบอกเล่าของพรพิศกิจกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในปี 1988 แต่เกิดขึ้นภายหลัง มีผู้เข้าร่วมทั้งไทยและต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะให้ความสนใจมากกว่าในเวลานั้น 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล เจ้าหน้าที่ Empower เล่าว่าในช่วงเวลานั้นอองซานซูจีถือเป็นบุคคลแบบอย่างให้กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้หญิงในเชียงใหม่ ทุกคนจึงมีความรู้สึกร่วมในการเคลื่อนไหวในประเด็นเมียนมา และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 8888 ในงานครั้งแรกได้จัดเดินขบวนไปยังประตูท่าแพและจัดกิจกรรมที่นั่น ทันตาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความช่วยเหลือของคนเชียงใหม่กับนักต่อสู้ชาวเมียนมาในเวลานั้นว่ามีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกันอย่างลับๆ ในเชียงใหม่ และมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักต่อสู้หญิงชาวเมียนมากับชาวไทย ซึ่งภายหลังนักต่อสู้หญิงชาวเมียนมาได้กลับไปตั้งองค์กรของตนเองในเมียนมา

เปลวไฟแห่งความหวังยังอยู่

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2021 ภายใต้การนำของมิน อ่อง หล่าย ทำให้เมียนมาจากประเทศที่กำลังเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยต้องวนกลับมาสู่การปกครองประเทศโดยทหารอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งในปี 2020 พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ซึ่งฝั่งของกองทัพได้ออกมาโต้แย้งผลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าการลงคะแนนไม่สุจริต จนกระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทหารได้ทำการรัฐประหารเเละเข้าไปจับกุมแกนนำของรัฐบาล NLD ไป ส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศ เรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับมาอีกครั้ง เพราะเป็นการปล้นชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตอกย้ำว่าการที่กองทัพเข้ามาปกครองประเทศตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

ถึงแม้เหมือนกับว่าความฝันและความหวังของชาวเมียนมาถูกดับลงอีกครั้ง และชาวเมียนมาต้องจากบ้านเกิดเพื่อเอาชีวิตรอดมาพักพิงในประเทศไทย เชียงใหม่ก็ยังคงเป็นพื้นที่โอบรับเช่นเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมีคนไทยมากขึ้นที่สนใจในประเด็นเมียนมา ผู้ทำงานในประเด็นเมียนมาที่ไม่ประสงค์ออกนามเสนอว่าคนไทยและเมียนมาควรจะเรียนรู้และเข้าใจบริบทของกันและกันให้มากเพื่อสามารถก้าวไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ เธอทิ้งท้ายว่า “ถ้าประชาชนไทยและพม่ามีความชัดเจนว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกัน คนที่มีอำนาจคนที่ยึดอำนาจหรือคนที่ได้อำนาจจากเลือกตั้ง เขามาแล้วก็ไปยังไงก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ยังไงประชาชนต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง