พฤษภาคม 19, 2024

    จะดีหรือไม่หากมีวันภาษาเมือง ?

    Share

    เรื่อง : ปณิธ ปวรางกูร

    ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

    29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เริ่มประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2542 เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง วันภาษาไทยเกิดขึ้นจากการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในวันภาษาไทยของทุกปีโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทยจึงจัดกิจกรรมการประกวดแข่งขันเกี่ยวกับภาษาไทยขึ้นไม่ว่าจะเป็น ประกวดอ่านสุนทรพจน์ การแต่งกาพย์กลอน การอ่านทำนองเสนาะ จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนการใช้ภาษาไทยในวันภาษาไทยนั้นมีเป้าหมายต่อเด็กและเยาวชนโดยตรงเพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในภาษาและทำให้ภาษาไทยนั้นดำรงความสำคัญอยู่ แต่สงสัยหรือไม่ว่าทำไมประเทศไทยที่มีภาษาและความหลากหลายอย่างมากถึงไม่มีวันภาษาท้องถิ่นเช่นกัน

    จากการพูดคุยกับ สมศักดิ์ จันทร์น้อย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ผันตัวเป็นครูสอนภาษาเมืองที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าการแข่งขันภาษาเมือง ไม่ว่าจะเป็น การคัดลายมือ การแต่งคร่าว การพูดภาษาเมืองนั้น ก็ยังมีอยู่บ้างในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดในวันสำคัญเช่น 12 เมษายน อันเป็นวันที่พระยาพรหมโวหาร กวีเอกแห่งล้านนาถึงแก่กรรม วันสงกรานต์ หรือวันคล้ายวันเกิดของครูบาศรีวิชัย แต่ไม่พบการแข่งขันภาษาเมืองในโรงเรียน ทั้งนี้ความเห็นอ.แสวง มาลาแซม ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่กล่าวว่าไม่พบการแข่งขันภาษาเมืองในโรงเรียนเช่นเดียวกัน แต่อาจมีการเรียนการสอนภาษาเมืองซึ่งไม่ใช่ภาคบังคับเช่น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สมศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการฟื้นฟูภาษาเมืองโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มขึ้นประมาณปี 2557 และได้รับความร่วมมือกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งความพยายามในการฟื้นฟูนั้นมีมาก่อนปี 57 แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก


    สมศักดิ์ จันทร์น้อย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย/ ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

    ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมากทั้งชาติพันธุ์และภาษา จากฐานข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทรพบว่าประเทศไทยมีกว่า 60 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีกว่า 50 ภาษาที่พูดกันในประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็สนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นโดยให้สิทธิกับชุมชนในการ “อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ” และในรัฐธรรมนูญมาตรา 57 เองระบุว่ารัฐมีหน้าที่ ”อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสําหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วม ในการดําเนินการด้วย” แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้กล่าวถึงภาษาโดยตรงแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาษานั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอย่างแยกไม่ออก ซึ่งเห็นได้ว่ารัฐไม่ได้ส่งเสริมภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยนัก

    ภาษาเมืองเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในภาคเหนือตอนบนและบางจังหวัดใกล้เคียง มีหลายสำเนียงแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ และมีตัวอักษรของตนเองที่ไม่เหมือนภาษาไทยแม้จะเป็นภาษาตระกูลเดียวกันก็ตามเนื่องจากมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง จากการพูดคุยกับแสวง มาลาแซม ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิครูบาเจ้าศรีวิชัย เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นมาของภาษาเมือง ต้นกำเนิดสามารถย้อนกลับไปได้มากกว่า 700 ปี หรือย้อนกลับไปในสมัยอาณาจักรล้านนาเลยทีเดียว กล่าวได้ว่าภาษาเมืองนั้นมีความเก่าแก่กว่าอยุธยาซึ่งเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมของรัตนโกสินทร์หรือประเทศไทยในปัจจุบันเสียอีก ในอดีตก่อนการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และนโยบายสร้างอัตลักษณ์ของชาติในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ภาษาเมืองนั้นเป็นภาษาทางการที่ใช้สื่อสารเป็นหลักทั้งทางราชการชาวบ้านร้านตลาดและสังฆะ(ชุมชน) มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเรียนการสอนภาษาเมืองในวัด และโรงเรียน มีการตีพิมพ์คัมภีร์ใบเบิ้ลโดยใช้ตัวอักษรเมือง การเทศน์ของสงฆ์ด้วยภาษาเมือง การเซ็นเอกสารจากกรุงเทพฯ ของเจ้าอินทรวโรรสและครูบาศรีวิชัยก็ยังใช้ตัวอักษรเมืองไม่ใช่ตัวอักษรไทย

    ….ภายหลังสยามยึดอำนาจจากเจ้าล้านนาเดิมได้แล้วในปี 2442 จากการตั้งมณฑลเทศาภิบาล ก็เริ่มการกลืนกลายคนล้านนาให้กลายเป็นสยามด้วยการศึกษาและภาษาด้วยการตั้งโรงเรียนขึ้น 3 ประเภท คือ 1.โรงเรียนหลวงเป็นโรงเรียนที่รัฐตั้งขึ้นและได้งบประมาณจากรัฐโดยตรง 2.โรงเรียนประชาบาลอันเป็นความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่นกับราษฎร 3.โรงเรียนราษฎร์โดยเอกชน ซึ่งโรงเรียน 2 ประเภทแรกถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ.2464 ที่กำหนดให้เด็กอายุ 7-14 ปี ได้เรียนในโรงเรียนรัฐหรือประชาบาล เป็นความพยายามที่นำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยมตามที่รัฐต้องการ อีกทั้งเป็นการบังคับให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน สำหรับโรงเรียนราษฎรก็มีพ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร พ.ศ.2461 ควบคุมโดยกำหนดให้ผู้สอนต้องมีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะสอนและอบรมนักเรียน ซึ่งต้องการให้นักเรียนอ่าน เขียนและเข้าใจภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว 

    ความพยายามนี้เริ่มสัมฤทธิ์ผลในช่วงทศวรรษที่ 2470 มีรายงานจากเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาว่าคนพื้นเมืองที่ผ่านระบบการศึกษาสามารถพูดภาษาไทยได้และดูจะนิยมมากกว่าภาษาถิ่นของตน รายงานจากเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจในปี 2472 กล่าวว่าป้ายบอกถนนและสถานที่ราชการไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยและเมืองควบคู่กันก็สามารถทำได้ เห็นได้ว่าการบังคับใช้พ.ร.บ.ประถมศึกษาประสบความสำเร็จอย่างมากในการสอนภาษาไทยให้กับคนเมือง ทำให้ภาษาไทยเป็นที่นิยมและทำให้คนเมืองถูกหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อีกทั้งทำให้ภาษาเมืองต้องออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างค่อยเป็นค่อยไป


    แสวง มาลาแซม ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิครูบาเจ้าศรีวิชัย

    เมื่อการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางสยามจึงสนับสนุนให้การใช้ภาษาไทยและยกให้เป็นภาษาราชการเพื่อกลืนกลายคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมต่างกับตนให้มีความรู้สึกเป็นชาติร่วมกัน ทั้งนี้สยามไม่เพียงจัดการเรียนการสอนภาษาไทย แต่ยังจำกัดและห้ามการเรียนภาษาเมืองอีกด้วย มีคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับความพยายามที่จะทำลายหรือด้อยค่าภาษาเมืองจากสยาม เช่น กล่าวกันว่ามีคำสั่งให้รวบรวมตำราคัมภีร์ใบลานจากล้านนาเพื่อนำกลับไปที่กรุงเทพฯ การห้ามพูดภาษาเมืองในสถานที่ราชการ การห้ามสอนภาษาเมืองในโรงเรียนของรัฐ หรือแม้แต่ครูที่ทำโทษนักเรียนเมื่อพูดภาษาเมืองในโรงเรียน ด้วยกระบวนการเหล่านี้ทำให้ภาษาเมืองต้องออกจากโลกสาธารณะไปโดยปริยาย กล่าวคือ เมื่อภาษาไทยกลายเป็นภาษาราชการและใช้กันทั่วไปแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนภาษาเมืองเพราะ การทำงาน เอกสารราชการ กฎหมายนั้นใช้ภาษาไทยในการสื่อสารทั้งหมด ภาษาเมืองจึงหลงเหลืออยู่แค่โลกทางวัฒนธรรมเท่านั้น

    ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะหันกลับมามองถึงที่ภาษาอันเป็นรากของวัฒนธรรม การสนับสนุนอุ้มชูอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือใครคนใดคนหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องรอคอยภาครัฐเพื่อเข้ามา “อนุรักษ์” แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะร่วมกัน “ฟื้นฟู” ภาษา อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลับมา การจัดวันภาษาเมืองเพื่อให้ความสำคัญกับภาษาเมือง อาจเป็นก้าวแรกในการฟื้นฟูความสำคัญของภาษาและอัตลักษณ์คนเมืองให้กลับมาดังเดิม


    อ้างอิง

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...