‘สชป.’ ชุมนุมศาลากลางเชียงใหม่ เดินหน้าจี้รัฐแก้กม.ป่าอนุรักษ์ ชี้ละเมิดสิทธิประชาชน ด้านรัฐบาลรับหลักการเบื้องต้น พร้อมนำหารือต่อ

29 พฤศจิกายน 2567 ‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ (สปช.) รวมตัวกัน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงพลังและยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งยื่นหนังสือแก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือคิดเป็นกว่า 1,849,792 คนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์มาอย่างยาวนาน

หลังจากวานนี้ (28 พ.ย.) สชป. ได้เดินทางมายังศาลากลางฯ เพื่อปักหลักรอยื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นากยกฯ และคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ (29 พ.ย. 67) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายดังกล่าวพร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 5,000 คนเข้าร่วมการ

หลังจากยื่นหนังสือ ผู้แทนชุมนุมได้ร่วมเจรจากับรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาล พร้อมจัดทำบันทึกการหารือฯ ร่วมกัน โดย วิชิต เมธาอนันต์กุล ผู้แทนสชป. ได้สะท้อนถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว  ซึ่งมีข้อบัญญัติที่ส่งผลเสียต่อสิทธิของประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

วิชิต กล่าวถึง พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ว่า มีข้อบัญญัติหลายมาตราที่อาจส่งผลกระทบต่อ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น มาตรา 5 ที่จำกัดระยะเวลาไว้ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้เพียง 20 ปี ข้อกำหนดนี้ขัดต่อความมั่นคงในวิถีชีวิต ของประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยและทำกินในพื้นที่เหล่านี้มาเป็นเวลายาวนาน หรือมาตรา 10 ซึ่งจำกัดการใช้ประโยชน์ไว้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 40 ไร่ ส่วนเกินจะต้องคืนให้เป็นพื้นที่อุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของครอบครัวชนเผ่าพื้นเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก

มาตรา 11 ที่กำหนดคุณสมบัติว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิในโครงการจะต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งส่งผลต่อผู้ที่มีที่ดินคาบเกี่ยวหลายพื้นที่ ทำให้ถูกตีกรอบให้เลือกเพียงที่เดียว เป็นการบังคับชุมชนให้ออกจากป่า นอกจากนี้ยังมี มาตรา 14 ที่กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ขัดหรือแย้งต่อการดำรงชีพของประชาชนและเป็นการเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ดังนั้น สชป. จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ และครม. ประชุมหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ขอให้ยุติการนำ พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับ ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย 

2. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 เป็นรายอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า​ทุก ๆ พื้นที่ี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 60 วัน

3. ขอให้รัฐบาลและครม.จะต้องเร่งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ให้นำเสนอร่างสู่การพิจารณาของครม.ภายใน 90 วัน ก่อนเสนอเข้าสภา

4. ในระหว่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลจะต้องชะลอยับยั้งการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้วเสร็จ  เว้นแต่ในกรณีที่พื้นที่เตรียมการฯ นั้นดำเนินการกันขอบเขตชุมชน พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนแล้วเสร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจา รองนายกฯ และผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงผลการเจรจาต่อผู้ชุมนุม โดยมีมติ รับหลักการเบื้องต้น และ เห็นชอบให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมจัดทำ บันทึกการหารือ เพื่อรับรองอย่างเป็นทางการ และเตรียมนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา จากนั้นรองนายกฯ และคณะผู้แทนรัฐบาลได้เดินทางต่อไปประชุมครม. และมีกำหนดให้ทีมรองเลขาธิการรัฐมนตรีมาแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงเวลา 12.00 น.

หลังจากมีการชี้แจงผลการเจรจาเบื้องต้น พี่น้องจากหลากหลายภาคส่วนได้เข้ามาชุมนุมที่หน้าศาลากลางฯ เพื่อรอฟังผลการลงนามในบันทึกการหารือฯ และการชี้แจงจากรัฐบาล ระหว่างการชุมนุม มีการยื่นข้อเสนอของผู้ชุมนุมต่อผู้แทนกรรมาธิการ สส. สว. และพรรคการเมือง โดยมี เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ในนามตัวแทนคณะกรรมาธิการที่ดิน มานพ คีรีภูวดล ในนามคณะกรรมาธิการเด็ก และอรพัน จันตาเรือง ในนามพรรคประชาชน เป็นผู้แทนรับหนังสือ พร้อมทั้งมีกิจกรรมแสดงศิลปะวัฒนธรรมและการแบ่งปันปัญหาของแต่ละพื้นที่

ในช่วงเที่ยงของวัน ผู้แทนรัฐบาล นำโดย สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้ขึ้นมาแถลงถึงผลการลงนามว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาและยอมรับหลักการทั้ง 4 ข้อที่ประชาชนเสนอ หลังจากนี้จะนำเรียนต่อนายกฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาต่อไปตามข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีการลงนามโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นิรันด์ น้ำภูดิน ผู้ประสานงานสชป. ประยงค์ ดอกลำใย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และ วิชิต เมธาอนันต์กุล ผู้แทนสชป.

จากนั้น วิชิต ผู้แทนสชป. หนึ่งในตัวแทนเจรจา ได้มีการอ่านแถลงการณ์บันทึกการหารือฯ ให้พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมอีกครั้งเพื่อยืนยันหลักการคัดค้าน และแกนนำกล่าวทิ้งท้ายว่า การเริ่มต้นครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาชนสู้ต่อไป พร้อมแจกจ่ายบันทึกข้อตกลงให้ตัวแทนนำไปเผยแพร่ต่อในชุมชน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง