เล่าเลื่องเรื่องเหล้า EP1 สุรา-นารี ในเมืองที่ ผู้หญิงต้มเหล้า

เรื่อง-ภาพ : ลักษณารีย์ ดวงตาดำ

‘สุรา’ มักจะเป็นภาพแทนถึงความรื่นเริง อิสระ เสเพล ซึ่งตรงกันข้ามกับขนบจารีตที่สั่งสอนผู้หญิงให้อยู่ภายใต้กรอบของการเป็นกุลสตรี ผ่านสุภาษิตสอนหญิงและวรรณคดี ตลอดจนวรรณกรรม สื่อบันเทิงร่วมสมัยโดยที่มีเนื้อหากีดกัน ‘ความเป็นผู้หญิง’ ออกไปจากวัฒนธรรมการกินดื่มสังสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นผู้หญิงที่ดีพร้อม ทำให้เรื่องเหล้ามักจะเป็นเรื่องของผู้ชาย และยึดโยงกับความเป็นชายอย่างเป็นปกติวิสัย

แต่หากมองย้อนลงไปในประวัติศาสตร์ของการกำเนิดสุรายาเมา ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ ไวน์ สาเก หรือว่าเหล้าขาว ผู้ที่คิดค้นเอาผลผลิตทางการเกษตรที่มีความหลากหลายเหล่านี้มาผ่านกรรมวิธีบ่มหมัก และต้มกลั่นออกมาจนเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสชาติเฉพาะตัว เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับงานบ้านงานครัวและมีความละเอียดอ่อนในการทดลองพัฒนากรรมวิธี สูตร ส่วนผสมที่ซับซ้อน ในสุเมเรียน อียิปต์ จีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมทั่วโลกปรากฏหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ผู้บุกเบิกการทำเหล้าเบียร์ ล้วนแต่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น รวมไปถึงพื้นที่ล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในด้านการผลิตสุรา และพร้อมที่จะเป็นเมืองหลวงสุราก้าวหน้า อย่างจังหวัดแพร่ ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของวิสาหกิจและโรงผลิตสุรามากกว่าครึ่งเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าบ้าน



การเข้ามาของศาสนา มีผลอย่างมากในการทำให้เหล้าเป็นสิ่งห้องห้าม โดยเฉพาะห้ามผู้หญิงข้องเกี่ยวกับการผลิต ในตะวันตกผู้หญิงที่สืบทอดและส่งต่อกรรมวิธีผลิตเหล้าเบียร์มักถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ถูกประนามและตามล่า ว่าหม้อต้มเบียร์ของพวกเธอคือหม้อปรุงยานอกรีต จนเรื่องเล่าของเหล้าเบียร์ตกอยู่ในสุ้มเสียงและวาทะทางสังคมของผู้ชายในที่สุด

ในภาคเหนือของประเทศไทย เหล้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เช่น การเลี้ยงผี อันเป็นที่มาของวลี “เหล้าไห ไก่คู่” นั่นก็คือการใช้เหล้า 1 ไห และไก่ 2 ตัว ในพิธีกรรมสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และช่วยเป็นสื่อติดต่อกับภูตผีหรือเทวดาอารักษ์ได้ รวมไปถึงการขอขมา แก้ผิดผีการล่วงละเมิดต่างๆ และการแต่งงาน เหล้าจึงเป็นสิริมงคล เพราะเชื่อว่าผีและเทวดาชอบ ชาวกะเหรี่ยงก็มีความเชื่อว่า สุราเป็นของสูง เพราะกำเนิดจากข้าว โดยผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆในศาสนาผี ก็ยึดโยงกับผู้หญิงและความเป็นแม่ 

ความเชื่อและภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อผ่านแม่และลูกสาว ไม่ว่าจะเป็นพระแม่โพสพ แม่ย่าหม้อนึ่ง ที่นั่งผี และอีกหลากหลายชื่อเรียกผู้ประกอบพิธีกรรมจากข้าวและเหล้า จะส่งต่อการเป็นผู้สืบทอดให้กับทายาทที่เป็นผู้หญิงในครอบครัวเท่านั้น เช่นเดียวกับการส่งต่อมรดก เช่น บ้าน ที่นา และสูตรเฉพาะของเหล้าประจำตระกูล ก่อนที่เหล้าจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในการมาถึงของศาสนาพุทธที่เบียดขับแย่งชิงพื้นที่กับศาสนาผีในล้านนา แต่ยังคงปรากฏผู้หญิงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในแวดวงการผลิตสุราซึ่งจะเห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่



ตั้งแต่อดีตผู้หญิงในชนบทมีหน้าที่ทำงานในบ้าน เลี้ยงดูลูกและดูแลคนแก่ ทำงานในไร่นา หุงหาอาหารในครัวเรือน มีความใกล้ชิดกับ ข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรและการนำมาแปรรูป นับตั้งแต่การมีพ่อค้าและแรงงานทำไม้จากต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในการหารายได้โดยรับหน้าที่ ผลิตเหล้าในครัวเรือนเพื่อขายด้วย แต่ในยุคที่สุราพื้นบ้านเป็นของเถื่อนการค้าขายเหล้าในยุคนั้นเสี่ยงอันตราย ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เพราะต้องหลบหลีกเพื่อเลี่ยงเส้นทางที่มีด่านตรวจต่างๆ และต้องออกจากบ้านในช่วงกลางดึก ผู้ชายจึงเข้ามามีบทบาทในการไปค้าเหล้าด้วยกัน ขณะที่กลุ่มผู้หญิงจึงต้องอยู่กับบ้าน คอยทำการผลิตและเตรียมบรรจุ

ต่อมาเมื่อการค้าเหล้าได้เป็นอาชีพหลักอย่างจริงจัง จึงเริ่มหาช่องทางในการเจรจาต่อรองกับสรรพสามิต ด่านตรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การขนส่งเหล้ามีความสะดวกมากขึ้น ผู้หญิงจึงเพิ่มบทบาทชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการค้าเหล้า ตั้งแต่ดสนผลิตคิดค้น การวางแผนการขาย การจัดการต้นทุนกไร การเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ และการเจรจาค้าขาย ในการรับรู้ของคนแพร่ เรื่องเหล้า จึงเป็นเรื่องของผู้หญิงมาตั้งแต่แรกเริ่ม และไม่เคยถูกพรากไปจากวิถีชีวิตของผู้หญิงในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสียภาษีผลิตสุรามากที่สุดในประเทศไทย เฉลี่ย 300-500 ล้านบาทต่อปี



แม่ลำดวน ขอนขะแจะ แม่หลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านห้วยขอน อายุ 50 ปี เป็นผู้นำชุมชนที่เรียนรู้กรรมวิธีและภูมิปัญญาการต้มกลั่นสุราขาวครอบครัวตั้งแต่เด็ก และเริ่มต้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลิตสุราตั้งแต่อายุ 20 ปี  แม้ไม่ได้อาศัยอยู่ในตำบลสะเอียบซึ่งเป็นแหล่งผลิตสุราขึ้นชื่อในจังหวัดแพร่ แต่การที่แม่ลำดวนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในจำนวนวิธีการผลิตสุราเป็นอย่างดีและเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่าย ผู้หญิงต้มเหล้า เน้นย้ำให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้มีบทบาทสำคัญในแหล่งผลิตสุราขึ้นชื่อของจังหวัดเท่านั้น แต่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตสุราในทุกพื้นที่

กลุ่ม ผู้หญิงต้มเหล้า จังหวัดแพร่ มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเครือข่ายโรงผลิตสุราที่ดำเนินการโดยผู้หญิง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการหญิงในธุรกิจสุราชุมชน ไปจนถึงพนักงานหญิงและผู้ใช้แรงงานหญิงทุกคนในสายพานกระบวนการผลิต ตั้งแต่เกี่ยวข้าว นึ่งข้าว ทำลูกแป้ง หมักข้าว ต้มกลั่น ต้มกรองเหล้า ล้างขวด กรอกเหล้า จนถึงการจัดจำหน่าย รวมไปถึงเพื่อเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารและนวัตกรรมการผลิตสุราชุมชนที่มีคุณภาพ โดยหนุนเสริมเกื้อกูลกันในช่องทางของวัตถุดิบ และส่วนแบ่งทางการตลาดที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายฟื้นฟูกรรมวิธีการผลิตตามภูมิปัญญาโบราณเพื่อการส่งต่อองค์ความรู้ที่ชัดเจนและสะดวกต่อการทำไปต่อยอดของคนรุ่นหลัง



แม่ลำดวนเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในเส้นทางการประกอบอาชีพผลิตสุราในสมัยก่อนจะมีระบบเสียภาษีสุราชุมชนให้ถูกกฎหมาย ที่ต้องขนวัตถุดิบและอุปกรณ์เข้าไปสร้างโรงต้มกลั่นสุราในป่าใกล้แหล่งน้ำ แต่ห่างไกลจากตัวบ้าน และต้องนำกากของเสียจากการกลั่นสุราออกมาจัดการด้วยการขนย้ายด้วยมอเตอร์ไซค์ โดยส่วนหนึ่งสามารถนำไปใช้เลี้ยงหมู เรียกว่า “ขี้โจ้” หรือน้ำโจ้ (น้ำส่า) 

วัตถุดิบสำคัญของสุราพื้นบ้านในแพร่ คือข้าวเหนียวท่อน หรือข้าวเหนียวหัก เนื่องจากมีราคาถูก และลูกแป้งมีสูตรเฉพาะของแต่ละครอบครัวซึ่งมักจะไม่เปิดเผยให้ใครรู้ ทำขึ้นจากสมุนไพรหลายๆ ชนิด ตามสรรพคุณ ความเชื่อและความนิยมของคนในครอบครัว โดยนำข้าวเหนียวนึ่งสุกมาผึ่งลมให้เย็นแล้วล้างจนหมดเมือกเหนียวก่อนจะนำไปหมักในถังหรือกะละมังพลาสติกพร้ฮ่าๆๆจริงๆแหละแต่เมื่อวานยังไม่ได้ทำงานไม่ค่อยได้ทำอ่ะหนูขอโทษนะคะอมกับลูกแป้ง ทำหลุมตื้น ๆ บนผิวของข้าวซึ่งภาคเหนือเรียกว่า ”บ่อแก้ว” เพื่อใช้ดูหากน้ำหมักซึมออกมาที่หลุมนั้น แล้วนำไป “ผ่าน้ำ” โดยการผสมน้ำเปล่าลงไปและหมักทิ้งไว้อีกระยะหนึ่ง ถึงขั้นตอนนี้สามารถชิมรสชาติและดื่มกินได้แล้วเรียกว่า “สุโท” หรือ สาโท หากนำไปต้มกลั่นจะได้เป็นสุราขาว 



ในยุคที่สุราชุมชนยังเป็นเพียงสุราครัวเรือนที่ไม่มีการรับรองให้ถูกกฎหมาย และการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสุราในครัวเรือน สู่การผลิตสุราชุมชนตามกฎหมาย เดิมชาวบ้านมีการหลีกเลี่ยงการตรวจจับของสรรพสามิต วิธีหนึ่งคือการนำผลผลิตที่ได้กรอกใส่ขวด หรือใส่ถุงใส นำใส่กระติก ขุดหลุมฝังไว้ในดินหรือในพงรกๆ ที่ห่างจากตัวบ้าน เป็นที่มาของคำว่า “มัดขอด” และ “บ่มโข่” เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นจะใช้ไม้ยาวแทงลงในดินหรือพงที่เห็นว่าผิดสังเกต หากพบก็จะริบไปเป็นของกลาง และมีโทษปรับ ทำให้ครัวเรือนที่ต้องการผลิตสุราต้องหลบหลีกหรือต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยมา

การต้มเหล้าในครัวเรือนตามวาระโอกาส ซึ่งเป็นการส่งต่อทักษะและสืบสานองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมพื้นบ้านถูกผลักให้ต้องเลือกระหว่างการทำให้เป็นโรงผลิตสุราที่ถูกต้องตามกฎหมายแลกกับการเสียภาษีในราคาแพง หรือต้องยกเลิกการผลิตในครัวเรือนไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่หลายครัวเรือนไม่มีกำลังที่จะจ่ายภาษีหรือมีโรงกลั่นตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เสื่อมถอยไปด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถผลิตสุราในครัวเรือนเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมความเชื่อที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ ส่งผลให้ศาสนาผีที่ผสมผสานแทรกซึมอยู่ในสังคมพุทธศาสนาในภาคเหนือถูกทำลาย 

แม่ลำดวนตัดสินใจเป็นหนึ่งในบ้านที่ผลักดันการผลิตสุราให้กลายเป็นอาชีพ โดยเมื่อแรกเริ่มที่มีกฎหมายสุราชุมชนในรัฐบาลไทยรักไทย ได้เปิดโรงผลิตสุราชื่อ “วังน้ำยม” โดยรับผลิตสุราให้กับผู้จัดจำหน่ายทุนใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ แต่เนื่องจากประสบการณ์ทางการตลาดยังน้อย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากส่วนแบ่งจากการค้า ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมาหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลไทยรักไทย ทำให้แม่ลำดวนตัดสินใจยุติการผลิตไปก่อน  จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อโรงผลิตและชื่อเครื่องหมายการค้า จากเดิมชื่อ “วังน้ำยม” เพราะ คำว่า ยม ในภาษาเหนือแปลว่า เหี่ยวเฉา มีความหมายในเชิงลบ จึงเปลี่ยนเป็น “ม้าบัวเงิน” โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ม้า ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองแพร่ มีความแข็งแรงและสง่าผ่าเผย บัว เป็นดอกไม้ที่มีความหมายถึงความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ยึดโยงกับสูตรสุราอันเป็นเอกลักษณ์ของแม่ลำดวนที่ให้รสและกลิ่นของดอกไม้ และ เงิน เพื่อความรุ่งเรืองมั่งคง 



สุราม้าบัวเงินของแม่ลำดวนยังคงใช้กรรมวิธีดั้งเดิมในการผลิตเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การผสมสมุนไพรลงในลูกแป้งข้าวหมากซึ่งเป็นหัวเชื้อในการหมักข้าวเหนียวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้ยังคงรสชาติและกลิ่นที่มีความเฉพาะตัวจากส่วนผสมในลูกแป้งและกรรมวิธีการผลิต ต้มกรองที่เป็นนวัตกรรมที่แม่ลำดวนคิดค้นขึ้นโดยเฉพาะไม่ทำให้เกิดการจับตัวกันเป็นวุ้นในอุณภูมิต่ำ ในขณะที่โรงผลิตสุราสมัยใหม่จะใช้เอนไซม์เข้ามาทดแทนเพื่อช่วยให้ระยะเวลาในการหมักมีความคงที่สม่ำเสมอและรวดเร็ว

ปัจจุบันแม่ลำดวนดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายสุราม้าบัวเงิน มาเป็นเวลา 6 ปี มีการประสานร่วมมือกับผู้ดำเนินการโรงผลิตอื่นๆ ในหมู่บ้านรวมกันเป็นเครือข่าย และมีจุดมุ่งหมายสร้างเครือข่ายผู้หญิงต้มเหล้า จังหวัดแพร่ ให้มีความเข้มแข็งมากพอที่จะสร้างการต่อรองและมีข้อเสนอต่าง ๆในทางกฎหมาย เพื่อให้นอกจากสุราจะก้าวหน้าแล้ว ยังต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของผู้หญิงด้วย

สุราและนารี ในพื้นที่แห่งนี้นี้จึงมีความหมายแตกต่างออกไป ไม่ใช่สิ่งยั่วยุที่จับคู่กันเป็นอบายที่ขัดขวางผู้ชายจากศีลธรรมความถูกต้อง แต่เป็นความเฉลียวฉลาดและความเชี่ยวชาญที่พิถีพิถันบรรจงสร้างสูตรเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของตระกูล และความก้าวหน้าในการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ในครัวเรือน สู่การเป็นฐานเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหารเพื่อที่จะสามารถครองเรือนในฐานะหัวหน้าครอบครัว ไปจนถึงเป็นผู้นำชุมชนได้อย่างผ่าเผย


อ้างอิง : คุณลำดวน ขอนขะแจะ สุราม้าบัวเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง