‘กลับไทย อาจหมายถึงทิ้งเงินและงาน’ เสียงคนแพร่ในอิสราเอลกับวันที่แรงงานไทยหลายคนต้องเลือกที่จะอยู่หรือจะกลับ

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน, วัชรพล นาคเกษม

การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส กองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่ออิสราเอลขยายขอบเขตปฏิบัติการภาคพื้นดินโจมตีเป้าหมายกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ขณะที่กลุ่มฮามาสระดมยิงจรวดตอบโต้กลับ

กองทัพอิสราเอลประกาศให้พื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซา โดยเฉพาะในกาซาซิตีเป็น “สมรภูมิรบ” นั่นหมายความว่า “ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป” พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากพื้นที่ตอนเหนือของกาซา

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวว่า ปฏิบัติการภาคพื้นดินที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็น “ขั้นที่ 2” ของสงครามกับฮามาส โดยมีเป้าหมายทำลายศักยภาพทางการทหารและการบริหารของกลุ่มฮามาส ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้จะยาวนานและยากลำบาก 

ด้าน มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ระบุว่า ชาวปาเลสไตน์ในกาซากำลังเผชิญสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารหมู่ เนื่องจากปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอล ตลอด 3 สัปดาห์ ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียในกาซาชีวิตทะลุ 8,000 ราย

ฉากและชีวิตแรงงานไทยในอิสราเอล

ตัวเลขจากกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่ามีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในอิสราเอลรวมกันทั้งสิ้น 25,887 คน ส่วนข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศประเมินว่า มีคนในไทยฉนวนกาซาราว 5,000 คน

ขณะที่ทางการไทยทั้งนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเรียกร้องให้คนไทยในอิสราเอลเร่งเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และขอให้ครอบครัวช่วยกันติดต่อและโน้มน้าวแรงงานไทยให้เปลี่ยนใจกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย หลังอิสราเอลเพิ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินในพื้นที่ฉนวนกาซาเข้มข้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศไทย ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 19 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 19 ราย ขณะที่ยอดแรงงานไทยในอิสราเอลที่หนีภัยการสู้รบและแจ้งความประสงค์ขอกลับบ้านเกิดมีจำนวน 8,478 ราย โดยสถานทูตได้ช่วยเหลือจนเดินทางกลับถึงไทยแล้ว 36 เที่ยวบิน เป็นจำนวน 6,448 ราย ขณะเดียวกันมี 1,189 ราย ที่แจ้งความประสงค์ขอกลับไปทำงานหลังเหตุการณ์

กลับไม่ได้เพราะไม่อยากกลับ?

“ถ้าถามว่ากลับได้ไหม มันก็กลับได้นะ แต่ที่ใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้มันก็ปลอดภัยดี เลยไม่คิดว่าต้องกลับประเทศไทย”

(ภาพ: งานปศุสัตว์ในอิสราเอลที่แรงงานไทยเข้าไปทำงาน)

‘ตาม’ หนึ่งในแรงงานไทย คนทำงานเกษตรและปศุสัตว์ในอิสราเอล ตามเป็นคนจังหวัดแพร่ สำหรับตามแล้ว แพร่ถือเป็นจังหวัดบ้านเกิดที่เขาไม่อยากกลับไปประกอบอาชีพที่สุด เนื่องจากจังหวัดแพร่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพน้อย ส่วนมากจะเป็นอาชีพข้าราชการหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ส่วนทางเลือกอาชีพค้าขายหรือการเกษตรนั้นก็เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการหาทางเลือกอื่นนอกจังหวัดแพร่นั้นสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของตามและครอบครัวได้มากกว่า ทางเลือกหนึ่งที่ตามเลือกก็คือการออกไปประกอบอาชีพในต่างประเทศที่ยังใช้ทักษะในการเกษตรและปศุสัตว์ที่ตามมีเป็นทุนเดิมเนื่องจากครอบครัวตามเป็นครอบครัวเกษตรกร และอิสราเอลถือเป็นทางเลือกที่ดี เป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้วที่ตามมาทำงานที่นี่

(ภาพ: งานเกษตรในอิสราเอลที่แรงงานไทยเข้าไปทำงาน)

ตามเปิดเผยว่าความรุนแรงในอิสราเอลเกิดขึ้นเพียงเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่นั้นห่างไกลฉนวนกาซากว่า 200 กิโลเมตร จึงไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตของเขาอาจจะไม่ได้มีความปลอดภัยมากขนาดนั้น เพราะในแต่ละวันมักจะได้ยินเสียงปืนและเสียงรถถังอยู่เสมอ

“อยู่อิสราเอลมันก็ไม่ได้ถึงขั้นเสี่ยง บ้านเขาก็มีหลุมหลบภัย มีบังเกอร์เตรียมพร้อม มีแผนรองรับ เรามาอยู่เกือบ 2 ปีก็มีรบกันประปรายตลอด เพิ่งจะมารุนแรงเอาตอนนี้ แต่เราก็เข้าใจตั้งแต่แรกแล้วเพราะมันเป็นเมืองสงคราม อยู่มาเกือบ 2 ปี วันไหนไม่ได้ยืนเสียงปืนนี่ถือว่าแปลก ในข่าวที่ว่าน่ากลัว แต่พื้นที่จริงๆ ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น”

ในวันที่ยังคงลังเลเมื่อรายได้สูงกว่าไทย 6 เท่า

เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ทำให้เขาอยากไปทำงานที่อิสราเอล เพราะรายได้สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 6 เท่า หากทำงานที่ไทยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 9,000 บาท แต่ที่อิสราเอลจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 55,000 บาท จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยหลายคนอยากไปทำงานที่อิสราเอล แม้ต้องแลกกับความเสี่ยงในการใช้ชีวิตก็ตาม

“คนอยากมาอิสราเอลเพราะเรทเงินมันดี ค่าแรงก็สูง อยู่ไทยกว่าจะเก็บเงินแสนใช้เวลาตั้งหลายปี มาอิสราเอล ถ้ามีล่วงเวลา เดือนเดียวก็ได้แล้วหนึ่งแสน ใครจะไม่อยากมา สวัสดิการก็มีหมดเลย ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ คล้าย ๆ บัตรประกันสังคมบ้านเรา ครอบคลุมหมดเลย ไม่เสียเงินสักบาท”

แม้สถานการณ์การสู้รบยังไม่คลี่คลาย แต่แรงงานไทยในอิสราเอลบางคน ยังคงชั่งใจอยู่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร  เพราะหากกลับไทย นั่นหมายความว่า ต้องทิ้งงานและรายได้ที่มี รวมทั้งกลัวว่าจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลไม่ได้อีก

“ถ้าตามหลักจริง ๆ อิสราเอลแล้วมาได้ครั้งเดียวนะ เพราะเป็นเมืองสงคราม ไม่มีวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่าจะมีอายุ 5 ปี 3 เดือน ต้องต่อปีต่อปี ประเทศอิสราเอลนี่ออกง่ายเข้ายาก”

อ้างอิง

นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง