เมษายน 26, 2024

    “เราต้องมั่นใจว่าทุกคนไปแล้ว เราถึงจะตามไป” ความฝัน ความหวัง ของฅนไร้สัญชาติ

    Share

    เรื่องและภาพ : ปาณิสรา วุฒินันท์, พีรดนย์ กตัญญู


    “เพื่อนบางคนก็บูลลี่คนชาติพันธุ์แล้วเฮฮาหัวเราะกันในวง บางครั้งเราก็หัวเราะไปกับเขา ที่จริงในใจมันก็เจ็บแหละ บอกไม่ถูก”

    คำพูดติดตลกของ ชาติ-สุชาติ สุริยวงศ์ แม้จะดูเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ไม่เลย มันปะปนไปด้วยอคติ แม้จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องแซวกันขำ ๆ ผ่านสื่อผ่านวาทกรรมที่แยกเขาไม่ใช่เรา แม้ตอนนี้จะเบาบางลงบ้าง แต่ก็ยังดำรงอยู่ลึก ๆ

    ความเจ็บปวดถึงการเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ที่รัฐไทยไม่อยากมองเห็น และพยายามกีดกันอยู่ตลอด การยื่นขอสัญชาติกลายเป็นเรื่องยาก และต้องคอยทนกับคำพูดที่ดูหมิ่นเหยียดหยามในสถานที่ราชการ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกลุ่มตี่ตาง (Titang) ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อการเข้าเข้าถึงกระบวนการการยื่นขอรับรองสัญชาติไทยของบุคคลไร้สัญชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทั่วถึง และการลดอคติในสังคม

    พวกเรานัดพบกับสุชาติ บริเวณย่านกลางเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะพากันขับรถเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้าไปในหลายสถานที่ เหมือนกับกระบวนการยื่นขอสัญชาติที่ยุ่งยาก และต้องเดินทางไปทำเรื่องอยู่บ่อย ๆ

    “นี่เป็นการนั่งรถไปด้วย สัมภาษณ์ไปด้วย น่าจะสนุกดี”

    สุชาติ บอกกับพวกเราแบบนี้ก่อนที่จะพาเราค่อย ๆ เข้าไปสำรวจความรู้สึกนึกคิด ในแบบที่พวกเราเองก็เขิน ทำตัวไม่ค่อยถูก แต่ก็พยายามเปิดบทสนทนาเรื่อย ๆ 


    ที่ผ่านมาเคยทำอะไรมาก่อน ก่อนที่จะมาเริ่มทำกลุ่มตี่ตาง

    เคยเป็นเด็กฝึกงานร้านเชื่อมเหล็ก แล้วก็ไปเป็นเด็กส่งน้ำแบกน้ำไปส่งตามบ้าน แล้วก็ไปเป็นผู้จัดการบริษัทส่งออกเฟอร์นิเจอร์ แล้วก็มาเปิดร้านอาหารตามสั่ง เจ๊งไม่เป็นท่า แล้วก็ไปทำสหพันธ์คนงานข้ามชาติ เป็นองค์กรที่รวมตัวกันภายใต้หลักการ เรียกร้องสิทธิแรงงาน ทำงานเรื่องคนที่อาจจะถูกละเมิดสิทธิแรงงานคล้าย ๆ สหภาพแรงงานมีสมาชิกอยู่ประมาณ 500 คน ไปเป็นกรรมการอยู่หนึ่งปี เป็นประธานอีกหนึ่งปีแล้วก็ออก หลังจากนั้นก็ก่อตั้งกลุ่มตี่ตางสื่อเพื่อการขอสัญชาติ

    ได้รับสัญชาติไทยแล้วใช่ไหม

    ยังครับ แต่ขอได้แล้วนะ แต่ยังไม่ขอ

    ทำไมขอได้ แต่ไม่ขอ

    อืม ตอบยังไงดีวะ ตอบจริง ๆ มันก็จะดูเท่ไป 

    เออ… อย่างงี้ฮะ เรารู้สึกยังอยากเป็นเจ้าของประเด็นอยู่ เวลาเราพูดปัญหาอะไรของคนไร้สัญชาติมันจะได้พูดได้แบบเต็มปากเต็มคำว่า เราก็ยังเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ แล้วก็ความที่ความบกพร่องของรัฐ อยากให้เขารู้ว่ามันยังมีความบกพร่องในระบบรัฐ การปฎิบัติในกระบวนการการเข้าถึงสัญชาติหลายอย่างที่ไม่ปกติ มันยังมีปัญหาอยู่ หลายครั้งที่เราพูดว่า เราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่พอเวลาเราบอกว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องมั่นใจว่าทุกคนไปแล้ว เราถึงจะตามไป”

    การขอสัญชาติมันมีปัญหายังไงบ้าง เท่าที่เคยเจอมา ได้ยินว่าการขอสัญชาติไทยมันเป็นเรื่องที่ยากมาก

    มันไม่ยากครับ จริง ๆ ไม่ยากเลย ตามกฎหมายตามนโยบายมันเป็นสิทธิด้วยซ้ำ หลายที่ที่เราบอกว่าไปขอสัญชาติ อาจารย์หรือนักวิชาการบางท่านที่เขาทำงานเรื่องนี้จะบอกว่า “ไม่ใช่ คุณไม่ได้ไปขอ ไม่อยากให้ใช้คำนี้ ไม่อยากให้ใช้คำว่าไปขอสัญชาติ มันเป็นการขอลงรายการสัญชาติไทย คือคุณมีสัญชาติไทยอยู่แล้ว คุณแค่ไปขอลงรายการสัญชาติไทย มีสิทธิในสัญชาติไทยอยู่แล้ว แค่ไปให้เขาลงรายการให้ ไปยืนยันว่าคุณมีสิทธินั้นแล้วให้รัฐลงรายการสัญชาติไทยให้” แต่ในกระบวนการจริง ๆ มันจะยากตรงที่ ต้องมีคนมารับรองคุณว่าเป็นคนดี ประพฤติดี ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง แล้วคนที่มารับรอง จริง ๆ อำเภอจะเชื่อเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แล้วคนพวกนี้เวลาเราไปติดต่อ ชาวบ้านไปติดต่อ ชาวบ้านที่หมายถึงคือคนไม่มีสัญชาตินะ เวลาไปติดต่อเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความมั่นใจเวลาเขาจะดำเนินการอะไรแต่ละอย่าง เขาก็จะติดต่อผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วย ผู้นำชุมชน คนพวกนี้ก็จะบอกว่า “เห้ย มันมีค่าใช้จ่ายนะ บางที่ 70,000 – 80,000 บาทเลยนะ อย่างที่เราโดนตอนที่แค่จะถ่ายบัตรอ่ะ เขาขอ 70,000 มันเลยทำให้เรามีปัญหากับสัญชาติแล้วก็ได้ถ่ายบัตรตอนอายุ 20 กว่านี่แหละ

    70,000 บาทนี่ยื่นในการยื่นขอสัญชาติเหรอ?

    แค่ให้เขารับรองเฉย ๆ ครับ ให้เข้ามาเซ็นรับรอง เหมือนจ่ายใต้โต๊ะให้เขา แต่จริง ๆ ตามกฎหมายไม่ได้ระบุว่าจำเป็นต้องให้คนพวกนี้มารับรองนะ แต่เหมือนประมาณว่า คนที่เขาเชื่อถือ ผู้นำชุมชนนั่นแหละที่จะสามารถยืนยันว่าคุณอยู่ในชุมชน ซึ่งมันไม่ใช่อ่ะ เขาบอกว่าถ้าให้คนอื่นรับรองได้ คุณไปจ้างเขามา แล้วผมจ้างผู้ใหญ่บ้านไม่ได้หรอ ผมจ่ายเงินให้ผู้ใหญ่บ้านก็ได้ กลายเป็นว่าอำนาจทุกอย่างอยู่ที่ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าผู้ใหญ่บ้านไม่มาเซ็นทุกอย่างก็จบ ทำอะไรไม่ได้ เราก็เลยพยายามต่อสู้เรื่องนี้

    แล้วปัญหาของคนไร้สัญชาติที่ เป็นปัญหาที่หนักที่สุดของการที่ไม่ได้รับสัญชาติคืออะไร?

    เขาไม่เห็นสิทธิครับ แล้วเด็กบางคน เขาก็ไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะฝันด้วยซ้ำแล้วเวลาที่เขาเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ สิ่งที่เขาเจอคือ หนึ่งคือการบูลลี่ สองคือทำงานไม่ได้ เดินทางไม่ได้ มันก็จำกัดหลาย ๆ อย่าง เขาแค่รู้สึกว่าเขาเป็นได้แค่นั้น เป็นได้แค่กรรมกรก่อสร้างหรือผู้ใช้แรงงาน เขาไม่กล้าฝันที่จะไปไกลกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่จริงเขามีศักยภาพมากพอที่จะทำได้มากกว่าที่เขาคิดด้วยซ้ำ อย่างเราเองก็ไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถเป็นผู้จัดการบริษัทส่งออกได้ หรือสื่อสารพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติได้ มันทำให้โอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิตมันผิดเพี้ยนไป


    กลับมาที่กลุ่มตี่ตางกันต่อ แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องทำ

    มันมีงานประกวดของ UNDP เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นโจทย์ให้เรากลับมาคิดว่ามันมีนวัตกรรมอะไร พอพูดถึงนวัตกรรมมันจะต้องเป็นไอเดียที่ช่วยทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น แล้วพอมันจับกับประเด็นคนไร้สัญชาติ เราคิดว่าชาวบ้านไม่มีความรู้อะไร ปัญหาใหญ่มากคือ เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เขาไม่มีความรู้ อันนี้ไม่ได้ดูถูกนะ แต่ส่วนใหญ่ส่วนมากก็คือ ไม่เข้าใจว่าไปขอสัญชาติต้องทำยังไงบ้าง มีคุณสมบัติยังไง แล้วหลายครั้งที่เราเห็นหลาย ๆ เคสที่มันมีสื่อเข้าไปจับตาไปให้ความสนใจเนี่ย มันจะทำให้รู้สึกว่า 1. เรื่องคอรัปชั่นเนี่ยมันไม่มีละ ไม่มีใครกล้าเรียกละเมิด 2. กระบวนการมันจะเร็วขึ้น ประมาณว่าเจ้าหน้าที่ก็จะรับคำร้องแล้วก็เอาเข้าสู่ระบบแล้วก็ทำตามขั้นตอน แล้วพี่ก็คิดว่าถ้าเราเป็นสื่อมันน่าจะดี ด้วยฐานความคิดที่ว่าเราไม่มีความรู้เรื่องสื่อเลย เราทำอะไรไม่เป็นถ่ายรูปไม่เป็นด้วยซ้ำ ทำวิดีโอไม่ต้องพูดถึง แต่ก็อยากทำ อยากทำสื่อ ก็เลยบอกว่า เราจะทำสื่อโดยใช้ Platform ที่เรามี เครื่องมือง่าย ๆ แล้วเราทำคลิปลง Youtube ลงเพจ Facebook อะไรแบบนี้ ให้ความรู้กับคนไร้สัญชาติ อีกโจทย์สำคัญก็คือ เราคิดว่าเราจะหายอดผู้ติดตาม เพื่อที่จะสร้างรายได้จาก Platform พวกค่าโฆษณา เราไม่อยากของบเพราะว่าเราเป็นองค์กรที่ไม่ได้จดทะเบียน เวลาเราจะไปขอเงินทำงานมันก็ยาก เรื่องความน่าเชื่อ แล้วก็อยากให้คนในสังคมรับรู้ถึงความมีตัวตนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนชาติพันธุ์ ว่าเขาเจออะไรบ้าง พอสังคมเข้าใจ ปัญหามันก็จะถูกพูดถึงมากขึ้น แล้วพอปัญหามันถูกพูดถึงมากขึ้นในวงกว้าง มันจะทำให้การแก้ปัญหามันเร็วขึ้น ทุกคนเข้าใจแล้วอคติมันก็จะน้อยลง

    ตอนนี้ทำมาได้ 3 ปีละ แรก ๆ ก็สะเปะสะปะ ทำกันไม่กี่คนหรอก มีกันอยู่ 3 คนนี่แหละ ไม่ได้เรื่องเลย (ฮา) กะจะทำเนื้อหาที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมหรือเรื่องอาหาร เรื่องการอยู่กับธรรมชาติด้วย แต่พอทำแล้วมันไม่มีคนดู เราก็เลยคิดว่าถ้าลงคลิปแบบไร้สาระมันจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือของกลุ่มเป้าหมายเรา เราก็เลยคิดว่าเอาแต่เรื่องสัญชาตินี่แหละ พอมีคนติดตามในระดับนึงค่อยอยากทำอะไรก็ทำ แต่ก็ลำบาก 


    ลำบากยังไง?

    เพราะว่าคนไร้สัญชาติเอง เขาไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเองเท่าไหร่ จริง ๆ เรื่องนี้มันเป็นที่สังคมกดทับคนชาติพันธุ์มานานแล้ว ต้องบอกว่าทุกคนคือคนไทย คุณต้องพูดชัด พอคุณพูดไม่ชัดหรือคุณแสดงออกความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนว่าเป็นคนชาติพันธุ์ แค่ชาติพันธุ์นะ ไม่ระบุว่ามีสัญชาติหรือไม่มี คุณก็กลายเป็นพลเมืองขั้นสองในสังคมที่ไม่ถูกยอมรับ เวลาคุณไปรับบริการจากภาครัฐ โรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการต่างๆ คุณก็จะถูกปฏิบัติในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็ไม่เท่ากับคนไทย มันก็จะทำให้คนชาติพันธุ์ไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ตัวเองแล้วก็ไม่มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น เหมือนมันโดนด้อยค่าอยู่ตลอดเวลา เวลาอยู่ในโรงเรียนครูก็จะบอกว่า ใครมีสัญชาติอยู่ฝั่งนึงใครไม่มีสัญชาติก็อยู่อีกฝั่งนึง เวลาไปไหนจะไปแข่งอะไรก็จะเลือกเฉพาะคนมีสัญชาติไป ยกเว้นว่าอะไรที่เราเก่งเฉพาะด้านนั้นจริง ๆ เราถึงจะได้มีโอกาสไปแข่งวิชาการกับเขา ทุกคนก็เลยไม่อยากจะยอมรับว่าตัวเองเป็นคนมีปัญหาเรื่องสัญชาติ เป็นคนชาติพันธุ์ พอในการขับเคลื่อนเรื่องนี้มันต้องอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ แล้วทุกคนก็ต้องเล่าปัญหาตัวเอง แต่พอให้เล่าปัญหาตัวเอง ทุกคนจะไม่ค่อยกล้าพูด อายเพื่อน กลัวเพื่อนจะไม่ยอมรับ อย่างเมื่อก่อนจะไม่มีใครรู้เลยว่าพี่เป็นไทใหญ่ เป็นจีนที่แบบจีนเตี๊ยะ  เราก็จะไม่ค่อยบอกเพื่อนว่าเราเป็นคนที่มีปัญหาเราเป็นคนชาติพันธุ์ เพื่อนบางคนก็บูลลี่คนชาติพันธุ์แล้วก็เฮฮาหัวเราะด้วยกันในวงด้วยซ้ำ แต่ที่ไม่รู้ว่าเออ กูเนี่ยแหละ บางครั้งเราก็หัวเราะไปกับเขา จริง ๆ ในใจมันก็เจ็บแหละ 

    เราก็เลยต้องมาสู้กับความคิดคน สู้กับทัศนคติ ซึ่งโคตรยาก ครูเนี่ยเป็นบุคคลที่จำเป็นต้องคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เขาฟังมากที่สุด แต่เวลาเราจะไปติดต่อโรงเรียนแล้วเราบอกว่าจะมาขอคุยเรื่องสิทธิมนุษยชน ทุกโรงเรียนปิดหมด ไม่มีใครให้เข้า ไม่มีใครคุยด้วย ทำไมวะ ทำไมอ่ะ เด็กจะรู้สิทธิตัวเองไม่ได้หรอ แสดงว่าคุณต้องการที่จะละเมิดสิทธิใช่มั้ยอ่ะ เหมือนกลัวเด็กรู้มาก กลัวเด็กต่อต้าน

    การทำงานของตี่ตาง แต่ละวันทำงานแล้วต้องไปเจออะไรบ้าง

    กระบวนการการทำงานหลัก ๆ เลย อยากให้ความรู้แล้วก็ Empower แล้วก็รู้สิทธิ เขาเป็นเจ้าของประเด็นเขาคือ Expert สามารถเล่าได้ อยากแก้ปัญหาตรงนี้ก็ทำได้ พอเราทำงานจริง เราก็ไลฟ์สดเอา ลงพื้นที่ แล้วก็มีเคสมาขอคำปรึกษาปัญหาที่เขาเจอคือ เขาไม่สามารถไปดำเนินการด้วยตนเองได้ ให้เขาลองหลายครั้งแล้วมันก็ไม่ได้จริง ๆ งานหลัก ๆ ของเราตอนนี้จะกลายเป็นพาเคสไปอำเภอ เพราะเวลาเขาไปเอง เจ้าหน้าที่ก็จะบอกว่ายังทำไม่ได้ ไม่มีนโยบายให้รอไปก่อน แล้วเคส(คนที่ไปขอสัญชาติ)เขาก็ไม่ได้กล้าเถียง ไม่ได้กล้าบอกว่า คุณจะต้องรับคำร้องนะ มันทำได้ มีกฎหมายมีนโยบายออกมาแล้ว เขาไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เขาพูด เขาจะถูกปฏิเสธกลับมาอย่างงี้หรือเปล่า เราก็เลยต้องไป กลายเป็นว่างานหลัก ๆ ของเราตอนนี้คือ พาเคสไปที่อำเภอเพื่อดำเนินการ ด้วยวิธีเจรจา ช่วยยื่นคำร้อง ช่วยคุยกับปลัดว่าคุณต้องรับคำร้อง คุณต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายระบุไว้ มีระเบียบมันระบุไว้ว่าจะต้องทำยังไง

    แล้วปัญหาหนักสุดที่เคยเจอในการทำงานคืออะไร

    ทัศนคติของปลัดครับ 20 อำเภอ ไม่เหมือนกันสักอำเภอ ใช้กฎหมายอันเดียวกัน ประกาศมีเหมือนกันทุกอำเภอ แต่ทัศนคติของปลัดอำเภอบางท่านบอกว่า คุณจะมาช่วยเขาทำไม คุณเป็นคนไทยนะ เขาจะมาแย่งทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ ไปแย่งงานลูกหลานเราทำนะ เวลาเด็กจะไปขอสัญชาติ เขาก็ดองไว้ เขารับเอกสารนะ เขาไม่ปฎิเสธ แต่ก็กองอยู่บนโต๊ะนั่นแหละ กองเป็นปี เคสบางรายก็เอกสารหาย หลายครั้งเราก็อยากจะประจาน แต่เราทำงานเชิงบวกนะ บางทีก็บวกไปหลายรอบเหมือนกันนะ(ฮา) บางคนก็คุยไม่ได้จริงๆ เรื่องสิทธิมนุษยชนอ่ะ มันต้องทำนะ กฎหมายก็ให้สิทธิแล้ว เขาก็ไม่ทำนะ แต่จริง ๆ ด้วยทัศนคติเขา ก็ไม่อยากทำอยู่แล้ว ไม่อยากจะให้สัญชาติอยู่แล้ว แล้วเขาก็ว่า เห้ย! เราคนไทยอ่ะ ปกป้องอธิปไตยเราสิ ผมว่านะคนพวกเนี้ยสมควรแล้วที่ถูกเรียกรับเงิน คุณคิดดูดิ เขามาซื้อที่ เขามาหางานทำ เขาแย่งงานคนไทย เขาแย่งที่ดิน ทำลายป่าไม้ เขาก็ต้องจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องธรรมดา คนไทยได้อะไร พอได้สัญชาติไทยปุ๊บ เขามีสิทธิเหมือนเราเลย แล้วคนไทยได้อะไร แล้วคนเรียกรับเงินคือคนไทยหรอวะ ถ้ามันเป็นค่าธรรมเนียมหรือมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายเข้ารัฐ ถ้ามันเป็นค่าธรรมเนียมที่ในการขอสัญชาติคุณต้องจ่ายนะ อะไรเงี้ย อันเนี้ยเราจ่ายด้วยความเต็มใจเลย ถึงแม้ว่าภาษีจะถูกเอาไปโกงต่อด้วยนักการเมืองก็ตาม แต่มันก็คือเข้ารัฐมันไม่ได้เข้าใครคนใดคนหนึ่ง

    น่าคิดเหมือนกันว่าทำไมการขอสัญชาติมันถึงยากเย็นขนาดนี้ มันอยู่ที่คนรับเรื่องด้วยไหม

    ใช่ อยู่ที่คนรับเรื่องด้วย อันดับแรกเลย เปลี่ยนปลัด บางที่ก็สองสามปี บางที่ก็สี่ห้าเดือนก็เปลี่ยนแล้ว ปลัดไป ๆ มา ๆ ตลอดเหมือนมีการโยกย้ายตลอด เรื่องที่จะปรากฏว่าก้าวหน้าปรากฏว่าถูกย้ายเข้าไปเก็บ ตัวเปลี่ยนเกมเปลี่ยน ตัวทำเกมก็คือเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ที่รับเรื่อง เวลาคนเข้าไปติดต่อพอเจ้าหน้าที่ตรงนั้นไม่มีความรู้ ทัศนคติแย่ ไม่มีใจบริการเลย มันก็จะทำให้ทุกเคสทำไรไม่ได้เลย เริ่มต้นก็ยังไม่ได้ เขาจะไล่กลับ อ้างว่าไม่มีคิวบ้าง ไม่ว่างบ้าง นู่นนี่นั่น เจ้าหน้าที่สำคัญมาก

    ทำแล้วท้อไหม

    บ่อยเลยครับ เราท้อกับคนที่เราต้องไปทะเลาะ คนที่เราจะต้องไปเผชิญด้วย คนที่มีทัศนคติตรงข้ามกับเรา อันนั้นเป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่เราไม่ท้อเพราะว่ายังมีคนที่รอเราช่วยอยู่ 


    เป้าหมายที่ตี่ตางอยากไปให้ถึงคืออะไร

    1.คือทุกคนจะต้องมีรัฐ ถึงแม้คุณจะไม่มีสัญชาติก็ตาม รัฐใดรัฐหนึ่งต้องรับรองความเป็นบุคคล ต้องกำหนด Identity เลข 13 หลักให้กับคนคนนึงที่อยู่บนโลกใบนี้ ให้มันได้สิทธิ 2. เป้าหมายระยะกลางก็คือจะต้องไม่มีคนไร้สัญชาติ เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มคืออยากเห็นสังคมความเท่าเทียม ทุกคนเท่ากัน มีสัญชาติ มีสิทธิเท่าเทียมกัน เคารพในสิทธิของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นชาติพันธุ์หรือคุณจะเป็นใครที่ไหนก็ตามแต่คุณคือบุคคลคนนึงที่มีความเท่ากัน

    น่าจะมีแค่นี้แหละที่อยากไปให้ถึง และต้องทำให้ถึงด้วย

    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    ปาณิสรา วุฒินันท์ และ พีรดนย์ กตัญญู โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ JBB

    Related

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...