#1ปีที่แผนPDPหายไป ภาคประชาชนลุกทวงอนาคตพลังงานไทย แคมเปญเรียกร้องแผน PDP ฉบับใหม่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

#1ปีที่แผนPDPหายไป ภาคประชาชนลุกทวงอนาคตพลังงานไทย แคมเปญเรียกร้องแผน PDP ฉบับใหม่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

ครบรอบหนึ่งปีเต็ม นับจากวันที่ประชาชน 5 ภูมิภาคร่วมกันส่งเสียงต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2567 (PDP2024) พร้อมข้อเรียกร้องถึงกระทรวงพลังงานให้พิจารณาทบทวนแผนบนฐานข้อมูลและความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง แต่จนถึงวันนี้ ร่างแผน PDP2024 ยังคงไม่ถูกประกาศใช้ และไร้วี่แววว่าจะมีการปรับปรุงหรือเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

#1ปีที่แผนPDPหายไป จึงไม่ใช่แค่คำถามเรื่องความล่าช้า

แต่คือคำถามถึงโครงสร้างการวางแผนพลังงานของประเทศ ว่าใครมีสิทธิร่วมตัดสินอนาคต

JustPow เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคีจาก 5 ภูมิภาค จึงจัดแคมเปญ “1 ปีที่แผน PDP หายไป” เพื่อทวงถามความคืบหน้า และยืนยันข้อเรียกร้องที่ยังคงค้างคา โดยแคมเปญครั้งนี้มีทั้งการถือป้ายรณรงค์ในพื้นที่จริงของแต่ละภูมิภาค พร้อมเปิดคำถามถึงกระบวนการร่างแผน PDP ที่ยังไม่มีหลักประกันว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในร่างฉบับใหม่อย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นเสียงคัดค้านเขื่อนปากแบงในภาคเหนือ เขื่อนภูงอยในอีสาน โรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์และท่าเรือ LNG ในภาคตะวันออก หรือข้อเสนอให้เพิ่มโควต้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนในภาคใต้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเสียงสะท้อนที่ยังไร้การตอบรับในกระบวนการจัดทำแผนฉบับเดิม

ขณะเดียวกัน JustPow ยังเปิดพื้นที่ให้เสียงของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญออกมาชี้ให้เห็นว่า ความล่าช้าในการจัดทำแผน PDP ไม่ใช่เพียงปัญหาทางเทคนิค แต่กำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการลงทุนระยะยาวของประเทศ

โดย ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดเพื่อตอบโจทย์มาตรการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น CBAM กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต่างต้องเผชิญความไม่แน่นอนและขาดความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว”

ขณะที่ อาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ด้านอนุรักษ์พลังงาน และ Grid Modernization สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า “ทำให้ประเทศชาติ ตกอยู่ในความเสี่ยง และขาดความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากธุรกิจในปัจจุบัน และอนาคต จำเป็นต้อง Low Carbon Emission โดยการต้องพึ่งพาพลังงานสะอาดเป็นหลัก ตัวอย่างที่แสดง หลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การปิดตัว และการย้ายฐานธุรกิจ ไปยังประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ รวมถึง ความตกต่ำลงของ New Investment ของทั้งในประเทศ”

หรือ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ที่กล่าวว่า “ความล่าช้าของแผน PDP ส่งผลให้นักลงทุนและภาคธุรกิจขาดความมั่นใจในทิศทางการวางแผนพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยประกาศเป้า Net Zero ซึ่งมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่คาร์บอนต่ำเป็นหัวใจสำคัญ ส่งผลให้นักลงทุนอาจตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดชัดเจนกว่าไทย”

นอกจากนี้ยังมี อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้จัดการงานรณรงค์ กรีนพีซ ประเทศไทย ที่เรียกร้องถึงการร่างแผน PDP ฉบับใหม่ว่า “แผน PDP ใหม่ต้องเปิดทางให้ประชาชนเป็นเจ้าของพลังงานได้จริงๆ ไม่ใช่ผูกขาดไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมทั้งต้องทำให้มั่นใจว่าแแผน PDP ใหม่จะออกมาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดและเป็นธรรมมากขึ้น เช่น โซลาร์รูฟท็อป ควรเข้าถึงง่ายเหมือนการซื้อแอร์มาติดที่บ้าน เพราะการเป็นเจ้าของพลังงานไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ของใคร แต่ต้องเป็นสิทธิของทุกคน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน”

ทั้งนี้ ธารา บัวคำศรี ที่ปรึกษา กรีนพีซ ประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า “แผน PDP ยังเป็นกระบวนการตัดสินใจวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยที่โรงไฟฟ้าใหม่ส่วนใหญ่ที่มีแผนจะก่อสร้างขึ้นยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ถึงเวลาแล้วที่การวางแผนผลิตไฟฟ้าและการมีส่วนร่วมในกิจการไฟฟ้าอย่างเป็นประชาธิปไตยจะเป็นวาระสำคัญทางการเมือง นำประเทศไทยออกจากกับดักพลังงานที่สกปรกและทำลายล้าง”

และ รศ. ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นว่า “แผนเก่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับบริบทพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความล่าช้านี้ส่งผลให้การวางแผนการลงทุนด้านพลังงานขาดความชัดเจน นักลงทุนลังเลในการลงทุนพลังงานสะอาด ขัดกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ และทำให้ไทยยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก สังเกตจากการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซใหม่ที่ไม่มีความจำเป็น ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาคาร์บอนและราคาพลังงานผันผวน”

ภาคประชาชนยังคงยืนยันข้อเสนอหลัก 5 ข้อ ต่อกระทรวงพลังงาน

เพื่อให้แผน PDP ฉบับใหม่เป็นแผนที่ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ไม่ใช่เพียงผู้รับผลกระทบปลายทาง

1.ประชาชนต้องมีที่นั่งในคณะกรรมการร่างแผน PDP ในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากทุกการตัดสินใจ

2.ร่างใหม่ต้องใช้ข้อเสนอของประชาชนจาก 5 ภูมิภาคเป็นฐานข้อมูลสำคัญ ไม่ใช่แค่รับฟังผ่านระบบออนไลน์โดยไม่มีการตอบรับใด ๆ

3.เปิดให้ประชาชนศึกษาและแสดงความเห็นอย่างเพียงพอ ไม่เร่งรัด เพื่อให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นอย่างแท้จริงและรอบด้าน

4.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในทุกภูมิภาค  พร้อมสร้างระบบติดตามผลข้อเสนอของประชาชนอย่างโปร่งใส

5.มีการประเมินผลกระทบรอบด้านก่อนประกาศแผน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

    “แผน PDP ต้องไม่เป็นอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่ม แต่คือสิทธิของทุกคนที่จะมีพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และเป็นธรรม”
    อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล, กรีนพีซ ประเทศไทย

    นอกจากการรณรงค์ผ่านออนไลน์และการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในแต่ละภูมิภาคแล้ว JustPow เตรียมเดินหน้า ยื่นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อให้แผน PDP ฉบับใหม่ไม่ใช่เพียงแผนบนกระดาษ แต่คือแผนพลังงานที่สะท้อนความต้องการของสังคมทั้งระบบ

    เพราะการมีไฟฟ้าใช้ ไม่ควรถูกตัดสินแค่ในห้องประชุมของกลุ่มทุนใหญ่
    แต่ต้องมีที่ว่างสำหรับเสียงของทุกคนที่ใช้ไฟฟ้าอยู่ทุกวัน

    ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง