พฤษภาคม 15, 2024

    ปาฐกถา “ทบทวน ถกเถียง ท้าทาย: นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” โดย ดร. ธงชัย วินิจจะกูล

    Share

    ภาพ: การประชุมวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีปาฐกถาในหัวข้อ “ทบทวน ถกเถียง ท้าทาย: นิติศาสตร์ในห้วงยามของความเปลี่ยนแปลง” ณ โรงแรม Green Nimman Cmu Residence ในการประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 3 โดย ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน 

    ธงชัยกล่าวว่า ในสังคมปัจจุบันนั้นวิกฤติกระบวนการยุติธรรมและนิติศาสตร์ไทย ยังคงมีปัญหาและต้องถกเถียงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน เงิน อำนาจ ความเชื่อมั่นในมาตรฐานที่ลดถอยลง ซึ่งจากประเด็นเรื่องนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่ 3 ประการ ได้แก่

    1. ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายหรือตัวของผู้ใช้ แต่แท้จริงแล้วนั้นปัญหาอยู่ที่ระบบ เพราะตัวของกฎหมายนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม สุดท้ายตัวกฎหมายก็ยังมีการดำเนินไปตามระบบอยู่เสมอ ในกรณีของผู้ใช้ก็ยังมีส่วนในการผลักดันระบบไม่มาก ดังนั้นการจะกล่าวโทษตัวบทกฎหมายหรือผู้ใช้ก็ยังเป็นการจับคู่ที่ผิด

    2. คนส่วนใหญ่คิดว่าระบบกฎหมายในประเทศไทยเป็นนิติรัฐหรือนิติธรรม (Rule of Law) แต่มันยังไม่มีความเป็นนิติรัฐที่สมบูรณ์

    3. Rule of Law ของประเทศไทยนั้นถูกสถาปนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ก็ยังคงต้องมีการพัฒนาให้สมบูรณ์อยู่

    ประเทศไทยคือ Rule of Law ?



    Rule of Law คือ การแบ่งเส้นไม่ให้อำนาจรัฐมาละเมิดสิทธิของประชาชน แต่แท้จริงแล้วรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามนั้นคือ รัฐอภิสิทธิ์ชน หรือ Legal Prorogative State ซึ่งไม่ใช่ Rule of Law เพราะระบบกฎหมายไทยนั้นไม่ใช่ข้อเรียกร้องต่อรัฐจากประชาชน เพื่อที่จะปกป้องสิทธิของประชาชน แต่รัฐอภิสิทธิ์ชนนั้นคือ เทคโนโลยีในการปกครองของรัฐ โดยบอกว่าตนนั้นคือผู้คุ้มครองที่คอยเก็บภาษีเพื่อการคุ้มครองประเทศ

    ซึ่งรัฐไทยนั้นเป็นเช่นนี้มาโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จนทำให้เกิดการส่งต่อเทคโนโลยีการปกครองนี้ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

    นิติอปกติหรือนิติอธรรม (Rule by Legal Exceptions)

    รัฐไทยนั้นไม่ใช่การปกครองของกฎหมายนิติรัฐหรือนิติธรรม (Rule of Law) แต่เป็นการปกครองด้วยนิติอปกติหรือนิติอธรรม (Rule by Legal Exceptions) โดยเป็นการปกครองแบบนิติรัฐที่ไม่ใช่ภาวะปกติหรือการปกครองที่ปกครองด้วยข้อยกเว้นทางกฎหมาย ซึ่งการปกครองนี้นั้นจะนำมาด้วย ‘สภาวะยกเว้นทางกฎหมาย (State of Exception)’ สภาวะนี้จะนำมาซึ่งการงดใช้กฎหมายตามปกติและการให้อำนาจแก่รัฐที่มากเป็นพิเศษ ทำให้รัฐสภาจะมีอำนาจมากที่สุดในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งการถกเถียงในสภาวะนี้ ยังเป็นเรื่องใหญ่ในวงการนิติศาสตร์

    สภาวะยกเว้นในประเทศไทย

    สภาวะยกเว้นนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากการยืดขยายของกองทัพในสภาวะปกติ โดยสามารถแยกออกได้เป็น 2 ประเด็น ได้แก่

    1. มีการระบุข้อยกเว้นในกฎหมายปกติทุกระดับ ซึ่งสังเกตได้จากการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเหมือนสภาวะยกเว้น และกฎหมายธรรมดาหลายฉบับมีการงดเว้นให้ใช้

    2. การขยายภารกิจเพื่อความมั่นคง ให้ครอบคลุมเกินหน้าที่ในสภาวะปกติ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามเย็น เช่น การป่าไม้ การเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยว 

    จากประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สภาวะเหล่านี้ได้ดำเนินอยู่ในสังคมจนทำให้เราคิดว่าเราอยู่ในภาวะปกติบนสภาวะที่มีข้อยกเว้นโดยรัฐ

    ปัญหาความมั่นคงในประเทศไทย



    ธงชัยเสนอว่า ความมั่นคงในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะในช่วง 30 ปีหลังมานี้ ความหมายของความมั่นคงได้ถูกนิยามความหมายว่า ความมั่นคงต่อความเป็นไทยหรือความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งความหมายในแต่ละบริบทจะมีแนวโน้มไปที่การตีความของผู้ที่มีอำนาจ 

    ภัยต่อความมั่นคงนี้ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์และอำนาจต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ทางวัตถุ เช่น งบประมาณ การประกอบธุรกิจเก็บค่าเช่า การคอรัปชั่นต่าง ๆ ดังนั้นหากไม่ผลิตเหตุที่ส่งผลต่อความมั่นคง ก็ไม่มีเหตุผลที่สภาความมั่นคงจะมีอยู่ เพื่อเป็นเหตุรับรอง ‘สภาวะยกเว้นทางกฎหมาย’

    ดังนั้นเห็นได้ชัดจากปัจจัยเหล่านี้ว่า อำนาจที่ล้นเหลือนั้นมาพร้อมกับสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้สภาวะยกเว้นและอำนาจของกองทัพกลายเป็นเรื่องปกติ และการใช้กฎหมายปกติเป็นข้อยกเว้นได้ 

    ระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ ต้องเปลี่ยนแปลง



    ธงชัยได้ยกตัวอย่างจากการเรียนกฎหมายในอเมริกาว่า ในอเมริกานั้นวิชาชีพกฎหมายไม่ได้เป็นวิชาในระดับปริญญาตรี แต่จะเป็นการสอนในโรงเรียนกฎหมายเฉพาะ ผู้ที่มาเรียนส่วนมากจะเป็นนักศึกษาจากสาขาต่าง ๆ เช่น รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี ซึ่งมีผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก เพราะกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของการตีความ ให้เหตุผล และหาหลักฐาน กฎหมายนั้นเป็นเรื่องของการตีความ แต่หลักการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทยในปัจจุบันแทบไม่แตกต่างจากในอดีตเลย

    ธงชัยเสนอว่า รากฐานของการศึกษานิติศาสตร์ไทยมาจากโรงเรียนกฎหมายแบบอาณานิคม โดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่ได้เป็นแบบแผนที่มาจากยุโรป แต่เป็นการนำแผนมาจากโรงเรียนกฎหมายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ในประเทศอาณานิคม เพราะการมาของระบบราชการที่มุ่งหวังจะผลิตนักกฎหมายในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่มีการเรียนวิชาอื่น เช่น เศรษฐศาสตร์การเมือง การเมือง วรรณคดี เพื่อผลิตนักนักนิติศาสตร์ที่มีคุณสมบัติ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. รู้ตัวบทกฎหมาย 2. รู้องค์ประกอบ 3. รู้บรรทัดฐาน 

    ในช่วง 100 กว่าปีให้หลังจากโรงเรียนกฎหมายเกิดขึ้น การเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังคงถูกครอบงำด้วยการเรียนเช่นนี้ แต่หลังจากนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น 2 ครั้วใหญ่ คือ 

    1. การที่ปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนกฎหมาย โดยการนำระบบจากฝรั่งเศสมาปรับใช้ แต่การเปลี่ยนแปลงก็จบลงในปี พศ.2492 เมื่อปรีดี พนมยงค์ได้ขับออกนอกประเทศ จากนั้นระบบเดิมได้ถูกนำมาใช้ โดยนำผู้พิพากษามาเป็นผู้สอน

    2. การเปลี่ยนแปลงของคณะนิติศาสตร์ให้เป็นวิชาการมากขึ้น โดยการนำวิชาอื่นเพิ่มเข้ามาในหลักสูตร เช่น นิติปรัชญา และนำนักวิชาการมาเป็นผู้สอนแทนที่ผู้พิพากษา

    เห็นได้ชัดว่า การศึกษานิติศาสตร์ไทยได้ถูกกำกับโดยวิชาชีพผู้พิพากษา ซึ่งเป็นมรดกจากระบบอาณานิคม ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงระบบนิติศาสตร์ในประเทศไทยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษานิติศาสตร์

    Related

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...

    มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอนจบ) ของกิ๋นพะเยา ไประดับโลกได้ไหม

    เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ ชุดบทความนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยพันธกิจที่ 4 ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่นของชุมชนวัฒนธรรมระเบียงกว๊านพะเยา อ่าน เมดอินพะเยา: มองศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์พะเยา (ตอน...