เมษายน 24, 2024

    Thailand Biennale ปอยหลวงศิลปะ ปลายปีหน้า ที่เชียงราย #TBC

    Share

    06/07/2022

    -เชียงราย- 2 กรกฎาคม 2565 เวลา 18:00 – 21:00 น. ศิลปินเชียงรายนำโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และภัณฑารักษ์ของมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale 2023 Chiang Rai และเปิดนิทรรศการธงสัญลักษณ์มหกรรมฯ จากการร่วมประกวดกันของศิลปินเชียงรายด้วย ณ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย​

    ผู้ได้รับคัดเลือกให้มากำกับดูแล Thailand Biennale (TB) ในครั้งนี้ ได้แก่ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช กับ กฤติยา กาวีวงศ์ ที่จะร่วมกันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (artistic directors) พร้อมด้วย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ กับ มนุพร เหลืองอร่าม เป็นภัณฑารักษ์ (curators) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ TB ที่ทีมงานกำกับเทศกาลเป็นคนไทยทั้งหมด และ กฤติยา กับ อังกฤษ เองก็เป็นชาวเชียงรายโดยกำเนิดด้วย​



    เบียงนาเล่ (Biennale) หรือเทศกาลศิลปะร่วมสมัยรายสองปีที่จัดขึ้นกันทั่วโลกเพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมต่อประชาคมโลก โดยมากจะจัดเป็นประจำและอยู่ในการดูแลของเมืองเมืองเดียว แต่ TB ซึ่งจัดขึ้นโดยภาครัฐของไทยมาตั้งแต่ปี 2561 ได้ใช้รูปแบบอย่างงานกีฬาแห่งชาติที่เวียนไปจัดตามจังหวัดต่างๆ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้กำหนดเมืองศิลปะนำร่อง 3 จังหวัดขึ้นมาเป็นเวทีของเทศกาลนี้ เริ่มครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ ตามมาด้วยโคราชที่มีเหตุกราดยิงกลางเมืองและเผชิญสถานการณ์โรคระบาดจนต้องเลื่อนมาจัดในปลายปี 2564 หลังจบงานแต่ละครั้ง วธ. จะจัดพิธีมอบธง TB แทนการส่งไม้ผลัดให้จังหวัดถัดไปรับช่วงต่อ โดยมี ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นประธานโบกธงส่งต่อให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกครั้ง​

    สำหรับ TB ครั้งที่ 3 นี้ พิธีว่าด้วยธงที่ไม่มีในเบียงนาเล่อื่นใดได้รับการต่อยอดเพิ่มเติมโดยเหล่าศิลปินเชียงราย ด้วยการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบธงเล็กต่อให้กับนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ให้ช่วยสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ของตน แล้วยังมอบธงให้ ผบ. หน่วยทหาร ตำรวจ นายก อบจ. เทศมนตรี หัวหน้าหน่วยราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง อธิการบดีมหาวิทยาลัย นายกสมาคมสื่อ นายกสมาคมท่องเที่ยว ให้มาร่วมประสานงานเพื่อเทศกาลกัน ต่อด้วยการให้ปลัด วธ. มอบธงให้เกียรติแด่แขกพิเศษ ผู้หลักผู้ใหญ่ของเมือง คหบดี และผู้สนับสนุน แล้วปิดท้ายด้วยกลุ่มศิลปินเชียงรายขึ้นมอบธงให้กับ รมต.วธ. ผวจ.เชียงราย ปลัด วธ. ผอ.สศร. และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หลังการแสดงนาฏศิลป์และการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ทุกคนก็ได้ขึ้นเวทีอีกครั้งและโบกธงร่วมกันกับทีมผู้กำกับดูแลเทศกาลด้วย ทั้งหมดนี้จัดขึ้นต่อหน้าสาธารณชนและไลฟ์สดให้เป็นพันธสัญญาอันแข็งแรงว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันจนงานสำเร็จ​


    TB ทั้ง 2 ครั้งก่อน ประสบปัญหาการประสานทีมผู้กำกับดูแลเทศกาลกับภาคราชการจากความไม่เข้าใจต่อกันจนไม่ราบรื่นนัก แม้การจัดแสดงผลงานจะออกมาดีแต่การสื่อสารกับสังคมให้สนใจและเข้าใจกลับขาดประสิทธิภาพ ศิลปินเชียงรายภายใต้การนำของ เฉลิมชัย ค่อยๆ ช่วยกันก่อรูปก่อร่างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ มาตลอด ตั้งแต่การชวนชาวบ้านแต่ละอำเภอมาทำงานกับศิลปินในงานกีฬาแห่งชาติ เจียงฮายเกมส์ 2561 ตามมาด้วยกิจกรรมที่สมาคมขัวศิลปะของศิลปินเชียงรายจัดขึ้นตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งการตกแต่งเมือง การระดมความเห็นสาธารณะต่อ TB การระดมทุนสร้างหอศิลป์ใหม่ ฯลฯ และคงจะไม่สามารถรวบรวมผู้คนมาตอบรับพันธสัญญานี้ได้มากขนาดนี้ หากขาดความนิยมชมชอบต่อ เฉลิมชัย ในคนหลากหลายกลุ่ม​

    กฤติยา ภัณฑารักษ์อิสระในระดับนานาชาติ ผู้ร่วมรับหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ในครั้งนี้ ได้ขึ้นอู้บนเวทีในเสียงกำเมือง ขอบคุณที่ได้รับมอบความไว้วางใจ และฝากพี่น้องหมู่นายอำเภอและราชการอธิบายชาวบ้านว่า เบียงนาเล่ คือ ปอยหลวงศิลปะที่จัดสองปีเตื้อ และโจทย์สำคัญที่เธอได้รับคือ “ความเป็นเชียงราย” ซึ่งมีตำนานความเป็นมาหลายร้อยปี ผ่านความยากลำบากมามากมายจนถึงยุค COVID-19 นี้ เธอจึงขอให้หมู่สล่า ศิลปิน ครูบาอาจารย์ ราชการ สนับสนุนการลงพื้นที่วิจัยของทีมภัณฑารักษ์ด้วย​


    อีกกิจกรรมว่าด้วยธงที่น่าสนใจคือ “นิทรรศการศิลปกรรม ธงไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023” ซึ่งเปิดให้ศิลปินเชียงรายได้เข้าร่วมแสดงผลงานทัศนศิลป์ที่มีสัญลักษณ์ TB เป็นส่วนประกอบ ณ หอศิลป์แทนคุณ วัดร่องขุ่น ทำให้ศิลปินเชียงรายที่ส่วนมากเป็นจิตรกรได้รวมใจกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาตินี้โดยตรง และปรับมุมมองต่อการมีส่วนร่วมกับเทศกาล หลังจากที่ TB 2 ครั้งก่อนส่วนร่วมของศิลปินท้องถิ่นไม่เป็นเนื้อเดียวกับภาพรวมของเทศกาลนัก​

    ต่อเนื่องกันในเช้าวันถัดมา 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 7:00 – 9:40 น. สมาคมขัวศิลปะได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ “หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiangrai International Art Museum (CIAM)” ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ด้านหน้าท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ต.ริมกก ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับบริจาคมาจาก ทวีชัย อร่ามรัศมีกุล จำนวนกว่า 10 ไร่ และ มงคล จงสุทธนามณี อีก 3 ไร่ ส่วนทุนการก่อสร้างเฟสแรกจัดหามาโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกลางปีหน้าให้ทัน TB2023 โดยมีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 600 ตารางเมตร โดดเด่นด้วยห้องกระจกชั้นดาดฟ้า หอคอยขาวและหอคอยดำที่จะเชื่อมต่อกันด้วยสะพานกระจกให้สามารถขึ้นไปมองวิวท้องทุ่งเชียงรายรอบพิพิธภัณฑ์ได้อย่างกว้างไกล แล้วจะมีเฟสต่อๆ ไป เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะกับหมู่บ้านศิลปินในอนาคตด้วย​


    ชุมชนศิลปินเชียงรายผลักดันการสร้างหอศิลป์ให้กับจังหวัดของตนมายาวนาน จากยุคของ ถวัลย์ ดัชนี ที่มีการขอใช้เกาะกลางแม่น้ำกกและการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ไม่สัมฤทธิ์ผล จนมาถึงการสร้าง “ขัวศิลปะ” บนพื้นที่เช่าจากวัดขัวแคร่ ด้วยการสนับสนุนของภาคประชาชน ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาและต้องคืนพื้นที่ให้วัดในเร็วๆ นี้ ความไม่แน่นอนของการสนับสนุนนำมาสู่การตัดสินใจจะเป็นเจ้าของพื้นที่เองในโครงการล่าสุด เพื่อให้มีพื้นที่หล่อเลี้ยงรสนิยมและวัฒนธรรมในแบบของตนเอง อันนับเป็นความเข้มแข็งของท้องถิ่นนี้​

    ทันทีที่จบพิธีวางศิลาฤกษ์ ทีมภัณฑารักษ์ก็เริ่มลงพื้นที่ทุกอำเภอทำการวิจัยเพื่อกำหนดธีมงานและรายชื่อศิลปินเบื้องต้น เวลาทำงานถูกร่นจาก TB2021 KORAT ที่เพิ่งจบไปเมื่อ 3 เดือนก่อน และการแต่งตั้งทีมงานที่เพิ่งเสร็จสิ้นเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ทำให้ทีมงานต้องกระหวัดกระบวนการให้เร็วที่สุด แต่ความท้าทายใหญ่ของงานนี้อยู่ที่การสื่อสารสร้างความเข้าใจและความสนใจกับภาคสังคมให้กลับคืนมาจากครั้งก่อนๆ อันเป็นข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับเบียงนาเล่ในกรุงเทพฯ ที่ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายทั้งในเชิงพื้นที่และเนื้อหาเสริม เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนอกเมืองหลวงจากภาษีประชาชนจะดำเนินต่อไปเช่นไร โปรดติดตามกันต่อไป​



    #TBC #ThailandBiennale2023ChiangRai #CIAM

    Related

    De Lampang: ลำปางลมหายใจเปื้อนฝุ่น ท่ามกลางควันไฟที่เผาไหม้ป่า

    เรื่อง: พินิจ ทองคำ เมษายนช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ลำปางถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถิติอุณหภูมิร้อนแรงติดอับดับต้น ๆ ของรัฐไทย จากการติดตามข่าวผ่านสื่อในรอบสัปดาห์ คำว่า “ลำปางร้อนมาก”...

    วิกฤติการณ์ฝุ่น PM2.5 ระยะยาวของชีวิต สภาะวะการตายผ่อนส่ง ของคนภาคเหนือ

    เรื่อง: จิณห์วรา ช่วยโชติ วิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในภาคเหนือนั้น ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ทุกคนจะต้องได้รับรู้ มีเสียงหรือคำวิจารณ์จากคนในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าวโดยตรง พื้นที่ของข่าวมีการนำเสนอปัญหาและนโยบายจากรัฐบาล หรือภาพเจ้าหน้าที่รวมไปถึงอาสาสมัครที่ดมควัน...

    น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ “คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง...