เมษายน 26, 2024

    ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 แรงงานข้ามชาติแถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน”​

    Share

    20/05/2022

    วันนี้ 19 พฤษภาคม 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF Anti-Labor Trafficking (HRDF) และตัวแทนผู้ประกันตน ได้แถลงเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ณ ห้อง American Conner ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​

    โดยทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้แถลงถึงที่มาที่ไปในการยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่า สืบเนื่องจากกรณี โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563โดยการเสนอของกระทรวงแรงงาน ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีข้อกำหนดให้ผู้มีสิทธิตามโครงการฯเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยา แม้เป็นผู้ประกันตน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจึงดำเนินการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน​

    ภายหลัง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มิได้ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” เท่านั้น มิได้หมายรวมถึง “สัญชาติ” ดังนั้น การที่โครงการฯ กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะความแตกต่างในเชื้อชาติ แต่ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564​

    ต่อมา 10 มกราคม 2565 ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ได้รับแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยแจ้งว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี กรณีความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ด้วยเหตุนี้ตัวแทนผู้ประกันตนฯ จึงจะดำเนินการต่อไปโดยการยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการฯที่ต้องมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น เพื่อขอให้ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว​

    ดังนั้น เนื่องจากเดือนพฤษภาคมนี้เป็นเดือนที่มีความหมายต่อการเรียกร้องของขบวนการแรงงานเพื่อให้ได้ซึ่งสิทธิ และสวัสดิการ ของแรงงานดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและตัวแทนผู้ประกันตน จึงมีกำหนดการไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนฟ้องเพิกถอนการกำหนดคุณสมบัติสัญชาติไทย ในการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ตามโครงการม.33 เรารักกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นี้​

    ด้านตัวแทนผู้ประกันตน จาม่อง ลุงมู กล่าวว่า ”ถ้าการเมืองดีประชาชนไม่ต้องแสวงหาในสิ่งที่มันดี แต่ในตอนนี้ ทุกชนชั้นในสังคมล้วนได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติและบุคคลไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติต้องถือเอกสารมากมาย ในขณะที่คนไทยถือเพียงบัตรประชาชน มีขั้นตอนการดำเนินการเงื่อนไขต่างๆเยอะแยะมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งการทำงานและเข้าถึงประกันสังคม แต่ในวันนึงคุณได้ตั้งเงื่อนไขการให้ ม.33 มาเพื่อจะตัดคนกลุ่มนี้ออกไป พวกเราเป็นแรงงานหลักแต่ในวันที่วิกฤตกลุ่มเรากลับไม่ได้รับการเยียวยา ​ ผมสร้างสังคมผมขับเคลื่อนประเทศ คุณจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกพวกเราเลยถ้าคุณยังถือบัตรประชาชนเพียงใบเดียว นี่เป็นสาเหตุที่ผมต้องออกมาเรียกร้องในส่วนของตรงนี้”​

    ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ คุณไซ ควม วิน อธิบายว่าตนมีโอกาสได้เห็นกลุ่มคนที่ทำงานแรงงานตามแคมป์ก่อสร้างสถานที่ต่างๆ การที่ไม่ได้รับการเยียวยามันเหมือนคนเหล่านี้ถูกลืม วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีงานไม่มีรายได้ และเห็นว่าไม่มีใครควรถูกลืมและควรได้รับ ม.33 ​

    วรีภรณ์ จากทีมนักกฎหมายแม่สอด อธิบายเพิ่มว่า ตัวคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานสร้างผลกระทบต่อแรงงานเป็นวงกว้าง ม.33 จะสามารถช่วยลดช่องว่างชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไร้สัญชาติในช่วงวิกฤตโควิดได้ การจ้างงานชายแดนภายในระยะเวลาสามเดือนถือเป็นอีกหนึ่งการเข้าถึงประกันสังคมแต่ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมาแรงงานได้ผลกระทบแต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา พอหมดสัญญาสามเดือนจากการปิดด่านพรมแดนทำให้เเรงงานไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ปัญหาเกิดความชัดขึ้น ม.33 สามารถลดช่องว่างการใช้ชีวิตของแรงงานได้ เพราะแรงงานเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ​

    ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

    #lanner​
    #ม33เรารักกันแต่ฉันถูกลืม​
    #section33weneverbeenloved

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...