พฤษภาคม 3, 2024

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022 พร้อมผลักดัน #เราทุกคนคือแรงงาน

    Share

    02/05/2022

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรม Worker Fest! เราทุกคน คือ คนงาน We All Are Workers โดยทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้มีการแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022 โดยมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้​

    ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ​

    แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนทำงานทุกสาขาอาชีพต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้วันทำงานน้อยลงส่งผลให้มีรายได้ลดลง บางส่วนตกงาน โดยรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง เนื่องจากสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับรายได้และค่าจ้างของคนงานที่ลดลงเนื่องจากได้ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ​ และทั้งนี้ในรอบสองปีที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันแทบไม่พอสำหรับเลี้ยงดูตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และนอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มคนงานเปราะบางได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และถูกละเมิดในเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ ​ ค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดและวันลา ทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ รวมถึงไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
    เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้​

    1. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยด่วน ​
    2. ขอให้รัฐบาลนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันโดยเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 492 บาทต่อวันและใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ โดยให้ดำเนินการและประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ภายในปี 2565​
    3. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน ​
    4. ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้​
    4.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ​
    4.2 ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ​ ​
    4.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที​
    5. ขอให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ​ ลูกจ้างทำงานบ้าน คนทำงานแบบชิ้น (gig worker) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน​
    6. ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี ​ โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561ในประเด็นต่อไปนี้​
    6.1 ให้มีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล และเปิดขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาเพื่อสะดวกต่อการดำเนินการของทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ​ ​
    6.2 ใบอนุญาตทำงานของคนงานควรปรับให้มีอายุคราวละ 4 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งลูกจ้าง นายจ้างและภาครัฐ ​
    6.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานและเอกสารอื่น ทางภาครัฐควรกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของแรงงานข้ามชาติ​
    6.4 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน​
    6.5 ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี​
    6.6 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแรงงานข้ามชาติ ​ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้​
    6.7 เปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ​
    และ 7. ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ​ และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ​

    #WorkerFest​
    #เราทุกคนคือคนงาน ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​ ​
    #เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ​
    #Lanner

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...