เมษายน 26, 2024

    ถ้า สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่ทันได้เห็นการแยกคนจากป่า รวมศูนย์ผูกขาด และล้างผลาญทรัพยากร

    Share

    วันที่ 1 กันยายน 2565

    เรื่อง: พชร คำชำนาญ

    เขาจะคิดอย่างไรกับการประเคนพื้นที่ป่าไม้ให้นายทุน และ รัฐราชการที่ผูกขาดการอนุรักษ์ ปล่อยให้ชุมชนอยู่กับป่าต้องตายทั้งเป็น


    วันนี้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว (1 กันยายน 2533) คือวันที่ “สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในขณะนั้น ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม เรียกร้องให้สังคมและข้าราชการในหน่วยงานด้านป่าไม้หันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ


    สืบเนื่องจากความพยายามในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติหลายครั้ง แต่ขัดต่อแนวทางของกรมป่าไม้ ที่อ้างตัวเป็นนักอนุรักษ์ แต่ทำลายป่าเสียเอง บทบาทของ สืบ นาคะเสถียร เกิดขึ้นท่ามกลางแนวนโยบายของกรมป่าไม้ที่เปิดให้มีการทำสัมปทานป่าไม้ โดยการออกกฎหมายเพื่อผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรจากพื้นที่ต่างๆ มาสู่มือส่วนกลาง การตัดไม้ทำลายป่าและโครงการพัฒนาของรัฐเกิดขึ้นอย่างมหาศาล และพื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดกระแสการเรียกร้องของประชาชน รัฐบาลจึงต้องยอม “ปิดป่า” ในปี 2532


    ย้อนกลับไปในปี 2530 มีความพยายามในการผลักดันโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน ในจังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2530 ซึ่งจะสร้างผลกระทบกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ ที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งแม้แต่อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้นยังได้ออกมาสนับสนุนโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการชั้นผู้น้อยในขณะนั้นได้เดินหน้าคัดค้านเขื่อนน้ำโจนจนสำเร็จ


    จนในปี 2531 มีข่าวว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งบางส่วนจะถูกกรมป่าไม้เพิกถอนไปเป็นป่าสัมปทานให้บริษัทไม้อัดไทย ซึ่งจะทำให้มีการตัดไม้ออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้ สืบ นาคะเสถียร ได้มีบทบาทในการคัดค้านการสัมปทานไม้อีกครั้ง โดยได้อภิปรายถึงความย้อนแย้งของกรมป่าไม้ที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานด้านอนุรักษ์ว่า เป็นคนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ (สัมปทานป่าไม้) เสียเอง


    ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้ต่อสู้กับขบวนการลักลอบตัดไม้ที่มีอยู่ทั่วในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น จากความพยายามในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากข้าราชการระดับสูงกว่า เมื่อ “ผู้ถือกฎหมายไม่รักษากฎหมาย” และความพยายามทั้งหมดคล้ายจะสูญเปล่า ทางเลือกสุดท้ายคือการกระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533
    32 ปี สืบ นาคะเสถียร กับ 8 ปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้มรดก คสช.


    เรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร ถูกเล่าผ่านผู้คนทั่วไป และเล่าผ่านหน่วยงานด้านอนุรักษ์ไทยเช่นกัน ในหลายครั้งการบอกเล่าเหล่านั้นได้ทำให้เรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร กลายเป็นเรื่อง “โรแมนติก” และขาดมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ถูกใช้เป็นเรื่องเล่าที่เป็น “เครื่องมือ” ของหน่วยงานราชการไทย เพื่อผูกขาดการจัดการทรัพยากร


    หลังการรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการควบรวมอำนาจการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อให้รัฐและทุนใช้อำนาจได้ง่ายมากขึ้น นำมาสู่ความแปลกประหลาดของนโยบายที่มีการเอื้อให้นายทุนและเอกชนสัมปทานพื้นที่เขตป่าเพื่อทำโครงการขนาดใหญ่ โดยในปี 2564 กรมป่าไม้ได้การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในกิจการเหมืองแร่มากถึง 20,000 ไร่ และยังมีลักษณะกิจการอื่นๆ เช่น การระเบิดหิน โครงการเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ หรือแม้แต่พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ก็ยังไม่พ้นมีแผนการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง


    เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กรมป่าไม้ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ยังอนุมัติให้มีโครงการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ป่าถึง 28 โครงการ โดยที่หนึ่งในนั้นคือการอนุญาตให้ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองหลวง เพื่อพัฒนาผลิตปิโตรเลียม


    ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการผุดขึ้นของโครงการที่ทำลายป่าอย่างมหาศาล ขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในสมัย คสช. ได้ผลักดันพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ ร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีเนื้อหาเผด็จการ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจชุมชน เพิ่มบทลงโทษ ลบเลือนประวัติศาสตร์ และกล่าวหาว่าประชาชนเป็นผู้บุกรุกป่า เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายที่สะท้อนแนวคิดว่ารัฐราชการไม่ยอมรับว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แม้ประชาชนจะคัดค้านเท่าไร สุดท้ายกฎหมายก็ผ่านมาได้เมื่อปี 2562 ด้วยน้ำมือของสภา สนช. ที่เต็มไปด้วยทหารและข้าราชการเกษียณ


    หน่วยงานด้านอนุรักษ์ทั้งหลายได้จำกัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรของชุมชนในเขตป่าที่อยู่อาศัยมาก่อน มีการใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ทำให้เกิดคดีความกับผู้คนในป่ามากถึง 34,692 คดี โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ กรณีที่โด่งดังได้แก่ กรณีการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี กรณีคำพิพากษาจำคุกชาวกะเหรี่ยง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี กรณีคดีของ แสงเดือน ตินยอด ชาวบ้านแม่กวัก จ.ลำปาง กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ จ.ตาก กรณีคดีชาวบ้าน 14 คน ในอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ รวมถึงกรณีสวนป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่มีแกนนำถูกบังคับให้สูญหาย
    เมื่อผู้คนต้อง “ตายทั้งเป็น” หลักหมื่นคดี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีนโยบายเช่นนี้


    เมื่อครั้งการคัดค้านสัมปทานป่าไม้ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในอุทัยธานี หรือการทำงานในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ อาจอนุมานได้ว่า สืบ นาคะเสถียร พอจะมีความคิดที่เข้าใจ “คนกับป่า” อยู่บ้าง แต่ในวันนี้ที่ชื่อของ สืบ นาคะเสถียร ได้ถูกนำมาใช้เป็นความชอบธรรมในการจัดงานรำลึกของหน่วยงานอนุรักษ์ทุกปี ซึ่งก็มีมีแต่ป่าเขียวขจีและชีวิตของสัตว์ป่า และกำลังนำพาแนวคิดของสังคมไปสู่การอนุรักษ์ที่ไม่เห็นคน แยกคนออกจากป่า ทำให้แม้กลุ่มชาติพันธุ์จะออกมา “พูดในนามของคนอยู่กับป่า” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ได้ยิน
    สืบ นาคะเสถียร เคยกล่าวไว้ว่า “ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่า กฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา”


    หากวันนี้ สืบ นาคะเสถียร ยังอยู่ทันได้เห็นการรังแกชาวบ้าน จะคิดเห็นอย่างไรกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ภายใต้อุดมการณ์สีเขียวเข้ม ภายใต้การคืบคลานของหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่ ภายใต้ชีวิตชุมชนที่ล่มสลายตายทั้งเป็น ขาดสวัสดิภาพและความมั่นคง


    สืบ นาคะเสถียร จะคิดอย่างไรกับนโยบายการอนุรักษ์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีชื่อ วราวุธ ศิลปอาชา และผู้บริหารของกระทรวงในปัจจุบัน?


    อ้างอิง
    ‘พีมูฟ’ จี้รัฐ ‘นิรโทษกรรม’ คืนสิทธิเหยื่อ ‘ทวงคืนผืนป่า’ https://theactive.net/news/lawright-20220729/
    สืบ นาคะเสถียร ตัวอย่างข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ https://www.the101.world/sueb-nakasathien-civil-servant/
    อนุมัติใช้ป่าสงวน 28 เอกชน/รัฐ รวมถึง ปตท.สผ. https://www.facebook.com/photo/?fbid=447004887452208&set=a.273945884758110

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...