อนาคตเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชรบนทาง 2 แพร่ง

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

หากผมขอให้ผู้อ่านคิดถึงจังหวัดกำแพงเพชร หลายคนคงนึกถึงความเป็นเมืองโบราณ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ หรือบางคนอาจนึกถึงเฉาก๊วยชากังราว เราจะเห็นว่าสิ่งที่หลายท่านคิดถึงจังหวัดกำแพงเพชรเป็นอดีตไปแล้วกว่า 2 ใน 3 สิ่ง เมื่อคนคิดถึงจังหวัดกำแพงเพชร ผู้เขียนเลยอยากตั้งคำถามว่า แล้วอนาคตเล่า หายไปไหนจากสำนึกของเราเมื่อนึกถึงจังหวัดกำแพงเพชร เพราะแน่นอนเฉาก๊วยชากังราวคงมิใช่

ด้วยเหตุนี้ ผมเลยอยากชวนผู้อ่านไปสำรวจความเป็นไปได้ในอนาคตของจังหวัดกำแพงเพชร ผ่านการสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเราจะได้ลองมาหาคำตอบกันว่าจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดที่มีอนาคตหรือไม่

จังหวัดแห่งการเกษตร?

นอกจากภาพเมืองโบราณของจังหวัดกำแพงเพชรแล้ว อีกภาพหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชรคือการเป็นเมืองเกษตร เพราะด้วยมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 3.6 ล้านไร่ หรือกว่าร้อยละ 67 ของจังหวัดพื้นภายในจังหวัด ซึ่งมีปริมาณพื้นที่การทำเกษตรสูงกว่าจังหวัดโดยรอบทุกจังหวัด พร้อมกับมีปริมาณการผลิตสินค้าด้านการเกษตรที่สูงกว่าจังหวัดโดยรอบเช่นกัน นับได้ว่าเป็นจังหวัดแห่งการเกษตรจังหวัดต้น ๆ ของประเทศเลยก็ว่าได้

เมื่อเรามาพิจารณากลุ่มอาชีพในจังหวัดกำแพงเพชรจะพบว่า มีครัวเรือนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 129,838 ครัวเรือน และเป็นแรงงานภาคเกษตร 142,892 คน นับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนในจังหวัดกำแพงเพชรที่มีอยู่ 285,943 ครัวเรือน จากตัวเลขครัวเรือนที่ทำการเกษตรและแรงงานในภาคเกษตรเราอาจอนุมานได้เลยว่า อาชีพเกษตรกรอาจเป็นอาชีพหลักที่ล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในจังหวัดกำแพงเพชร

ภาคการเกษตรแลเป็นภาคการผลิตสำคัญของผู้คนในจังหวัดกำแพงเพชรอย่างที่ได้กล่าวไป แต่ผลผลิตทางการเกษตรก็ไม่ใช่ผลผลิตที่มีความแน่นอนและยังต้องเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ มากมายผันผวรของราคาผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ปริมาณน้ำที่ไม่เพียง อุทกภัย ศัตรูพืช กระทั่งราคาปุ๋ยที่อาจจะสูงขึ้น เงื่อนไขเหล่านี้จึงสร้างความเป็นไปได้ที่ ครัวเรือนในจังหวัดกำแพงเพชรจะเผชิญความไม่แน่นอนมากมาย

ยิ่งกว่านั้น หากเราลองมาสำรวจผลผลิตจากภาคการเกษตรในจังหวัดกำแพงเพชรเราจะพบว่า จังหวัดกำแพงเพชรสามารถผลิตมันสำปะรังและอ้อยได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปี และผลิตข้าวได้มากกว่า 9 แสนตันต่อปี ซึ่งทั้งข้าว อ้อย และมันสำปะรัง คือ “พืชการเมือง” หมายความว่า เป็นพืชที่รัฐบาลจะมีนโยบายเข้าแทรกแซง ไล่ตั้งแต่การส่งเสริมการผลิต การจัดสรรสิ้นเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงการประกันราคาผลผลิต ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากนโยบาย และยังเป็นปัจจัยที่ไปส่งเสริมการเมืองระบบอุปถัมภ์ให้กับนักการเมืองในพื้นที่ ทั้งการสร้างสายสัมพันธ์กับหัวคะแนนและเรียกร้องคะแนนเลือกตั้งจากเกษตรกรที่ต้องพึ่งพานโยบายเหล่านี้ โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ได้ตั้งข้อสังเกตว่านักการเมืองเหล่านี้อาจใช้เงินของแผ่นดินไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนบุคคล โดยที่เกษตรกรได้ประโยชน์แต่เพียงส่วนน้อย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าผลผลิตทางเกษตรหลักทั้ง 3 ชนิด นอกจากจะทำให้เกษตรกรในนจังหวัดกำแพงเพชรเผชิญกับความไม่แน่นอนแล้ว ยังสร้างนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ผ่านการเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพืชการเมืองทั้ง 3 โดยที่เกษตรกรได้ประโยชน์เพียงน้อยนิดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรในจังหวัดกำแพงเพชรมิใช่เครื่องจักรทางเศรษฐกิจเครื่องหลักในจังหวัดกำแพงเพชร หากเป็นภาคอุตสาหกรรมต่างหาก เพราะจากรายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดกำแพงเพชร ปี พ.ศ. 2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดกำแพงเพชรรายเดือนในปี พ.ศ. 2566 เราจะพบว่าดัชนีการผลิตที่สูงที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชรมาจากภาคอุตสาหกรรม รองลงมาจึงเป็นภารการบริการ หาใช่ภาคการเกษตร

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานในจังหวัดกำพงเพชร ที่มา รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดกำแพงเพชร ฉบับที่ 9/2566

การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องจักรที่ (ยัง) ไม่อาจยกระดับเศรษฐกิจ

มาถึงตรงนี้ผมอยากพาพวกเราไปสำรวจเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในจังหวัดกำแพงเพชรกัน โดยขอเริ่มต้นที่ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดกำแพงเพชรกันก่อน

สำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชรให้น้ำหนักดัชนีเศรษฐกิจด้านอุปทานในภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 45 ขณะที่ภาคการผลิตด้านเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 20 กล่าวคือการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงกว่าภาคการเกษตรมากกว่าเท่าตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญในจังหวัดกำแพงเพชรประกอบด้วย การผลิตหิน การผลิตไฟฟ้า และการผลิตเครื่องดื่ม โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา จังหวัดแพงเพชรผลิตหินได้มากกว่า 3 แสนตัน ผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 5 ล้านกิโลวัตต์ และผลิตเครื่องดื่ม (เบียร์และโซดา) ได้จำนวนมากตามตอบสนองความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งนับเป็น 1 ใน 2 โรงงานขนาดใหญ่ในจังหวัดกำแพงเพชร อีกแห่งคือ โรงงานเบียร์ไทย (1991) จำกัด มหาชน หรือโรงงานเบียร์ช้าง

โรงงานในจังหวัดกำแพงเพชรมีมากกว่า 600 โรงงาน จึงไม่น่าแปลกที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเครื่องสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร แต่ในทางกลับกันจำนวนผู้ที่เป็นแรงงาน (นอกระบบ) ในภาคอุตสาหกรรมกลับมีอยู่เพียง 7,416 คน หรือคือเป็นร้อยละ 2.31 ของจำนวนผู้ใช้แรงงานนอกระบบทั้งหมดในจังหวัด ในส่วนของผู้ใช้แรงงานในระบบ ทางสำนักงานแรงงานจังหวัดกำแพงเพชรระบุเพียงว่าทำงานในกิจกรรมภาคผลิตจำนวน 37,372 คน หากอนุมานว่าทั้งหมดคือแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนแรงงานภาคอุตสาหกรรมของทั้งจังหวัดจะเท่ากับ 44,788 คน ซึ่งเป็นอัตราที่มากหากเทียบกับจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งจังหวัดที่ 446,859 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตรที่จำนวน 176,069 คน

สำนักงานแรงงานจังหวัดกำแพงเพชรรายงานว่า จำนวนแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบรวมกว่า 2 แสนคนมีการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ สำนักงานแรงงานจังหวัดกำแพงเพชรมีความพยายามในการยกระดับฝีมือแรงงาน แต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ.2565 มีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกยกระดับเพียง 103 คน หมายความว่าการยกระดับฝีมือแรงงานมีอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนวนแรงงานไร้ฝีมือ จากจำนวนแรงงานที่มีน้อยประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานไร้มือ เราจึงอาจอนุมานได้ว่า จังหวัดกำแพงเพชรแม้จะมีภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่กลับไม่อาจส่งต่อมูลค่าที่ได้จากการผลิตต่อให้กับแรงงานในจังหวัดได้

เราจะเห็นได้ว่า จังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดที่มีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ แต่กลับอยู่ท่ามกลางที่พื้นที่ในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ดังนั้นอาจเป็นข้อชวนคิดข้อสำคัญว่า จังหวัดกำแพงเพชรจะดำเนินนโยบายการพัฒนาไปในทิศทางใด เสมือนทาง 2 แพร่งที่ทางหนึ่งคือภาคการเกษตร อันเป็นภาคการผลิตที่บรรทุกผู้คนส่วนใหญ่ในจังหวัด ขณะที่อีกทางหนึ่งคือภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเครื่องสำคัญ แต่กลับยังไม่สามารถเสริมสร้างให้เติบโตมากเท่าที่ควรและกระจายประโยชน์สู่ผู้คนในจังหวัด

หากถามผมอาจเสนอให้เริ่มมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้นเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตาม พร้อมกับพยายามดึงผู้คนออกจากการเป็นแรงงานในภาคเกษตร เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของแรงงานและรายได้ภายในจังหวัด และสุดท้ายอาจมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่จังหวัดแพงเพชรให้มากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลในการลงทุนและการพัฒนา

ข้อเสนอต่อมาอาจเป็นข้อเสนอที่ท้าทายสำหรับผมและท้าทายประเทศนี้ นั่นคือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตภาคการเกษตร พร้อมกับลดปริมาณการผลิตและนโยบายสนับสนุนการผลิตลง โดยเฉพาะในการผลิตพืชการเมือง เนื่องด้วยผลผลิตจากภาคเกษตรเจาะจงที่พืชการเมืองเป็นพืชที่ไม่อาจสร้างมูลค่าจริงได้ หากปราศจากนโยบายอุดหนุนจากภาครัฐ พร้อมกันนี้นโยบายอุดหนุนของภาครัฐก็มิได้กระจายผลประโยชน์สู่ผู้ผลิตได้อย่างแท้จริง การลดปริมาณการผลิตแต่ยังคงรักษาและอาจเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรลงได้ อาจนำไปสู่การลดปริมาณพื้นที่การเกษตรลง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบอื่น และยังเป็นการดึงแรงงานจากภาคเกษตรมาสู่ภาคการผลิตอื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นก็เป็นได้

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง