มีนาคม 19, 2024

    ค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เล : เราล้วนเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    Share

    2 มีนาคม 2566

    เรื่อง : ปรัชญา ไชยแก้ว

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การเดินทางด้วยรถไฟจบลง ทุกคนมาถึงกันที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ในตอนหัวค่ำ พร้อมกับการต้อนรับจากทีมงานของสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เปิดประสบการณ์ครั้งแรกของใครหลายคนในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT และ BTS รถไฟฟ้าเสียงเงียบกริบกลางกรุง ในค่ำคืนที่ทุกคนต่างเหนื่อยล้า การนอนน่าจะเป็นการพักผ่อนเพื่อทำให้วันต่อไปมีพลังมากขึ้น

    เช้าตรู่ของอีกวัน เราทุกคนเดินทางจากกรุงเทพฯ เคลื่อนไปพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จังหวัดชลบุรี ที่นี้เองทีมงานจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ก็ตบเท้าเดินทางไปด้วย

    หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ได้เล่าที่มาที่ไปของ OKMD ในการสนับสนุนการเรียนรู้แบบ Life Long Learning ที่ส่งต่อการเดินทางในครั้งนี้ว่า

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี / หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา

    “ค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เลมันคือกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เป็นการทำให้คนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่งได้มาเจอกับสิ่งแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง เป็นการได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้ เรื่องของประสบการณ์ตรงมันสำคัญมาก ๆ สมมติว่าเราเอาหนังสือไปให้เขาอ่านบอกว่าทะเลเป็นแบบนี้ ป่าชายเลนเป็นแบบนี้ ปูเป็นแบบนี้ มันก็จะไม่ได้เข้าไปข้างใน เพราะว่ามันเป็นความรู้ในแบบที่ไม่ใช่ความรู้ฝังลึก เวลาที่เราได้เห็นพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ความรู้แบบที่ว่ามันจะฝังเข้าไปข้างใน เพราะว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมองเราเปิดพร้อมที่จะรับสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าเกิดว่าเราเดินทางไปคนเดียวสมองเปิดก็จริงแต่ว่ามันก็ยังมีประสบการณ์เฉพาะตัว มันอาจจะอยู่ไม่นาน แต่ถ้าเกิดว่ามันมีเพื่อนใหม่ มีความสัมพันธ์ใหม่เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย ความรู้ที่เราได้รับตอนนั้นทั้งผ่านเพื่อน ผ่านสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดการอะไรบางอย่างในตัวเอง ทำให้ความรู้เหล่านั้นมันเป็นความรู้ที่ฝังลึกลงไปจริง ๆ” 

    หนุ่ม-โตมร เสริมว่า “OKMD จึงอยากลองทำในเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งมันทำให้คนที่อยู่บนดอย อาจจะไม่ได้มีโอกาสมาทะเลกันได้ง่าย ๆ ก็ช่วยให้คนที่มีประสบการณ์คุ้นเคยกับดอยได้เปิดเส้นขอบฟ้าทางความคิด ทางความรู้สึก ทางการเรียนรู้ให้มันขยายกว้างขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะติดตัวเขาไป เพื่อจะทำให้ความรู้เหล่านี้รวมทั้งความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน มันอาจจะเดินหน้าต่อไปในอนาคตแล้วกลายเป็นอะไรบางอย่างที่มันเติบโต โดยที่เราอาจจะคาดไม่ถึงก็ได้”

    การเดินทางมาที่ชายฝั่งทะเลในครั้งนี้เป็นอาจจะ ‘ครั้งแรก’ ของหลาย ๆ คน ที่ไม่เคยเห็นทะเล  ไม่เคยนั่งเรือ การเปิดประสบการณ์การเดินทางครั้งนี้ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจ และความท้าทาย ของทุกคนให้เติบโตมากขึ้น

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี / เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย

    นอกจากนี้ เอิร์ธ-ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย นายกสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ก็ได้เล่าถึงที่มาของการทำงานของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะพัฒนาเป็น Connect.SYSI จนเกิดค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เลในครั้งนี้ว่า

    “Connect.SYSI เป็นรูปธรรมหนึ่งที่ถูกพัฒนามาจากงานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ และตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมก็คือค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เล มีเป้าหมายที่จะทำงานเครือข่าย ซัพพอร์ต สนับสนุน เพื่อสร้างการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพให้กับเพื่อนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ทั่วประเทศ คือเราตั้งใจที่จะให้ เป็นชุมชนของคนรุ่นใหม่ในการที่จะเปิดประสบการณ์ สำรวจประเด็นทางสังคม เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมเพื่อกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองแล้วก็พัฒนาตัวเอง ซึ่งในนี้มันก็มีกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบ การทำทริปเรียนรู้เพื่อเปิดโลก เห็นสิ่งใหม่ ๆ แล้วนำกลับไปเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง หรือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เขาต้องการที่จะกลับไปสร้างพื้นที่ของตัวเองให้เป็น Learning Station เป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับคนอื่นในพื้นที่นั้นก็เป็นอีกหนึ่งงานของเรา อันนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ Connect.SYSI ที่มุ่งไปสู่เป้าเดียวก็คือการสร้างเครือข่าย เรียนรู้ แล้วก็พัฒนาเครือข่าย”

    เปิดโลกบันทึกธรรมชาติ

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “หญ้าชนิดนี้มีแค่ในเกาะแสมสารเท่านั้น” 

    ครูกุ้ง-ธัญลักษณ์ สุทรมัฏฐ์ และครูปรีชา-ปรีชา การะเกต ผู้ใหญ่ใจดีวัยเกษียณพูดพร้อมกัน ชี้ไปที่ ‘หญ้าลอยลม’ พืชหน้าตาแปลกประหลาดมีขนตามตัว ขณะที่ทุกคนตั้งใจวาดอย่างขะมักขะเม่นในโจทย์ Blind Contour หรือการวาดภาพโดยไม่ยกมือ และโจทย์วาดเส้นพืชบนเกาะแสมสาร 5 ชนิดภายใน 30 วินาที ช่วยให้ทุกคนมีความกล้าและเปิดการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

    “ชอบเทคนิคการวาดภาพของครูกุ้งและครูปรีชา จากคนที่ไม่ชอบวาดรูปเพราะวาดรูปไม่สวย ทำให้เราชอบและมีอะไรให้น่าเรียนรู้เกี่ยวกับการวาดรูปมากขึ้น อยากเอาไปปรับใช้กับเด็กในแคมป์แรงงานที่เราสอนอยู่ได้”

    เดือน-เหลินคำ ทองคำ เยาวชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ เล่าถึงการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดในการวาดของตนขณะวาดรูปใบไม้อยู่

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    ช่วงค่ำตะวันลาลับฟ้าไปแล้ว น้ำทะเลหนีฝั่ง ชายหาดเหลือแต่โคลน ครูกุ้งและครูปรีชาพาทุกคนมาสอดส่องธรรมชาติยามค่ำคืนใน กิจกรรมสำรวจสิ่งมีชีวิตระบบนิเวศน์หาดหินปนทราย ด้วยเครื่องมือและทักษะที่ทุกคนได้ฝึกปรือไปกันแล้วในช่วงเช้า ทุกคนได้ใช้สายตาสังเกตสัตว์และพืชบรรจงวาดออกมาได้กว่า 43 ชนิดในเวลาไม่ถึงชั่วโมง 

    โก-ชาติชาย กุศลมณีเลิศ เยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กล่าวถึงการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นระหว่างภูเขาและทะเล หลังจากเสร็จกิจกรรมสำรวจธรรมชาติในตอนกลางคืนว่า

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “อยากนำการวาดภาพสำรวจนิเวศน์ไปปรับใช้กับที่พื้นที่ของตน บางอย่างมันอยู่ในวิถีของเราจนลืมว่ามันมีอะไรให้น่าค้นหาอีกมากมาย”

    ก่อนที่จะค่อย ๆ เคลื่อนจากชลบุรีเข้าสู่จังหวัดระยอง ทุกคนมีความกล้าในการวาดและการสังเกตแล้ว หลายเทคนิคที่ครูกุ้งและครูปรีชา ได้สอดแทรกตลอดการเดินทางช่วยให้การเรียนรู้ในแต่ละสถานที่มีมิติมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นเทคนิคการใช้สีไม้ ผ่านโจทย์วาดและระบายสีนกกินเปี้ยว นกตัวเล็กสีน้ำเงินเข้มและกล้วยก้ามกุ้ง กล้วยไม้สีแดงจ๋า แต่งเติมให้การเดินศึกษาธรรมชาติที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ จังหวัดระยอง มีสีสันสดใส เทคนิค Zoom in – Zoom out การวาดรายละเอียดของพืชพรรณนานาชนิด และโจทย์ Collection การจัดทำคู่มือบันทึกธรรมชาติ ทำให้การสำรวจธรรมชาติที่สวนพฤกศาสตร์ระยอง ลึกซึ่งมากยิ่งขึ้น

    ทะเลและดอยเราล้วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    นอกจากกิจกรรมวาดภาพของครูกุ้งและครูปรีชาแล้ว กิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยเปิดผัสสะทั้งหมดของร่างกายของทุกคน การสังเกต การฟัง การกิน การได้กลิ่น การสัมผัส ด้วยการพาตนเองลงไปยังพื้นที่จริง ทดลองทำจริง ผ่านประสบการณ์ตรง ที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้และฝั่งรากลึกไปในความรู้สึก

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “ตื่นเต้นมาก! เราคิดว่าปลาจะอยู่แต่ในน้ำ แต่นี่ปลาอยู่บนบก อีกอย่างหนึ่งคือป่าชายเลน อยู่บนดอยก็มีป่าเหมือนกันแต่มันอีกแบบหนึ่ง ป่าบ้านเราไม่เหมือนป่าที่นี่ ที่นี่ต้นไม้มีรากใหญ่และอยู่ในน้ำตลอด” วี-วีรชัย มงคลชัยคีรี เยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กล่าวขณะเดินรับชมธรรมชาติที่ป่าชายเลนที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “นี่ ๆ โถ่แลกว่า(นกกระยาง) ที่นาผมก็มี กินได้นะคาวหน่อย แต่หน้าฝนไม่กินเพราะเป็นช่วงวางไข่” “นั้น! คือเปาะและ(งูทะเล)”  ฟิลิป-ธดาพงศ์ เสนาะพรไพร เยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กล่าวขณะนกกระยางตัวสีขาวบินโฉบลงมาเกาะต้นโกงกาง และงูทะเลตัวเล็กสีกลมกลืนน้ำกร่อยเลื่อยไปมาใต้น้ำ บริเวณป่าชายเลน

    นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลากหลายที่ทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดการเดินทางตั้งแต่ชลบุรีถึงระยองไม่ว่าจะเป็น การรับชมธรรมชาติในนิเวศน์ที่ต่างออกไป การดำน้ำดูปะการัง การพายเรือ การกินอาหารทะเล และวิถีชีวิตของผู้คนชายฝั่งทะเล ช่วยให้ทุกคนสัมผัสถึงบางอย่าง บางอย่างที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเชื่อมโยงทะเลและภูเขาเข้าด้วยกัน

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “เราได้รู้ถึงความเชื่อมโยง ถึงแม้ว่าเราจะอยู่บนดอย อยู่ห่างไกล รู้สึกว่าทะเลกับดอยเป็นสิ่งตรงข้ามกัน แต่การเดินทางในครั้งนี้ได้เรียนรู้ว่าทะเลกับดอยมันก็เชื่อมโยงกันบางอย่าง ด้วยความที่เราอยู่ภูเขาเป็นต้นทะเล และที่นี่ก็เป็นปลายทะเล อย่างหาดทรายที่เราเห็นสวยงามก็เป็นสิ่งที่พัดพามาจากบนภูเขาแล้วก็มารวมอยู่ที่ทะเล การเข้าพิพิธภัณฑ์ วิทยากรก็พูดถึงเรื่องว่ามีป่าหลายชนิดในธรรมชาติ ทั้งป่าบนภูเขา กลางน้ำ ป่าชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ป่าหินปนทราย และป่าปะการัง ก็ทำให้เห็นว่ามันมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ทุกอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มันสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของชีวิตในการเดินทางในครั้งนี้เหมือนกัน” นี-สุวรรณนี บุญยืนกุล เยาวชนชาติพันธุ์อาข่า เล่าถึงการเชื่อมโยงบางอย่างที่ตนได้สัมผัสมา

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    หลังจากทุกคนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวเล ได้ปลูกหน่ออ่อนนักอนุรักษ์ให้กับทุกคนในการดูแลธรรมชาติและวัฒนธรรมของตน นี-สุวรรณนี เสริมต่อว่า “การได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่ ทำให้มีความคิดว่าเราจะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับอนุรักษ์วัฒนธรรมตัวเองอย่างไร เพราะว่าชนเผ่าอาศัยอยู่ในธรรมชาติ อยู่บนดอย เรามีวิถีชีวิตอยู่แล้ว บางทีเราอาจจะลืมเลือนไป เราอาจจะสามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมตัวเองที่สอดคล้องกับการฟื้นฟูธรรมชาติได้”

    People to People

    “เวทีแลกเปลี่ยนวิถี อาหารและวัฒนธรรม” เวทียามค่ำคืนที่เชื่อมให้เยาวชนจากดอยและทะเลได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผ่านการลิ้มลองชิมอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบท้องถิ่นจากทั้งภูเขาและทะเล การแสดงวัฒนธรรมสุดพิเศษ พร้อมกับการแลกเปลี่ยนวัตถุจากทั้งสองพื้นที่ ในคืนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดของการเดินทาง ที่ สวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    ทุกคนแต่งตัวเต็มในชุดประจำชนเผ่าของตน ยกอาหารที่ทุกกลุ่มได้ช่วยกันปรุงสุดฝีมือด้วยวัตถุดิบที่ทุกคนได้นำมาจากภูเขาและเมนูของเพื่อนจากระยองจากชายฝั่งทะเลได้เตรียมมาพร้อมให้ทุกคนได้ลิ้มลอง

    เวทีเริ่มด้วยการให้ทุกคนชิมอาหาร 9 เมนูจากภูเขาและทะเล พร้อมให้ทุกกลุ่มที่รังสรรค์อาหารจานพิเศษ ออกมาอธิบายวัตถุดิบและความเป็นมาของเมนูแต่ละจาน

    4 เมนูแรกนั้นเดินทางมาจากฝากฝั่งทะเล ซึ่งแต่ละเมนูมีที่มาและวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับท้องทะเลทั้งสิ้น เช่น หมูชะมวง ใช้ต้นชะมวงที่เป็นพืชที่หาได้จากระยองเท่านั้นเป็นวัตถุดิบหลัก หมึกน้ำดำ ใช้หมึกสดขึ้นมาปรุงโดยไม่ผ่านน้ำจืด ปรุงรสด้วยดอกเกลือ และใช้หัวหอมในการดับกลิ่น หอยพอกย่าง หอยหายากจาก 2 น้ำในป่าชายเลน (น้ำจืด-เค็ม) และสุดท้ายแกงคั่วหอยถ่าน หอยในนิเวศน์ 3 น้ำ (น้ำจืด เค็ม กร่อย) ชื่อมาจากสีดำเหมือนถ่าน น้ำมาทำเป็นแกงคั่ว

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    และอีก 5 เมนูที่เดินทางจากภูเขามาถึงทะเล ซึ่งแต่ละเมนูนั้นต่างเชื่อมโยงทั้งในทางพื้นที่และวัณนธรรมจากดอย เช่น เมนูน้ำพริกผักกาดอบแห้ง อาหารพื้นถิ่นและวัตถุดิบจากจังหวัดตาก ,ข้าวปุกงา อาหารท้องถิ่นของภาคเหนือ สามารถกินได้หลากหลายวิธี ข้าวปุกงามีลักษณะเป็นแผ่นเพราะในวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเชื่อว่าทำให้คนเป็นปึกแผ่น ,ยำใบชา ยำชื่อดังจากไทใหญ่ เน้นกินงานมงคล ภาษาไทใหญ่เรียกว่า เนงโก ,น้ำพริกถั่วเน่ามะเขือเทศ อาหารหากินง่ายของไทใหญ่ เป็นการผสมผสานระหว่างถั่วเน่าจากไทใหญ่และมะเขือเทศจากปกาเกอะญอ และสุดท้าย ต้มไก่สมุนไพร จากม้ง เชื่อว่าทานเป็นยาแก้โรค ที่เน้นรสชาติจากไก่และสมุนไพร 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    หลังจากที่ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติความหลากหลายจากทั้งดอยและทะเล เวทีวัฒนธรรมก็เริ่มขึ้น การแสดง 5 การแสดงผ่านเรื่องเล่า บทเพลง กวี และวิถีชีวิต เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของ 4 ชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การแสดง กาลเวลา จากกลุ่ม นย้อ โอ มึ ที่เล่าถึงตำนานการทำนายของปกาเกอะญอในอดีตว่าจะมี สิ่งแปลกปลอม 4 อย่างที่จะเข้าเดินมาในหมูบ้าน งูยักษ์จะเข้ามาในหมู่บ้านแสดงถึงการถนน ดอกไม้อยู่ในหมู่บ้าน หมายถึง เสาไฟฟ้า ม้ามีเขา หมายถึงรถมอเตอร์ไซต์ คนเสียงดัง หมายถึงรถกับข้าว สิ่งเหล่านี้ทำให้บริบทชุมชนเปลี่ยนไป 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การแสดง เต้นประกอบเพลง จากกลุ่ม เด็กดอยหิวเลย์ การเต้นร่วมกันของ 4 ชนเผ่ามีความหมายว่าแม้แตกต่างหลากหลายแต่กลุ่มก็รวมใจเป็นหนึ่งเดียว

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การแสดง โยนลูกช่วง จากกลุ่ม เพื่อนต่างถิ่น เล่าถึงประเพณีโยนลูกช่วงของชาติพันธุ์ม้ง เป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นชายและหญิงเล่นกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยและเป็นการจีบกันภายในตัว นิยมเล่นกันในปีใหม่ม้ง 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การแสดง เล่าตำนานและร้องเพลง จากกลุ่ม เกอจ๊งหลอย เล่าตำนานไทใหญ่ ที่เป็นดั่งกุศโลบายให้เด็กเชื่อฟัง ซึ่งแต่ละเรื่องมีภูมิปัญญาอยู่ในนั่น เช่น ห้ามผูกควายกับต้นกล้วย นอกจากเล่าตำนานไทใหญ่ยังได้ร่วมกันร้องเพลงชาติกะเหรี่ยงที่มีความหมายว่ากะเหรี่ยงเป็นชาติพันธุ์ที่ซื่อตรงและใจดี 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    การแสดง เต้นไตและมัดมือปกาเกอะญอ จากกลุ่ม ญ๊อ เปอ สูง วัฒนธรรมการเต้นของชาติพันธุ์ไทใหญ่ ด้วยเพลงปีใหม่ไต ลักษณะการเต้นเป็นวงกลมเหมือนรำวง นิยมเต้นในหน้าหนาวรอบกองไฟ และวัฒนธรรมการมัดมือของปกาเกอะญอให้กับทุกคนภายในงาน เพื่อเป็นการส่งมอบพลังให้กับทุกคนภายในงาน

    เวทีแลกเปลี่ยนวิถี อาหารและวัฒนธรรม ก็สิ้นสุดลงด้วยการแลกผัก แลกปลา แลกใจ ของดีที่ทุกคนได้ตระเตรียมมาจากทั้งดอยและทะเล การเดินทางของวัตถุดิบจากภูเขาถึงเวลาทำหน้าที่ของมันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชาไทใหญ่ ยารากไม้ไทใหญ่ เมล็ดกัญชงจากชาติพันธุ์ม้ง ชาสามจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา ฟักทอง เผือก งาจากไร่หมุนเวียน ข้าวจ้าวบือโปะโละ เมล็ดกาแฟจากขุนช่างเคี่ยน มะเขือเทศจากดอยอินทนนท์ และพืชพรรณอีกนานามากมายนับไม่ถ้วน นอกจากของจากดอยยังมีของจากฝากฝั่งทะเล ปลากุเลาหอม ปลาพื้นถิ่นจังหวัดระยองที่ได้มาจากประมงชาวบ้าน และดอกเกลือถุงใหญ่ มอบให้ทุกคนนำกลับขึ้นดอยเช่นกัน 

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    “นอกจากทุกคนจะได้แลกสิ่งของแล้วทุกคนยังแลกใจตัวเองให้กับผู้คนอื่นทั้ง ชาติพันธุ์อื่น พื้นที่อื่น รวมไปถึงวัฒนธรรมอื่น กระบวนการนี้เรียกว่า People to People เป็นการเชื่อมโยงผู้คนผ่านอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะ” อาจารย์ชิ กล่าวหลังจากจบเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    ถึงแม้การเดินทางจากดอยสู่ทะเลของเหล่าเยาวชนชาติพันธุ์จะจบลง แต่ความรู้ ความทรงจำ ความเชื่อมโยง ผ่านการแลกเปลี่ยน สังเกต และลงมือทำ ก็ได้ซึมซาบไปในความรู้สึกและหัวใจของทุกคนไปแล้วไม่รู้ลืม…

    ภาพ : ทวีวัฒน์ สมประเสริฐศรี

    อ่านตอนแรก ค่ายเปิดโลกเยาวชนจากดอยสู่เล : จุดสตาร์ทที่นำพาเยาวชนชาติพันธุ์เดินทางจากดอยถึงทะเล

    Related

    แม่แจ่มที่เพิ่งสร้าง: การเผยตัวของชุมชนแม่แจ่มในฐานะชุมชนทางวัฒนธรรม

    เรื่อง: ทศพล กรรณิกา บทนำ มรดกทางการเมืองหลังสงครามเย็น นอกจากแม่แจ่มจะเป็นพื้นที่สีชมพูในการจัดการของรัฐไทยต่อขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่รัฐไทยเข้ามามีอำนาจในการจัดการทรัพยากรในแม่แจ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่ม การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยโครงการของรัฐ การขยายระบบสาธารณูปโภคและเปิดโอกาสให้ระบอบทุนเข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรด้วย ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันคือราวปลายทศวรรษ...

    ‘วาระเชียงใหม่’ ภาคประชาชน เปิดข้อเสนอกำหนดทิศทาง ร่วมพัฒนาเชียงใหม่

    เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 กลุ่มคนรักเชียงใหม่ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวเชียงใหม่ ต่างรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอและประกาศเจตจำนงของตนเองในเวที “ประกาศวาระเชียงใหม่...