‘ประชาสังคมภายใต้เงื่อนไขใหม่’ จากนิธิ เอียวศรีวงศ์ สู่การเมืองคนจนและการไปต่อ

26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมามีการจัดเสวนา “เวทีประชาสังคม : ภายใต้เงื่อนไขใหม่” เนื่องในโอกาสรำลึกการจากไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ของศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการคณะสังคมศาสตร์ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นนักคิด นักเขียน นักวิชาการอาวุโส ด้านประวัติศาสตร์ และอดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีคุณูปการอย่างมากทั้งด้านวิชาการและสังคมไทย

งานเสวนานี้เริ่มด้วยการเปิดงานและกล่าวรำลึกศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์การพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นเป็นพิธีรำลึกและกล่าวเชิดชูเกียรติ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ โดย ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านประกอบด้วยหลายองค์กรเช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ



ในช่วงเช้ามีวงเสวนาหัวข้อ “เก็บที่โล่งแก่รากหญ้า” : นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับการสถาปนาแนวคิดการเมืองของคนจน คนด้อยโอกาส ด้อยอำนาจ” มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่
ปรีดา เตียสุวรรณ์ ตัวแทนชมรมนักธุรกิจเพื่อสังคม
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิจัยพันธมิตร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
พฤ โอโด่เชา ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ในวงสนทนาได้กล่าวถึงคุณูปการของนิธิว่าเป็นผู้สถาปนาการเมืองรากหญ้าด้วยการเป็นนักประวัติศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่สนใจการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมอันเป็นประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยและคนรากหญ้า ซึ่งนิธิมีแนวคิดว่านักประวัติศาสตร์ควรใช้ความรู้ในการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับประชาชน 



ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า งานเขียนของนิธิทำให้เกิดพื้นที่ให้คนรากหญ้ามีสิทธิ์มีเสียงและเขายังเป็นผู้ให้คำอธิบายคำว่าจนเพิ่มเติมว่าไม่ใช่เพียงจนทรัพย์สินแต่เป็นจนอำนาจและจนโอกาส เขายังได้เสนอความจนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับไว้และมายาคติของสังคมเกี่ยวคนจนยังหยุดอยู่เพียงแค่การสังคมสงเคราะห์ เขายังได้พูดถึงการกระจายอำนาจอีกด้วยว่าการกระจายอำนาจนั้นไม่ใช่เพียงแค่กระจายอำนาจการปกครองแต่ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรอีกด้วย ในส่วนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ศ.ดร.นิธิ ยังมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเสมอทั้งเขื่อนปากมูล, ราศีไสล, บ้านกรูด, ด่านนอก จะเห็นได้ว่านิธิ”ไม่ได้ผลิตความรู้อย่างเดียวแต่ปฏิบัติการและหนุนเสริม (ขบวนการประชาชน) ในทุกมิติ” 

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ กล่าวว่า การที่มีนักวิชาการช่วยอธิบายปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นมีความสำคัญมากเพื่อสื่อสารปัญหาเหล่านี้ให้กับชนชั้นกลาง และได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณูปการของนิธิในด้านการศึกษาว่านิธิมองว่าการศึกษาที่ผ่านมานั้นเป็นการศึกษาในกรอบของรัฐที่ไม่มีความหลากหลาย ซึ่งการปฏิรูปการศึกษานั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนแต่ควรเป็นการศึกษาทางเลือกนำไปสู่คณะทำงานศึกษาการศึกษาทางเลือก ทำให้เห็นภาพการศึกษามากขึ้นว่าเวลาการศึกษาในระบบนั้นมีน้อยดังนั้นการศึกษาที่แท้จริงจึงเป็นการศึกษานอกระบบในชีวิตประจำวัน เป็นการเปลี่ยนภูมิทรรศจากการศึกษาในเฉพาะโรงเรียนเป็นการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุก



อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อธิบายว่า ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นิธิเขียนงานประวัติศาสตร์เพื่อคืนโอกาสให้กับประชาชนโดยเขียนงานที่ “กระชากพรมออกจากตีน” เป็นการจัดความสัมพันธ์อีกรูปแบบกับอดีตแม้งานในช่วงแรกจะยังไม่เป็นระบบนัก ในปี 2525 ก็ได้เริ่มยกระดับงานกับภาคประชาชนโดยใช้งานเขียนเพื่อเปลี่ยนความหมายให้ชาวบ้านกลายเป็นพลเมืองทำให้ชาวบ้านกลายเป็นพลเมืองไทย และเปลี่ยนความหมายหลายอย่างให้พลังกับชาวบ้าน ดังที่นิธิกล่าวว่า “ความรู้เป็นสิ่งที่เราต้องสร้าวเอ เพราะความรู้ย่อมให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง” นิธิพบว่าปัญหาของสังคมไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลแต่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเขาได้ขยายความคิดและความเข้าใจท้องถิ่นขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อถ่ายทอดไปสู่ความรับรู้ของชนชั้นกลางเพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจเพื่อเปลี่ยนอัตลักษณ์ เช่น การใช้คำว่าปราชญ์ชาวบ้านเพื่อเปลี่ยนมุมมองและภาพลักษณ์ของชาวบ้าน อรรถจักร์ได้ทิ้งไว้ว่านิธิทำให้ “เราเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ทำให้เราทำในสิ่งที่ยาก ทำให้เราเห็นคนร่วมกัน”



ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนิธิเช่นเดียวกันว่านิธิเป็นผู้เข้ามาช่วยเปิดพื้นที่ให้กับชาวบ้านในการต่อสูกับความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลทางวิชาการในการต่อสู้ และช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเสมอ พฤ โอโด่เชากล่าวว่านิธิเป็นผู้ “เปิดพื้นที่ให้หญ้าขึ้น” และช่วยแนะนำการต่อสู้กับสังคมที่เหลื่อมล้ำ โดยอาจารย์เป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำว่ารากหญ้าและดื้อแพ่งเข้ามาในการต่อสู้ คุณดิเรก กองเงิน จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนภาคเหนือ กล่าวถึงว่านิธิเป็นปูชณียบุคคลที่กระจายความรู้ไปสู่ชุมชน แม้ว่าจะไม่ได้ติดต่อกับอาจารย์โดยตรงแต่ได้ความช่วยเหลือจากลูกศิษย์ของนิธิและเชื่อว่าต้นกล้าที่นิธิเพาะไว้จะเติบโตและเจริญรอยตามแนวทางนั้น คุณนันทัชพร ศรีจันทร์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ถึงคุณูปการของศ.ดร.นิธิว่า แม้ว่ารุ่นห่างกันไม่ได้เรียนกับนิธิโดยตรงแต่ได้รับแนวคิดวิธีคิดผ่านการสอนของอาจารย์ท่านอื่นและหนังสือ ซึ่งทำให้เห็นมุมมองใหม่และทำให้รู้สึกว่าการเมืองใกล้ตัวมากขึ้น อีกทั้งเห็นความวิปลาสของการเมืองไทย



ในช่วงบ่ายเป็นวงเสวนา “ประชาสังคม : ภายใต้เงื่อนไขใหม่” เพื่อระดมความคิดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการทำงานต่อไปของภาคประชาสังคมโดยมีแนวทางของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พลากร วงศ์กองแก้ว ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
รังสรรค์ แสนสองแคว ตัวแทนแนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.)
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
สุวิมล มีแสง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการ กป.อพช.ภาคเหนือ

ดำเนินรายการโดน คุณพชร คำชำนาญ ฝ่ายสื่อสารและรณรงค์สาธารณะ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ในวงสนทนามองถึงแนวทางการทำงานในอนาคตของภาคประชาสังคมไว้ว่าภาคประชาสังคมต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต่อไป ต้องยืนยันขบวนการความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ประชาชน คนรุ่นใหม่ และนักวิชาการเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ต่อสู้ อีกทั้ง NGOs ยังพบมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขคือ NGOs จะมีที่ทางในการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบันอย่างไร ชาติชาย ธรรมโมอธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องยกระดับการต่อสู้เชิงประเด็น โดยมีขบวนประชาชนที่ยกระดับการทำงานในพื้นที่ที่มาจากภาคประชาสังคม ชาวบ้านและนักวิชาการ แต่การหานักวิชาการมาช่วยนั้นค่อนข้างมีอุปสรรค์เนื่องจากทางหน่วยมหาลัยขัดขวางจึงต้องหานักวิชาการที่กล้าหาญพอจะเข้าร่วมไม่เช่นนั้นจะไม่มีขบวนประชาชน นอกจากนี้ยังต้องทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอีกด้วยเพื่อขับเคลื่อน ซึ่งพรรคที่ทำงานร่วมกันต้องเป็นพรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยหากไม่มีก็ควรตั้งพรรคการเมืองเอง 



เดโช ไชยทัพ ตั้งคำถามถึงโจทย์ของภาคประชาสังคมไว้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเปลี่ยนข้อทุกข์ร้อนของชาวบ้านให้มาเป็นสังคมได้ สืบสกุล กิจนุกร กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเจอวิกฤตอัตลักษณ์มากขึ้น จากพรรคการเมืองใหม่ที่เข้ามาทำงานได้ดีกว่า และการเกิดขึ้นของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และวิกฤตภายในคือการหาทุน ปัจจุบันภาคประชาสังคมใหญ่กว่า NGO ไปแล้วและเส้นแบ่งระหว่างแอคติวิสต์และนักการเมืองเริ่มเลือนลง แต่การทำงานภาคประชาสังคมที่ดีก็เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักการเมืองในอนาคต ทำให้นำไปสู่อีกโจทย์หนึ่งคืออะไรเป็นสิ่งที่ NGOs เชี่ยวชาญที่สุด คือการเกาะติดประเด็นและเสนอแนวทางที่รัฐหรือทุนไม่สามารถให้ได้ อีกความถนัดหนึ่งคือการยกประเด็นขึ้นสู่สังคม ในช่วงถามตอบ 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ทิ้งท้ายว่า รัฐจะขยายทำให้การควบคุมสอดส่องจะเข้มข้นมากขึ้น และการขยายตัวของการบริการที่แบ่งผลประโยชน์ให้ประชาชนจะมากขึ้น ทำให้ภาคประชาสังคมถูกกดดันมากขึ้น แม้มีการบริการของรัฐแต่โครงสร้างความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่และการข้ามชนชั้นจะยากมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้จะทำให้คนไทยอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัว 1.คือพูดในสิ่งที่รัฐไม่อยากให้พูด 2.กังวลว่าหากพูดไปอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐกำลังเปลี่ยนและภาคประชาสังคมถูกทำให้อ่อนแอด้วย 1.เมื่อไม่มีทุนจากต่างชาติจึงต้องไปพึ่งพารัฐโดยไม่ตั้งใจ 2.กลุ่มเสรีชนที่เกิดใหม่ กลุ่มนี้ยังไม่เข้มแข็งนักโดยรวมตัวในโควิดแต่ไม่ต่อเนื่อง การทำงานเชิงประเด็นที่ NGOs เชี่ยวชาญต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ในสังคม ต้องหาทางสร้างพื้นที่ใหม่ที่ต้องถักสานเข้าไปสู่สังคมให้เป็นพื้นที่ของเสรีชนที่ต่อสู้กับอาณาจักความกลัวและต้องขยายความรับรู้ออกไปให้กว้างที่สุด ปัญหาคือ NGOs เก่าจะเชื่อมกับเสรีชนใหม่อย่างไร ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่ในอาณาจักรความกลัว หากไม่ช่วยกันแล้วอยู่ในอาณาจักรเราจะตายทั้งหมด  

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง