เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
ภาพจาก https://forums.chiangraifocus.com/?topic=1161.20#gsc.tab=0.
เนื้อหาจากการบรรยายพิเศษระดับปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องสะท้อนย้อนคิด “ประเด็นปัญหา” ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ในหัวข้อ “ขบวนการทางศาสนาในล้านนา” บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฏ์ นาสี คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567
ทำไมต้องสนใจศาสนา?
พิสิษฏ์ นาสี ตั้งประเด็นว่าในการบรรยายในครั้งนี้ว่า “ศาสนาคืออะไร” และ “ศาสนาในเชิงวิชาการมีความสำคัญอย่างไร” ความสำคัญของคำถามนี้คือ ศาสนาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและชีวิตประจำวัน เนื่องจากเราสัมพันธ์กับศาสนา/ความเชื่อตลอดเวลา ในเขตวัฒนธรรมมีระบบความเชื่อกำกับอยู่และความเชื่อก็ไม่จำเป็นต้องเป็นศาสนา เช่น ศาลพระภูมิ การแก้บน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหล่านี้เป็นระบบความเชื่อที่กำกับวิถีชีวิตผู้คน หากมีความผิดพลาดในการใช้ชีวิตของผู้คนที่หาคำตอบไม่ได้มันจะถูกจัดการด้วยระบบความเชื่อ
Émile Durkheim (อีมิล เดอร์ไคม์) นักวิชาการด้านสังคมวิทยาที่สนใจเรื่องศาสนาและความเชื่อ ตั้งคำถามเมื่อปี ค.ศ. 1915 ว่า “ศาสนามีหน้าที่อะไร” เขาเสนอว่าศาสนาคือระบบความเชื่อที่ไม่สามารถอธิบายได้ในระบบความรู้ที่เรามี และไม่สามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ ระบบความเชื่อและศาสนาจึงเป็นข้อจำกัดของมนุษย์ ทั้งในเรื่องปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีผลต่อความคิดของมนุษย์ ระบบความเชื่อจะเรียกรวมกันว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งก่อสร้าง เช่น พีระมิด วิหาร วัด ล้วนสัมพันธ์กับศาสนาทั้งสิ้น ในแง่นี้ ศาสนาจะใช้เป็นแว่นในการมองสรรพสิ่งที่ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้
การศึกษาศาสนา/ความเชื่อ ในเชิงวิชาการมันจึงชวนขบคิดอยู่ตลอดเวลาและไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้นศาสนาในเชิงวิชาการจึงมิใช่เรื่องความเชื่อและการปฏิบัติ แต่เป็นหน่วยการวิเคราะห์แบบหนึ่งและเชื่อมโยงกับมิติทางสังคมตลอดเวลา ปรากฏการณ์ทางศาสนาจึงสะท้อนมิติทางสังคมได้อยู่ตลอดเวลา
คำสำคัญในการศึกษาศาสนาแนวสังคมวิทยา แบ่งออกเป็น 4 แบบคือ 1.ประสบการณ์ทางศาสนา (Religious experience) หรืออารมณ์ที่บุคคลหนึ่งเชื่อมโยงกับพระเจ้า หากประสบการณ์เกิดขึ้นทำให้สิ่งที่บูชามีอำนาจขึ้นมา เช่นคำที่คำพูดที่คุ้นหูก็คือ “คนสามารถฆ่ากันตายได้เพราะศาสนา” 2.ความเชื่อทางศาสนา (Religious beliefs) แนวคิดเฉพาะที่ว่าความศรัทธาในเรื่องหนึ่ง ๆ ได้ถูกยึดถือว่าเป็นความจริง เช่น การมีศรัทธาต่ออะไรบางอย่าง 3.พิธีกรรมทางศาสนา (Religious rituals) คือพฤติกรรมหรือกิจปฏิบัติที่ถูกเรียกร้องให้สมาชิกของกลุ่มกระทำ เรียกร้องให้ระดับชุมชนและสังคมกระทำ 4.ลัทธิ (cults) กลุ่มความเชื่อ/ศาสนา มีกลุ่มผู้ศรัทธา อาจมีขนาดเล็กจัดตั้งแบบไม่เป็นทางการ อาศัยการมีบารมีส่วนบุคคล (Charisma) อาจเคลื่อนไหวอย่างลับ ๆ (โดยเฉพาะเป้าหมายของกลุ่ม)
ขบวนการพุทธศาสนาในล้านนา
คำถามต่อมาที่เกี่ยวข้องกับการบรรยายนี้คือ “ขบวนการศาสนาคืออะไร”
ขบวนการทางศาสนาคือการพยายามในระดับกลุ่มของความเชื่อที่มีเป้าประสงค์คล้าย ๆ กัน มีหลายรูปแบบทั้งส่งเสริม ปฏิรูป ปฏิวัติ ไปจนถึงโครงสร้างและระดับชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุก ๆ จารีตทางศาสนา มีการจำแนกสามแบบคือ 1.ขบวนการทางศาสนามีการมุ่งเน้นการปฏิรูปจากภายใน ซึ่งเห็นปัญหาของภายในศาสนาอย่างถูกเบี่ยงเบนหรือสอดแทรก จะเกิดการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงจากภายใน เมื่อคลื่นใต้น้ำมุ่งหวังที่จำทำให้ดีขึ้น เช่น การสังคายนาในพุทธศาสนา การเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ของคริสต์ศาสนา 2.การฟื้นฟูศรัทธาทางศาสนา เนื่องจากการถดถอยทางศาสนาจึงมีการปลูกศรัทธาให้เกิดขึ้น ให้คนศรัทธาทางศาสนามากขึ้น และ 3.ขบวนทางการศาสนายุคใหม่ เห็นว่าศาสนาเมื่อก่อนไม่ตอบโจทย์ ลักษณะสำคัญของขบวนการศาสนา มีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก
พุทธศาสนาของสังคมล้านนา มีราชวงศ์เป็นผู้สนับสนับหลักทางศาสนา พุทธศาสนาในล้านนารับมาจากลังกาผ่านพระจากรามัญ และจากสุโขทัยที่เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ หลังจากพระสงฆ์ล้านนาเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกา จึงต้องนิกายทางพุทธศาสนาใหม่ชื่อว่า “สิงหล” ความเฟื่องฟูของพุทธศาสนาในล้านนาคือการเชื่อว่ามีการสังคายนาพระไตรปิฎก (ถือว่าเป็นครั้งที่ 8 ของโลก) ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) พุทธศาสนาในล้านนาจึงหมายถึงชีวิต การเมืองการปกครองของล้านนา อีกกรณีหนึ่งที่แสดงออกของความเฟื่องฟูของพุทธศาสนาคือพระเถระหลายรูปผลิตวรรณกรรมทางพุทธศาสนาในลานนา เช่น จามเทวีวงศ์ สิงคนิทาน ชินกาลมาลีปกรณ์ เวสสันดรทีปนี จักรวาลทีปนี มังคลทีปนี มูลศาสนา ฯลฯ
ความเสื่อมทางพุทธศาสนาในล้านนา คือล้านนาอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า (พ.ศ.2131-2317) หลังจากปี 2317 พระเจ้ากาวิละเป็นผู้นำได้ฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาขึ้นมาและตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน พุทธศาสนาในล้านนาช่วงเวลานั้นจึงมีลักษณะเป็นชุมชนย่อย ๆ ตามท้องถิ่น ช่วงหลัง สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรรี (พ.ศ.2411-2453) มีการสำรวจนิกายต่าง ๆ จำแนกได้ถึง 18 นิกาย
แต่อย่างไรก็ตาม นิกายในที่นี้หมายถึงกลุ่มสำนักอาจารย์เดียวกัน และแบ่งออกเป็นชื่อเมือง เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายม่าน นิกายเงี้ยว นิกายน่าน นิกายมอน (มอญ) นิกายยอง นิกายแพร่ เป็นต้น และชื่อทางชาติพันธุ์ เช่น นิกายเงี้ยว นิกายเขิน (ขึน) นิกายลวะ (ลัวะ) เป็นต้น นิกายเหล่านี้มีระบบจัดการของตนเอง ดังนั้น พุทธศาสนาในล้านนาช่วงหลังมานี้จึงมีความกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก และระบบการจัดการทางพุทธศาสนาในล้านนาก็มิได้มีระบบแบบรวมศูนย์ ความซับซ้อนของพุทธศาสนาในล้านนาคือ มีวัตรปฏิบัติที่ผสมผสานกัน อาทิ ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นจารีตของเชียงใหม่ผสมกับยอง แสดงว่าใน 18 นิกายนี้มีความหลายหลายและผสมผสานกันอยู่
ความซับซ้อนในลักษณะที่ว่านี้จะเกิดขบวนการในการเคลื่อนไหวได้อย่างไร คำตอบก็คือ พุทธศาสนาในล้านนามีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่ง ความเชื่อเรื่องการสะสมบารมี (ตนบุญ) อย่างผู้นำทางศาสนาและผู้นำในทั่วไป ความเก่งกาจของผู้นำเกิดจากการสั่งสมบารมีตั้งแต่ชาติปางก่อน
ความคิด “Yuan Tradition” เสนอไปในสองแนวทางคือ 1) รูปแบบทางพุทธศาสนานิกายยวนที่แพร่หลายในกลุ่มที่พูดภาษาไต (ไท) ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 2) ความเชื่อเรื่องผู้มีบุญ (ตนบุญ) เป็นบุญบารมีสามารถส่งถึงตนเองได้ ซึ่งมีความเชื่อว่าหากสังคมเสื่อมโทรมจะเกิดผู้มีบุญเกิดขึ้น หรือตนบุญจะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อเปิดโอกาสให้สะสมบุญ เป็นความเชื่อทั่วไปในเขตวัฒนธรรมล้านนา และแนวคิดตนบุญนี้ไปได้ดีกับแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์
ขบวนการในอดีตของ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ท่านเกิดขึ้นมาในยุคการเปลี่ยนผ่านของสังคมล้านนา ถูกอำนาจใหญ่อย่างสยามเข้ามาแทรกแซงในล้านนา สยามกำลังแผ่อำนาจเข้ามา มีอำนาจหลาย ๆ แบบเข้ามาปะปนกัน ในแง่นี้ การสั่งสมบารมีของครูบาศรีวิชัยคือการเป็น “อุปัชฌาย์” หมายถึงพระที่สามารถบวชได้ นอกจากการบวชพระแล้ว สองปัจจัยหลักที่สำคัญในการทำให้ครูบาศรีวิชัยมีบุญบารมีขึ้นมาคือ 1.การเข้ามาของกรุงเทพฯ และ 2.ความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาในล้านนา
ในช่วงเวลานั้นเองวัดในล้านนาที่เสื่อมโทรมมาก และศรัทธาทางศาสนาเหลือน้อย นอกจากการบวชลูกหลาน กิจกรรมอย่างหนึ่งคือการเดินทางไปบูรณะปฏิสังขรณ์หลายวัดในภาคเหนือในประเทศไทย การบูรณะวัดวาอารามในที่ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้เงินและกำลังคนในการขับเคลื่อน หากไม่มีข่าวคราวของตนบุญเกิดก็ไม่เกิดศรัทธาทางศาสนา หลังจากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยไปที่ไหนก็มีโยมอุปัฏฐากอยู่เป็นจำนวนมาก ในสังคมเกษตรกรรม กิจกรรมที่คนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มันจึงเป็นสิ่งที่ค่อนยิ่งใหญ่ของผู้คนในล้านนา และต้องใช้อิทธิพลรองรับมหาศาล ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงถูกขนานนามว่าเป็น “ตนบุญ” “พระโพธิสัตว์” “พญาธรรม”
ในเชิงวิชาการ สามแนวคิดหลักในการอธิบายครูบาเจ้าศรีวิชัยในช่วงนั้น คือ 1. ขบวนการพระศรีอารีย์ เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคม แนวคิดนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองภายใต้วิกฤติ ภายใต้การวิเคราะห์ในแนวนี้จึงดูที่วิกฤตทางสังคม ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเป็น “ตนบุญ” ผู้มาปลดปล่อย และมีพลังทางการเมือง อย่างการต่อต้านรัฐผ่านการใช้จารีตในทางพุทธศาสนา 2.การฟื้นฟูทางศาสนา เสนอว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นการสร้างชุมชนในการเข้าไปโลกพระศรีอารีย์ผ่านการตีความเรื่องการเดินทางไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ดังนั้น ขบวนการของครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเป็นขบวนการของการเฝ้ารอโลกใหม่ที่มิใช่เป็นการต่อต้านรัฐ และ 3.แนวคิดการสร้างความทรงจำ เสนอว่าพระสงฆ์ที่เดินทางไปทั่วภูมิภาคเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำร่วมทางสังคม ในช่วงเวลาที่สังคมหรือชุมชนมีความแตกกระจายจากการสร้างรัฐชาติ
หากสนใจเรื่องศาสนาที่ศึกษาต่อจะมีบริบทอะไรบ้าง ยุคสมัยในปัจจุบันไม่เหมือนกับยุคครูบาเจ้าศรีวิชัย อย่างโลกาภิวัตน์ การข้ามพรมแดน จึงเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นจำนวนมาก ควรใช้แนวคิดเรื่องขบวนการทางศาสนาใหม่เข้ามาใช้ เนื่องจากมีลัทธิใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดพิธีกรรมใหม่ ๆ และถูกตีความใหม่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันการศึกษาทางศาสนามีชีวิตมากขึ้นเราต้องศึกษาแบบสหวิทยาการมาช่วยวิเคราะห์ และไม่สามารถใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งได้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางศาสนาได้
ทั้งนี้พิสิษฎ์ยังได้แนะนำเอกสารและหนังสือให้อ่านเพิ่มเติมหากผู้อ่านสนใจ
1.จิรชาติ สันต๊ะยศ. (2533). “ครูบาศรีวิชัย” กับคตินิยมแบบ “ครูบา” (ใหม่) ช่วงทศวรรษ 2530-2550. ใน นคร ปรังฤทธิ์ (ปัญญาวชิโร), พระ (บก). เถราภิเษก : พิธียกยอสมณศักดิ์พระสงฆ์ในล้านนา. (น. 207-229). เชียงใหม่ : โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.
2.ขวัญชีวัน บัวแดง. (2557). โครงการทบทวนสถานะความรู้เรื่อง “ครูบาในพุทธศาสนาแบบล้านนา: ความหมาย วัตรปฏิบัติ และความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ (รายงานวิจัย). เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ทุนสนับสนุนจากโครงการล้านนาคดีศึกษา ด้านที่ 8 มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2557).
3.ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว. (2560). การศึกษากระแส “ครูบาคติใหม่” ในภาคเหนือของไทย พุทธศตวรรษ 2530-2550. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
4.พิสิษฏ์ นาสี. (2558). ศึกษา “ครูบา” : “ครูบาศึกษา” ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องความเชื่อแนวทาง และการปฏิบัติของ “ครูบา” ในพุทธศาสนาแบบล้านนา. ศิลปวัฒนธรรม, 37, 138-155.
5.Pisith Nasee. (2018). Constructing the Charisma of Khruba (Vulnerable Monks) in contemporary Thai society. Doctor Of Philosophy In Social Science.
เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน