จากน้ำท่วมถึงน้ำลดเชียงราย-เชียงใหม่ ‘เวลา’ สิ่งที่เราสูญเสียและต้องการมากที่สุด 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ความเสียหายจากวิกฤตการณ์อุทกภัยที่ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 67 สร้างความเสียหายวงกว้างในหลายพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็น 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้หนักมากที่สุดซึ่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน (7 พ.ย.67) ข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จังหวัดเชียงรายและ ปภ.จังหวัดเชียงใหม่รายงานว่ามีวิกฤตการณ์อุทกภัยในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อประชาชนประมาณ 1 แสนกว่าครัวเรือน (จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่รวมกัน)

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงระยะเวลาที่น้ำท่วมเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนที่ประสบปัญหาหลังน้ำลด และ ‘เวลา’ ที่สูญเสียไป และยังเป็นที่เราต้องการมากที่สุดในช่วงน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

Lanner ชวนสำรวจ ไล่เรียงผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมทั้งก่อนและหลังในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และการเยียวยาของรัฐที่ไม่เพียงพอทั้งในแง่กายภาพรวมไปถึงการฟื้นฟูด้านจิตใจ ที่ไม่แน่ไม่นอนว่า ‘เวลา’ อยู่ข้างใคร?

เวลาของความเสียหาย เหลือไว้เพียงความว่าง เริ่มใหม่ไปไม่ถูก

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันอาจจะเหมือนคลี่คลายไปแล้วโดยไม่ทิ้งรอยความเสียหายเหลืออยู่ แต่ในหลายพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมยังคงอยู่ในช่วงการเยียวยาทั้งสภาพบ้านเรือน อย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงรายสถานการณ์น้ำท่วมนั้นคลี่คลายลงไปอย่างมากตั้งแต่กลางเดือนกันยายน แต่ถึงน้ำจะลดลงและไหลสู่ภาวะปกติแต่สิ่งที่เหลือไว้คือคลาบโคลนที่หนาเตอะ ในวันที่ 6 พ.ย. 67 ก็ยังคงเหลือโคลนไว้เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ หากดูตามโซเชียลมีเดียของอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหล่อตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมในช่วงแรกอย่าง เพจมูลนิธิกระจกเงา เชียงราย หรือ ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ก็ยังคงเห็นการทำงานช่วยเหลือในการล้างบ้านอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

อาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงากำลังล้างบ้านบนโคลนในวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา (ภาพ: มูลนิธิกระจกเงา เชียงราย)

จากการพูดคุยกับ ธิดารัตน์ ชำนาญไพสณฑ์ ประชาชนในชุมชนไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เผยว่า ตนและคนในชุมชนได้รับผลกระทบหลังจากน้ำท่วมสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและร่างกาย ถึงแม้น้ำจะลดแล้วแต่สิ่งของที่เสียไปไม่สามารถเอากลับมาได้ ซึ่งนอกจากสิ่งของที่เสียหายในด้ายกายภาพแล้ว ในด้านสภาพจิตใจของคนที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นมีความสิ้นหวังเป็นอย่างมาก เราได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านในพื้นที่ตำบลแม่สายทีได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านขายสินค้านั้นเสียหายไปกับน้ำท่วมทั้งหมด บางบ้านที่เปิดร้านอาหารอุปกรณ์ครัวก็หายไปกับน้ำหมด ซึ่งส่งผลกระทบในด้านจิตใจเป็นอย่างมาก

“ไม่รู้ว่าจะตั้งตนยังไง จะเริ่มฟื้นฟูตรงไหน” 

ธิดารัตน์ เล่าว่าการเข้ามาช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเน้นในด้านกายภาพเป็นหลักมีการนำรถตักดินมาช่วยเคลียร์ถนนหน้าบ้าน หรือในช่วงที่น้ำประปาใช้ไม่ได้ก็มีกรมประปานำน้ำสะอาดมาให้ใช้ตามบ้าน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เดินลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยตอนกลางคืน แต่ในด้านสภาพจิตใจนั้นยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาทำการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จะเน้นให้กำลังใจด้วยกันเอง

ธิดารัตน์ ส่งท้ายว่า หากมีการฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนหลังน้ำท่วมเรียบร้อย เรื่องหนึ่งที่สำคัญจริง ๆ หลังน้ำท่วมคือสภาพจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ 

“คนที่สิ้นเนื้อประดาตัว เขาไม่รู้จะเริ่มนับหนึ่งยังไง”

หากมาดูในด้านของตัวเลขความเสียหายในจังหวัดเชียงราย จากการประเมินของ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม 2567 จังหวัดเชียงราย รายงานสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9 กันยายน – 24 ตุลาคม 2567 พบว่า 14 อำเภอ 66 ตำบล 591 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 60,393 ครัวเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 3 ราย บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ (เสียหายทั้งหลัง) 201 หลัง ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า 92 แห่ง ผู้ประกอบการโรงงาน/ผู้ผลิตชุมชน 30 ราย (ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงาน 22 ราย และผู้ผลิตชุมชน 8 ราย (มูลค่าความเสียหายเฉพาะโรงงาน 54,678,200 บาท) พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 18,587 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 71,948 ตัว (ได้แก่ โค 1,200 ตัว กระบือ 176 ตัว สุกร 91 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 70,455 ตัว) สัตว์เลี้ยง 322 ตัว (ได้แก่ สุนัข 145 ตัว แมว 154 ตัว และอื่นๆ 23 ตัว) บ่อปลา 1,074.53 ไร่ ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน 92 แห่ง ถนน 141 จุด คอสะพาน 5 จุด และ รพ.สต. 1 แห่ง

นอกจากจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมหนักเช่นเดียวกัน ถึงแม้ปัจจุบันน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่จะลดลงและฟื้นฟูในหลายพื้นที่แล้ว แต่หากติดตามเพจอาสาสมัครในการทำความสะอาดบ้านอย่าง บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ ก็ได้มีการติดตามฟื้นฟูบ้านที่ได้รับกระทบอย่างต่อเนื่องที่ล่าสุดในวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันที่ทางกลุ่มได้ปิดภารกิจล้างบ้านและเริ่มต้นต่อในการฟื้นฟูบ้านที่เสียหาย 

นอกจากนี้จากการลงในพื้นที่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมาในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนรถไฟ จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีน้ำท่วมขังและส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตนได้ บางส่วนก็อพยพไปพักอาศัยกับญาติในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม แต่ก็มีชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่มีญาติที่สามารถไปอาศัยอยู่ได้จึงต้องมาใช้ชีวิตอยู่บนตลิ่งและถนนที่น้ำไม่ขัง โดยนำเต็นท์ขนาดใหญ่มากางโดยมีเครื่องครัวสำหรับทำอาหารไว้เป็นครัวขนาดย่อม และสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พอใช้ได้วางกองรวม ๆ กัน กลางคืนก็จะนำมุ้งมากางเพื่อกันยุงและสัตว์มีพิษและนอนได้อย่างสบายใจ และชาวบ้านส่วนใหญ่กินและนอนในพื้นที่กว่าเกือบ 2 สัปดาห์

เต็นท์ขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านในชุมชนรถไฟใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่รอคอยหน่วยงานรัฐเข้ามาชดเชยและเยียวยาตัวบ้าน โดยในชุมชนมีเต็นท์ประเภทนี้ตั้งไว้อยู่ประมาณ 6-7 เต็นท์

อรพันธ์ อินทรโชติ ชาวบ้านในชุมชนรถไฟ จังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า ชุมชนรถไฟไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งในช่วงปี 2554 ที่น้ำท่วมหนักในจังหวัดเชียงใหม่ก็ท่วมเพียงไม่กี่วันและก็แห้งไปอย่างรวดเร็วส่วนในปี 2567 น้ำท่วมสูงและนานจนทำให้ตัวบ้านเสียหายเกือบทั้งหมดและหลังน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ ข้าวของในบ้านของตนนั้นไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้ว ซึ่งก็มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือในด้านอาหารและการเยียวยาซึ่งปัจจุบันตนนั้นรอเงินในส่วนนี้อยู่ เพราะตนก็มองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาที่กระทบในวงกว้างได้รับผลกระทบหลายคน คนในชุมชนก็เกิดความเศร้ากัน แต่ก็มานั่งปรับทุกข์กันในเต็นท์ และในช่วงนี้อากาศเริ่มหนาวแต่ยังขาดพวกเครื่องนุ่งห่ม

“ไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่รู้จะบรรยายยังไง ไม่รู้จะเอาอะไร”

สภาพบ้านของ อรพันธ์ ที่ไม่สามารถเข้าไปใช้ชีวิตได้

ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2-12  ต.ค. 67 เผยว่า มี 13 อำเภอ 87 ตำบล 667 หมู่บ้าน 76,350 ครัวเรือน  150,425 คน พืชไร่ 1,610 ไร่ นา 4,205 ไร่ พืชสวน 3,637 ไร่ ถนน 92 สาย สะพานและคอสะพาน 23 แห่ง บ่อปลา 206 บ่อ (ซึ่งเป็นเพีนงความเสียหายเบื้องต้น บางพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพิ่มเติม)

เยียวยาเท่าไหร่ก็ไม่พอหากผังเมืองและนโยบายยังแข็งตัว

หากมาดูที่การเยียวยาหลังน้ำท่วมของหน่วยงานรัฐจะพบว่า ในวันที่ 8 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมในอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยมีวงเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 57 จังหวัด 3,045.52 ล้านบาท รวม 338,391 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบัน (7 พ.ย. 67) มีผูัยื่นคำร้องทั้งหมด 306,738 ครัวเรือน โดย ปภ.ได้โอนเงินช่วยเหลือสำเร็จไปแล้ว 217,543 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,957,823,000 บาท โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำร้องสูงที่สุดคือ จังหวัดเชียงใหม่ที่ยื่นไปกว่า 84,006 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้โอนเงินไปแล้ว 36,669 ครัวเรือน เหลืออีก 47,337 ครัวเรือน ที่ยังคงรอคอยเวลาในเยียวยา และยื่นไปจังหวัดเชียงราย 36,104 ครัวเรือน โอนไปเงินไปแล้ว 31,474 ครัวเรือน

นอกจากเงินจำนวน 9,000 บาท กระทรวงมหาดไทยได้รายงานให้ ครม. รับทราบกรณีกรมบัญชีกลาง อนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ซึ่งประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สามารถใช้เงินทดรองราชการจ่ายเป็นค่าช่วยล้างดินโคลน รวมทั้งซากวัสดุต่าง ๆ ในที่อยู่อาศัยประชาชนซึ่งประสบอุทกภัยในอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง โดยให้หน้าในการยื่นคำขอและลงพื้นที่สำรวจเปนของ อปท. ซึ่งเกณฑ์ในการให้เงินช่วยเหลือในการล้างโคลน 10,000 บาทนี้จะไม่รวมกับเงินที่รวมถึงที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง หรือที่ส่วนราชการหรือส่วนอื่น ๆ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว หรือพูดให้เข้าง่ายก็คือถ้ามีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือในการล้างโคลนก็จะไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบันนโยบายล้างโคลนของกระทรวงมหาดไทยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบเงื่อนไข

“การเยียวยารัฐยังไม่เพียงพอหากเทียบกับทรัพย์สินที่ประชาชนต้องเสียไป” 

สิทธิชาติ สุขผลธรรม ประชาชนชาวเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งเพจ Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่ ได้พูดในเสวนา ชีวิตความหวัง และความอยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม ถึงการเยียวยาของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอหากเทียบกับทรัพย์สินที่ประชาชนต้องเสียไป เนื่องจากการประเมินภัยภิบัติของหน่วยงานรัฐนั้นประเมินจากความเสียหายของน้ำท่วมในอดีตหรือปีที่ผ่านมา ทำให้การเบิกงบประมาณในการใช้ในส่วนนี้ไม่เพียงพอและส่งผลให้การเยียวยาน้ำท่วมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ 

สิทธิชาติ สุขผลธรรม

สิทธิชาติ ได้พูดถึงมุมมองที่มีต่อการสร้างเมืองในปัจจุบันว่าเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นฐานในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้วิธีการออกแบบเมืองในปัจจุบันนั้นจะสอดรับกับสิ่งเหล่านี้ ด้วยวิธีการออกแบบเมืองให้เป็นรูปแบบนี้ส่งผลให้คนนั้นเกิดวิถีชีวิตแบบปัจเจกเพิ่มมากขึ้น ด้วยวิถีแบบนี้ส่งผลให้คนนั้นเปราะบางกับภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาของรัฐในปัจจุบันก็จะเน้นในการแก้ปัญหาแบบปัจเจก แต่แม่น้ำนั้นกลับเป็นทรัพยากรที่แชร์ร่วมกันส่งผลให้การแก้ไขปัญหาก็จะแก้ไขเพียงพื้นที่ของตนเองและผลักน้ำไปพื้นที่อื่น ซึ่งวิธีการในการแก้ไขภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมนั้นไม่ควรจะแก้ไขที่ปัจเจกแต่ควรจะแก้ที่วิธีคิดของคนในการมองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญร่วมกัน

ทรัพย์สินพัง แต่ใจต้องไม่พัง

นอกจากการเยียวยาด้านกายภาพที่เป็นเรื่องที่สำคัญของประชาชนที่รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่อีกหนึ่งสิ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันในการปรับทุกข์ บำรุงสุข ให้ความเศร้าใจได้คลายลงไปหลังจากเจอความเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม 

วัฒนา นาคประดิษฐ์ อาสารับฟังฟื้นฟูจิตใจของโครงการพลเมืองอาสาในช่วงสถานการณ์หลังน้ำท่วม ในวัดถ้ำผาจมพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เผยว่า ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่เป็นช่วงแรกของสถานการณ์น้ำท่วมผู้ที่รับความเสียหายจากน้ำท่วมมีอาการเศร้า มีอาการอยากฆ่าตัวตาย แต่พอได้พูดคุยกับอาสาสมัครที่เข้าไปรับฟังก็เหมือนเป็นการที่ผู้ประสบภัยได้ระบายความอึดอัดออกไป บวกกับด้วยที่วัดถ้ำผาจมนั้นตั้งเป็นศูนย์พักผิงสำหรับผู้อพยพจากน้ำท่วมทำให้มีคนมาอาศัยชั่วคราวเป็นจำนวนมาก ซึ่ง วัฒนา สังเกตุเห็นว่า ทุกคนที่อาศัยอยู่ในวัดถ้ำผาจมนั้นให้กำลังใจกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการแชร์ทุกข์สุขร่วมกัน

วัฒนา นาคประดิษฐ์ 

เธอยังเล่าต่อว่า ช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอแม่สายเริ่มคลี่คลายลงก็มีหน่วยงานรัฐอย่าง เทศบาลตำบลเวียงพางคำเข้ามาสำรวจความเสียหายและดำเนินการเรื่องการเยียวยา รวมไปถึงอาสาสมัครที่นำของมาบริจาค ทำให้ผู้ประสบภัยเห็นถึงความช่วยเหลือในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่คลายกังวลมากขึ้นและความหนักใจในแง่กายภาพก็เบาลง ซึ่งถึงแม้จะมีความเศร้าอยู่แต่หลายคนก็มีความรู้สึกว่าชีวิตก็ต้องดำเนินไปต่อ

ในส่วนของการเยียวยาในด้านของการรับฟังสภาพจิตใจของทางภาครัฐ จากการลงเป็นอาสาสมัครของ วัฒนา เผยว่าตนยังไม่เคยพบเข้ามาทำงานในด้านนี้มากเพียงพอ ซึ่งในช่วงแรกของเหตุการณ์น้ำท่วมวัดถ้ำผาจมได้ติดต่อไปยัง มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) องค์กรต้นสังกัดของโครงการพลเมืองอาสา ว่าต้องการคนที่ทำงานเรื่องการเยียวยาด้านจิตใจ เนื่องจากเคยมีหน่วยงานสาธารณสุขจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาลงพื้นที่สำรวจแต่กลับพบว่าไม่มีชาวบ้านมีปัญหาด้านสภาพจิตใจหลังน้ำท่วม แต่ในมุมของตนที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครเสียงที่ตนได้รับจากชาวบ้านนั้นกลับมีแต่ความเศร้าและความเสียใจซึ่งสวนทางกับสิ่งที่หน่วยงานรัฐบอก วัฒนามองว่าเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้คำนึงถึง และมองการช่วยเหลือเป็นเรื่องของการล้างบ้าน และการช่วยเหลือเชิงกายภาพเป็นหลัก 

วัฒนา เสนอว่า หน่วยงานรัฐควรมองว่าการรับฟังปัญหา ความเจ็บปวด ความเศร้า ความเสียหายหลังน้ำท่วมของผู้เสียหายยิ่งไวได้มากเท่าไหร่ก็จะเป็นเรื่องที่ดี รวมไปถึงการเข้าไปทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงอุทกภัยต้องมีวิธีการ และท้วงทำนองที่ต้อนรับไม่ใช่การตั้งโต๊ะแล้วให้ชาวบ้านต่อแถวเพื่อรับฟังปัญหา 

สายใจจากเพื่อนบ้าน เราคือมนุษย์ไม่ต่างกัน

วิกฤตอุทกภัยในภาคเหนือครั้งนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ชาวไทยเท่านั้น ยังมีชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้อีกด้วย และน้ำใจอาสาช่วยเหลือก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชาวไทยเท่านั้นยังมีชาวต่างชาติหลายคนที่อาสาช่วยเหลือน้ำท่วมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งพื้นที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เพื่อนชาวไทยและเมียนมาสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากมีชาวเมียนมาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา เมื่อชาวไทยยื่นมือช่วยเหลือชาวเมียนมาเมื่อเมียนมาเกิดวิกฤต เมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยในไทยชาวเมียนมาหลายคนก็ได้ลงแรงลงใจมาเป็นอาสาสมัครตอบแทนน้ำใจที่เคยมีให้กันมาตลอดเช่นเดียวกัน

อาสาสมัครทั้งชาวไทยและเมียนมาช่วยกันข้าวกล่องในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ที (นามสมมุติ) ชาวเมียนมา จากรัฐยะไข่ ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ร้านสนิมทุน Sanimthoon Community Café ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 67 ในการทำข้าวกล่องแจกจ่ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นจึงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครต่อที่บ้านเตื่อมฝันจนถึงปัจจุบันเพื่อช่วยทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม และลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนคนจนเมืองบริเวณคลองแม่ข่า สาเหตุที่ตนตัดสินใจเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเนื่องจากตนนั้นเห็นข่าวความรุนแรงของน้ำท่วมจึงต้องการช่วยเหลือ ประจวบเหมาะกับที่เห็นเครือข่ายเพื่อนชาวไทยในการเป็นอาสาสมัครตนจึงรีบสมัครเข้าไปเพื่อช่วยเหลือชาวไทยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นขาดน้ำอาหารและภัยอันตรายที่มาจากน้ำท่วม

“ผมเห็นข่าวน้ำท่วมในประเทศไทยแล้วเศร้ามาก เพราะสถานการณ์เหมือนรัฐยะไข่ที่น้ำท่วมทุกปีและเกิดความเสียหาย” ที กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในเชียงใหม่ 

ด้าน ดิโอ (นามสมมุติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวเมียนมา จากเมืองมะริด เขตตะนาวศรี และชวอน (นามสมมุติ) ผู้ช่วยวิจัยชาวเมียนมา จากเมืองทวาย เขตตะนาวศรี เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 6 – 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ในการช่วยเตรียมอาหารกล่องที่สนิมทุน Sanimthoon Community Café เพื่อแจกจ่ายให้พื้นที่ที่ต้องการช่วงน้ำท่วมกว่า 800 กล่องต่อวันตลอดช่วงวิกฤตน้ำท่วมในเชียงใหม่ จากนั้นจึงไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนคนจนเมืองและคนไร้บ้านที่บ้านเตื่อมฝัน 

“พวกเราคือมนุษย์ พวกเราต้องช่วยเหลือกันเมื่อมีปัญหา การช่วยเหลือไม่เกี่ยวกับ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ แต่มาจากความเห็นอกเห็นใจและความเป็นมนุษย์” ดิโอ กล่าวถึงเหตุผลที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม 

ชวอน กล่าวว่า เมื่อเธอทราบเกี่ยวกับการเปิดรับอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมจากเพื่อนชาวไทยเธอไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมทันที 

“ประเทศของฉันประสบปัญหาและวิกฤตมากมาย ฉันจึงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความยากลำบากและต้องเอาชนะปัญหาไปด้วยกัน ฉันจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร”

ถึงแม้ ที ดิโอ และ ชวอน จะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแต่พวกเขาได้รับข่าวสารเรื่องน้ำท่วมจากโซเชียลมีเดียทั้งไทยและเมียนมา เพื่อนชาวไทย รวมถึงข่าวสารจากภาครัฐ เพื่อนพ้องชาวเมียนมากลุ่มนี้จึงลุกขึ้นมาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในวิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้อาสาสมัครชาวเมียนมาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วยที่เข้าไปช่วยเหลือน้ำท่วม ที เสริมว่าในพื้นที่ลำพูนก็มีอาสาสมัครชาวเมียนมาประสานงานกับคนไทยคอยช่วยเหลือน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

ไล่เรียงภาวะการณ์ ต้นน้ำท่วมถึงปลายน้ำลด

หลังจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมานั้นเมื่อประชาชนสูญเสียเวลาไปแล้วก็ย่อมต้องการเวลาในการฟื้นฟู สิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการที่สุดอย่างหนึ่งนอกจาก อาหาร เงินเยียวยา ความช่วยเหลือ นั่นคือ “เวลาที่หายไป” พูดคุยกับ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาสาสมัครในการล้างบ้านและผู้ประสบภัยในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย เพื่อชวนไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นน้ำท่วมถึงปลายน้ำลด  

สืบสกุล กิจนุกร

สืบสกุล เผยว่า คำเตือนหรือข้อความขนาดใหญ่ที่เราได้ในวิกฤตน้ำท่วมเมืองเชียงรายที่ผ่านมานั้นมีความเป็นนามธรรมเป็นอย่างมาก ข้อความที่ประชาชนได้รับคือน้ำจะเดินทางมาถึงตัวเมืองเชียงรายภายใน 6 ชั่วโมงและจะล้นตลิ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าและเข้าสู่เวลาของวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งสร้างความงุนงงให้แก่ประชาชนและในฐานะประชาชนคนหนึ่ง และเผยต่อว่าหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมจะตระหนักได้ถึงว่ามวลน้ำกำลังจะมาถึงเมื่อไหร่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การมีระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมที่สามารถแจ้งได้ก่อนเวลาสามารถทำให้มีเวลาเตรียมการรับมือน้ำท่วมที่ดีตามมาด้วย หากระบบเตือนภัยไม่ดีเท่าที่ควรมันเท่ากับว่าคำเตือนที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับนั้นมันทำให้ทุกอย่างสายเกินกว่าจะรับมือ

เหตุนี้ทำให้ประชาชนไม่มีเวลามากพอในการเตรียมตัวสำหรับการรับมือน้ำ ยกเว้นเรื่องการยกของขึ้นที่สูงเนื่องจากคำเตือนของภาครัฐเป็นนามธรรม แต่ประชาชนต้องการรูปธรรม ถ้ามีระบบเตือนภัยที่ดีต้องทำให้ทราบว่ามีปริมาณน้ำล้นเท่าไหร่และระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกกี่เมตรภายในกี่ชั่วโมง ประชาชนจะได้มีเวลาเตรียมตัวดีมากขึ้น  

‘ความทรงจำที่มีต่อน้ำท่วมในอดีต’ ของประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจและตีความบนพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำของน้ำท่วมอดีต  เช่น ในเขตเกาะลอยแม่น้ำกกฝั่งขวาในปี 2537 เคยมีน้ำท่วมหนึ่งครั้งซึ่งเป็นเวลาผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งขณะนั้นน้ำท่วมเป็นเวลาวันสองวันและระดับไม่สูงมาก ไม่มีโคลน   สิ่งเหล่านี้คือความทรงจำในอดีตที่ผ่านมาผนวกกับระบบการเตือนภัยที่อ่อนแอ สืบสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ชาวบ้านได้ตอบสนองต่อน้ำท่วมนั้นก็คือการมองน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเวลาที่เกิดขึ้นจริงกล่าวคือเมื่อเห็นน้ำมาแล้วถึงจะตัดสินใจว่า ประชาชนจึงจะใช้ความเชื่อและความทรงจำความเข้าใจมาเป็นตัวตัดสินใจว่าจะขนย้ายของขึ้นสูงหรืออพยพหรือไม่ เพราะฉะนั้นน้ำท่วมไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันน้ำท่วม แต่ความรู้ที่ประชาชนมีอยู่นั้นเป็นความเข้าใจคนละชุดกับนักวิชาการด้านภัยพิบัติ

เชียงรายคือเมืองเปราะบาง สืบสกุลได้พาย้อนเวลาไปในอดีตจะพบว่าเมืองเชียงรายมีความเปราะบางจากอดีตที่น้ำท่วมและเป็นประเด็นเรื่องเมืองเปราะบางในแง่ของประวัติศาสตร์ สืบสกุลได้กล่าวถึง อภิชิต ศิริชัย  นักวิชาการด้านประวัติศาสต์ท้องถิ่นเชียงราย ที่ได้นำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคประชาสังคมในประเด็นประวัติศาสตร์ของแม่น้ำกกและการตั้งถิ่นฐานเมืองเชียงราย: จากอดีตสู่ปัจจุบัน  เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ชื่อที่ตั้งชุมชนทั้งชุมชนเกาะลอย, ชุมชนร่องเสือเต้น ชุมชนกกโค้ง ชุมชนวังดิน บ้านแควหวาย ล้วนมีความสัมพันธ์กับน้ำท่วมมาโดยตลอด รวมไปถึงโรงแรมบางแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำกกชาวบ้านระบุว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นหนองน้ำมาก่อน

การจัดการภัยพิบัติมักจะถูกแบ่งตามช่วงเวลา ทั้งช่วงเตรียมการ ช่วงรับมือ และช่วงเวลาฟื้นฟู สืบสกุล ได้อธิบายว่าการจัดการในลักษณะนี้เป็นเวลาที่เดินเป็นเส้นตรงจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง ความเข้าใจของนักจัดการภัยพิบัติโดยทั่วไป ประชาชนโดยทั่วไป และหน่วยงานภาครัฐโดยทั่วไป มองว่าเวลาเกิดน้ำท่วมก็จะมองว่าเราต้องทำอย่างไร เวลาที่ต้องฟื้นฟูจะต้องทำอย่างไร และใช้เวลายาวนานเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วจะสามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและควบคุมเวลาได้ไปพร้อมๆ กัน ในทางกลับกันเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ได้ทำให้เราเห็นว่าเวลาของภัยพิบัติไม่ได้เดินเป็นเส้นตรงและที่สำคัญคือภัยพิบัติมันสามารถเกิดซ้ำได้ และในขณะที่กำลังฟื้นฟูเยียวยาอยู่นั้นอาจเกิดน้ำท่วมเป็นรอบที่สองและสามตามมาได้เสมอ

สืบสกุล เสริมว่าเวลาในการเผชิญวิกฤตและเวลาในการฟื้นฟูนั้นใช้ระยะเวลายาวนานจึงเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้เวลาแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำและเดินเป็นเส้นตรงแต่การฟื้นฟูใช้เวลานานจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงเรื่องของเวลาด้วย เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจและเห็นภาพกระบวนมากขึ้น เพราะน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายครั้งนี้ไม่เพียงแค่น้ำแต่มีโคลนร่วมด้วย อีกทั้งยังมีขยะน้ำท่วมตามมาเช่นเดียวกัน

การให้ความช่วยเหลือของภาครัฐและภาคประชาสังคมใช้เวลาแตกต่างกัน  เวลาการทำงานของภาคประชาสังคมมักจะรวดเร็วกว่าภาครัฐ เพราะว่าภาครัฐเสียเวลาไปกับการทำงานด้านเอกสาร ระเบียบ กฎหมาย ที่ตายตัว ในขณะที่การทำงานของภาคประชาสังคมนั้นรวดเร็วเนื่องจากมีความยืดหยุ่นในด้านการจัดการ ดังนั้นแล้วการให้ความช่วยเหลือจึงเร็วกว่าและทำได้มากกว่าในด้านการเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประสบภัย  

นอกจากนี้ สืบสกุลยังได้พูดถึง เวลาในการฟื้นฟูของคนไม่เท่ากัน  กล่าวคือ เมื่อเกิดน้ำท่วม นักจัดการภัยพิบัติพยายามชี้ให้เห็นว่าเราจะต้องฟื้นฟูเมืองยังไง แต่หากมองให้ลึกขึ้นจะพบว่าเวลาของ คนรวย กับ คนจน นั้นไม่เท่ากัน จากประสบการณ์ของตนในการเป็นอาสาสมัครล้างบ้านในชุมชนเกาะลอยพบว่าบ้านของคนรวย สามารถระดมเอาทรัพยากร รถน้ำ กำลังคน รถขนขยะมาล้างทำความสะอาดบ้านของตนเองได้รวดเร็วและเสร็จก่อน แต่บ้านของคนจนและกลุ่มเปราะบางนั้นการล้างทำความสะอาดบ้านและขนขยะที่มากับน้ำท่วมของประชาชนกลุ่มนี้นั้นใช้เวลานานกว่า (ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. มาถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี) 

เวลาของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน สืบสกุล เล่าว่าตนได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจขนาดใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เวลาในการฟื้นฟูเร็วเพราะมีทุนในการจัดการความสกปรก ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ใช้เวลานานกว่าในการฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเวลาของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอย่างรวดเร็วเนื่องจากต้องแข่งกับฤดูกาลของการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงในช่วง high season ซึ่งเป็นเวลาที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงราย ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือการพยายามเปิดเมืองและต้องเร่งฟื้นฟูเมืองให้เสร็จภายในวันที่ 1 พ.ย. ปีนี้

ในขณะเดียวกันการฟื้นฟูในภาคการเกษตรกรรมจะเป็นอีกเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ช่วงนี้เป็นเวลาของการทำนาปี แต่ถึงกระนั้น เกษตรกรไม่สามารถทำได้เนื่องจากวิกฤตน้ำท่วม สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือการทำนาปรังซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมกราคม ดังนั้นการเตรียมการ การสนับสนุน การเยียวยา และการฟื้นฟูต่อเกษตรกร ทุกภาคส่วนจะต้องสัมพันธ์กับเวลาของกิจกรรมภาคธุรกิจในทุก Sectors

เวลาในการทำงานกับเวลาในการฟื้นฟูบ้านทำให้ความซับซ้อนในการล้างบ้านมีมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องมอง กล่าวคือการล้างบ้านหรือทำความสะอาดบ้านภายหลังน้ำท่วมซึ่งในสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการล้างน้ำสะอาดแต่เป็นการล้างคราบโคลนซึ่งใช้เวลาหลายรอบติดต่อเนื่องกันหลายวัน สืบสกุลเล่าว่า ในรอบที่หนึ่งต้องขนของออกจากบ้านซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันแล้วแต่กรณี รอบที่สองต้องเอาโคลนออกจากตัวบ้านและห้องสำคัญต่าง ๆ เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และรอบต่อไปต้องจัดการโคลนรอบตัวบ้าน โดยเริ่มจากการล้างโคลนออกต่อด้วยล้างน้ำยาความสะอาดเช่นนี้วนไปอีกหลายครั้ง ซึ่งยังไม่นับรวมข้าวของเครื่องใช้ที่คิดว่าเก็บกลับมาใช้ได้แล้วยังต้องใช้เวลาในการจัดหาเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้เข้ามาที่เดิมทีละชิ้น เพียงเท่านี้เป็นเรื่องที่ยากแล้วแต่จะยิ่งยากมากไปกว่าเดิมหากคุณเป็นคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำหรือรับจ้างรายวัน

สืบสกุล ได้เล่ากรณีของพนักงานที่ทำงานประจำที่มีแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจซึ่งต้องหยุดงานเพื่อทำความสะอาดบ้าน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้พออาสาสมัครเข้าไปเจ้าของบ้านก็ขอว่านัดเป็นวันหยุดได้ไหมเพราะไม่สามารถลางานได้อีกแล้ว 

“หากหยุดงานเพื่อมาทำความสะอาดบ้านก็จะทำให้ไม่มีรายได้แต่หากไม่หยุดงานแล้วจะล้างบ้านเสร็จเมื่อไหร่ซึ่งเป็นการเพิ่มความเครียดและสร้างแรงกดดันให้กับผู้ประสบภัยและหากเป็นคนทำงานประจำแน่นอนว่าคุณสามารถลางานมาทำได้แต่ในบางกรณีของพนักงานที่ทำงานประจำลางานจนไม่รู้จะลายังไงได้อีก”

ในการฟื้นฟูในวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย สืบสกุลเล่าว่า การฟื้นฟูทำเฉพาะเวลากลางวันตามเวลาราชการทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม   ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใดแต่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเวลากลางคืนเป็นช่วงที่ว่างแต่ไม่มีการทำงานเลย เช่น ชุมชนเกาะลอยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการฟื้นฟูนั้นอาสาสมัครทกคนเข้าไปช่วยไปตักขยะซึ่งต้องปิดกั้นเส้นทางในซอยดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของคนสัญจรไปมา และความสะดวกในการปฏิบัติงาน แต่ปรากฎว่าได้ไปชะลอการเดินทางทั้งหมดภายในชุมชนทำให้เกิดรถติดตามมาอีกทั้งการให้ความช่วยเหลือได้ช้าตามไปด้วยก็เท่ากับว่าคุณเสียเวลามากขึ้น  

“อย่างที่เราได้ทำที่ผ่านมาคือตักขยะตอนกลางคืนเพราะว่าทุกคนหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดซึ่งพบว่าสะดวกและทำได้เยอะกว่า เร็วกว่า ไม่มีการขีดกวางจราจร เช้าวันใหม่ เจ้าของบ้านที่อยู่ในชุมชนก็ไม่พบขยะกองใหม่แล้ว มันเป็นเวลาวันใหม่ที่ดีกว่าเดิม”

ในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องของมิติของเวลาอีกเช่นกัน สืบสกลุเสริมว่าดังนั้นเวลาเกิดวิกฤตเราต้องทำงาน 24 ชั่วโมง และไม่ควรทำตามเวลาราชการเหมือนสถานการณ์ปกติ 

เวลาของผู้มีอำนาจกับเวลาของประชาชนที่ไม่เหมือนกัน  สืบสกุลได้ระบุถึงในกรณีของผู้ว่าจังหวัดเชียงรายที่รอเกษียณอายุราชการ (วันที่ 30 กันยายน 2567) แต่ในขณะเดียวกันประชาชนต้องการผู้มีอำนาจที่สามารถทุ่มเวลาให้กับการตัดสินใจแก้ไขปัญหาซึ่งผู้ว่าฯอาจจะทำงานจริงจังก็ได้ แต่เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้ว่าราชการคนใหม่ก็จะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งาน เรียนรู้สถานการณ์ และใช้เวลาในการตัดสินใจต่าง ๆ จนถึงทุกวันนี้ผ่านมาแล้วเรายังไม่มีผู้ว่าฯเป็นของตนเอง (ขณะนี้ รองปลัด มท. โชตินรินทร์ เกิดสม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) 

“ซึ่งผมคิดว่าเราเสียเวลาไปกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เราเลยต้องการผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับจังหวัดที่มีเวลาและใช้เวลาอย่างเต็มที่และทุ่มเทให้กับเวลาในการทำงานขณะที่เกิดวิกฤต”

สุดท้ายสืบสกุลได้พูดถึง การเกิดวิกฤตน้ำท่วม “เวลา” เป็นสิ่งที่เรา “สูญเสีย” และ เป็นสิ่งที่เรา “ต้องการ” มากที่สุด การสูญเสีย ท้อแท้ สิ้นหวัง สิ่งที่เราเรียกว่า ขยะน้ำท่วม มันคือความทรงจำ ความรัก ความผูกพัน ของเราที่มีต่อสิ่งของเวลาตัดใจทิ้งหรือตั้งใจทิ้ง อย่างไรก็ตามก็คือการทิ้งเวลาเหล่านี้ไปในการที่จะฟื้นฟูย่อมต้องการเวลายาวนานอยู่แล้ว เเละก็ต้องการเวลาใหม่นั่นคือ “เวลาแห่งความหวัง” นิทรรศการ   “หมีเกย วาดหวัง ฟื้นฟู : เจียงฮายบ้านเฮา (LOST&FOUND) จึงได้มาทำหน้าที่ในการฟื้นฟูเวลาแห่งความหวังขึ้นมาใหม่หลังน้ำท่วม ตุ๊กตาเหล่านี้กำลังรอเจ้าของมารับกลับ แต่ช่วงเวลาระหว่างที่รอเจ้าของมารับในแง่หนึ่งก็คือกระบวนการในการจัดการ เก็บ ซัก ล้าง  ฉะนั้นแล้วเวลาแห่งความหวังเป็นเรื่องของกระบวนการในการทำงานให้ผู้คนมาร่วมกันมีส่วนร่วมกับสิ่งของที่ได้กลายเป็นอดีตแล้วเราไปชุบเวลาใหม่ขึ้นมาให้เป็นอนาคตได้อีกครั้ง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง