‘คนข้าวยาคู้’ คนข้าว กวนคน เนรมิตรงานวัดสร้างสรรค์ที่ ‘คน’ กันจนเหนียว


น่าสนใจไม่น้อยที่ประเพณีที่ถูกส่งผ่านกันมาอย่างยาวนานจากในอดีต เดินทางข้ามเวลา มา บรรจบกันกับความสร้างสรรค์ร่วมสมัย กวนจนเหนียวกลายเป็นเทศกาลงานวัดสุดสร้างสรรค์ คนข้าวยาคู้ช้างม่อย Midnight Rice Fest 2023 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ 25-26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ วัดชมพู ย่านช้างม่อย ย่านสุดชิคกลางเมืองเชียงใหม่

เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสร้างสรรค์และสรรค์สร้างประสบการณ์ทางศิลปะในพื้นที่เชียงใหม่อย่าง Tomorrow.Lab อาสาคนอดีต และปัจจุบัน เข้าด้วยกันจนเหนียว ผูกโยงชุมชนดั้งเดิมในช้างม่อย คลุกเคล้าไปกับชุมชนคนทำงานสร้างสรรค์ เก็บฮอมส่วนผสมทั้ง นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินในชุมชนและต่างชาติ กาดมั่วชุมชน คาราโอเกะ ดีเจ-ดนตรีสด วงเสวนา และอีกมากมาย ไปพร้อมกับพิธีกรรมคนข้าวยาคู้และสวดข้าวทิพย์ที่ไม่มีทางธรรมดา เสมือนคนความทรงจำครั้งอดีตของคนก่อน ส่งต่อไปยังคนใหม่ คนให้เหมือนๆ กัน



คนข้าวยาคู้ หรือคนข้าวมธุปายาส เป็นประเพณีประจำปีที่จัดขึ้นก่อนงานยี่เป็ง โดยคนชุมชนจะนำถั่ว ข้าว งา กะทิต่างๆ มาร่วมกันกวนข้ามคืน ขั้นตอนการเริ่มคนข้าว นำโดยสาวพรหมจรรย์มาเปิดเตา แล้วหลังจากนั้นจึงลงส่วนผสมต่างๆ ลงไปในกระทะ และคนเรื่อยๆ จนข้าวและส่วนประกอบเข้ากันจนได้ที่ ซึ่งกิจกรรมนี้จำเป็นต้องพึ่งพาแรงจากคนในชุมชน โดยเฉพาะวัยรุ่น จึงทำให้เกิดการร่วมแรงจากผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ที่ผูกพันกับย่านช้างม่อยมาร่วมกวนข้าว หลังจากกวนข้าวจนหมดวัตถุดิบ และได้นำขึ้นไปทำบุญ สวดมนต์ในเวลาเช้ามืด เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้นจึงนำข้าวยาคู้ที่เหลือแจกจ่ายแก่คนในชุมชนต่อไป

ถ้าอธิบายแค่นี้ เราคงไม่เห็นภาพว่า แล้วที่บอกว่างานวัดคนข้าวยาคู้งานนี้มันอุดมไปด้วยความสร้างสรรค์ยังไงเพราะไร้ซึ่งน้ำเสียงของผู้คน เราเลยขอพาทุกคนมา ‘คนข้าว คนผู้คน’ ไปพร้อมๆ กัน



คนข้าว กวนคน

เวฟ-ธีรธีช พงษ์เรืองเกียรติ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2563 ช่วงนั้นมีการจัดงาน Design Week 2020 เป็นจังหวะช่วงที่ Covid-19 กำลังเริ่มซาลง เวฟบอกว่า จริงๆ ไม่เคยรู้จักงานนี้มาก่อนเลย พอได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ได้รับโจทย์ให้จัดงานสร้างสรรค์ให้กระจายในชุมชน จึงได้มีการพูดคุยกับผู้นำหลายๆ คนในชุมชน เวฟได้คุยกับป้าๆ ในชุมชน เรื่องประเพณีคนข้าวยาคู้ ด้วยความที่งานทั้งสองจัดในเวลาไล่เลี่ยกัน เขาก็ขอให้เราไปช่วยยกของ คนในชุมชนก็เริ่มแก่ตัวลง ถ้าหากพวกเขาไม่อยู่ ใครจะเป็นคนเข้า

“แล้วประเพณีจะหายไปไหม” อันนี้คือสิ่งที่เจ้าตัวสงสัย พอผ่านพ้นไปในปีนั้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ล่วงเลยถึงปี พ.ศ.2564 ทางชุมชนก็ได้เชิญชวนมา รวมถึงดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยมาเข้ามาช่วยทำเป็นอีเวนต์ (Event) คนข้าวยาคู้ ซึ่งในปีแรกที่เรามาเข้าร่วมจริง ๆ กลับเหมือนเป็นงานวิจัยมากๆ ไม่เห็นเป็นภาพงานวัด แต่ว่าด้วยความที่อีเวนต์ ต้องกวนข้าวหลังเที่ยงคืน แล้วคนที่จะกวนอย่างผู้เฒ่าผู้แก่ก็มีแรงกวนไม่ไหว แน่นอนว่าเพราะกิจกรรมนี่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นแนวคิดที่ว่า “ต้องทำยังไงก็ได้ ให้คนอยู่ตั้งแต่ตอนเย็นถึงเที่ยงคืน แล้วมาช่วยคนข้าวกัน” เลยจัดคล้ายๆ งานวัด เป็นอีเว้นท์ปีแรกๆ ที่เป็นคนจัด และเป็นปีแรกที่ได้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วย แล้วในการจัดงานปีที่ 2 หรือปีที่แล้วก็มีรูปแบบคล้ายๆ เดิม แต่อาจจะมีการใช้พื้นที่ของวัดมากขึ้นกว่าปีแรก เริ่มมีการเชิญเครือข่ายให้คนมาช่วยกัน และการจัดงานในฐานะ Tomorrow.Lab เป็นครั้งแรก

เวฟเล่าต่อว่า Tomorrow.Lab เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนนักสร้างสรรค์ นักจัดการชุมชน อาจารย์ และอีกสารพัดสารเพ โดยมุ่งให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่ร่วมสมัย โดยเฉพาะงาน Media Art ที่สามารถเล่าและเล่นได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญเราชอบที่จะคิดงานกันเป็นทีม มันสนุกที่เราได้แชร์ไอเดีย ได้สร้างงานด้วยกัน



โจทย์คือเอาชุมชนกับคนทำงานสร้างสรรค์เมื่อมาอยู่ด้วยกัน เวฟได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เขานั้นถือเป็นคนหน้าเก่าที่เคยทำ แน่นอนว่าคุ้นเคยกับตรงนี้ เลยอาจจะพอรู้ในหลายเรื่อง โดนส่วนตัวเขามองว่า จริงๆ มันยังไม่ได้มีอะไรที่เหมือนเป็นการทำงานร่วมกันขนาดนั้น ซึ่งบางจุดเราก็คิดว่ามันก็ไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันก็ได้ กล่าวคือทุกอย่างไม่ได้เชื่อมกันทั้งหมด ตอนแรกเหมือนเอาคนสร้างสรรค์มาทดลองด้วยว่าจะดีไหม คือเราจะคิดตลอดว่าเราทำงานแบบรถไอติม  ถ้าชาวบ้านเค้าไม่เรียก ไม่เรียกซื้อก็ขี่กลับ แล้วเราถึงจอดก็ไม่จอดทั้งปี “เราลองทำเองก่อน เราดูว่าเขาชอบไหม”

ความคาดหวังของเวฟคือ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องชุมชน เวฟบอกเพิ่มเติมไปอีกว่า พอเราเคยทำงานกับชุมชน แล้วเราคิดว่าชุมชนเป็นอะไรที่เหนียวแน่นกัน คือทุกคนเจอกันทุกวันแบบคุยกันได้ทุกวัน แต่จริงๆ แม้กระทั่งอยู่ใกล้ๆ พื้นที่เดียวกัน อาจจะท้ายซอยปากซอยบางครั้งไม่เจอกันเลยทั้งปี เขารู้จักกันแต่เขาไม่เคยเจอกันเลย ทั้งปีเขามาเจอกันในงานคนข้าว ซึ่งมันทำให้เรามองความสัมพันธ์ในชุมชนใหม่ มันต่อยอดไปที่คำถามที่ว่าคนในชุมชนคือใครบ้าง ปัญหาของช้างม่อยคือเป็นชุมชนเมือง หมายถึงเมืองมันโตขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือมีการเปลี่ยนมือของเจ้าของที่ดิน คนเก่าแก่อาจจะย้ายออก และคนที่เข้ามา เขาไม่ได้เข้ามาเป็นคนในชุมชน หมายถึงอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่ไม่ได้เป็นคนในชุมชน



ทางด้านพระครูพิพัฒน์สมาจาร เจ้าอาวาสวัดชมพู กล่าวถึงประเพณีวัฒนธรรมคนข้าวยาคู้ที่คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันมาโดยตลอด ไม่ได้ถือเป็นงานใหญ่อะไร แต่ปีนี้พิเศษตรงที่มีศิลปินจากต่างประเทศทั่วมุมโลก “หลวงตาไม่รู้หรอกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่นักศึกษาศิลปินเขามาบอกว่าอยากทำให้ประเพณีเป็นที่รู้จัก หลวงตาเลยบอกไปว่า จะทำอะไรบ้างก็เอาไปทำเลย เต็มที่”

เจ้าอาวาสได้เสริมอีกว่า ถึงแม้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะไม่รู้ประเพณีดั้งเดิมเท่าไหร่ ก็เลยมีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมีรูปภาพ ศิลปะ ที่ติดข้างโบถส์ คนจึงมาเข้าร่วมกันเยอะขึ้น มีทั้งเด็กรุ่นใหม่และเด็กต่างชาติ ในความคิดของเจ้าอาวาส คิดว่าคนรุ่นเก่าก็อยู่แบบเดิมๆ อะไรแบบเดิมก็ยังคงทำแบบนั้น เด็กรุ่นใหม่ก็ดำเนินไปตามโลก ถึงแม้หลวงตาจะตามไม่ทันแล้ว หมดคนรุ่นแก่ไปไม่อาจรู้ได้ว่าใครจะสืบสานประเพณีคนข้าวยาคู้ ชุมชนช้างม่อยแห่งนี้ การที่ให้เด็กเช้ามาดูแลก่อน เขาก็จะมีความคิดที่อยากจะทำต่อไป หลวงตายืนยันซ้ำว่าให้อิสระในการใช้พื้นที่การสื่อสารระหว่างช่วงวัยได้อย่างเต็มที่

 “ไม่ห่วงพื้นที่ ไม่ห่วงประเพณีหรอก อยากเอาอะไรมาตกแต่งทำไปเลย เพื่อให้มันได้มาสื่อสารกัน เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนเก่าคนใหม่”

คนมาให้หมด เอาจนเหนียว


(เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์, เวฟ-ธีรธีช พงษ์เรืองเกียรติ)

เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง TEMPO.wav หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่ช่วยสร้างสรรค์คนข้าวยาคู้ในครั้งนี้ พูดถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มสร้างสรรค์ว่า ด้วยความที่เพื่อนๆ เป็นคนที่ทำงานเชิงสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม และพื้นที่ความเป็นเมือง เลยทำให้เอิงมีโอกาสได้มาที่ชุมชนช้างม่อยเป็นประจำ ยิ่งบ่อยครั้งจึงเหมือนได้ซึมซับเรื่อยๆ มาตลอด 2-3  ปีนี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ “เหมือนอินตามเพื่อน” และงานคนข้าวยาคู้เองก็ทำให้เอิงได้รู้จักกับคนที่อยากสื่อสารพื้นที่ วัฒนธรรม ความเป็นดั้งเดิมของคนในช้างม่อย แน่นอนว่าเอิงเองก็มีไอเดียที่อยากร่วม ‘คน’ ร่วมสร้างสรรค์งานในครั้งนี้ชนิดที่ว่าไฟมา พร้อมมาก เลยทีเดียว

“บังเอิญว่าเราก็ทำ TEMPO.wav เลยอยากเข้ามามีส่วนร่วม เกี่ยวกับการจัดการด้านศิลปิน ดนตรี ในฐานะส่วนตัวที่เธอเคยมาเที่ยวงานนี้ เมื่อปีก่อน เห็นการพัฒนาของงานมาเรื่อยๆ วัดเป็นพื้นที่สาธารณะยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน เราเองก็อินกับเสียงดนตรีอยู่แล้ว เราเลยอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับงานนี้ อยากสร้างสรรค์งานวัดที่คนทุกวัยมากองอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ งานวัดขาดเสียงดนตรีและบทสนทนาของผู้คนไม่ได้”

เอิงจึงมีแนวคิดนำก็เอาดนตรีมาใส่ในพื้นที่ชุมชนช้างม่อยแห่งนี้ โดยเธอมองว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งรวมวิถีทางดนตรีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ความพิเศษหรือจุดเด่นคือด้านวัฒนธรรม ทำให้แตกต่างไปจากที่อื่น ทำให้รู้สึกว่ามันเป็น “จังหวะของเชียงใหม่” มีแค่เฉพาะที่เชียงใหม่ และต้องใช้เวลาอยู่ที่นี่เผื่อสัมผัสกลิ่น แลอายความงดงามนี้เท่านั้นถึงจะรู้ จึงอยากจะสร้างพื้นที่ในการเล่าเรื่อง “จังหวะของเชียงใหม่” เพราะคำว่า TEMPO ในภาษาดนตรีแปลว่า จังหวะ เธอเลยอยากจะเล่าถึงจังหวะที่มีอยู่ ที่สัมผัสได้รอบตัวกับการที่ได้อยู่เชียงใหม่ จึงเกิดเป็นกลุ่มดังกล่าวขึ้นมา

“เราคล้ายกับได้ค้นพบ ภาพร่างชีวิตของเราเองผ่านดนตรี”

ในงานนี้เราเลยจะเห็นถึงส่วนผสมทางดนตรีของศิลปินในพื้นที่ ที่ผสมไปกับงาน Visual Art ที่เพิ่มประสบการณ์ทางเสียง สั่นสะท้านโสตประสาท และสร้างภาพอย่างน่าจดจำ แน่นอนว่ามันไม่ใช่จะมีแค่เพียงความร่วมสมัย แต่ซอสดของ คุณลุงบุญทอง ร้องอ้อ ก็มีอยู่ในงานนี้ด้วย

ในวัดในวา คนผู้คน ‘คน’ คนจนเป็นเนื้อเดียว

ตลอดทั้ง 2 วัน มีผู้คนที่แวะเวียนมาในงานคนข้าวยาคู้กันอย่างต่อเนื่อง มากหน้าหลายตา ในงานเองก็มีกิจกรรมที่มัดผู้คนให้สามารถใช้เวลาอยู่ในงานนี้ได้ยาวๆ ไล่ตั้งแต่นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินในเชียงใหม่ ร่วมไปกับศิลปินจากพม่า แคนาดา และเกาหลีใต้ ที่เปลี่ยนวัดให้กลายเป็นหอศิลป์ขนาดย่อม หรือแม้แต่กิจกรรมอย่าง นิทรรศการ Media Art จาก Micro Galleries หรือแม้แต่กิจกรรมของ Pokemon GO ก็มี



“อยากให้อนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าๆ ของเราไว้ ถึงแม้มันจะเก่า แต่เป็นของเก่าที่มีคุณค่า มันไม่มีทางสูญหาย ยิ่งถ้ามันสื่อสารกับคนเก่าคนใหม่ได้ มีจะเพิ่มคุณค่าไปอีก” ประโยคธรรมดาสามัญที่ป้าๆ ในชุมชน พูดใน Auntie’s Talk เองก็ชวนให้เราคิดต่อว่า บางทีการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนนั้น มันอาจจะไม่สาบสูญไปโดยง่าย ถ้ามองมันใหม่ มันจะอยู่ไปได้อีกยาว​

ทั้งนี้งานวัดอาจจะเป็นกิจกรรมที่มีระยะเวลาของมัน แต่อีกนับหนึ่ง มันก็ช่วยยืนยันว่า วัฒนธรรมนั้นมีชีวิต มันคือ People of Culture​​ ซึ่งในคนข้าวยาคู้เองก็มีวงคุยให้ได้นั่งฟังความคิดความอ่านที่ยืนยันว่างานนี้ สามารถสร้างวาระในการเปลี่ยนบ้านแปลงเมืองได้ ทั้ง เรื่องราวสตรีผู้ทรงอิทธิพลอุดมแรงบันดาลใจ และความเป็นไปได้ของเชียงใหม่กับเส้นทางการก้าวสู่การเป็นเมืองเทศกาลที่น่าคิดต่อว่าศักยภาพของเมืองเชียงใหม่ไปได้มากกว่าที่เป็น



นอกจากนี้แล้วการแสดงดนตรีซอสดฟรีสไลต์คนรุ่นก่อนของบุญทอง ร้องอ้อ เองก็ล้อ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปกับคณะศิลปินอินดี้ อาทิ Anna Maria Olsson, Escape to Your Library, SUTHEP BAND, Echo Resort, Thanakon & ถลัชนันท์, Mr Cat & Friends รวมไปถึงคณะดีเจที่มารังสรรค์เสียงสัมผัสใหม่ โชว์พิเศษจาก Sirisook Dance Theatre ร่วมกวนความมันส์จากคณะตลกเชิญยู๊ด Karaoke โดย ฮ่อมบ้าน, คณะดีเจ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สร้างความเป็นคน จากคนในชุมชนให้สื่อสาร สร้างสรรค์ ได้อย่างสัมพันธ์กันกลมกล่อม

“อีเว้นท์สร้างมาเป็นที่ที่ให้เจอกัน ได้มีบทสนทนา ได้รู้จักกัน ก็สุดท้ายมันจะเป็นยังไงก็อยู่ที่เขา”

เวฟกล่าวทิ้งท้าย และเชื้อเชิญให้เราได้ตีความว่า ‘คนข้าวยาคู้ช้างม่อย’ เกิดขึ้นมาเพื่อเชื่อม ‘คน’ ดั้งเดิม และ ‘คน’ รุ่นใหม่ คนเข้ากันจนเหนียวพอที่จะสร้างสรรค์วัฒนธรรม ผู้คน และเมืองเชียงใหม่ให้ม่วนขนาดนัก



ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง