คนแพร่พร้อมไหมกระจายอำนาจ? ถก 121 ปี กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ถึงตอนนี้อนาคตเมืองแพร่อยู่ที่ไหน

เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ Lanner

เนื้อหาจากเสวนา ‘121 ปี กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ สู่การกระจายอำนาจ’ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 โดยเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่และ ABO+ Phrae Creative Wisdom Space ณ Gingerbread House Gallery จังหวัดแพร่ ร่วมเสวนาโดย ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, สามชาย พนมขวัญ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จ.แพร่, ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ ดำเนินรายการโดย ธีรวุธ กล่อมแล้ว

“คุณหมอนักชีววิทยาเขียนเอาไว้ผมชอบมากกว่า คนป่วยให้ดูที่สิ่งแวดล้อม น่าสนใจ ถ้าสังคมป่วยให้ดูที่สิ่งแวดล้อม ผมอยากจะถามว่าทุกๆท่านคิดว่าสังคมตอนนี้มันป่วยหรือเปล่า”


สามชาย พนมขวัญ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จ.แพร่

สามชาย พนมขวัญ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จ.แพร่ กล่าวเปิดกิจกรรมด้วยประวัติศาสตร์เมืองแพร่ที่เกี่ยวโยงกับชาว ‘เงี้ยว’ โดยชี้ว่าเป็นเรื่องที่มีเอกสารที่บอกเล่าข้อเท็จจริงอยู่น้อย ทำให้สมชาย ตั้งคำถามกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวไทใหญ่หรือเงี้ยวและคนเมือง ชาวเงี้ยวถูกทำให้อยู่ในสถานะกบฏ โดยรัฐผ่านการรวมอำนาจเข้าศูนย์กลาง และยังทำให้เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่องค์ประกอบอื่นๆ กลับไม่ได้เปลี่ยนตามนัก สามชาย มองว่านี่อาจจะเป็นแนวคิดที่มีความเป็นทุนนิยม ที่ว่าการฝืนธรรมชาติไปก็ไม่ทำให้ไปไหนได้นานนัก

จากกบฏเงี้ยวเมืองแพร่สู่สังคมปัจจุบัน แตกต่างเหมือนกัน?

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ มองว่ามีทั้งข้อแตกต่างและจุดที่เหมือนกัน ข้อแตกต่างระหว่างสองช่วงเวลาคือกระบวนการและวิธีการ เหตุมาจากสภาพสังคมการเมืองการปกครองในช่วงเวลานั้นมีความแตกต่างกับปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างวิธีการประท้วง ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่เมื่อ 121 ปีที่แล้วที่สภาพการปกครองไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการประท้วงหรือแม้แต่ตั้งคำถามใดๆ ก็ไม่มีโอกาสที่กบฏเงี้ยวเมืองแพร่จะให้วิธีประท้วงเหมือนดังปัจจุบัน และนั่นยังยกระดับการต่อสู้ของกบฏเงี้ยว จากการตั้งคำถามหรือแสดงความไม่เห็นด้วย สู่การต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเอง และเกิดมาจากการสะสมของความรู้สึกชิงชังต่อการกดทับ ขูดรีด จนความแตกต่างกันระหว่างความตายและการมีชีวิตอยู่แทบไม่มีความแตกต่างกัน

“เมื่อ 121 ปีก่อนการแค่ตะโกนถามคำถามหนึ่ง การแค่ชูป้ายอะไรสักอย่างมันก็ตายอยู่แล้วดังนั้นจะแค่ประท้วงทำไม  ดังนั้นการต่อสู้ของกบฏเงี้ยวมันเกิดขึ้นมาเพื่อหวังผลที่จะปลดแอกตนเองสู่อิสรภาพแน่นอน”

อีกประเด็น ลักษณารีย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ที่ถูกรัฐเผด็จการบิดเบือนไปผ่านการใช้กลไกการศึกษา ด้วยการบรรจุเรื่องราวของกบฏเมืองแพร่ที่บิดเบือน ในฐานะศัตรูของชาติ เป็นกบฏของรัฐ และไม่ครบถ้วนลงไปในวิชาเรียนต่างๆ จนทำให้บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายของชาวเงี้ยวหวาดกลัวที่จะเปิดเผยเชื่อสายของตัวเอง ซึ่งเป็นความหวาดกลัวที่ถูกส่งต่อมาตลอด 121 ปี ต้องกลายเป็นกลุ่มคนหนีหาย ปิดบังตัวตน ปิดบังวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ไม่ให้ใครรู้เชื้อสายของตน แต่ประวัติศาสตร์ที่ถูกรัฐเผด็จการเขียนกลับไม่มีเหตุการณ์การต่อสู้ปลดแอกถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด

“การทำซ้ำเหล่านี้มันก็ทำให้แม้แต่ปู่ย่าตายายของเรา พ่อแม่ของเรา เขามีความอับอายเขามีความหวาดกลัวที่จะบอกว่าเชื้อสายเรามาจากไหน ความหวาดกลัวเหล่านี้มันถูกส่งต่อมาถึง 121 ปี แล้วก็เป็น 121 ปีที่คนกลุ่มนี้เขาทั้งหนีหาย ต้องปิดบังตัวตน ต้องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ต้องลบเลือนวัฒนธรรมที่เขาเคยส่งต่อกันมาก่อนหน้านี้ การสักขา การแต่งกาย การโพกหัว เขาต้องพยายามกลืนกลายตัวเองให้เป็นเหมือนคนเมืองทั่วไป”


ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่

ลักษณารีย์ มองว่ากระบวนการบิดเบือนประวัติศาสตร์ดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อให้อำนาจของตัวเองแข็งแรงยิ่งขึ้น เป็นสันดานของเผด็จการที่ไม่ยอมให้รัฐจารีตอื่นๆ เข้ามาเป็นจังหวัดในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งความเจ็บปวดและแรงผลักดันให้ ลักษณารีย์ อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้ประชาชนทั้งในจังหวัดแพร่และทั้งประเทศไทยได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ ประวัติศาสตร์กระแสรองที่รัฐไทยพยายามบิดบังไว้เรื่อยมา

แรงจูงใจดังกล่าวผลักดันให้ ลักษณารีย์ หันมาทำการเล่าเรื่องผ่านเหล้ากบฎเงี้ยว ซึ่งผลตอบรับของมัน แม้จะยังไม่ได้ถึงขั้นที่ทำให้เชื้อสายเงี้ยวทุกคนออกมาเปิดเผยเชื้อสายของตัวเองและภาคภูมิใจกับมันได้ แต่ก็ถือว่าออกมาในทางที่ดี และยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความกล้าหาญที่จะออกมาพูดมากขึ้น ซึ่งความกล้าหาญนี้เองที่ ลักษณารีย์ อยากทำให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงการเคลื่อนไหวในประเด็นการกระจายอำนาจด้วยเช่นกัน

เงี้ยวเมืองแพร่ และกบฏผู้ต่อสู้กับรัฐเผด็จการในต่างประเทศ

ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดประเด็นด้วยการชวนสังเกตุถึงเหตุผลที่ใช้รัฐใช้ชื่อ ‘กบฏเงี้ยว’ โดยชำนาญมองว่านี่เป็นการทำให้ชาวเงี้ยว ‘เป็นคนอื่น’ ผ่านการใช้ชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกบฏเงี้ยว กบฏผีบุญ หรือกบฏแขก 7 หัวเมือง ซึ่งความสำนึกในรัฐชาติไทยจะถูกนับอยู่เฉพาะในอยุธยารัตนโกสินทร์เท่านั้น หนึ่งในตัวอย่างของมุมมองนี้คือประวัติศาสตร์ของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งถูกเรียกว่า ‘กบฏเจ้าอนุวงศ์’ โดยรัฐไทย แต่ในพื้นที่ลาว นี่คือวีรบุรุษ เป็นมหาราชของพวกเขา

“ประวัติศาสตร์พวกนี้การยึดอำนาจรวมอำนาจ พยายามกดขี่ พยายามสร้างความเป็นอื่น พยายามรวมเข้าไปอยู่ในส่วนกลางมันก็ไม่ค่อยแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ทั้งหลายในโลก”


ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า

ชำนาญ ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ในสมัยที่ยังปกครองโดยระบอบเผด็จการซูฮาร์โต โดย ชำนาญ มองว่ากบฏเงี้ยวนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากกบฏอาเจะห์เท่าไรนัก 

เมื่อตอนที่ชวาเป็นเมืองขึ้นของดัตช์ ดัตช์พยายามจะยึดอาเจะห์ให้ได้ หนำซ้ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังอินโดนีเซียประกาศเอกราช ก็พยายามเข้ายึดเอาอาเจะห์ อาเจะห์ต่อต้านการรุกรานดังกล่าวจนมีกองกำลังติดอาวุธระดับทำสงครามได้ จนนำไปสู่การตกลงกัน เพราะไม่สามารถปราบปรามด้วยอาวุธได้ ภายหลังอินโดนีเซียได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับซึ่งพูดถึงเรื่องการใช้อำนาจทางการเมือง จนกลายเป็นประเทศแถวหน้าในเรื่องของประชาธิปไตยของอาเซียนผ่านการกระจายอำนาจ อาเจะห์จึงเป็นอย่างของจังหวัดจัดการตนเองที่ชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ ชำนาญ ตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่ทำตามสักที?

อีกหนึ่งตัวอย่างประเด็นการกระจายอำนาจ ชำนาญ กล่าวถึงกลยุทธ์การบริหารของจีน โดยจีนนั้นมีระบบการเมืองที่มีเขตปกครองพิเศษของตนเอง รัฐให้อำนาจในการเลือกตั้งที่คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด รวมถึงการแบ่งภาษีอากร ที่รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมณฑลจะถูกส่งไปสู่ส่วนกลาง 40% ด้วยเหตุผลที่ว่ารายได้เหล่านี้หามาได้ด้วยมณฑล ต่างจากไทยที่ท้องถิ่นต้องส่งรายได้สู่ส่วนกลางถึง 70% แต่จำนวนรายได้ที่ถึงมือท้องถิ่นจริงๆ อาจจะมีไม่ถึง 30% ด้วยซ้ำ

“ทั้งหลายทั้งปวงที่เราคุยกันมาตลอดเรื่องประวัติศาสตร์ทำไมเราไม่ค่อยรู้เรื่องกบฏเงี้ยว เรื่องกบฏพญาผาบ กบฏผีบุญ กบฏ 7 หัวเมืองแขกหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วพยายามยามบิดเบือนตำราต่างๆ นานาเยอะแยะ จอร์จ ออร์เวลส์พูดผมไม่ได้พูดเองนะครับ ว่า ผู้ที่ควบคุมปัจจุบันได้ก็ควบคุมอดีตได้ ผู้ที่ควบคุมอดีตได้ก็ควบคุมอนาคตได้”

พร้อมหรือไม่? การกระจายอำนาจในเมืองแพร่

สามชาย พนมขวัญ มองว่าปัญหาคือความเข้าใจในการเมืองไทย ต้องวิเคราะห์ว่าเมืองแพร่เป็นใครและทำอะไร สามชาย ชี้ว่าเมืองแพร่ไม่มีพลังในการต่อรองมากนัก และโจทย์ต่อไปคือการพูดคุยที่จะนำไปสู่สภาที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ใช่คำสั่งที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง

“การกระจายอำนาจผมคิดว่าหลายจังหวัดในภาคเหนือบ่นกันว่าแต่ละคนเก่งกันมาก แต่ว่าเวลาเล่นฟุตบอลร่วมกันไม่ค่อยเข้าขากันเลย ตรงนี้คือจุดอ่อนหรือเปล่า เราไม่ค่อยมีพลังในการต่อรอง”

นอกจากนี้ สามชาย ยังหยิบยกบทเรียนในประวัติศาสตร์ไทย ที่ชนชั้นอำนาจมีพลังในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีตจะส่งผลให้เกิดความเจริญเติบโตในด้านต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือการปฏิวัติและรัฐประหาร กลายเป็นสาเหตุการใช้กฎหมายจัดการบ้านเมืองและผู้คนด้วยการสร้างความหวาดกลัว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากทหารเข้ามาปกครองบ้านเมืองทำให้มีการออกกฎเกณฑ์ที่จะบังคับราษฎรให้อยู่ในกรอบ กลายเป็นความชินชากับการปกครองไปในที่สุด สามชาย ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปในสังคมไทยเมื่อเกิดการกดทับเกิดขึ้น ผู้ถูกกดทับออกมาประท้วงด้วยสำนึกการเมืองมากแค่ไหน อีกทั้งยังมีการแตกแยกทางความคิดแม้แต่ภายในครอบครัวที่ไม่รู้สาเหตุ ทั้งหมดทั้งมวลที่ สามชาย มองว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐผลิตขึ้น จะเหมือนในอดีตหรือจะหนักกว่าในอดีตที่ยังไม่ทราบได้

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ มองว่าเมืองแพร่มีทั้งส่วนที่พร้อมและไม่พร้อมรับการกระจายอำนาจ โดย ‘คน’ คือส่วนที่พร้อม เนื่องมาจากแพร่นั้นมี Active Citizen อยู่เป็นจำนวนมากที่เตรียมพร้อมอยู่ถ้ามีช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขยายการจัดการบริหารตัวเอง แต่สิ่งที่สืบทอดมาอย่างยาวนานคือความเคยชินที่ถูกสร้างให้กับประชาชน ที่ต้องรอรับสิ่งต่างๆ จากส่วนกลางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดหามาให้ ไม่ถูกทำให้การตั้งคำถามหรือการเรียกร้องเป็นนิสัย เกิดเป็นความเกรงอกเกรงใจของประชาชน ลักษณารีย์ มองว่านี่เป็นอุปสรรคสำหรับชาวแพร่

ความไม่พร้อมของแพร่ในมุมมองของ ลักษณารีย์ คือการที่แพร่เป็นเมืองที่ทั้งเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมไม่ตอบรับความหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่โอบอุ้มลักษณะการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ จนเหล่าคนวัยรุ่นเกิดความรู้สึกที่จะต้องระหกระเหินออกไปจากเมืองแพร่ ไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้แพร่กลายเป็นเมืองที่มีสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องดูแลกันเอง นี่เป็นปัญหาจากการที่ไม่มีการกระจายอำนาจ ประเด็นคมนาคมและเศรษฐกิจเข้าไม่ถึงทรัพยากรเพื่อการพัฒนา กลายเป็นเมืองที่ไม่รองรับคนวัยทำงานไปในที่สุด

“อนาคตของเมืองแพร่จะอยู่ที่ไหน เราคิดว่ามันต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียง มีการมีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด เราจะทำยังไงถ้าเกิดเมืองแพร่อยากมีมหาวิทยาลัยเป็นไปได้ไหม ถ้าหากว่าอยากให้มันมีคมนาคมที่ดีกว่านี้มันจะได้ไหม ทำยังไงไม่ให้มีรถจากสถานีรถไฟเด่นชัยเข้ามาที่ตัวเมืองวันละ 2 เที่ยวแล้วแม่ค้าที่จะเข้ามาเนี่ยต้องเข้ามาภายในเวลานั้นเท่านั้นจะกลับก็ต้องกลับภายในเวลาเดียวกันเท่านั้น มันดูลำบากไปหมดเลย”

ชำนาญ จันทร์เรือง หยิบยกประสบการณ์ของตนตั้งแต่ได้เริ่มรณรงค์ประเด็นจังหวัดจัดการตนเองจนเข้ามาสู่การทำงานในพรรคอนาคตใหม่ มาสู่การเป็นคณะก้าวหน้า รวมไปถึงการทำงานในตำแหน่งกรรมาธิการการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ชำนาญ เชื่อว่าไม่มีจังหวัดใดไม่พร้อมกับการกระจายอำนาจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่มีพื้นที่ในการตัดสินปัญหาอะไรได้ ทำได้แค่จ่มๆ ตามสไตล์คนเมือง 

“เรามาทำอะไรให้เป็นรูปธรรมดีกว่า เรามายกร่างกฎหมายที่ให้อำนาจในพื้นที่มีอำนาจตัดสินปัญหาทั้งหลายทั้งปวงสิ้นสุดอยู่ในภายในยกเว้นเรื่องสำคัญๆ เช่นทหาร ศาล การต่างประเทศ เราไม่เอา ปัญหาตัดสินเรื่องป่าแหว่ง เรื่องรุกล้ำ เรื่องนโยบายจะให้มีรถรางไม่มีรถรางน่าจะจบอยู่ในพื้นที่ แล้วก็ยกร่างพรบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครร่างนั้นก็มียกเลิกภูมิภาคให้เป็นท้องถิ่น แล้วก็มีสภาพลเมือง เปิดโอกาสให้คนสมัครเป็นสมาชิกสภาพลเมืองรวมตัวกันในรูปแบบหลวมๆ ไม่ได้มีความเป็นทางการ”

“เราก็ระดมรายชื่อกันร่างพ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร เราเดินมาจากครูบาศรีวิชัยมาอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ แล้วก็ยื่นพ.ร.บ.ไปปี 56 แต่ยุบสภาซะก่อน คุณยิ่งลักษณ์ยุบสภา 9 ธันวาคม 2556 ตามด้วยยึดโดยสภาคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เลยตกไป”

ชำนาญ มองว่าการเคลื่อนไหวนี้เปรียบเหมือนบั้งไฟ ที่จุดติดแล้วไม่สามารถนำลงได้ ถ้าย้อนไปสมัยที่เกิดการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร ในตอนนั้นมีการนำข้าราชการมาทำงานในตำแหน่งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น แต่เกิดอุปสรรคจากการที่ไม่มีความสัมพันธ์กับประชาชน ไม่รู้ความต้องการของประชาชน ชำนาญ ชี้ว่าการบริหารจัดการตนเองในท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญนี้ไม่ถูกปลูกฝังเพราะรัฐไม่ต้องการให้ประชาชนตระหนักรู้ ทำให้เด็กๆ ที่จะต้องโตมาเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ของการปกครองในท้องถิ่นและคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตพวกเขามากที่สุด

รับชม Live ได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/videos/277464221599937

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง