อยู่รอดปอดพัง เปิดยอดผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจภาคเหนือ

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน

“ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เมื่อก่อนเราจะบอกว่าการเป็นมะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ แต่อัตราการสูบบุหรี่ของคนภาคเหนือไม่ได้มากกว่าคนภาคอื่น แต่อัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดกลับสูงกว่าคนภาคอื่น ๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สมัยก่อนพ่ออุ๊ยจะชอบสูบบุหรี่ขี้โย การแพทย์ก็จะบอกว่า นี่คือสาเหตุหลักของมะเร็ง แต่ปัจจุบัน การสูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก แต่อัตราการเป็นมะเร็งปอดก็ยังสูงอยู่ดี งานวิจัยในช่วงหลัง ๆ พบว่า ชนิดของมะเร็งปอดมีส่วนเกี่ยวข้องกับ PM2.5”

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือมีมานานมากกว่า 10 ปี แต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ฤดูฝุ่นควัน’ จนทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าคุณภาพอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพ

ปัจจุบันหมอกควันที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศหนาแน่นอยู่เหมือนเดิม ทั้งค่า PM10 และ PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานปกคลุมแทบทุกพื้นที่ในภาคเหนือ ซึ่งรุนแรงขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุมาจากมลภาวะทางอากาศจากยานพาหนะ เนื่องจากไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อชาวบ้าน ทำให้ทุกบ้านต้องใช้รถส่วนตัว การขยายตัวของเมือง การเผาทำลายใบไม้ในบริเวณบ้านของชาวบ้านและเกษตรกร ไปจนถึงการลักลอบเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรของคนพื้นที่ ทำให้เกิดการสะสมของกลุ่มควันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกระแสลมมีกำลังอ่อนตัวช่วงต้นปีไม่สามารถพัดกลุ่มควันที่สะสมอยู่ให้ระบายออกจากพื้นที่ที่เป็นเหมือนแอ่งกระทะได้ จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนในที่สุด

PM2.5 ต่อสุขภาพของคนเหนือ

การที่พื้นที่ในภาคเหนือตอนบนยังคงพบเจอกับปัญหามลพิษจากฝุ่นควันอย่างหนัก ส่งกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งและธุรกิจการท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย จากการสำรวจข้อมูลจาก HDCservice กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวนทั้งสิ้น 3,566,131 คน โดยเมื่อดูสถิติผู้ป่วยรายโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในภาคเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566 รวม 1,566,393 คน โดยจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยทางเดินหายใจมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รวม 381,190 คน รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงราย 286,940 คน จังหวัดลำปาง 207,835 คน จังหวัดลำพูน 156,821 คน จังหวัดน่าน 149,575 คน จังหวัดพะเยา 143,917 คน จังหวัดแพร่ 133,647 คน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 106,468 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ จนทำให้มียอดจำนวนผู้ป่วยรวมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในผู้สูงอายุ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของงานวิจัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ซึ่งพบว่า โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง คือ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในฝั่งเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านสุขภาพดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลจึงสะท้อนปัญหาในอีกมิติหนึ่งจากปัญหาฝุ่น PM2.5

“การที่เขาป่วยขึ้นมาหนึ่งครั้ง มันคือความยากลำบากของครอบครัว อาจจะต้องขายทรัพย์สินเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพจากปัญหาฝุ่น”

มาตราการจัดการฝุ่นจากภาครัฐ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566  ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2566 ได้เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะสั้น เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากภาคการเกษตร โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเร่งด่วน ตลอดจนเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว อาทิ เพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2566 และ (ร่าง) แผนการบริหารจัดการ EPI ของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล 

นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนสร้างกลไกการบริหารจัดการระดับชาติ และระดับจังหวัด ยกระดับการเจรจาเป็นระดับทวิภาคี และใช้เงื่อนไขทางการค้าเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนแก้ไขปัญหา โดยให้สิทธิประโยชน์ และแรงจูงใจตอบแทน โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ 

1.พื้นที่เผาไหม้ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน ลดลง 50% 

2.พื้นที่เกษตรกรรมเผาไหม้ ลดลง 50%

3.ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง 40% 

4.จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลง 30%

อย่างไรก็ดี ยังตั้งเป้าหมายจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตราฐานต้องลดลงเป็นรายภาค โดย 17 จังหวัดภาคเหนือ ต้องลดจาก 40% เป็น 30%

ห้ามเผา ≠ ห้ามฝุ่น

“การที่ภาครัฐประกาศช่วงวันห้ามเผา มันก็เป็นมาตรการที่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแหละ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่มีส่วนร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มาก และมันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ”

ชนกนันทน์ นันตะวัน หรือ หนุ่ย จากสม-ดุลเชียงใหม่ กล่าวว่าสำหรับภาครัฐแล้ว แม้จะมีการร่วมมือกับเอกชนบูรณาการการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง มีการณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งมาตรการลงโทษผู้ที่เผาป่า ผู้เตรียมปรับพื้นที่ทำการเกษตรด้วยการเผาเศษวัสดุเหลือใช้และวัชพืช และมาตรการส่งเสริมให้มีการรักษาป่า ปลูกป่า และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่มาจากหลายปัจจัย ซึ่งเเต่ละพื้นที่มักมีบริบทที่เเตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้ผู้ปลดปล่อยมลพิษเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษจากเเหล่งกำเนิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ในขณะที่สถานการณ์วิฤตด้านสิ่งเเวดล้อมในประเทศกำลังแย่ ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เป็นวงกว้าง 

ต่อให้ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่ ก็ไม่ได้การันตีว่าสุขภาพจะแข็งแรง เมื่อเราอยู่ในคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่หรือเป็นมลพิษ…

อ้างอิง:

นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง