เรื่อง: ประสาท มีแต้ม Thai Climate Justice for ALL
ขณะนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน กำลังเตรียมเสนอร่าง “พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยผมขอเรียกร่างพระราชบัญญัตินี้อย่างง่ายว่า “กฎหมายโลกร้อน” นอกจากร่างของรัฐบาลแล้ว ยังมีร่างของพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) และคาดว่าจะมีของพรรคการเมืองอื่น ๆ ตามมาอีกหลายฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้สิทธิในการมีที่นั่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างในวาระสองต่อไป
เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายฉบับดังกล่าวมีหลายประการ ได้แก่ 1.เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ 2.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ให้สัตยาบันไว้ในข้อตกลงปารีส 3.ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศให้มีความยั่งยืน และ 4.สร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีทั้ง 4 ประการ
จากการศึกษาร่างของรัฐบาลซึ่งมี 14 หมวดรวม 169 มาตราอยู่หลายรอบ แต่ละรอบอ่านไม่เคยจบทั้งหมด ผมมีความเห็นต่างในหลายประเด็นสำคัญ แต่ในที่นี้ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ข้อความในหมวดว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก หากเป็นร่างของรัฐบาลจะอยู่ในมาตรา 68 ส่วนร่างของพรรคก้าวไกลอยู่ในมาตรา 72 ซึ่งเขียนเหมือนกันว่า “ในการจัดทำแผนลดก๊าซเรือนกระจก คณะกรรมการต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย (๑) นโยบายและแผนการพัฒนาของประเทศ”
ผมขอยกข้อที่ต้องคำนึงถึงเพียงข้อเดียวคือ การจัดทำแผนลดก๊าซเรือนกระจกต้องคำนึงถึงนโยบายและแผนการพัฒนาของประเทศ หากตีความตามตัวหนังสือก็จะได้ว่า หากนโยบายและแผนพัฒนาของประเทศได้กำหนดไว้อย่างไร แผนลดก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งประมาณร้อยละ 75 ของทั้งหมดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจาการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) ก็ต้องโอนอ่อนผ่อนไปตามนโยบายนั้น
ผมเชื่อและมั่นใจว่า การยกเอาความจำเป็นหรือการมีอยู่ของนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ (ซึ่งมาจากการ กำหนดของรัฐบาล) มาอยู่เหนือความจำเป็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักของวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วทั้งในเชิงทฤษฎีและผลกระทบด้านลบที่คนไทยและประชาชนทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ และในอนาคตจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกในอัตราเร่งทั้งปริมาณความร้อนและภัยพิบัติ
ผมเห็นว่า โลกของเรานับจากนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายและแผนพัฒนาประเทศใดก็ตาม จะต้องถูกควบคุมและบังคับด้วยกติกาใหม่ที่ประชาคมโลกได้ร่วมกันกำหนดคือ “การลดก๊าซเรือนกระจก” เหมือนกับกรณีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravitational Force) ที่ทำหน้าที่คอยดึงดูดวัตถุทุกชนิดไว้บนโลกหรือในชั้นบรรยากาศของโลก ไม่มีวัตถุใดในโลกนี้ได้รับการยกเว้นหรือสามารถหลีกหนีกฎของแรงโน้มถ่วงโลกได้ เมื่อวัตถุใดอยู่ในที่สูงก็จะต้องตกลงมาอยู่ในสภาพสมดุลตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน การลดก๊าซเรือนกระจกก็เหมือนกัน ต้องไม่มีการยกเว้นให้กับประเทศใด และต้องไม่อนุญาตให้ใครหรือรัฐบาลชุดใดสามารถฝ่าฝืนได้
มีมายาคติที่คนส่วนใหญ่หลงเชื่อมานานแล้วว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์หรือลม จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น เป็นภาระกับผู้บริโภคนั้น ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน ในอดีตอาจเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมานี้ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้ของวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ (Modern Physics) ทำให้ในปัจจุบันต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแทบจะไม่ปล่อยก๊าซฯ ถูกกว่าของพลังงานฟอสซิลนับเป็นหลายเท่าตัว
เพื่อให้เห็นภาพความล้าหลังของเทคโนโลยีฟอสซิลที่ทั้งไม่มีประสิทธิภาพและปล่อยก๊าซฯ ที่ทำให้เกิดโลกร้อน ผมขอยกตัวอย่างจากภาคการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งในปี 2022 มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 14,650 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของก๊าซฯ ที่เกิดจากทุกภาคส่วนเศรษฐกิจรวมกัน (IEA, https://www.iea.org/data-and-statistics/charts/global-co2-emissions-by-sector-2019-2022)
สมมุติว่า เริ่มต้นเรามีถ่านหินกองอยู่ที่โรงไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วจำนวน 100 หน่วยพลังงาน ในการผลิตไฟฟ้า (ซึ่งก็คือ อิเล็กตรอนที่ไหลมาตามสายไฟฟ้า) เราต้องใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมาต้มน้ำให้เดือดจนกลายเป็นไอน้ำ แล้วเอาแรงดันไอน้ำไปดันให้ลูกสูบเคลื่อนไปหมุนจานขดลวดเพื่อตัดสนามแม่เหล็ก แล้วก็เกิดไฟฟ้า นับถึงกระบวนการผลิตนี้ พลังงานจะสูญเสียไปในแต่ละขั้นตอน โดยพลังงานความร้อนจากการเผาไหม้ถ่านหิน 100 หน่วย ถูกใช้พลังงานในรูปของไอน้ำไปแล้ว 62 หน่วยพลังงาน และจะถูกเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้เพียง 38 หน่วยพลังงานเท่านั้นที่จะไหลเข้าสู่สายส่ง และเมื่อส่งไฟฟ้าไปยังบ้านเรือน ก็จะมีการสูญเสียพลังงานไปอีก ทำให้เหลือพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงเพียง 32 หน่วย ปัจจุบัน หลอดไฟ LED ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการประหยัดพลังงาน หากเราเปรียบเทียบกับการใช้หลอดไส้ในอดีตจะให้แสงสว่างได้เพียง 2 หน่วยเท่านั้น
Danny Kennedy ผู้เขียนหนังสือ Rooftop Revolution (Danny Kennedy, 2012) ได้วิพากษ์วิธีผลิตไฟฟ้าแบบเดิม โดยระบุว่าเป็น “ความไม่มีประสิทธิภาพที่น่าหัวเราะเยาะมากที่สุดที่เราสามารถจินตนาการได้” เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์ (ซึ่งผลิตบนพื้นฐานความรู้ฟิสิกส์ยุคใหม่) บนหลังคาบ้าน ที่สามารถผลิตอิเล็กตรอนได้ทันทีเมื่อแสงอาทิตย์ส่องมากระทบกับแผ่น ไม่ต้องผ่านกระบวนการต้มน้ำหรือส่งไฟฟ้าไปไกล ๆ และไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากมายาคติเรื่องต้นทุนสูงแล้ว ยังมีมายาคติเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ 2 ประการหลัก คือ 1.พลังงานแสงอาทิตย์ปริมาณน้อยและไม่เสถียร และ 2.การไม่มีไฟฟ้าใช้ในเวลากลางคืน แม้จะมีความเข้าใจผิดกันอย่างแพร่หลาย แต่ความจริงแล้ว จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง มีปริมาณเทียบเท่ากับพลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่โลกมีเวลา 8,760 ชั่วโมงต่อปี นั่นหมายความว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากเกินพอ
ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลเรื่องความเสถียรของพลังงานแสงอาทิตย์และการไม่มีไฟฟ้าใช้ในเวลากลางคืน ก็เป็นอีกหนึ่งมายาคติที่สามารถพิสูจน์ได้จากตัวอย่างของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีจำนวนประชากร 40 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นอันดับ 5 ของโลก รัฐแคลิฟอร์เนียได้ให้สัตยาบันต่อประชาคมโลกที่จะผลิตไฟฟ้า 100% จากแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2045 และจากภาพการผลิตไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียตลอด 24 ชั่วโมงในวันที่ 30 เมษายน 2021 และ 2024 จะเห็นได้ชัดเจนว่า เราสามารถที่จะนำแบตเตอรี่มาเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์และลมซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ แล้วนำไฟฟ้าไปใช้ในตอนที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว เป็นการลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงและถูกปั่นราคาตามสถานการณ์โลก
นอกจากนี้ ข้อมูลในบทความต้นฉบับยังระบุอีกด้วยว่า ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียมีการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่แล้วจำนวน 16,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคกว่า 10 ล้านครัวเรือน นานเป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน
ข้างต้นเป็นการกล่าวเปรียบเทียบในเชิงประสิทธิภาพบนหลักการพื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ ทว่าในเชิงข้อมูลทางการตลาดจริงจากกลุ่มนักวิชาการ RethinkX นำโดย Tony Seba พบว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนถูกกว่าการผลิตจากแหล่งพลังงานชนิดอื่น ๆ แล้ว นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (2010-2020) ราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วแล้วถึง 87% และคาดว่าจะลดลงอีก 80% ภายในปี 2030 เทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น โซลาร์เซลล์และกังหันลมก็มีลักษณะคล้ายกันนี้
ดังนั้น นักวิชาการของกลุ่มดังกล่าวจึงได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 การผลิตไฟฟ้าแบบผสมของโซลาร์ กังหันลม และแบตเตอรี่ รวมกัน 100% หรือ 100% SWB จะมีราคาที่ถูกกว่าการใช้พลังงานอื่น ๆ ทั้งฟอสซิลและนิวเคลียร์บนพื้นที่เกือบทั้งหมดของโลก โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีการชดเชยใด ๆ จากรัฐบาล
จากที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นของบทความถึงความจำเป็นที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบายของรัฐบาลมาอยู่เหนือความจำเป็นในการกำหนด แผนการลดก๊าซเรือนกระจก เนื่อจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะไม่ปล่อยก๊าซฯ แล้ว ต้นทุนในการผลิตก็ถูกกว่าพลังงานฟอสซิล และยังไม่ปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 อีกด้วย
เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อน จึงขอนำเสนอข้อมูลเชิงภาพ 2 ชุด โดยภาพแรกแสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยรายเดือนของโลกตั้งแต่ปี 1950 จนถึง 2023 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของก่อนยุคอุตสาหกรรมติดต่อกันมาทุกเดือนตลอด 48 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพที่สองจะเป็นการเปรียบเทียบร้อยละของการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของโลก สหราชอาณาจักร เวียดนาม และประเทศไทย
จากข้อมูลภาพที่นำเสนอ ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมไหมครับว่า ทั้งสถานการณ์โลกร้อน และสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีอาการน่าเป็นห่วงมาก?
“ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ ‘แรงโน้มถ่วงของโลก’ ฉันใด หากมนุษย์ต้องการจะอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่าง ปลอดภัยและยั่งยืน นโยบายของรัฐต้องส่งเสริมและกำกับอย่างมุ่งมั่นให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และ ปัจเจกบุคคล ต้องอยู่ภายใต้การเร่งลดก๊าซเรือนกระจกตาม ‘ข้อตกลงปารีส’ ฉันนั้น”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...