เมษายน 30, 2024

    My Hometown Project เล่นในบ้านทัวร์ในบ้าน แบบ View From The Bus Tour ที่กำลังจะบอกว่ากระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    “สิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการจุดชนวนโปรเจคนี้คือ (1) นำเสนอโมเดลการเดินสายโชว์ดนตรีออริจินัลในเชียงใหม่ สู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับนิเวศดนตรี ไม่ว่าจะในมุมของ music venues (มาตรฐาน), เจ้าของธุรกิจ, นายทุน, ศิลปิน, และผู้ฟัง (2) ผลักดันประเด็นเรื่อง soft power ของเชียงใหม่ กระตุ้นการท่องเที่ยว/การเดินทางเพื่อวัฒนธรรม (เสพดนตรี) และความสำคัญของการกระจายอำนาจ และ (3) แน่นอนว่าผมต้องการจะเปิดตัววง VFBT และเพิ่มชั่วโมงบินให้กับสมาชิกวงเพื่อพัฒนาดนตรีกันต่อไป”

    มีอะไรให้ว้าวซ่าตลอดสำหรับหนึ่งในสมาชิกวง Solitude Is Bliss ‘เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล’ หรืออินดี้โฟล์กในนามของ View From The Bus Tour ที่เพิ่งปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรกอย่าง am i moon ไปเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว รวมไปถึงการทัวร์อีสานใต้ด้วยรถไฟเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กับ Concept ที่บอกว่าถ้าเราเชื่อมต่อกันแต่ละจังหวัดด้วยรถไฟ ถ้ามีคุณภาพและรวดเร็ว ก็คงจะดีที่จะได้เจอกันได้บ่อยขึ้น

    มาคราวนี้ก็ยิ่งน่าตื่นเต้นเข้าไปอีกกับ My Hometown Project โปรเจคสื่อดนตรีที่มุ่งให้เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมเข้ากับงานวัฒนธรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการพูดคุยโดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพชีวิตและความสำคัญของการกระจายอำนาจ ผ่านรูปแบบของรายการออนไลน์ My Hometown Session และการเดินสายแสดงดนตรีสด 10 โชว์ ใน 1 เดือนในละแวกบ้าน

    บ้านที่ชื่อว่าเชียงใหม่

    จริงไหม ที่บอกกันว่า “เชียงใหม่เมืองดนตรี”

    จริง ตรงที่ว่าเรามีทั้งนักดนตรี ศิลปินมาตลอดทุกยุคสมัย ถ้ายุคไม่เกิน 20 ปีมานี้ก็มีศิลปินที่ส่งออกไปเยอะพอสมควร โตจากเชียงใหม่เองก็มี แต่ส่วนใหญ่ก็ไปโตที่กรุงเทพฯ กันหมด อย่าง ETC, Acappella7, Polycat, Nap A Lean และอีกหลาย ๆ วงที่เราก็จำได้ไม่หมด แล้วนักดนตรีที่เล่นใน Scene การท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ก็มีมาตลอด งาน Event ประจำปี ประจำฤดูก็มี ถ้าวัดตวงจากพวกนี้ ก็น่าจะใช้คำว่าเชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีได้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้นักดนตรีหรือศิลปินพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของวิชาชีพ หรือคุณภาพชีวิต

    อย่าง Ecosystem มันยังไม่ครบวงจร เรื่อง Music venue พื้นที่แสดงดนตรี เรื่อง Workshop ที่มันกระจายความรู้คอยเกื้อหนุนกัน ณ ตรงนั้นได้ หรือแม้แต่สมาคมที่ยึดโยงกัน แล้วตกลงอะไรกันตรงกลางได้อย่างเรื่องค่าแรงนักดนตรี คุณภาพเครื่องดนตรีในร้าน หรือเรื่องที่ร้านดนตรีต้องมี Sound Engineer

    แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็จะมีเหตุผลรอบรับมากมาย แต่ถ้าเป็นฝั่งคนทำงานที่มารวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง พอมีการถกเถียงกันขึ้นก็มีคนทำงานที่ดันสวมบทเป็นผู้เห็นใจผู้ประกอบการด้วยซ้ำไป เราเข้าใจว่าคนที่เป็นผู้ประกอบการ คนที่ต้องจ่ายเงินเขามีเหตุผลเยอะแยะมากมาย แต่เราขาดการรวมตัวกันจริง ๆ ในส่วนเหตุผลของผู้จ้างเขาก็มีเรื่องค่าเช่า ค่าใช้จ่ายอะไรต่าง ๆ นานา แต่มันก็ไม่ได้มีการแจกแจงออกมาว่า คุณจ่ายไม่ได้จริง ๆ เหรอวะ หรือคุณแค่อยากจะประหยัดเพื่อเพิ่มกำไรของคุณให้สูงขึ้นเฉย ๆ 

    การที่เราไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดอนาคตหรือชีวิตของตัวเองได้ การรัฐประหารเมื่อปี 57 ก็เกี่ยวข้องโดยตรง จริง ๆ เมืองเชียงใหม่มันก็เป็นหัวเมืองอันดับ 2 ที่มี Potential อยู่แล้ว ถ้าสังเกตในเชียงใหม่มีอะไรแทบจะใช้คำว่า ‘ครบ’ มาตั้งนานแล้ว ขึ้น ๆ ลง ๆ อาจจะมีหายไปบ้าง ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นเพราะการรัฐประหาร ทำให้การปลดปล่อยตัวเองในแง่ของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่มันถูกชะลอไป ทั้งเรื่องการคมนาคมแทนที่เราจะได้รถไฟฟ้าความเร็วสูง ได้ผังเมืองใหม่ มันก็โดนปัดออกไปอยู่เสมอจากการที่อำนาจไปอยู่ในมือรัฐบาลเผด็จการ

    แสดงว่า 9 ปีที่ผ่านมา มันนานพอที่จะทำให้ประเทศ หรือแม้แต่เชียงใหม่ไม่พัฒนา?

    ใช่ มันนานเกินไปด้วยซ้ำ แค่ปีเดียวก็นานเกินไปแล้ว เพราะมันเป็นการแทรกแซงสิ่งที่กำลังดำเนินไป พอรัฐบาลเผด็จการเข้ามา เขาก็ต้องเอาคนของเขาเข้ามาใช่ไหม เพราะฉะนั้นงานที่กำลังทำกันอยู่ก็โดนล้มกันหมด

    ที่ผ่านมาเราพูดเรื่องความเท่าเทียมกันมาตลอด รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าถ้าประเทศเรากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้มันคงจะดี แล้วยิ่งกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม เขาไม่ได้ลงมาช่วยพัฒนาจริง ๆ หรือใช้ทุนไปกับโปรเจ็คที่จะสร้างระบบที่ยั่งยืนจริง ๆ แม้ตอนนี้จะไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้ว แต่เราก็ยังคิดว่ารัฐยังสนใจประโยชน์ระยะสั้นกันมาก ละทิ้งศิลปะเกินไป พูดกันตามตรงคือเรื่องวัฒนธรรม มันคือผลประโยชน์ระยะยาวนะ เป็น Soft Power ดูอย่างประเทศโลกที่ 1 เขาผลักดันเพราะมันสร้างมูลค่าให้ประเทศได้จริง ๆ แต่ที่ไทยมันเป็นความคิดที่คิดสั้นมาก เหมือนอยู่ในเกมของอำนาจ ในฐานะประชาชนอย่างเรา เราก็ไม่อยากลงไปเล่นในเกมของเขา

    ถ้าพูดถึงเรื่องการพูดคุยกันเนี่ย ชุมชนของคนทำงานสร้างสรรค์มันมีอยู่ไหม หรือชุมชนมันเยอะเกินไปจนทำให้คุยกันยาก?

    มันไม่ได้เยอะเกินไปนะ มีอยู่เนือง ๆ วงสนทนาเล็ก ๆ คุยกันเป็นข้อ ๆ ไป แต่ถ้าระดับสังคายนาเลยก็เพิ่งจะมามี Townhall หรือ กลุ่ม Dontree chiang mai ชาวดนตรีเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุยครั้งเดียวแล้วจะคุยได้ทั้งหมด เราก็ชวนคนเท่าที่เราจะชวนได้เข้ามาออกแบบด้วยกันก่อนว่าปัญหามันคืออะไร อะไรคือผลกระทบของเรื่องนั้น ๆ แล้วค่อยหาระบบตรงกลางที่จะยึด Ecosystem นี้ไว้ด้วยกันได้

    ตอนนี้ก็คุยกันเดือนละครั้ง น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง เพราะตัววงสนทนานี้ คนที่เป็นคนดำเนินการก็ต้องทำงานเหมือนกัน แต่ก็วางใจว่าในเมื่อเรายังสนใจมันอยู่ มันก็ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่เราออกแบบกันอยู่มันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ผมว่ามันก็ยังใช้ได้กับบริบทใน 3-4 ปี หรือ 10 ปีนี้ได้

    ส่วนการสนับสนุนของรัฐแบบที่พูดไปตอนต้น ในมุมมองของเราคือเราคงจะทิ้งปัจจัยนี้ไว้หลังสุดเลย เพราะเราไปร้องไปขอมันก็เหมือนเราสิ้นหวังสิ้นหนทาง เราก็เลยจำเป็นต้องมาโฟกัสที่การสร้างระบบด้วยตัวเอง พอสร้างระบบขึ้นมาได้ก็ใช้ทั้งตัวเลขและโมเดลที่มันดำเนินไป ไปเป็นอำนาจต่อรองกับรัฐอีกทีหนึ่ง ชี้ให้เขาเห็นว่าอันนี้มันเป็นประโยชน์ยังไง เขาถึงจะลงมาหาเรา

    ทั้งหมดที่พูดกัน มันเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด My Hometown Project

    เรื่องนี้คิดไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน แต่ไม่ได้ฟูลไอเดียขนาดนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำ Townhall เหมือนกัน อีกบทบาทหนึ่งก็เป็นศิลปินแล้วก็หาทางโปรโมทตัวเอง  View From The Bus Tour เป็นอินดี้โฟลค์ พอฟอร์มวงขึ้นมาก็อยากให้คนรู้จักเราเยอะขึ้น

    มันก็มีวิธีอยู่สองวิธี คือทำ Live Session เป็น Portfolio ไว้ขายงาน แล้วเรารู้สึกว่าทำ Live Session เฉย ๆ มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมามากกว่านั้น ไหน ๆ จะทำการสื่อสารทั้งที ก็ทำให้มันกระเพื่อมกับจิตใจคนที่เสพหรือสังคมไปด้วย ที่ผ่านมาเวลาเราไปเล่นเราคนเดียว ในแต่ละเพลง เราก็จะเล่าเรื่องไปด้วย ซึ่งมันไปโยงกับบริบททางสังคมด้วย แล้วก็พบว่าคนดูอิน ทั้งเพลงและประเด็นของเรา บางคนไม่เคยโฟกัสเรื่องพวกนี้มาก่อน หรือแค่คิดในใจก็มีความคิดชัดเจนขึ้น บวกกับเพลงเข้าไปอีก

    ก็เลยคิดว่าถ้าทำ Live Session ก็อยากให้มันเป็นสื่อที่เป็นกระบอกเสียง เป็นตัวกลางที่ทำให้คนเห็นปัญหาในสังคม เลยใช้พวกนี้เป็นตัวกลางสื่อสารออกไป เป็น Live Session ที่สลับกับการพูดคุยกัน นอกจากนี้ เราก็อยากให้สมาชิกวงที่มาเล่นด้วยกันมีชั่วโมงบินสูงขึ้น ซึ่งมันจำเป็นต้องใช้จำนวนงานที่มาก แต่ก็ไม่ได้กดดันจนเกินไป ก็เลยตะเวนเล่นในบ้าน บ้านที่ว่าก็คือเชียงใหม่ ไม่ต้องเป็น Special Event ให้มันกดดันเกินไป ไปแทรกกับร้านที่เขาเล่นดนตรีสดอยู่แล้ว เป็นการเดินสายโชว์ละแวกบ้าน แบบ Shows Around My Hometown ทุกคนเข้าถึงได้ดูได้ฟรี 10 โชว์ใน 1 เดือน ที่สำคัญอีกเรื่องคือการไปเล่นในร้านที่ชูความเป็น Music venue ด้วย เพราะการมีพื้นที่แบบนี้ มันเอื้อให้นักดนตรีสร้างสรรค์งานได้เต็มที่ ไม่ได้มีแค่งานกลางคืนเท่านั้น พื้นที่กลางวันก็มีไปเล่น เราแคร์คนที่ยังเยาว์วัยมาก พื้นที่แสดงดนตรีกลางวันที่ไม่จำกัดอายุเองก็สำคัญนะ

    พอทุกอย่างมันมาบวกกันแล้วมันก็เข้ากันพอดี ตรงที่ว่าเราพูดถึงปัญหาจากมุมมองของเราที่อยู่ที่เชียงใหม่ คนที่คุยด้วยเขาก็ทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ มาคุยกันที่บ้านมันก็อยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยผูกโยงกันเรื่อยมา

    ที่จริงเราเป็นคนเชียงรายนะ แต่ก็อยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2555 กำลังจะครบ 12 ปีละ คนอื่นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่มาทำงานที่นี่ ก็เลยใช้คำว่ามา Hometown ในฐานะคนมาทำงาน บวกกับตัววงก็เกิดที่นี่ ที่สำคัญคือ My Hometown Project ไม่ใช่เราคนเดียว ไม่ใช่ View From The Bus Tour มันประกอบไปด้วยไอเดีย ๆ สร้างสรรค์จากเพื่อน ๆ กว่า 20 คน ที่อยากเห็นเชียงใหม่ อยากเห็นสังคมมันดีได้มากกว่านี้ เป็นการลงขันด้วยใจ ตั้งใจมาช่วย อยากมีส่วนร่วม

    Live Session จะไม่ใช่แค่โชว์เพลงของ View From The Bus Tour แต่ก็มีเรื่องที่ชวนคุยกันไปด้วย จะคุยกันเรื่องอะไร?

    มันก็จะเกี่ยวกับเนื้อหาที่อยู่ในเพลง แล้วเอามาขยายต่อ เนื้อหาครอบคลุมประเด็นสังคม พวกการกระจายอำนาจ คุณภาพชีวิตของคน ความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นมนุษย์ เราไม่ได้พูดคนเดียว มีเพื่อน ๆ ที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องศิลปะ เรื่องการเมืองในเชียงใหม่มาคุยกันด้วย เหมือนเพื่อนคุยกันในบ้าน เลยเลือกเพื่อน ๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกัน คนใน Gen เดียวกัน

    My Hometown Project มี Format ของการระดมทุนด้วย

    การมา Hometown มันกลายเป็น Format ที่ผูกโยงประเด็นทางสังคม ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ควรจบที่การนำเสนอของ View From The Bus Tour มันควรเป็น Format ที่วงอื่น ๆ จะสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้เหมือนกัน ก็เลยตั้งใจออกแบบให้มันสามารถแปลงไปใช้ต่อ ๆ ไปได้ แล้วเรารู้สึกว่าพอมันเป็นแบบนี้ เห็นภาพว่ามันเป็นสื่อของเมือง Concept ของมันค่อนข้างเรียกร้องการมีส่วนร่วมของผู้คนอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าการระดมทุนมันน่าจะเวิร์คกับค่าใช้จ่ายของแรงงานที่มาช่วยกันทำงานด้วย

    เราอยากเชื่อมโยงคนให้ได้เยอะที่สุด ใครที่อยากสนับสนุนต้นทุนของความเป็น Hometown หลังจากนี้ก็จะไปคุยกับแบรนด์ที่ Local เพราะมันพูดเรื่องท้องถิ่นนิยม การมีส่วนร่วมเลยต้องออกมาแบบนี้ เราต้องการให้มันเกิดจากแบรนด์หรือผู้คนเชียงใหม่ อยากจะเป็นผลประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาเอง เป็นผลประโยชน์ต่อเมืองที่ทำให้คนเข้ามาเที่ยวมาอยู่ ทำให้เมืองมันเติบโตขึ้น ก็เลยอยากให้คนมีส่วนร่วมแล้วมูลค่ามันคือมูลค่าจริง นี่คือมูลค่าของการสร้างสื่อแบบนี้ขึ้นมา อยากสื่อเรื่องค่าแรง แรงงาน อยากสื่อสารเรื่องนี้จริง ๆ แต่ถ้าทำแล้วเข้าเนื้อมันก็ไม่เวิร์ค แต่ถ้ามันเวิร์คก็ทำต่อ แต่อาจจะไม่ใช่เราก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น View From The Bus Tour เป็นใครก็ได้ที่พร้อมจะเข้ามาจับงานตรงนี้แล้วเขาได้เงินได้ค่าแรง ได้ประโยชน์จากมัน เราก็เป็นตัวจุดฉนวนที่ทำให้มันเกิด ด้วยกำลังของเราก่อน

    กระแสตอบรับเป็นยังไงบ้างหลังจากที่ Launch ออกมา

    ด้วยความที่มันเพิ่งเริ่มอยู่ มันยังคอนเฟิร์มไม่ได้ 100% แต่สิ่งที่เห็นคือมันมีคนพร้อมสนับสนุนอะไรแบบนี้อยู่ ถ้ามันชัดเจน สร้างแรงกระเพื่อมกับสังคม มันมีคนในมุมมืดแต่ไม่มีกำลังลงมือทำเองแต่อาจจะมีกำลังเงินมันมีจริง หรือคนที่เห็นแล้วแชร์ พูดต่อให้ เราเชื่อว่ามันมีความอยากร่วมกันอยู่ อยากเห็นสิ่งที่มันอยู่ในผู้คนแต่ยังไม่มีคนหยิบมาทำเป็นชิ้นเป็นอัน

    ถึงแม้เราจะออกตัวว่าเป็น My Hometown เป็นเชียงใหม่ แต่เราก็ไม่ได้จะปิดกั้นว่าต้องเป็นคนเชียงใหม่เท่านั้นที่จะสนับสนุนได้ เราไม่รู้ว่าเป็นความอวดดีหรือเปล่านะ แต่คิดว่าถ้าเชียงใหม่ทำโมเดลแบบนี้ได้ มันก็ย้ำเตือนว่าจังหวัดอื่น ๆ ก็ทำได้ เป็น Platform เพื่อพูดในเรื่องของตัวเอง ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงการพูดในเชิงสร้างสรรค์ไม่ได้อยู่แล้ว ว่าเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่มาจากตัวคนท้องถิ่นเอง มันก็ต้องผ่านการสร้างสรรค์มาอยู่แล้ว

    แถมช่วงเวลาที่เราทำ มันเป็นช่วง Low Season ซึ่งเราพยายามจะสู้กับ Low Season เพราะเราไม่ชอบมัน มันไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากที่ High Season มีวันหยุดเยอะ เราคิดว่ามันต้องมีอะไรที่ดึงดูด คำตอบก็คือเรื่องวัฒนธรรมนี่แหละ ถ้า Low Season มีดนตรี Indoor มันก็ดึงคนจากทั่วโลกมาได้ เพราะนี่คือ ‘ฤดูดนตรี’ ว่ะ ไม่ใช่ฤดูเทศกาล มันเป็นการช่วงชิงเวลาในช่วงปี ไหนจะเรื่องวันหยุดของบ้านเรา โควตามันโคตรน้อย แต่ไปใส่ในวันหยุดนักขัตฤกษ์เยอะ เราก็เลยเห็นว่าช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ คนแย่งกันเที่ยวมากเลย แต่พอช่วง Low Season คนก็หายหมด เพราะเขาดันปักไว้เป็นวันเดียวกันหมด หยุดพร้อมกันทั้งประเทศ แทนที่จะเป็นแบบว่าคนได้โควตาวันหยุด แล้วจะหยุดวันไหนก็ว่าไป แยกกันไปเที่ยว ไม่ต้องแย่งพื้นที่กัน คนขายก็ไม่ต้องแย่งกันขาย

    จากที่คุยกันมาเห็นชัดเลยแสดงว่าดนตรีเรื่องศิลปะกับการกระจายอำนาจมันต้องไปด้วยกัน

    มันไปด้วยกันได้ และควรจะไปแบบนี้ด้วยซ้ำไป ถ้าเราหวังผลความเข้าใจ การให้ความสนใจ เพราะที่อื่นเขาก็ทำแบบนี้ ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ผสมทั้งเพลงทั้งภาพกับประเด็นทางการเมือง ผ่านเพลง ผ่านศิลปะ

    อีกอย่างเราว่าธรรมชาติมันลากกันไปตลอดเวลา แต่อย่างเรา เราตั้งคำถามกับ Potential ของเรามาตลอดว่าในเมื่อเราไปกดดันให้อำนาจโครงสร้างมันกระจายออกมาไม่ได้ เราก็ Decentralize ด้วยวัฒนธรรมก่อน เพราะเราเชื่อว่าถ้า Demand ทางวัฒนธรรมมันสูงที่สุด มันจะทำให้ Demand ในเรื่องอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย คิดว่าถ้าเกิดการกระจายอำนาจได้ ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ก็จะน้อยลง เช่นเรามักจะเห็นเพื่อน ๆ เรียนจบต้องเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ แม้จะไม่ได้อยากไปก็ตาม แทนที่เขาจะสามารถทำงานที่บ้าน ทำงานที่ชอบ หรืออยากอยู่ในจังหวัดที่อยากไปอยู่ ค่าแรงที่ไม่ต่างกันเกินไป สาธารณูปโภคไม่ต่างกันเกินไป เพราะงั้นถ้าตีตื้นขึ้นมาได้ การเข้าถึงอะไรต่าง ๆ ในภูมิภาคมันก็จะง่ายขึ้น คนที่อยู่นอกศูนย์กลางก็จะเติบโตด้วยหนทางของตัวเองได้ ถ้าให้พูดภาพรวมกับประเทศ มันก็เป็นผลประโยชน์มหาศาลในอนาคต เพราะแต่ละจังหวัดก็จะมีของดีของตัวเอง นักท่องเที่ยวก็สามารถไปเที่ยวทุกที่ได้โดยไม่ต้องแวะกรุงเทพฯ ความแออัดก็น้อยลง ความเครียดน้อยลง เวลาว่างมากขึ้น เวลาเอามาพัฒนาตัวเองมากขึ้น พัฒนาทั้งสินค้า ทั้งจิตวิญญาณของตัวเอง

    ถ้ากระจายอำนาจ เท่ากับว่าเราจะได้ดู View From The Bus Tour ที่เชียงใหม่บ่อยขึ้น

    ใช่ มันไม่ใช่แค่เราหรอก หมายถึงวงรุ่นใหม่ ๆ หรือที่ทำกันอยู่เขาก็จะมีโอกาสแสดงงานมากขึ้น เด็กมัธยมก็จะมีใจทำวงเพื่อเข้าไปเล่นในพื้นที่ของจังหวัด ไม่ต้องตั้งเป้าเข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ การได้รับการยอมรับในบ้านก็เพียงพอจะทำให้มีกำลังใจ มีกำลังในการผลิตผลงาน พัฒนาฝีมือตัวเองต่อ เราอยากเห็นความหลากหลาย แล้วก็แน่นอนว่าเราก็จะมีงานเยอะขึ้นด้วย(ยิ้ม)

    ถึงแม้ว่าเราจะดูเหมือนจะถ่มถุยภาครัฐนะที่คุยกันไป แต่เราก็ยินดีถ้าเขาเข้ามาสนับสนุน แล้ว My Hometown Project มันก็เกี่ยวกับการท่องเที่ยวด้วย ก็อยากจะถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่าสนใจมาเป็นผู้สนับสนุนไหมครับ จะขอบคุณมากเลย

    สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ My Hometown Project ได้ที่ Facebook และ instagram ของ View From The Bus Tour

    และ Support My Hometown Project ที่ https://cheewid.com/en/campaign/438×9/my-home-town-project

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...