ความยืนหยุ่นในความความไม่ยืดหยุ่น การค้าวัวข้ามแดนภายใต้ทุนนิยมจีน

สรุปเนื้อหาการบรรยายเรื่อง “ความยืดหยุ่นในความไม่ยืดหยุ่น การค้าวัวข้ามแดนภายใต้ทุนนิยมจีน” Memory, Mobility & Multiplicity: The 3M Series | EP.2 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินรายการ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดขึ้นโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566

เก่งกิจได้ยกตัวอย่างสถานการณ์การค้าวัวของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกในปัจจุบัน หลังการเจรจาของนายก เศรษฐา ทวีสิน กับสถานฑูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงกรณีที่ประเทศจีนจะรับซื้อวัวไทยโดยไม่ผ่านด่านตรวจในลาว แม้ว่าจะมีการส่งออกวัวสู่ประเทศจีนในเส้นทางผ่านประเทศลาวมาก่อน แต่ถึงอย่างนั้น ประเทศจีนไม่ได้ถือว่าประเทศตนมีการค้าขายวัวกับประเทศไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเข้าวัวจากประเทศลาว ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ที่ถูกพบเห็นมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว เก่งกิจชี้ว่าทิศทางของตลาดการซื้อขายวัวในภูมิภาคจะถูกกำหนดโดยนโยบาย มุมมอง และแบบแผนในการเจรจาการค้าซึ่งถูกวางไว้โดยประเทศจีนนั่นเอง

อีกหนึ่งแง่มุมที่ถูกกล่าวถึงคือ การนำเข้าวัวอย่างผิดกฎหมายจากเมียนมา ซึ่งถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการประกาศชะลอการนำเข้าวัวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีการพิจารณาชะลอการนำเข้าใหม่อีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ประเด็นการนำเข้าวัวดังกล่าวนี้ถือเป็นปัญหาสำหรับผู้ค้าวัวในประเทศไทย เกิดการตั้งคำถามว่าการนำเข้าวัวจากเมียนมาจะกลายเป็นการแข่งขันกับวัวภายในประเทศจนทำให้ราคาตกต่ำลง หรือแม้แต่จะเป็นการนำโรคต่าง ๆ เข้ามาปะปนในประเทศไปด้วยหรือไม่ โดยเก่งกิจได้กล่าวว่า

“การทำความเข้าใจเรื่องวัวผ่านมุมมองเชื้อชาติ หรือรัฐชาติที่เกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่าวัวจากเมียนมาจะถูกมองว่าเป็นวัวที่นำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทย มุมมองเหล่านี้ทำให้ผมไปสังเกตุการณ์ ไปสัมภาษณ์ และพบว่าหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับปศุสัตว์จำนวนหนึ่งค่อนข้างจะมีความเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดโรค และโรคมาจากประเทศเพื่อนบ้าน คนที่มีมุมมองแบบนี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการค้าวัวข้ามพรมแดนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลชุดนี้พยายามจะทำ” 

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงวัวและนายหน้า

จากการศึกษาหาข้อมูลเก่งกิจพบว่า แท้จริงแล้วประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัวก่อนถูกส่งออก แต่ถึงอย่างนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวกลับขาดทุนและเลิกเลี้ยงวัวเพื่อส่งออกให้กับประเทศจีนภายในเวลา 1 ปี เนื่องจากกระบวนการซื้อขายวัวจะเกิดขึ้นระหว่างผู้เลี้ยงและนายหน้าชาวไทย โดยส่วนใหญ่จะขายวัวได้ราคาไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ในทีแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า “ตอนนี้พ่อค้าจีนให้ราคาเท่านี้” โดยที่คำว่า “จีน” ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงหลายต่อหลายครั้งโดยที่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็ยังไม่เคยพบเจอพ่อค้าชาวจีนตัวเป็น ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว กลายเป็นคำที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อใช้ต่อรองราคาโดยนายหน้าชาวไทย

“กลุ่มเกษตรกรเล่าให้ผมฟังว่าพวกเขาถูกบีบโดยระบบนายหน้าที่รับวัวจากพวกเขาไปส่งให้พ่อค้าจีน พวกเขาเลยรวมตัวกันนั่งรถไปเชียงราย ซึ่งเป็นด่านก่อนที่วัวจะถูกส่งไปที่จีนเพื่อตามหาพ่อค้าชาวจีน ซึ่งทุกครั้งก็จะเจอแต่นายหน้าเต็มไปหมด” 

โดยเราสามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงวัวและนายหน้าไว้ทั้งหมด 3 รูปแบบ แบบแรกคือระบบ 

“ปัจเจกบุคคล” โดยเป็นรูปแบบที่เกษตรกรที่มีคอกเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ถูกติดต่อจากนายหน้านำวัวเมียนมามาส่งให้เลี้ยง แจกแจงรายการอาหารที่วัวต้องกิน หรืออาจปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก่อนจะกลับมาซื้อวัวที่ถูกขุนหรืออ้วนท้วนสมบูรณ์แล้วหลังเวลาผ่านไป 3 เดือน ซึ่งเป็นเวลาขุนวัว 1 รอบก่อนจะนำไปขายส่งออกแก่ประเทศจีน

แบบที่สองคือระบบ “ลูกคอก” โดยเป็นรูปแบบที่มีเกษตรกรรายใหญ่หรือนายหน้ารับซื้อวัวจำนวนมาก และนำไปให้เกษตรกรที่เป็นลูกคอกของตัวเอง รวมถึงสนับสนุนอาหารวัวให้เกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงวัว ก่อนจะกลับมาซื้อวัวจากลูกคอกของตัวเอง โดยจุดสังเกตุสำหรับรูปแบบนี้ คือการอิงอยู่กับพื้นที่ โดยคนที่มีอำนาจในพื้นที่จะกุมอำนาจในการซื้อวัวจำนวนมากไว้ และมีบทบาทสำคัญในการชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาเลี้ยงวัว และเป็นผู้รับซื้อวัวในพื้นที่

รูปแบบสุดท้ายแบบที่สามคือ “พ่อเลี้ยงในชุมชน” ซึ่งเป็นระบบที่มักจะเกิดขึ้นจากปราชญ์ชาวบ้านชักชวนเกษตรกรในหมู่บ้านให้หันมาเลี้ยงวัวเพื่อส่งออกไปที่จีนและมาเลเซีย

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เราเห็นได้ว่าวงจรการเลี้ยงวัวทั้ง 3 รูปแบบ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เกษตรกรรายย่อยถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย แม้ว่านายหน้าหรือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีอำนาจซื้อวัวจะสนับสนุนค่าอาหารให้แก่ลูกคอกในการเลี้ยงวัว แต่ถ้าวัวไม่ถูกขายภายใน 3 เดือน เกษตรกรรายย่อยหรือลูกคอกก็จะต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการเลี้ยงดูทั้งหมดไปตามจำนวนวัวที่ตนทำการเลี้ยงอยู่ การยื้อเวลาซื้อวัวออกไปจึงกลายเป็นกลยุทธ์สำหรับนายหน้าในการซื้อวัว เพื่อบีบให้เกษตรกรรายย่อยยอมลดราคาวัวที่ถูกเลี้ยงไปแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ภายในวงจรการเลี้ยงวัวก็ไม่ได้แย่ไปซะทั้งหมด เก่งกิจมองว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบพ่อเลี้ยงในชุมชน ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้มีอำนาจภายในวงจรการเลี้ยงวัวได้มากขึ้น เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรในชุมชนเพื่อเผชิญหน้ากับนายหน้าที่จะเข้ามาทำการซื้อขายวัวจากเกษตรกรในพื้นที่

สภาวะ “กึ่งทางการ” ภายในตลาดค้าวัวข้ามพรมแดนและปัจจัยส่งเสริมระบบนายหน้าค้าวัว

ข้อค้นพบที่สำคัญในงานศึกษาการค้าวัวข้ามแดนในครั้งนี้อย่างแรกสุดคือ ลักษณะการค้าวัวข้ามแดนที่เป็น 

“กึ่งทางการ” เพราะการลำเลียงวัวผ่านประเทศต่าง ๆ จะทำให้วัวมีสถานะถูก-ผิดกฎหมายสลับสับเปลี่ยนกันไปตามกฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ในประเทศนั้น ๆ และยังถูกกำหนดได้ด้วยระบบทุนนิยมของจีนอีกด้วย โดย เก่งกิจมองว่า สิ่งนี้เป็นการควบคุมกลไกการค้าภายในตลาดวัวนั่นเอง

“นิยามของมันคือวัวที่ถูกกฎหมายในบางประเทศ แต่ผิดกฎหมายในบางประเทศ เช่นถ้ามองจากมุมเมียนมา การส่งวัวเมียนมาออกนอกประเทศจะถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถ้ามองจากมุมมองของไทยก็จะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายเพราะไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าวัวจากเมียนมา” 

นอกจากนี้กลุ่มนายหน้ายังเป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้าวัวในสภาวะกึ่งทางการ ผ่านระบบนายหน้าที่มีความยืดหยุ่นสูง ที่มีความสามารถในการต่อรอง และเครือข่ายข้ามพรมแดน ในเวลาเดียวกัน สภาวะการค้าวัวแบบกึ่งทางการก็เป็นตัวช่วยให้นายหน้านั้นมีอำนาจต่อรองในตลาดการค้าวัวเพิ่มขึ้นเพราะการขนส่งวัวข้ามบางพรมแดนต้องอาศัยเครือข่ายนายหน้าที่มีความซับซ้อนและครอบคลุมหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความซับซ้อนเกิดขึ้นในระบบการค้าวัวข้ามพรมแดนผ่านการทำงานของระบบนายหน้า แต่เกษตรกรก็ยังคงไม่ได้รับส่วนแบ่งเติมเม็ดเงินที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้แต่อย่างใด

“ปัจจัยการค้าที่มันเป็นสภาวะแบบกึ่งทางการซึ่งถูกดีไซน์ด้วยทุนจีนนั้น มันทำให้ระบบนายหน้าที่ไม่เป็นทางการยิ่งเข้มแข็ง เกษตรกรจะยิ่งมีแนวโน้มที่จะขาดทุนภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน ซึ่งผมเรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ของการขุนวัวนั่นเอง” 

การรวมศูนย์กลางการค้าวัวของจีนผ่านโครงการ Belt and Road Initiative

Belt and Road Initiative (BRI) คือโครงการจากประเทศจีนเพื่อสร้างโครงสร้างทางพื้นฐานในการเชื่อมประเทศภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเก่งกิจให้ความสนใจไปยังประเทศลาว และมีคำถามว่าถ้าโครงสร้างพื้นฐานในโครงการดังกล่าวถูกสร้างขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงจรการค้าวัวและกลุ่มผู้ค้าวัวในประเทศต่าง ๆ โดยตัวนโยบายของประเทศจีนภายใต้โครงการ BRI เช่น การออกกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานเหนือเมืองชายแดน เป็นการกำหนดให้ประเทศเป้าหมายอย่างลาวและกัมพูชากลายเป็นประเทศศูนย์กลางส่งออกวัวแก่ประเทศจีน รวมไปถึงการกำหนดข้อบังคับในการควบคุมโรค มาตรฐานในพื้นที่เลี้ยงวัว ระบบศุลกากร การตรวจโรค เพื่อปรับใช้กับกลุ่มผู้เลี้ยงวัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ทั้งนี้เป้าหมายที่สำคัญของประเทศจีนภายใต้โครงการ BRI คือการรักษาความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเพิ่มอัตราการนำเข้าวัวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นกลไกในการป้องการโรคผ่านกฎระเบียบต่างๆ ที่ประเทศจีนบังคับใช้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงวัว

จุดสำคัญในช่วงท้ายเก่งกิจได้ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนในพื้นที่ชายแดนโดยรัฐวิสาหกิจจีนนั้น นั่นหมายถึงประเทศจีนมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในวงจรการเลี้ยงและส่งออกวัวนอกประเทศตนเอง นอกจากนี้อีกกระบวนการหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ของจีน คือการสร้าง “Southern Great Wall” หรือกำแพงเมืองจีนทางตอนใต้ ซึ่งเป็นกำแพงที่จีนสร้างเพื่อปิดกั้นพรมแดนธรรมชาติระหว่างจีนและประเทศทางตอนใต้ของจีน โดยกำแพงดังกล่าวเริ่มสร้างขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกำแพงนี้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของจีนในกระบวนการขนส่งวัว โดยทำให้การขนส่งเกิดขึ้นภายในเส้นทางและด่านตรวจที่จีนกำหนดขึ้นเท่านั้น 

ท้ายที่สุดจากการบรรยายเรื่อง“ความยืดหยุ่นในความไม่ยืดหยุ่น การค้าวัวข้ามแดนภายใต้ทุนนิยมจีน” เก่งกิจได้มองและย้ำว่า งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาครวมไปถึงนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะต้องคิดแบบยืดหยุ่นมองภูมิภาคที่ไม่ใช่การคิดแบบรัฐชาติ การที่นโยบายของรัฐไทยไม่ได้สนใจประเทศเพื่อนบ้านนั้นมันเป็นวิธีคิดที่ประหลาด เพราะไทยยังต้องอาศัยวัวจากประเทศอื่น เราต้องการส่งออกวัว ซึ่งแนวคิดของรัฐนั้นไม่ได้มองเห็นความหลากหลายและความเป็นพลวัตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และสำหรับงานศึกษาทางวิชาการเราจำเป็นต้องมีมุมมองในเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในโลกของเศรษฐกิจการเมืองที่มันเข้ามาจัดการชีวิตของผู้คนอย่างไร มูลค่าทางเศรษฐกิจมันผลิตขึ้นมาได้อย่างไร และมันร้อยรัดเรื่องราว สิ่งของ  เส้นทาง ต่าง ๆ เข้ามาได้อย่างไรนั่นเอง.

เติบโตจากมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้พยายามอ่านให้หลากหลายและเขียนงานให้ดีขึ้น มีความเชื่อว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงวันไหน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง