วิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในภาคเหนือนั้น ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ทุกคนจะต้องได้รับรู้ มีเสียงหรือคำวิจารณ์จากคนในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าวโดยตรง พื้นที่ของข่าวมีการนำเสนอปัญหาและนโยบายจากรัฐบาล หรือภาพเจ้าหน้าที่รวมไปถึงอาสาสมัครที่ดมควัน เสี่ยงชีวิตไปกับภารกิจดับไฟ จากที่กล่าวเบื้องต้นเราจะเห็นว่า วิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศ หรือปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่การรับรู้ที่ผู้คนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าฝุ่น PM2.5 คืออะไร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ทั้งคนในภาคเหนือและคนในกรุงเทพมหานครจะเริ่มพบว่า PM2.5 นั้นอันตรายมากขนาดไหน แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจดูสวนทางกับการแก้ไขปัญหาที่คนในพื้นที่ที่ประสบภัยยังมองว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจัดการนั้นยังไม่เพียงพอและดูเหมือนเป็นเพียงการรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งปัญหาเรื่องฝุ่นคงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อีกต่อไป
เราจะเห็นว่ามีทั้งงานวิจัย บทสัมภาษณ์ในหลากหลายประเด็นที่ทำการศึกษาหรือสนทนาในประเด็นเรื่องฝุ่นอันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งมุมมองในเรื่องของสังคม โรงงานอุตสาหกรรม คนธรรมดาทั่วไป หรือทางสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผล กระทบอันมากมายมหาศาลที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 โดยบทสัมภาษณ์นี้จะเป็นมุมมองจากทางการแพทย์หรือทางระบาดวิทยาจาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ ‘หมอหม่อง’ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้เลนส์การมองปัญหาเรื่องวิกฤตการณ์ทางอากาศหรือฝุ่น PM2.5 ในมุมมองจากทางการแพทย์ถึงผลกระทบสุขภาพระยะยาวที่คนภาคเหนือปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต่างอยู่ในสมการของการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และข้อเสนอแนะปิดท้ายถึงรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวิกฤตกาณณ์ฝุ่นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อีกต่อไป นี่คือปัญหาที่ต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบ การรับมือกับปัญหาที่ต้องมีการวางแผน เพราะสิทธิหายใจในอากาศ คือสิทธิของประชาชนทุกคนนั่นเอง
วิกฤตการณ์ฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2567
สถานการณ์ฝุ่นมันแปรเปลี่ยนไปในแต่ละปีด้วยปัจจัยหลายอย่าง เรื่องหลักคือเรื่องภูมิอากาศเป็นหลัก ปีไหนที่ฝนน้อย ภาวะแล้ง ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดไฟรุนแรง ปีไหนที่มีฝนเยอะมาตลอดก็จะมีเชื้อเพลิงมากทั้งในป่าและพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นพอเกิดไฟขึ้นมันก็จะเยอะเป็นพิเศษ ความแล้ง ความร้อน ลักษณะของลมว่ามีการระบายมากขนาดไหน ล้วนเป็นปัจจัยหรือตัวแปรได้ทั้งหมด จะเห็นว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งทำให้เป็นปีที่ค่อนข้างจะมีฝุ่นหนัก
มวลมหาปัจจัยของ PM2.5 โลกร้อน มนุษย์ อุตสาหกรรม
ปัจจัยแรกคือเรื่องสภาวะภูมิอากาศที่จะเป็นปัจจัยทำให้แต่ละปีนั้นต่างกัน หรือดีขึ้นมาหน่อย โดยไม่มีปีไหนที่ดีเยี่ยม โดยปรากฏการณ์อีกหนึ่งอย่างที่เราอาจจะไม่ค่อยพูดถึงแต่สำคัญคือ ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) กล่าวคือโดยปกติแล้วอากาศข้างบนจะเย็นมากกว่าพื้นราบ สังเกตจากพื้นที่บริเวณบนยอดดอยภูเขาก็จะมีอุณหภูมิต่ำมากกว่าพื้นที่ในเมืองด้านล่าง โดยปกติจะเป็นแบบนั้น แต่ในภาวะอุณหภูมิผกผัน จะเกิดสิ่งที่ตรงข้ามกันคือ แทนที่อากาศด้านบนจะเย็นแต่กลับกลายเป็นอากาศอุ่นกว่า ส่วนพื้นดินหรือพื้นราบนั้นจะมีอากาศเย็นมากกว่าอากาศในระดับสูง และถัดไปอีกก็จะมีอากาศที่เย็นกว่าเป็นชั้น ๆ ดังนั้นมันจะเหมือนกับมีอากาศร้อนเข้ามาขั้นอยู่ตรงกลาง ระหว่างอากาศเย็นที่อยู่บริเวณพื้นผิวดินกับอากาศเย็นที่อยู่ในระดับสูง ๆ อากาศอุ่นจะมีน้ำหนักเบา อากาศเย็นจะมีน้ำหนักที่หนัก ดังนั้นอากาศเย็นมันจึงกดอยู่ด้านล่าง เหมือนถูกครอบเอาไว้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเกิดบ่อยในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู เช่น ฤดูหนาวมาฤดูร้อน ซึ่งมันเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับภูมิอากาศของโลกด้วยในปัจจุบันด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่ามันมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าแต่ก่อน จากสายตาของเราจะเห็นได้ว่า
“ฝุ่นจะเยอะในช่วงเช้า แต่ช่วงสาย บ่าย ๆ จะดีขึ้น เหตุผลคืออากาศเย็นที่มันอยู่พื้นผิวมันอุ่นไปหมดแล้ว มันเลยจะกระจายตัวและลอยตัวไป แต่ช่วงเช้าอากาศเย็นมันถูกกดเอาไว้ และถ้ายิ่งมีปฏิกิริยาเรื่องการเผาอยู่ที่พื้นราบที่ผิวดินในตอนเช้า ก็ยิ่งทำให้อากาศมันก็ไม่ไปไหนไม่ได้ ยิ่งไม่มีลมด้วย ฝุ่นก็จะเยอะมากไม่ถูกพัดไปไหนนั่นเอง และเป็นฝุ่นควันมลพิษทางอากาศเหมือนที่เราเห็น”
เพราะฉะนั้นกลไกทางฟิสิกส์ที่อธิบายว่าทำไมฝุ่นบางปีเกิดเยอะ บางปีเกิดน้อย ซึ่งทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน ปรากฏการณ์ เอลนิโย ลานีญา ภาวะโลกร้อนก็ทำให้ความแปรผัน หรือความเหวี่ยงตรงนี้มันเกิดขึ้น และเรื่องภาวะโลกร้อนกับการเกิดไฟป่าก็สัมพันธ์กันอย่างมาก การเผาไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งอากาศร้อนก็จะมีไฟไหม้รุนแรง บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น นั่นเอง
สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญและเป็นตัวแปรได้เช่นกันคือ ราคาของข้าวโพด ปีไหนข้าวโพดราคาดีก็จะมีการขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงเชิงการตลาด ซึ่งบางปีเราต้องมาดูว่าแหล่งที่มาของฝุ่นในเชียงใหม่มาจากไหน หลัก ๆ คือมาจากไฟป่า พื้นที่การเกษตร การเผาในที่โล่ง หรือเรื่องของการคมนาคม สำหรับโรงงานยังถือว่าเป็นปัจจัยน้อยและไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล
ซึ่งฝุ่นนั้นสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการเผาไหม้นั้นมาจากไหน สารประกอบมาจากไหน มาจากอุตสาหกรรม การคมนาคม หรือการเผาสารอินทรีย์ทางการเกษตร สามารถแยกได้ว่ามาจากไฟป่าจริง ๆ หรือการเกษตร ดูได้จากจุดความร้อน (Hotspot) หรือจากการวิเคราะห์ฝุ่น หากถามว่าอะไรเยอะกว่ากันระหว่างไฟป่ากับพื้นที่ทางการเกษตร จากข้อมูลนั้น บางปีไฟป่า บางปีพื้นที่ทางการเกษตร แต่การดู Hotsport ก็ยาก อย่างเราเห็นว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่า แต่พอดูเข้าไปจริง ๆ เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก เป็นพื้นที่ป่าอุทยาน เป็นต้น ดังนั้นเวลาเราคุยเรื่องฝุ่นในเชียงใหม เราต้องไม่โรแมนติกหรือชี้นิ้วบอกว่าไม่ใช่ชาวบ้าน เราต้องดูรากสาเหตุของปัญหาว่าคืออะไร อย่างไร
ฝุ่นกรุงเทพฯ ฝุ่นเชียงใหม่ ความแตกต่างของฝุ่นเขาฝุ่นเรา
ในกรุงเทพมหานคร สัดส่วนของการใช้รถมีมากกว่าในเชียงใหม่ การคมนาคมต่าง ๆ แท้จริงแล้วที่กรุงเทพฯ ก็หนัก ถ้าสังเกต แม้ว่าจะมีการใช้รถทั้งปี แต่ทำไมปัญหาเรื่องฝุ่นถึงชอบมีแค่ในช่วงปีใหม่ ซึ่งนั่นเป็นเพราะปัจจัยเรื่องอุณหภูมิผกผันที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนผ่านฤดูกาล มกราคม – กุมภาพันธ์ ที่สำคัญคือ
“ไฟมาจากประเทศกัมพูชา ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมหาศาลและการเผาไหม้ จะเห็นว่าจุด Hotsport จะเกิดขึ้นในกัมพูชา ลาว และพม่า ของกัมพูชาจะเริ่มในช่วงปีใหม่ ลมพัดเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมีตึกค่อนข้างมากและทำให้การระบายอากาศแย่มาก”
หรือที่เรียกว่า Canyon Effect พอฝุ่นเข้ามามันก็ไม่ระบายไปไหน และในกรุงเทพฯ เองสัดส่วนของรถยนตร์และการทำกิจกรรมในเมืองค่อนข้างสูง และบางฤดูกาลอาจจะมีปัจจัยมาจากภาคการเกษตรด้วย
ส่วนของเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มาก ๆ มาจากในป่าและพื้นที่การเกษตรในชุมชน ผมว่าเราอาจจะต้องยอมรับความจริง มันไม่ใช่ว่าเราไปโทษชาวบ้าน เราโทษคนในเมืองได้ด้วย สำหรับผมการเผามันคือห่วงโซ่ เกิดจากอุปสงค์อุปทาน คนในเมืองเราไม่ใช่คนเผาเราไม่ใช่ต้นเหตุ จริงอยู่การเผาคือคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่อย่าลืมว่าการบริโภคเนื้อไก่ แฮมเบอร์เกอร์ มันสร้างอุปสงค์อุปทาน
“คุณต้องการบริโภคไก่ราคาถูก ไม่อยากซื้อของแพง มันก็ต้องกดราคาต่อ ๆ กันไป ตั้งแต่ผู้บริโภค พ่อค้าคนกลาง ซึ่งนั่นทำให้ชาวบ้านต้องเตรียมการเกษตรที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนมาก ทุกอย่างที่ทำก็ต้องถูกที่สุด ไม่ใช้เครื่องจักรหนัก ต้องใช้วิธีการเผา และการอยู่บนที่สูงชัน แรงงานไม่มี เครื่องจักรหนักไม่มี จะไปเตรียมพื้นที่การเกษตรอย่างไร ก็ต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายและต้นทุนต่ำที่สุด”
ถ้าหากชาวบ้านจะเตรียมวิธีการเกษตรที่เป็นสากล มีเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งต้นทุนการผลิตย่อมสูงขึ้นและใครเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ คนในเมืองอาจต้องแบกรับส่วนหนึ่ง แต่บริษัทก็ต้องเป็นคนแบกรับตรงนี้ด้วยหรือเปล่า ห่วงโซ่อุปทานมันควรยุติธรรมกับผู้ผลิตและคนที่ได้รับผลกระทบ ผมมองว่าสุขภาพที่เราเสียหายมันเกิดมาจากความมักง่ายจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ใช่แค่ชาวบ้านแต่เพียงอย่างเดียว คนต้องการความถูก บริษัทต้องการกำไร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หากมีการควบคุมห่วงโซ่อุปทานให้ปลอดภัยกับทุกฝ่าย
การออกกฏหมายจับคนเผา เป็นการแก้ไขที่เชิงนโยบายหรือปลายเหตุ
กฏหมายไม่ใช่ว่าจะจับทุกคนที่เผา และมันไม่ใช่ว่าจะจับคนได้ คนเผาป่าเขาเผากลางคืน อย่างเราพูดถึงไฟป่าที่เกี่ยวบ้างหรือไม่เกี่ยวบ้างกับข้าวโพด ไฟป่าที่อาจจะเกิดจากเห็ดถอบ หน่อไม้ การล่าสัตว์ อะไรแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในวัฒนธรรมที่ฝังรากมาหมื่นปี มนุษย์ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในป่าผลัดใบ และในพื้นที่ภาคเหนือ หรือภาคตะวันตกของไทย มันเป็นป่าผลัดใบที่มีวิวัฒนาการของการปรับตัวมากับไฟซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ป่าเต็งรังที่เราเห็นก็เกิดขึ้นมากจากอดีต มันเปลี่ยนสภาพใบ มนุษย์เผามาหมื่นปี มันสะสมอยู่ในวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ฝังรากลึก
ผมคิดว่ามันต้องมีทางออกอื่น ๆ ให้เขาด้วย ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพที่ต้องมั่นคงขึ้น เรื่องของเศรษฐกิจชุมชนต่าง ๆ คนเขามีจะกินและมีทางเลือกเขาคงไม่เข้าไปเผา มันต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ตราบใดที่มีความเหลื่อมล้ำ ความยากจน เรื่องเผามันเกิดขึ้นอยู่แล้ว มันคงจะจบยาก มันไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศเรา รัฐฉาน พม่า ลาว ไม่ใช่ไม่มีความหวังแต่นี่คือสาเหตุของปัญหา (Root cause) เพื่อจะตอบคำถามให้กับคนทั่วไปว่า ทำไมถึงเผา ไม่เผาไม่ได้หรอ…
การแก้ไขปัญหาที่ค่อย ๆ เบาบางลง จางหายไปตามกาลเวลาเหมือนฝุ่น
นี่คือลักษณะขอประเทศที่ไม่เจริญแล้ว ก็คือการตอบสนองต่อสถานการณ์ และเหมือนไฟไหม้ฟางทีละช่วง ประเทศที่เจริญจะวางแผนรับมือที่ต้องทำ ไม่ใช่ให้อะไรผ่านไป เกิดอะไรขึ้นเดี๋ยวค่อยว่ากัน เป็นเหมือนการแก้ไขเฉพาะหน้าตลอดเวลา การประกาศพื้นที่ภัยพิบัตรนั้นมันเกิดขึ้นเฉพาะบางกรณีแต่นั่นไม่ใช่ทางออกกับสถานการณ์ฝุ่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วม คือเหตุภัยพิบัตรที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว เราก็อาจจะต้องดึงทรัพยากรต่าง ๆ เข้ามาอย่างทันทีทันใด แต่นี่เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว เดี๋ยวเดือนนี้ PM2.5 จะมา ซึ่งมาทุกปี แต่ทำไมถึงไม่มีการวางแผนรับมือหรือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
เวลาที่เราโวยวายว่ารัฐไม่ทำอะไร เขาก็จะบอกเราว่าเขาทำแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากบอก คือสิ่งที่คุณทำมันเล็กมากเมื่อเทียบกับสเกลปัญหา มันไม่สมดุลกับความรุนแรงของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขในเชิงนโยบาย เช่น การปลี่ยนแปลงวัสดุการเกษตร มีคนเสนอเยอะ เปลี่ยนพืชที่ปลูก หรือการให้ยืมเครื่องจักร มีข้อเสนอมากมาย การเกิดไฟป่าทุกวันนี้ คนดับไฟคนกลุ่มเดิม วิ่งเข้าออกจนเสียสุขภาพ และเสียชีวิต ประชาชนในเมืองก็เรี่ยไรเงิน เอาน้ำไปบริจาค ซึ่งมันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว อย่างเช่น น้ำท่วม พวกเราช่วยกัน จัดร้องเพลงระดมเงิน แต่นั่นไม่ใช่ มันคือเรื่องของการไม่วางแผนและไม่ใช้ทรัพยากรให้เท่าเทียมกับปัญหาที่มีอยู่
ปัญหาของใคร ของเรา ของเรา เสียงตะโกนของประชาชนที่ดังไปไม่ถึง เพราะเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้
เท่าที่ผมเข้าใจเพราะเขาไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาที่เพียงพอ ตอนแรกไม่รู้จักว่า PM2.5 คืออะไร หมอหรือทางการแพทย์มาพูดว่าอันตราย เขาก็ยังไม่เชื่อว่ามันอันตราย หรือมันเกินมาตรฐานมาไม่กี่วันเอง ทุกอย่างคือประเมินต่ำว่าไม่มีปัญหา พอกระดุมเม็ดแรกติดผิดว่าไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีการแก้ไข แต่วันนี้หลังจากที่พวกเราทุกคนช่วยกันมาก ๆ มานาน ผมคิดว่า
“ระดับของความรับรู้ของปัญหาเชิงนโยบายของรัฐบาลก็น่าจะดีระดับหนึ่งแล้ว แต่อาจจะไม่ตระหนักพอว่าเรากำลังเผชิญอะไรบ้าง สุขภาพที่เราต้องสูญเสียเขาเข้าใจจริง ๆ ไหม เพราะทุกครั้งที่ผมต้องให้สัมภาษณ์ก็จะถูกถามว่า โรงพยาบาลตอนนี้คนไข้เยอะไหม พูดแบบนี้คือไม่เข้าใจแล้ว เพราะผลกระทบระยะสั้นมันก็อาจมีแต่ไม่ได้ขึ้นมามากมายมโหฬาร เหมือนสูบบุหรี่วันนี้มันไม่ได้ป่วยทันที แต่มันเป็นผลระยะยาวที่คุณต้องสะสม”
มุมมองทางระบาดวิทยา ผลกระทบในระยะสั้นมันขึ้นมา 3 % มันดูไม่เห็น แต่ผลระยะยาวมันขึ้น 20-30 % ซึ่งอันนี้คือโรคหัวใจ มะเร็งปอด เส้นเลือดในสมองตีบ และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย มันเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องใช้ทรัพยากรและเงินในการดูแลรักษา สูญเสียความสามารถของประชากรในการเป็นกำลังทางเศรษฐกิจ
เขาไม่อยู่ตรงนี้คือประเด็นสำคัญและจริงมาก เมื่อ 5 ปีที่แล้วก่อนที่กรุงเทพฯ จะเจอหนัก เขาไม่สนใจเลย พอกรุงเทพฯ เจอ คนกรุงเทพฯ พูด สื่อส่วนกลางนำเสนอ รัฐบาลก็เล่น เริ่มเป็นวาระสำคัญขึ้นมา แต่เชียงใหม่ตะโกนร้องมาเป็น 10 ปีแล้ว ตอนแรกเขาไม่ค่อยได้ฟัง แต่ผมว่าแม้แต่กระทั่งหลายคนที่อยู่ตรงนี้ เขาไม่ได้เข้าใจผลกระทบจริง ๆ ของมัน เราพูดก็ว่าเราพูดมาก บรรยากาศแรก ๆ เราโดนปิดปากมีคำสั่งไม่ให้เราพูด แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยน เพราะปิดไม่อยู่ เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว
งานวิจัยประเด็นเรื่อง PM2.5
ในไทยเชิงระบาดวิทยาอาจยังมีน้อย งานศึกษาของอาจารย์ชายชาญ โพธิรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในประเด็นเรื่อง PM2.5 และตอนนี้ก็เริ่มทำกันมากขึ้น ส่วนของโรคหัวใจเราก็กำลังทำและเก็บข้อมูล แต่งานวิจัยที่เยอะคือที่ประเทศจีน จีนโดนหนักมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มันเป็นเรื่องการคมนาคม และโรงงานอุตสาหกรรม พอเขารู้ว่ามันสำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง มีการแก้ไขที่ตัวกฏหมายและมันได้ผล ตัวเลขนั้นลดลงมา ของบ้านเรามันเป็นอะไรที่ทำเพื่อการสร้างภาพซะเยอะ หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จะเน้นเรื่องการแก้ไขภาพลักษณ์เป็นหลัก มากกว่าการแก้ไขตัวต้นเหตุเป็นเรื่องที่เรายังเป็นแบบนี้
เชียงใหม่จะไร้นักท่องเที่ยวเลยหรือไม่ ในผลกระทบต่อเรื่องฝุ่น PM2.5
อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่คนมักจะไม่นึกถึงผลกระทบระยะยาวอยู่แล้ว เพราะมันมองไม่เห็น ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ระยะสั้นไม่เห็นเท่าไหร่ คนโวยวายอาจจะถูกมองว่าคือคนดัดจริต ทำไมแค่นี้ทนไม่ได้ บางครั้งคนไม่ได้กังวลมากเขาไม่ได้รู้สึกว่ามันอันตราย คนที่อยู่เองก็ต้องปรับจะใช้ชีวิตอย่างไร จะไม่ออกจากบ้านเลย คงลำบาก ใส่หน้ากากตลอดเวลามันก็ไม่ง่าย หน้ากากดีดีมันก็ไม่ไหว สำหรับเรื่องการท่องเที่ยวผมมองว่าไม่ใช่นักท่องเที่ยวหาย แต่ถ้าเราทำเรื่องนี้ให้ดี ผมคิดว่ามันก็จะดีกว่านี้ เพราะมีหลายคนที่คิดว่าจะมาดีไหมช่วงนี้ และผมคิดว่าท่าทีของเชียงใหม่ควรเป็นแนวยอมรับความเป็นจริงมากกว่าปกปิดความเป็นจริง การบอกนักท่องเที่ยวตรง ๆ ให้เขาตัดสินใจน่าจะมาหรือไม่มา เพราะนั่นคือสุขภาพเขา อยากให้เห็นแก่สุขภาพของเขามากกว่าเงินในประเป๋า คือผมคิดว่าถ้าเราจริงใจกับเขา เราจะเป็นเจ้าบ้านที่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่สังคมที่ศิวิไลซ์หรือไม่เจริญพอหากเราปกปิด
ปัญหาควรถูกแก้ที่ต้นเหตุ ทางออกต้องมีให้ทุกคน
การแก้ปัญหามันต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ การปกป้องตัวเองก็ทำได้ ในลักษณะที่ดูช่วงเวลาที่มันแย่มาก ๆ เราไม่ควรไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเวลานอนเป็นเวลาที่ยาวนานเราควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และทุกบ้านพยายามมีเครื่องฟอกอากาศ แต่ที่พูดมาทั้งหมดมันคือทางออกของชนชั้นกลาง มันไม่ใช่ทางออกของชาวบ้าน ที่กระทรวงสาธารณสุขโฆษณาเรื่องมุ้งอนามัย เราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเวิร์คขนาดไหน แต่คือมันไม่ใช่ทางออกของคนจำนวนมาก คนที่อยูในชุมชน ที่อยู่ใกล้กับแหล่ง PM2.5 ที่สูงด้วย
หากมองจากปัจจุบัน รัฐฟังเสียงของพวกเราที่ดังมากขึ้นหรือยัง?
เขาฟังมากขึ้น เพราะเขาปฏิเสธไม่ค่อยได้ เพราะงานวิจัยมันท่วมท้นมากตอนนี้ แต่ละปีมันออกมามากขึ้นทุกปี มันเป็นวาระที่สำคัญขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องฟังเพราะมันมาจากระดับโลก มันไม่ใช่จากหมอขี้บ่น มันเป็นเรื่องที่ทั้งทั้งโลก และหลักฐานเชิงประจักษ์มันท่วมท้นซะจนพูดเป็นอย่างอื่นยาก ก็อาจจะบ้างที่พูดว่ามันไม่จริงหรอก ก็มี แต่ว่าเสียงนั้นน้อยลง เสียงนั้นเบาลง เริ่มเข้าใจขึ้น อย่างเรื่องการเกิดโรคมะเร็งปอด
แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมีหลายอย่าง การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงถึง 20 เท่า ส่วน PM2.5 โดยเฉพาะผู้หญิงในเอเชีย มีประวัติการณ์สูงขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเมื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดปีสูง ค่าเฉลี่ยคือผลสะสม เชียงใหม่ตอนแย่มันแย่มาก ตอนดีมันดีมาก มันเลยอาจกลายมาเป็นความโชคดีของเรา ดึงค่าเฉลี่ยดึงมาหน่อย ต่อวันบางทีเป็นร้อย แต่ค่าเฉลี่ยเราปีหนึ่งมันอยู่ที่ประมาณ 20 เพราะเราไม่ได้โดนทั้งปี
PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ภาคเกษตร หรือเผาไหม้จากเชื้อเพลิง ถามว่าแตกต่างกันไหม ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า แหล่งที่มาที่มันต่างกันผลกระทบมันจะต่างกันไหม แต่ความสำคัญคือมันทำให้เกิดการอักเสบของผนังของทางเดินหายใจ บางคนมียีนที่กลายพันธุ์ EGFR ยีน เป็นยีนที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดหนึ่ง แต่ปกติร่างกายเราจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดที่จะเข้ามาจัดการไม่ให้เราเป็นมะเร็ง ทีนี้ PM2.5 มันเข้าไปให้ระบบป้องกันของเราเสีย ไปส่งสริมให้เซลล์ที่ผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งอย่างเต็มตัว ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แค่เคยอยู่ในเมืองที่มี polution 2-3 ปีก็เสี่ยงแล้ว และคุณย้ายไปอยู่เมืองที่มีอากาศสะอาด คุณก็แตกต่างกับคนที่อยู่มาตั้งแต่เกิด เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนว่ากลไกลมันคืออะไร ส่วนโรคหัวใจ ตัวเลขคือเราตายมากขึ้น และตายไวขึ้นแน่ ๆ ทุก ๆ 10 ไมโครกรัม ที่เพิ่มขึ้นของ PM2.5 อัตราการตายจากโรคหัวใจในประชากรโดยรวมเพิ่มขึ้น 10 % ส่วนของเราเพิ่มขึ้น 20-30 % ที่ผมบอก่าผลระยะยาวมันคือ 30 % เทียบกับเมืองที่อากาศสะอาด เฉพาะโรคหัวใจอย่างเดียวอัตราของคนป่วยก็เพิ่มมากขึ้นกว่าเมืองที่มีอากาศสะอาดถึง 30 % เป็นเรื่องที่มันเยอะขึ้น มะเร็งปอดเพศหญิงชาวเอเชียเยอะกว่า
ในภาคเหนือเราจะเห็นรูปของความชุกเรื่องสูบบุหรี่ แดงมากสุด ภาคใต้คนสูบมากกว่า แต่พอมาดูมะเร็งปอดมันกลับกัน สีแดงมาเยอะแถวภาคเหนือมากกว่าภาคใต้ ทำไมเป็นแบบนั้น ทั้งๆที่เรารู้ว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งปอด โดยภาคเหนือนั้นเรามีสัดส่วนของมะเร็งชนิดที่มะเร็งปอดในผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ของเรามีสัดส่วนที่สูงมากกว่าภาคอื่น
โดยคนที่เป็นมะเร็งปอด 100 คน 10 คนในนั้นเป็นมาจากมลพิษทางอากาศ นี่คือการคำนวณจากการระบาดวิทยา เหมือนที่กล่าวไปถ้าคุณเป็นผู้หญิงเอเชียความเสี่ยงคุณจะเพิ่มขึ้นเยอะ เกือบเท่ากับคนสูบบุหรี่
ความท้าทายในการสื่อสารถึงผลกระทบระยาว
การสื่อสารทางระบาดวิทยา บางครั้งก็มีความท้าทายในการอธิบายให้คนทั่วไปรับรู้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่ได้เหมือนอุทกภัย สึนามิ ที่มีผู้เสียชีวิตทันทีและเป็นจำนวนมาก PM 2.5 ตอนตายไม่มีใครเขียนว่าตายจาก PM2.5 ซึ่งไม่มี มันเขียนไม่ได้มันคือปัจจัย PM2.5 ที่เราพูดกันเรื่องเปอร์เซ็นต์มันมาจากการระบาดวิทยา ถ้าเทียบเคียงกับบุหรี่ โรคมะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจ โดยทุก ๆ 22 ไมโครกรัมของ PM2.5 ผลกระทบ เท่ากับกี่มวล บางวันที่มันขึ้นเป็น 400 มันคือบุหรี่ 1 ซอง มันเท่ากับว่าทุกคน เด็ก ผู้สูงอายุ คือคนที่สูบบุหรี่กันหมด
การเติบโตของเด็กและผลกระทบถ้วนหน้า เพราะเราทุกคนนั้นหายใจ
เด็กจะมีปัญหาของสมอง การเติบโตการพัฒนาการของปอด หรือเรื่องโรคทางเดินหายใจ ซึ่งผมอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญทางนี้มาก และมีงานวิจัยที่ออกมาเยอะเช่นกัน ถ้าเรามองแค่ว่าความเสี่ยงนิดหน่อย แต่ว่าถ้าเราดูผลกระทบระดับประชากร เราต้องมาดูว่าความชุกของปัจจัยนั้นมันเยอะมากขนาดไหน ปัจจัยนี้เลยสำคัญ อย่างเบาหวาน โรคหัวใจมันเพิ่มความเสี่ยงเยอะ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น แต่สำหรับ PM2.5 ตัวคูณมันคือร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะทุกคนนั้นหายใจ ผมจึงพยายามสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องวางแผน ลงแรงในเรื่องทรัพยากร ไม่ใช่การตอบสนองเวลาที่สื่อนำเสนอข่าว หรือมีโวยวายมันไม่ใช่ คุณต้องเข้าใจ คำนวณ คุณต้องลงทรัพยากร บริษัทต่าง ๆ คุณก็ต้องจัดการ แต่การที่คุณยังไม่ทำเพราะคุณยังไม่เห็นว่ามันสำคัญหรือเปล่า มุมมองที่ผมต้องการตอบกับสังคมว่ามันกระทบรุนแรงมากนะ
ประชาชนจะต่อสู้และขับเคลื่อนกับฝุ่นในรูปแบบไหน และข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล
เรื่องแรกคือการสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน เรียกร้องให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราทำอะไรได้ เราทำได้หลายแบบ การสร้างความตระหนักรู้แบบไม่ตระหนก แต่ที่สำคัญคือมันไปถึงระดับรากหญ้าหรือเปล่า ความตระหนักรู้ตรงนี้มันอยู่แค่ชนชั้นกลาง หรือคนที่ได้รับสื่ออย่างเดียวหรือเปล่า บางครั้งมีความท้าทายที่จะสื่อถึงผลกระทบในระยะยาว รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง กลุ่มเปราะบาง คือกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ทั้งศูนย์เด็กเล็ก หรือคนชราในชุมชน เราต้องทวงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ว่าเรามีสิทธิพื้นฐานอากาศที่ปลอดภัยในการหายใจ และเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำให้กับประชาชน หากรัฐชี้กลับมาว่า มันคือเรื่องที่ประชาชนทำ เราก็ต้องบอกว่า มันคือเรื่องกลไกของภาครัฐอยู่แล้ว เพราะเราจะจ้างคุณมาหรือเลือกคุณมาทำไม เพราะคุณมีหน้าที่ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีคนใส่ใจกับปัญหาตรงนี้มากพอ มันก็จะต้องแก้ไขและขับเคลื่อนมันต่อไปได้ ผมเคยรณรงค์เรื่องนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยไปเดินขบวนถือป้าย เรื่องอากาศสะอาด เอาเสื้อไปขายที่ถนนคนเดิน ตอนนั้นจุดประเด็นว่าอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ การบ่นมีประโยชน์ เสียงดัง เกิดการผลักดัน ไปในเชิงนโยบายได้
ท้ายที่สุดเราก็ต้องมองว่าเราเป็นหนึ่งในจำเลยคดีฝุ่นควันหรือเปล่า บางทีเราก็ชี้นิ้วใส่คนอื่น อย่างผมผมขี่จักรยาน คือมันไม่ได้แก้ปัญหา แต่ผมไม่ได้อยากเป็นส่วหนึ่งของปัญหา ไมได้ไปซ้ำเติมปัญหา หรือการบริโภคเนื้อเยอะ ๆ เราต้องมานั่งคุยกันไหม หรือเราต้องการทุกอย่างถูกหมดเลย มันเป็นเรื่องหนึ่ง การแก้ปัญหาที่ปัจเจกนั้นผมคิดว่ามันทำไม่ได้ทุกคน สำนึกเปลี่ยนแปลงมันไม่ง่าย มันต้องไปใช้กลไกทางสังคมเศรษฐกิจ จัดการผู้ที่ได้ประโยชน์จากความทุกข์ของพวกเรา เปลี่ยนกฏหมายอากาศสะอาด ช่วยกันให้ความสำคัญ คดีฟ้องกลับรัฐบาลเรื่องฝุ่นนั้นชนะ ประชาชนชนะคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ ศาลปกครองเชียงใหม่สั่งทำแผนภายใน 90 วัน แต่ปัจจุบันทางนั้นก็อุทรณ์ แต่นั่นก็เป็นสัญญาณดีว่าศาลยอมรับอย่างชัดเจนว่า PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ จริง ๆ ก่อนหน้านี้หลายปีเคยมีคนพยายามฟ้องแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนนั่นเอง
และนี่คือหนึ่งในสายตาจากเลนส์ทางการแพทย์ที่ตอกย้ำและยืนยันให้เห็นว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ฝุ่น PM2.5 นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจากรัฐบาลในเชิงนโยบายและสามารถปฏิบัติได้จริง ยังรวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ที่ต้องเข้าถึงทุกคนถ้วนหน้า เพราะสุขภาพที่ประชาชนต้องเจอและรับมือนั้นหนักหนาและนี่เป็นการต่อสู้ระยะยาว เพราะดอกผลของความเจ็บป่วยไม่ได้ผลิออกมาให้เห็นเชิงประจักษ์ใน 2-3 ปี ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มปรากฏผู้คนที่สูญเสียจากไปด้วยมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิหายใจในอากาศสะอาด เป็นสิทธิขั้นพื้นที่ฐานที่ต้องได้รับ ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัตินั่นเอง
ผลงานชุดนี้อยู่ในโครงการ แผนงานภาคเหนือฮ๋วมใจ๋แก้ปัญหาฝุ่นควันที่มีผลต่อสุขภาวะนำไปสู่อากาศสะอาดที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจากสภาลมหายใจเชียงใหม่และ Lanner สนับสนุนโดย สํานักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เติบโตจากมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้พยายามอ่านให้หลากหลายและเขียนงานให้ดีขึ้น มีความเชื่อว่าถ้าไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงวันไหน