18 กันยายน 2567 มีรายงานว่า เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 01.30 น. ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่า 20 หลังคาเรือน
น้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ บ้านทุ่งกล้วย ตำบลบ้านเอื้อม มีรายงานว่า น้ำได้ทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชนเมื่อเวลา 06.00 น. ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 20 หลังคา บ้านห้วยเป้ง ตำบลบ้านค่า ก็เผชิญกับสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนเช่นเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สัตว์เลี้ยง รวมทั้งระบบไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ น้ำท่วมยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น ๆ ในหลายอำภอของจังหวัดลำปางเช่นกัน อาทิ อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ และอำเภอเกาะคา
ขณะเดียวกัน เช้าวันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. (EGAT) ประกาศว่า จะมีการดำเนินการระบายน้ำเพิ่มเติมจากเขื่อนแม่จาง เนื่องจากฝนตกหนักตลอดคืนทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเป็นจำนวนมากจากเดิมที่มีปริมาณน้ำอยู่แล้วถึง 81% ของความจุอ่างทั้งหมด การระบายน้ำครั้งนี้ถูกแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ท้ายน้ำและพื้นที่ใกล้ลำห้วยแม่จางเตรียมพร้อมรับมือ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
แม้การแจ้งเตือนของ EGAT จะเป็นไปตามขั้นตอนและมีการปล่อยน้ำตามแผน แต่จากการพูดคุยเบื้องต้นกับ พินิจ ทองคำ ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 3 พรรคประชาชน พินิจระบุว่า ข้อสงสัยและความกังวลของประชาชนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการที่ EGAT ไม่ได้พร่องน้ำล่วงหน้า แม้ว่าจะมีการแจ้งเตือนฝนตกหนักและพายุจากกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างไรก็ดี จากการที่พินิจได้สอบถามไปยัง EGAT ทางหน่วยงานชี้แจ้งว่า EGAT ยืนยันว่ามีการพร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนระหว่าง EGAT และประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ สถานการณ์ที่แม่เมาะหลังจากฝนตกหนัก พินิจระบุว่า มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสาเหตุของน้ำท่วมฉับพลันในครั้งนี้ เนื่องจากแม้ว่าปริมาณฝนไม่ได้หนักจนถึงระดับที่ควรจะทำให้เกิดน้ำท่วม แต่ทาง EGAT ให้ข้อมูลว่า มีปริมาณน้ำป่าไหลเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่
พินิจกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่เมาะ (จุดต้นน้ำแม่จาง) อำเภอแม่ทะ (จุดกลางน้ำ) และอำเภอเกาะคา (จุดบรรจบกับลุ่มน้ำวัง) ซึ่งจำเป็นต้องถอดบทเรียนในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางจัดการรับมือและฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันแม้จะมีการแจ้งเตือนจากทาง EGAT ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งช่วยให้การประเมินสถานการณ์ปลายน้ำทได้ง่ายขึ้น แต่ประชาชนในบางพื้นที่ อาทิ พระอาจารย์จากสถาบันธรรมาภิวัฒน์ในตำบลสบมาตร บ้านสบเติ๋น ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ยังคงไม่สามารถเดินทางออกมาจากพื้นที่ได้ เนื่องจากระดับน้ำขึ้นสูงและไหลเชี่ยว
ทั้งนี้ พินิจทิ้งท้ายว่า การจัดการปริมาณน้ำในลำน้ำจางสามารถทำได้ เนื่องจากน้ำส่วนใหญ่ถูกใช้ในกิจการของ EGAT อยู่แล้ว หากการสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่สามารถทำได้อย่างชัดเจนมากขึ้น การรับมือกับปัญหาในอนาคตน่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือในการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำและการแจ้งเตือนที่ดีขึ้นในอนาคต
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ มีรายงานว่า บางพื้นที่น้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำจางยังคงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนแม่จาง เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินได้ว่าน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และในขณะนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ลำน้ำจางได้เร่งขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ขึ้นที่สูง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการระบายน้ำแล้ว
ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจาก วัชรพงศ์ แก้วมาลา พบว่า แผนการรับมือในขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด การประกาศเตือนประชาชนเพิ่งมีขึ้นเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลังจากพบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนแม่จางเพิ่มสูงขึ้น และจำเป็นต้องระบายน้ำออก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นเขื่อน
ในด้านการช่วยเหลือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ได้เริ่มเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการร้องขอความช่วยเหลือใด ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากยังคงต้องรอดูสถานการณ์ว่า ปริมาณน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำล้นฝั่งและท่วมบ้านเรือนเพิ่มเติมหรือไม่ ประชาชนยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...