พฤษภาคม 3, 2024

    แวะมาลา ยังบ่สิ้นสายแนน คุยกับฮวก-อรุณรุ่ง สัตย์สวี 24 ปีแห่งความหลัง ’สุดสะแนน’ ก่อนปิดชั่วคราว

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพถ่าย: ปรัชญา ไชยแก้ว

    เป็นเรื่องชวนใจหายไม่น้อยเหมือนกันสำหรับการปิดร้านชั่วคราวอย่างไม่รู้กำหนดเปิดของ ‘สุดสะแนน’ ร้านกินดื่มที่อยู่คู่เชียงใหม่มากว่า 24 ปี ที่นอกจากจะเป็นที่พบปะของมิตรสหายมากมาย ก็ยังเป็นพื้นที่ทางดนตรีที่เปิดโอกาสให้เหล่านักดนตรีได้เล่นเพลงของตัวเอง ไม่ต้องฝืนทนเล่นเพลงที่ไม่อยากเล่น แจ้งเกิดศิลปินมากมาย

    เพราะด้วยความเป็นคนที่มีหมวกหลายใบของ ฮวก-อรุณรุ่ง สัตย์สวี จึงไม่แปลกที่สุดสะแนนจะเต็มไปด้วยเหล่านักคิดนักเขียน นักกิจกรรม นักดนตรี และอีกสารพัดนักต่อนัก ที่มาร่วมไขลานเวลาของสุดสะแนนให้ยืนระยะมาได้ จากประตูวิศวะสู่แยกภูคำมุ่งปักหลักที่ห้วยแก้วและย้ายมาคันคลอง สถานที่ต่อไปยังไม่ทราบ แน่นอนยังไม่สิ้นสายแนนหรอก

    “เดี๋ยวขอจัดร้านอีกแปปนะ”

    ฮวกนัดเราในช่วงเช้าที่ก๋วยจั๊บญวน By สุดสะแนน ที่ไม่ไกลจากสุดสะแนนมากนัก ที่นี่แยกออกมาเพื่อขายก๋วยจั๊บและอาหารราคาสบายกระเป๋า แม้ไม่เหมือนภาพจำปกติที่เราเห็นฮวกในยามพลบค่ำ แต่คล้ายไอเดียแรกเมื่อ 24 ปีก่อนที่จะมาเปิดร้านก๋วยจั๊บญวนที่เชียงใหม่ และโปรดระวังว่าถ้าอ่านบทสัมภาษณ์จบ อาจเกิดอาการอยากดื่มที่สุดสะแนนก็ได้ใครจะไปรู้

    ก่อนที่มีร้านสุดสะแนน ทำอะไรมาก่อน

    ก่อนมีสุดสะแนนก็เล่นดนตรี เรียนจบปริญญาตรีก็เข้ากรุงเทพ เรียนที่สุรินทร์ แต่ก่อนมันเป็นวิทยาลัยครูสุรินทร์ เรียนศิลปะศึกษา จบแล้วก็เข้ากรุงเทพฯ เลยไปเล่นดนตรีกับเพื่อน ก็พี่ชวด (ชัยวัฒน์ มัตถิตะเตา) สุดสะแนนนี่แหละ ไปทำวงเล่นกันได้ปีกว่าๆ เกือบสองปีวงก็แตก วงแตกมันก็ว่างๆ อยู่ มีเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มาเที่ยวหาเพื่อนช่วงที่กำลังวงแตก ช่วงปี 2540 ก็มากันสามคนนั่งรถไฟมา มาอยู่สักอาทิตย์หนึ่ง มาเล่นเปิดหมวกที่ฝายหิน แต่ก่อนมันจะมีลานเปิดหมวกตามหน้ากาดสวนแก้ว หน้ามอหลังมอ

    ก็คิดไปคิดมาช่วงนั้นแหละ คุยกับพี่ชวดว่าเชียงใหม่มันก็น่าอยู่นี่หว่า กรุงเทพฯมันไม่น่าอยู่ เล่นดนตรีเสร็จตื่นเช้ามาวันไหนมีซ้อมก็นั่งรถแท็กซี่ไปซ้อม แฮฺงค์ๆ กลับมาอยู่ในห้อง เล่นดนตรีเสร็จก็เมา ก็เลยคุยกับพี่ชวด เรามาอยู่เชียงใหม่กันดีไหม มาหาเล่นดนตรีที่เชียงใหม่ มีมอเตอร์ไซค์คันเดียวก็อยู่ได้แล้ว ค่าครองชีพก็ถูก อากาศก็ดี น่าอยู่ ก็เลยตัดสินใจมากัน แต่เพื่อนอีกคนหนึ่งไม่มาด้วย เรากับพี่ชวดก็มาเริ่มเล่นดนตรีตามร้าน เล่นก็ไม่ได้เล่นทุกวัน สัปดาห์หนึ่งสองสามวัน ตอนนั้นมันมีร้านบ้านระเบียง ก็ไปเล่นแทนเขาเป็นบางวัน ร้านเปิดใหม่บ้าง เมื่อก่อนร้านมันไม่ค่อยมีชื่อหรอก รายได้ก็ไม่พอ

    คนซ้าย ชวด ชัยวัฒน์ มัตถิตะเตา

    ก็เลยมาทำสุดสะแนน

    ก็เลยเอ๊ะ ตอนกลางวันก็ว่างๆ อยู่ หาทำอะไรดีกว่าก็เลยคิด เปิดร้านก๋วยจั๊บญวนดีกว่า หาเช่าล็อคเล็กๆ ก็ได้ที่หลังมอตรงประตูวิศวะเดือนละ 3,000 บาท มันเป็นเพิงสังกะสี ในบริเวณนั้นก็จะมีร้านคนเก็บฟืน ร้านเพื่อชีวิต มันก็จะมีล็อคว่างๆ เปิดให้เช่าก็ไปเช่า พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ไปช่วยตกแต่ง ก่อปูน ทำนั่นทำนี่ทาสี เล่นดนตรีระหว่างตกแต่งร้านไปด้วยเนอะ พวกอ้ายแสงดาว (แสงดาว ศรัทธามั่น) ไปนั่งกินเหล้าเป็นกองเชียร์ เพื่อนๆ พี่ๆ ก็ยุว่าทำไมพวกมึงไม่เล่นดนตรีด้วยวะ เครื่องเสียงก็มีแล้ว ลำโพงก็มี ทำไมไม่เล่นดนตรี

    คุยกันไอเดียมันก็เกิด เล่นดนตรีมันก็ต้องขายเหล้าเบียร์ด้วยดิ ประมาณนี้ กลายเป็นว่าจากจะเปิดร้านก๋วยจั๊บ ตั้งชื่อร้านว่า ‘สุดสะแนนผับ&ก๋วยจั๊บญวน’ อ้าว กลายเป็นมีเหล้ามีเบียร์ด้วย เออก็ดีเหมือนกันนะเราจะได้ไม่ต้องไปเล่นดนตรีกลางคืนแล้วเล่นที่ร้านตัวเอง ที่สำคัญคือเล่นที่ร้านอื่นมันต้องตามใจลูกค้าไม่ก็เจ้าของร้าน แล้วบางทีเพลงบางเพลงเราเบื่อ ไม่อยากเล่น อยากเล่นเพลงที่อยากเล่นก็ไม่ได้เล่น มันก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดสุดสะแนน

    ‘สุดสะแนน’ แปลว่า?

    มันเพี้ยนเสียงมาจาก ‘สุดสายแนน’ สายแนนก็คือสายรกในภาษาลาวโบราณ สายรกมันก็เป็นสัญลักษณ์ของความผูกพัน เราเกิดที่ไหนเราก็ฝังสายรกไว้ที่ตรงนั้น แล้วทีนี้มันก็จะมีความเชื่อของคนลาว เรื่องชาติภพ เหมือนไทยนี่แหละ เวียนไหว้ตายเกิด นรก-สวรรค์ ทางลาวเขาจะเชื่อว่ามนุษย์เคยเป็นเทวดามาก่อน แต่ทำผิด แล้วถูกส่งลงมาชดใช้กรรม ระหว่างที่ถูกส่งลงมาก็จะมีนิ้วก้อยซ้ายที่มีเส้นสายแนนที่มองไม่เห็น ผูกกับต้นขวัญของเราบนสวรรค์ จะไปไหนก็จะมีเส้นตัวนี้ผูกไว้ ทีนี้พอเราตาย ก็จะสุดสายแนน สุดก็คือหมด หรือ ‘สิ้น’ เราก็จะกลับขึ้นไปรับใช้พญาแถนผู้เป็นเจ้าแห่งผีทั้งปวง สุดสายแนนก็คือสิ้นกรรม หมดทุกข์หมดโศก อะไรประมาณนี้

    ที่สุดสะแนนมีทั้งอาหารเวียดนาม อาหารอีสาน แล้วก็เหล้าพื้นบ้านทางเลือกต่างๆ มาไว้ในร้าน ทำไมถึงเลือกมาไว้ในสุดสะแนน

    คือเราตั้งใจทำร้านก๋วยจั๊บญวน หารายได้พิเศษจากการเล่นดนตรี ก๋วยจั๊บก็จะเป็นหลัก แต่ที่พูดไปแหละไอเดียมันเปลี่ยนเป็นขายเหล้าขายเบียร์ด้วย ก็เลยยืนยันว่าจะเป็นร้านขายเบียร์ขายเหล้าที่ขายก๋วยจั๊บด้วย ขณะที่ยุคนั้นคนก็ไม่ค่อยรู้จักก๋วยจั๊บญวนกันนะ ผมก็เป็นคนอีสานเนอะ อีสานเชื้อสายเวียดนาม อาหารที่เราเคยกิน ที่เป็นอาหารเวียดนาม เค้าเรียก ‘เหวียตเกี่ยว’ หรือเวียดนามพลัดถิ่น ก็จะเป็นอาหารที่บางคนไม่เคยเห็นไม่เคยกิน ก็เลยอยากนำเสนอ มีเมนูหลายอย่างที่เอาลงมา แล้วก็มีอาหารอีสานบ้าง แล้วก็จะมียำเมี่ยงพม่า ก็ได้ไอเดียจากเพื่อนๆ NGOs ที่ทำงานประเด็นพม่า พอได้ชิมก็ว่าเข้าท่าดีเว้ย เป็นกับแกล้มได้ อาหารบางอย่างก็เกิดจากการต้องการเพิ่มเมนู แต่ว่าไม่ต้องเพิ่มวัตถุดิบให้มันสิ้นเปลือง เอาวัตถุดิบที่มีอยู่มาทำ ก็จะมีเกาเหลาคั่ว ซึ่งนิยมมาก คือเอาเครื่องที่อยู่ในก๋วยจั๊บพวกซี่โครงมาต้มมาตุ๋นให้เปื่อย พวกหมูยอ เลือด อะไรเงี่ย ทำให้รสจัดหน่อย อาหารเหนือไม่ค่อยมีหรอก ก็คิดว่าถ้าทำแล้วมันไม่ถนัดก็อย่าทำดีกว่า

    ส่วนเรื่องเหล้าเนี่ย จำปี พ.ศ.ไม่ได้นะ แต่เป็นยุคทักษิณนี่แหละ ที่ชาวบ้านเคลื่อนไหวเรื่องเหล้าเสรี เมื่อก่อนมันเป็นเหล้าเถื่อน เราก็ได้ไปร่วมกิจกรรมด้วย ไปเล่นดนตรีในม็อบ แล้วจุดสำคัญเลยคือเราไปร่วมงานบุญที่สะเอียบ (ตําบลสะเอียบ อําเภอสอง จังหวัดแพร่) จำไม่ได้ว่างานอะไรแต่เกี่ยวกับเหล้านี่แหละ แล้วก็ได้กินเหล้าที่สะเอียบ ตอนนั้นมีประมาณ 53-54 กิโล ชาวบ้านเอามาโรงละ 1 ลังนะ เหล้า 50 กว่ากิโลคิดดูสิ เดินไปทางไหนก็ได้กินแต่เหล้า แล้วเหล้าดีด้วย เราก็เลยได้ไอเดียว่าเหล้าดีเว้ย ก่อนหน้านั้นก็กินเหล้าเถื่อน บางทีรสชาติมันเฝื่อนๆ ดีกรีไม่ได้มาตรฐาน กินแล้วไม่อร่อย แต่พอมาเจอเหล้าที่สะเอียบ ก็เออ เขาสู้เว้ย พอเขาสู้เขาไม่ยอม มันก็เกิดการพัฒนา ที่ร้านก็มีพวกวอดก้า เตกีลา มีจินโทนิค ราคามันแรง ภาษีมันแพง เราก็คิดว่าน่าจะเอาเหล้าสะเอียบมาทำค็อกเทล มันจะได้ค็อกเทลที่ราคาต่ำลงมาให้คนกินได้ เราก็เอามาทำสุดสะแนนค็อกเทล ตอนแรกก็เอามาหลายยี่ห้อแล้วมันมีปัญหา ก็เลยเอามาแค่สะเอียบดีกว่า เกือบ 20 ปีแล้วนะ น่าจะเป็นที่แรกๆ เลยนะที่เอาเหล้าชุมชนมา หมายถึงว่าหลังจากที่ปลดล็อค ไม่ผิดกฎหมายแล้วนะ เสียภาษีได้ขายได้ แต่ก็ยังถูกบีบให้ไม่โตอยู่

    เห็นว่าที่สะเอียบเสียภาษีปีละ 500 ล้านบาท

    ใช่ นี่ขนาดถูกบีบนะ แต่ก่อนมันถูกบีบ มีกฎหมายเรื่องต้นทุนการผลิต เครื่องจักรจะต้องไม่ต่ำกว่ากี่แรงม้า ทำให้ชาวบ้านทำไม่ได้ เลยรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน หลายๆ โรงรวมมาเป็นแบรนด์เดียวยี่ห้อเดียว บางโรงก็ถอย เพราะไม่คุ้ม ก็รอพรรคก้าวไกลนี่แหละ ถ้าทำได้ก็น่าจะดี ไม่ต้องไปรวมกันก็ได้ ทำของเราคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนสูงๆ เพื่อผูกขาดให้นายทุน ก็เนี่ยบางคนถ้าไม่กินแสงโสม มาสุดสะแนนก็ต้องสะเอียบ

    แล้วเราเป็นคนที่ไปกินข้าวแล้วไม่ชอบซื้อน้ำ เรารู้สึกว่าถ้าเราไปกินก๋วยเตี๋ยวแล้วไม่มีน้ำให้กิน ต้องซื้อน้ำกิน รู้สึกว่าเราไม่กินร้านนี้ก็ได้ เราไปกินร้านที่ไม่อร่อยเท่า แต่มีน้ำให้ เพราะเราเป็นคนกินน้ำน้อยเวลากินข้าวเสร็จ โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว เพราะเรากินน้ำซุปหมด การซื้อน้ำ 10 บาท คิดว่าไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ พอมาทำร้านก็เลยทำน้ำชาให้กินฟรี ถูกใจนักศึกษาเลย เหล้าสะเอียบร้อยนึง น้ำชาฟรี เมาได้ทั้งคืน สบายกระเป๋าก็เลยฮิตกัน สะเอียบน้ำชา แสงโสมน้ำชา บางทีบินมาจากกรุงเทพฯเพื่อมากินเหล้าสะเอียบกับน้ำชาก็มี

    แล้วสัญลักษณ์ของร้านนี่คือตัวอะไร

    มันเป็นรูปแกะสลักในกลองมโหระทึก หรือกลองกบ ที่มันมีรูปกบอยู่ กลองตัวนี้ค้นพบในถ้ำที่เป็นวัฒนธรรมของลาว ซึ่งเกิดขึ้นที่เวียดนาม เป็นเรื่องแปลกที่วัฒนธรรมของลาวแต่ไปอยู่ที่เวียดนาม ก็แสดงว่าวัฒนธรรมมันลื่นไหลไปหากัน แล้วเราเป็นคนเชื้อสายลาว-เวียดนาม พ่อเป็นคนอีสานลูกครึ่งไทย-เวียดนาม แม่เป็นคนเวียดนาม ไอ้ตัวนี้มันก็สื่อ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมลาวที่อยู่ในเวียดนาม จริงๆ มันมีเยอะ รอบกลองหลายตัวเลย ฟ้อนรำ เป่าแคนบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็เอามาตัวนึงมาทำเป็นโลโก้ มาจากหนังสือของสุจิตต์ วงษ์เทศ นี่แหละ 

    สังเกตุที่เห็นว่าที่ร้านมีทั้งนักคิดนักเขียนหรือนักกิจกรรมที่มาที่ร้านบ่อยๆ อยากรู้ว่าทำไมกลุ่มลูกค้านี้ถึงเหนียวแน่นตลอด 24 ปีที่ผ่านมา

    เรามีหลายสถานะ เราทำงานศิลปะด้วย เขียนหนังสือด้วย เขียนเพลงทำดนตรีด้วย สมัยเรียนก็ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม ทีนี้เพื่อนมันก็มีหลายกลุ่ม มีเพื่อน NGOs มีเพื่อนนักดนตรี มีเพื่อนศิลปิน มีเพื่อนนักเขียน สุดสะแนนก็เลยเป็นศูนย์รวมคนพวกนี้มาพบปะสังสรรค์กันแต่ละวัน เพราะช่วงนั้นเชียงใหม่ไม่มี อาจจะมีแบบฟังเพลงไปเลย เข้าไปแล้วคุยกันไม่ได้ อีกแบบที่นั่งคุยได้ก็ราคาสูงหน่อย คนแบบพวกเราก็ไปกันได้ไม่บ่อย แต่สุดสะแนนก็จะเป็นที่พบปะ มันก็เลยโชคดี เป็นจังหวะ เหมือนเป็นพื้นที่ให้พบปะแลกเปลี่ยน

    พอแลกเปลี่ยนกันแล้วมันเหมือนคนกลุ่มเดียวกัน ความคิดทัศนะคล้ายกัน มาแล้วคงมีความสุข เหมือนเจอพวกเดียวกัน ขณะที่คนที่ไม่ใช่กลุ่มพวกนี้ก็ได้มาเจอ กลายเป็นเพื่อนกันก็มี มีพี่คนหนึ่งเป็นวิศวกร เจอพิษฟองสบู่จากกรุงเทพฯ มาอยู่เชียงใหม่กลายเป็นนักเขียนนิยาย เพราะมาเจออ้ายมาลา(มาลา คำจันทร์) ที่สุดสะแนน คุยกันถูกคอ ไปๆ มาๆ ก็ไปทำบ้านให้อ้ายมาลา ทำไปทำมาช่างกับเจ้าของบ้านอะเนอะ เสร็จงานก็กินเหล้ากัน พี่เขาก็แนะนำ “ผมมีพล็อตให้พี่มาลาเขียน” อ้ายมาลาก็ว่า “มึงเขียนเองเลย เดี๋ยวอ้ายช่วยดูให้” ไม่น่าเชื่อว่ามันเกิดขึ้น จากวิศวกรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เขียนหนังสือเลย กลายเป็นนักเขียน แล้วหลายคนก็อาจจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ที่สุดสะแนน ไม่เคยเจอสังคมแบบนี้เลย อาจจะถูกจริตแล้วมาบ่อย เปลี่ยนชีวิตได้ อาจจะเป็นเพราะมาเจอคนที่คิดเหมือนกัน บุคลิกเหมือนกัน มาแล้วมีความสุขก็มา มาแล้วเจอเนื้อคู่ก็มี 

    แล้วมีคนบอกว่า สุดสะแนนเป็นที่นั่งกินเหล้าคนเดียวได้ ถ้าเป็นร้านอื่นมันจะรู้สึกว่าตัวเองถูกมอง หรือคิดไปเองว่ามาคนเดียวมันเปลี่ยวๆ เหงาๆ เวลาเราไปร้านที่ไปคนเดียว มันจะมีพฤติกรรมที่ไม่มั่นใจ แต่ถ้ามาสุดสะแนนจะไม่มีเรื่องนั้นเลย มาสุดสะแนนเหมือนเดินเข้าไปในบ้าน จะได้เจอเพื่อนๆ โดยที่ไม่รู้จักกันเลย แต่รู้สึกว่ามาคนเดียวได้ อาจทำให้คนชอบมา มาแล้วอบอุ่น สบายๆ

    นึกถึงสุดสะแนน เราจะนึกถึงดนตรีที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ก็เลยอยากถามว่าสุดสะแนนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ scene ดนตรีในเชียงใหม่มันเติบโต หรือเอื้อให้เกิดนักดนตรีใหม่ๆ ยังไง

    เราทำมาเพื่อได้เล่นเพลงตัวเอง หรือเพลงของคนอื่นที่เราชอบ แต่ไม่อยู่ในกระแส สมัยก่อนเรียกเพลงใต้ดิน เพลงเฉพาะกลุ่ม แล้วบังเอิญว่าคนมาฟัง แบบว่าไม่เคยฟังเพลงแบบนี้ แวดวงนักศึกษาก็จะมีอาจารย์พามา พวกคณะวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตย์ฯ สังคม นิติ รัฐศาสตร์ มันจะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกกระแสแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเขาอะนะ อาจารย์ก็จะพามาครั้งแรก คนที่ไม่ชอบก็จะไปที่อื่น แต่ก็จะมีคนที่ชอบก็จะมา บางรุ่นบางคณะก็จะมาทั้งคณะ วิจิตรศิลป์นี่เหนียวแน่นมาก

    ทีนี้การฟังเพลงมันก็จะเหมือนกับคนที่มาฟัง คนที่มาร้านเป็นคนเปิดรับว่าร้านนี้เขาเล่นเพลงแบบนี้ ขอเพลงไม่ได้ คนที่มาเขาจะเปิดรับเพลงใหม่ๆ บางเพลงก็เป็นเพลงเก่าที่เขาไม่เคยฟัง เขาก็จะมาถามว่าเพลงอะไร วงอะไรเล่น เขาก็ไปตามฟัง ซึ่งมันก็น่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่เพลงนอกกระแส คนแต่งเพลงเองมาเล่นที่นี่ได้อย่างสบายใจ หมดปัญหาว่ามาที่นี่แล้วจะไม่มีใครฟัง เอาง่ายๆ ว่าคนที่มานี่แหละเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เพลงมันไปได้ คือคนที่เปิดรับ มีรุ่นพี่ที่มาเห็นสุดสะแนน เขาก็ถามว่าทำได้ไง เล่นเพลงตัวเองที่อื่นไม่ได้นะ โดนโวยวายใส่ตลอด ขอเพลงในกระแส ภาคอีสานก็ต้องเล่นน้ำตามดแดง ทางใต้ก็ต้องบ่าววี คือร้านไหนไม่เล่นเพลงในกระแสคนก็จะไม่ไป ทำได้แต่ไม่นาน แต่สุดสะแนนทำได้ ไม่ใช่เพราะสุดสะแนนเก่ง แต่เพราะคนที่มาสุดสะแนนนี่แหละเขาเปิดรับ มันก็เลยเติบโตได้ เพราะงั้นนักดนตรีที่แต่งเพลงเอง ทำงานเพลงเอง ก็จะนึกถึงสุดสะแนน เพราะมันเล่นได้ ทั้งที่ในยุคก่อนกระแสเพลงโฟล์คเพลงแต่งเองมันยังไม่เยอะ มันก็จะลำบากเพราะไม่มีเวที สุดสะแนนก็เป็นเวทีให้ มันก็อาจจะมีผลทำให้วงการดนตรีเชียงใหม่มีทางเลือกมากขึ้น

    แต่เชียงใหม่เป็นเมืองที่พิเศษเพราะมีทุกแนว ชัดเจน คนที่ไปเที่ยวไปเสพงานเพลงหลากหลาย เขาเข้าใจ อาจจะเพราะมีฝรั่งด้วย ไปที่นั่นเป็นร็อกนะ ไปที่นั่นเป็นเร้กเก้นะ มาสุดสะแนนเป็นโฟล์คนะ เพราะงั้นคนที่ไปเขาจะรู้ คือคนเชียงใหม่เขาเปิด เขารับฟัง แต่ถ้าเป็นที่อื่นไม่ได้ มั่วไปหมด เพราะงั้นมันก็ง่ายสำหรับคนทำร้าน ง่ายสำหรับคนฟัง ร้านก็ไม่ต้องฝืนความรู้สึกตัวเองที่ต้องเล่นเพลงตลาดที่ตัวเองไม่ชอบ เนี่ยมันเป็นสาเหตุที่เราทำสุดสะแนน แม้กระทั่งเราเล่นร้านเพื่อชีวิต เราก็ถูกบังคับให้เล่นเพลงตลาด มันทำให้นักดนตรีไม่แฮปปี้ แต่จำเป็นต้องเล่นเพื่อปากท้อง ในขณะที่ตอนนี้ เล่นแจ๊สก็เล่นได้เต็มที่ ไม่ต้องฝืนเล่นเพลงที่ไม่อยากเล่น นั่นแหละ ที่สำคัญคือคนฟัง ทำให้วงการเพลงตรงนี้มันเปลี่ยน ไม่ได้อยู่ที่เรานะ อยู่ที่คนฟัง แล้วสังเกตุว่าที่อื่นทำยาก อยู่ได้ไม่นานถ้าไม่เล่นเพลงตลาด เพราะงั้นนักดนตรีเขาก็อยากมีพื้นที่ไง พอสุดสะแนนเป็นพื้นที่เขาก็แฮปปี้ เพราะงั้นมันอาจจะทำให้เติบโตไปได้ แล้วไอเดีย อาจจะเป็นอิทธิพล พอมาอยู่คลุกคลีก็ได้ไอเดีย เห็นวงนี้ทำเพลง เราก็น่าจะทำได้ ก็ทำออกมา ขยายขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องดี

    ยกตัวอย่างสักวงดนตรีที่ใช้พื้นที่ของสุดสะแนนตลอดช่วงที่ผ่านมาแล้วมีความน่าสนใจให้ฟังหน่อยครับ

    อย่าง North gate ก่อนพวกปอ(ภราดล พรอํานวย) เขาจะทำร้าน เขาก็เป็นนักดนตรีที่เล่นแจ๊ส ซึ่งยุคนั้นมันไม่มีเวที ต้องไปอยู่ตามล็อบบี้โรงแรม นึกออกไหม ไม่มีเวทีที่นักดนตรีแจ๊สจะไปเล่นได้เลย แล้วพอเล่นที่ล็อบบี้ มันก็จะเป็น Jazz Standards เป็นแจ๊สเก่าๆ เมื่อก่อนวงของปอเขาจะมีมือเบสชื่อต๋อง เขาเขียนเพลงเอง เป็นเพลงบรรเลง เป็น Jazz fusion ก็เลยชวนเขามาเล่นกันจ้างแค่ 3 คน แต่เล่นทีเป็น 10 มือเบส 4-5 คน แซกโซโฟนพวกเครื่องเป่าอีก 3-4 คนผลักเปลี่ยนกัน คือมันไม่มีเวที ไม่มีที่เล่น พอมีที่เล่นปุ๊บก็สนุกเลย

    พอถึงเวลาเขามาเปิด North gate เป็นเวทีให้แจ๊สได้เติบโต เหมือนเป็นร้านแรกๆ เลยที่เล่นแจ๊ส อย่าง แตง (กฤตธิ์ สุวรรณธาดา) วง FOXY ก็อยู่ในนี้ ก็เล่นที่สุดสะแนนนี่แหละ แตงก็จะผูกพันกับสุดสะแนน เป็นร้านแรกที่ได้เล่นเป็นอาชีพ แตงมาตั้งแต่ยังเป็นนักดนตรีขาสั้น สุดสะแนนก็เป็นร้านแรกที่ได้ค่าตัว

    อ้น เกิดสุข ชนบุปผาก็อยู่กับสุดสะแนนมานาน นายไปรษณีย์ก็อยู่นาน อย่างอิสญาแต่ก่อนก็เป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้าน เวลานักดนตรีขาดก็ขึ้นแทน เล สุขเสมอก็ใช่ นับไม่ไหวหลายคนอยู่นะ พี่ชวด สุดสะแนนนี่แหละคือตัวยืน House band ของสุดสะแนนเลย เล่นแทบทุกวัน หยุดสัปดาห์ละวันมั้ง

    ชา ฮาโมอีกคนนึง ก็อยู่ติดสุดสะแนน คลุกคลีกับสุดสะแนน แม้แต่คณะสุเทพการบันเทิงก็เกิดจากที่ร้านนี่แหละ เกิดจากวันครบรอบร้าน พี่ชาก็มีไอเดียว่าทำวงที่ทำเพลงโจ๊ะๆ สนุกสนาน ทำเพลงลูกทุ่งก็ได้ เพื่อชีวิตก็ได้ เจอใครก็เรียกขึ้นแจมเล่นกันเลย ทำไปทำมาเป็นรูปเป็นร่าง

    เหมือนสุดสะแนนไม่ใช่แค่ร้าน แต่มีภาคย่อยๆ ทั้งวงสุดสะแนน แล้วก็หนังสือรวมเรื่องสั้นมหรสพตีนดอย

    อาจจะเป็นแบบนั้นแหละ เราเขียนหนังสือเนอะ พอทำร้านเราก็จะมีมุมมองในการเขียน เรื่องบางเรื่องกระทบใจเรา สุขเศร้าอะไรก็ว่าไป เราก็อยากเขียน มหรสพตีนดอยก็เริ่มจากการครบรอบ 15 ปี ก่อนหน้านั้นตอนครบรอบ 10 ปีในร้านก็จะมีนักเขียน เขียนถึงร้านสุดสะแนน แต่มันไม่ค่อยเป็นหนึ่งเดียวต่างคนต่างเขียน แล้วเนื้อหามันเหมือนกับไม่เป็นก้อนเดียวกัน พอครบรอบ 15 ปีเราเลยเขียนคนเดียวเลยดีกว่า แล้วก็เอามันเป็นมหรสพ เป็นที่ๆ คนมาแล้วมีความสุข คอนเซ็ปต์คือเรื่องสนุกสนานเฮฮา ไม่เครียด งานจริงจังซีเรียสก็อยู่ในงานอื่นไป

    คิดว่าจะทำอีกเล่มตอนครบรอบ 25 ปี ปีหน้าก็ครบรอบพอดี อาจจะรวม 1-3 ในเล่มเดียวจะได้ต่อเนื่อง ชา ฮาโมบอกว่าอ่านมหรสพตีนดอยแล้วอยากเหล้าเลย หนังสือในวงเหล้าอะเนอะ(ฮา)

    ส่วนวงสุดสะแนนนี่มาก่อนร้านด้วยซ้ำ เพราะเรากับพี่ชวดมาเชียงใหม่ก็ทำงานเพลง เขียนเพลง พอทำเพลงเสร็จก็ต้องเข้าห้องอัด สมัยก่อนนี่จะเข้าห้องอัดเป็นเรื่องใหญ่มาก ชั่วโมงละ 400 ไม่มีตังค์ ก็ต้องรอทำร้าน พอมีเงินพร้อมก็นัดห้องอัด ใช้เวลานาน 2 ปีกว่าจะเสร็จชุดแรก เพราะต้องรอเงิน ใช้วิธีพอมีตังค์ปุ๊บ นัดห้องอัด หมดตังค์ก็พัก เตรียมตัว เซ็ตเพลง เรียบเรียงของตัวเอง วนๆ ไปจนเสร็จ วงมาก่อนร้าน แต่พอทำร้านก็คุยกันว่าใช้ชื่อสุดสะแนนไปเลยนี่แหละ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพียงแต่วงที่มีอยู่แล้วมันไม่มีชื่อ ตอนนี้ก็มี 2 ชุด ห่างจากชุดแรก 12 ปี ชุดแรกอัดปี 41 เสร็จปี 43 ชุดที่ 2 บวกอีก 12 ปีอะ แล้วนี่ผ่านมาอีก 8 ปีกำลังทำชุดที่ 3 เหลืออีก 3 เพลงเสร็จ

    2 ชุดก่อนก็ขายทั่วไป แต่ขายที่ร้านจะได้เยอะกว่า เพราะเราก็เล่นที่ร้าน ละพอคนเมาๆ ใจถึงก็ซื้อกันไป

    รู้มาว่าตอนช่วงรัฐประหารปี 57 เหมือนมีทหารมาที่ร้าน?

    สุดสะแนนก็เคลื่อนไหวทางสังคมอยู่แล้ว ยิ่งเสื้อเหลืองเสื้อแดง จากไม่เคยมีอะไรกัน คนที่มาเป็นศิลปิน NGOs คนทำงานศิลปะ นักดนตรี คือความคิดมันเหมือนกัน แต่พอมีความขัดแย้ง จากที่เคยเป็นเพื่อนกันก็ทุบโต๊ะเลย ความขัดแย้ง อ้ายแสงดาวเป็นเสื้อเหลือง อ่านกวีบนเวทีพันธมิตรฯ พวกเราเป็นเสื้อแดง ก็นะสุดสะแนนก็ขึ้นแบล็คลิสต์แล้ว เอาวงไฟเย็นมาเล่น บางวันแดงทั้งร้าน วงไฟเย็นมาเล่นชาวบ้านมาเต็มร้าน ได้ข่าวเอาวงไฟเย็นมาเล่นใช่ไหม ใส่เสื้อแดงมาเต็มเลย ประเด็นคือเขาจับจ้องอยู่แล้ว

    แล้วทีนี้หลังทหารยึดอำนาจได้ไม่ถึงสัปดาห์ หม่อมเต่านา(หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล) เขาก็เคลื่อนไหวทางโซเชียล ละก็โพสต์ว่าจะมาฉลองวันเกิดที่สุดสะแนน พวกทหารมันก็ตามมาจับตัวเขาเต็มร้านเลย จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าเหตุผลมายังไง มาสั่งห้ามเรา

    ทีแรกคิดว่าเขาจะมาจับเราด้วยนะ ตอนทหารมานายไปรษณีย์ก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาเลย บอกว่าพี่ฮวกโดนแล้ว มาปิดถนนห้วยแก้ว เวอร์มาก ทหารยืนตั้งแต่ทางเข้าเรียงมา เหมือนตามจับแกนนำแต่ก่อนแหละ มาจับคนเดียวไปทั้งกองทัพ มาข่มขู่ไม่ให้เราทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ก็เป็นประจำเวลาจัดงาน บางทีจัดงานเปิดตัวหนังสือก็มาสั่งห้าม หยุดจัดได้ไหม ขอหนังสือหน่อยได้ไหม จะเอาไปให้นายดู ก็ขายให้ทหาร จะมาเอาฟรีได้ไง เอาให้จริงไหมก็ไม่รู้ มาก็ต้องเสียตังค์กันเหล้าเบียร์ ไม่มีให้กินฟรี เป็นเรื่องปกติเลยทหารตำรวจมาสุดสะแนนช่วงล่อแหลม เดี๋ยวนี้ก็ยังมีเวลามีกิจกรรมการเมือง

    ทหารมาก็สั่งห้ามทำกิจกรรมเคลื่อนไหว ห้ามต่อต้าน สุดท้ายก็สั่งปิด ก็ได้เปลี่ยนชื่อจากสุดสะแนนเป็นสุดสายแนน ปิด 5 ปี สั่งปิดร้านก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อเป็นสุดสายแนน เปลี่ยนที่จากห้วยแก้วมาคันคลอง

    24 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

    อย่างแรกเลยคือเปลี่ยนที่เยอะ เพราะเราไม่มีที่เป็นของตัวเองไง เช่าเขา คิดว่าจะมั่นคง แล้วก็เจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เจอโควิดอยู่ไม่ได้ รายรับไม่พอค่าเช่า ที่แรกมี 8 โต๊ะ เมนูมีไม่กี่อย่างของง่ายๆ พอย้ายไปอีกที่แยกเชียงใหม่ภูคำ ก็ขยายเป็น 14-15 โต๊ะ จากที่แรกไปที่สองไม่เท่าไหร่ เพราะแค่ปีเดียว พอที่ที่สองอยู่ 7 ปี ต้องย้ายออกเพราะโรงแรมขายที่ ต้องย้ายละ ไปอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ตรงนี้ชัดเจน คนที่มาคือสุดสะแนนไม่เหมือนเดิม เป็นธุรกิจมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงคือมันเหมือนกับคนบางคนก็ยังยึดติดว่าสุดสะแนนต้องแบบนี้ มีคนนี้ ต้องอยู่เล็กๆ แบบนี้ แต่อยู่ไปอยู่มา มันก็ได้ว่ะ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นร้านนี้เขาก็นึกไม่ออก เพราะงั้นย้ายที่มันก็ยังเป็นสุดสะแนนอยู่ดีเพราะเราอยู่กับมัน มันเป็นบุคลิกของสุดสะแนนไม่ใช่สถานที่ แล้วทีนี้จะย้ายไปที่ใหม่ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็น่าจะเป็นสุดสะแนนเหมือนเดิม แต่คนอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ คนรุ่นใหม่มา แน่นอนว่าไม่เหมือนเดิม รสนิยมเพลง แต่งตัวไม่เหมือนเดิม 

    เมื่อก่อนมีนักศึกษามช. เป็นลูกค้าประจำสุดสะแนนเลย จบไปหลายปี มาประชุมที่เชียงใหม่ กลับมาสุดสะแนนนั่งคุยกัน เขาก็บอกว่า “พี่ สุดสะแนนเปลี่ยนไป วัยรุ่นเยอะขึ้น” ไอ้เราก็ถามไปว่าแล้วตอนเอ็งมาเอ็งอายุเท่าไหร่ ปี 1 ก็อายุเท่าเขาเนี่ย แต่รสนิยมการแต่งตัวมันไม่เหมือนกัน เห็นเขาใส่สายเดี่ยวแบบนี้เขาอาจจะอ่านหนังสือเยอะกว่ามึงก็ได้ เขาอาจจะมีความคิดดีๆ ก็ได้ คือเวลามันเปลี่ยน สไตล์การฟังเพลงมันเปลี่ยน อย่างเพลงแร็ปสมัยนี้กลายเป็นการต่อสู้ คือจริงๆ มันเป็นเพลงต่อสู้อยู่แล้วแหละ แต่ของไทยมันเป็นเพลงรัก เห็นไหมล่ะ มันเข้าถึงคนมากว่า เพื่อชีวิตมันหมดยุคไปแล้ว สุดสะแนนอาจจะมีช่วงเพลงแร็ปก็ได้ใครจะไปรู้ แต่คิดว่าก็น่าจะยังเป็นสุดสะแนนอยู่ดีนั่นแหละ

    คือพอสุดสะแนนปิดชั่วคราวแบบไม่มีกำหนด ในมุมคนทำร้านที่ผูกพันกันมากว่า 24 ปี รู้สึกยังไง?

    มันรู้ตัวว่าต้องย้ายมาตั้งแต่ก่อนหน้าแล้ว รู้ตัวว่าอยู่ไม่ได้แน่สถานการณ์แบบนี้ เลยทำร้านก๋วยจั๊บสำรองไว้ ปิดตรงนั้นไปก็ยังพอมีร้านก๋วยจั๊บเป็นรายได้ ทีนี้พอเปลี่ยนแล้วพฤติกรรมการกินดื่มหลังยุคโควิดของคนมันเป็นเปลี่ยนไป ยังนึกไม่ออกเลยพอย้ายแล้วจะไหวอยู่ไหม

    สถานการณ์การดื่มกิน การเที่ยวมันเปลี่ยนไป ต้องปรับตัว ไม่รู้จะปรับได้ดีแค่ไหน ก็กังวลอยู่นะ แต่มีกระแสสุราก้าวหน้ามาก็ชื่นใจ เราก็ขายสะเอียบมานาน บางคนก็โทรมาสั่งซื้อกลับบ้าน ซื้อไปกิน ซื้อเป็นของฝาก แต่ของเรามันไม่ใช่กระแสไง มันจับต้องได้ มันกินได้จริงๆ ไม่ใช่ขวด 700-800 บาท ก็กังวลอยู่ว่าย้ายไปที่ใหม่แล้วจะเป็นยังไง ทุนหมดไปกับโควิด 3 ปี มีแต่หนี้ แต่ก็ต้องทำต่อไป 

    ตอนนี้ก็มีงานดนตรีอำลาร้านจัดแบบต่อเนื่องเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถ้าอยากแวะมาลากันก็มาเจอกัน มารำลึกความหลังกันได้ หลังจากนั้นถ้าคิดถึงอยากอุดหนุนก็มาที่ร้านก๋วยจั๊บอยู่เยื้องๆ วัดโป่งน้อย เปิดถึง 2 ทุ่ม ส่วนที่ใหม่จะมีตอนไหนก็ติดตามเอาที่เพจสุดสะแนนละกัน

    สั่งเดลิเวอรี่ได้ไหม?

    ไม่ เพราะเราต้องขึ้นราคาไปอีกนะ ไม่เอา ไม่อยากกดราคาแล้ว บริษัทมันกดหัวไรเดอร์ กดหัวร้าน อยากมากินก็มาร้านดีที่สุด เริ่มต้น 50 บาท เปิดตั้งแต่ 9 โมง

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...