พฤษภาคม 17, 2024

    กะเหรี่ยงสีรุ้ง :  LGBTQI ชาติพันธุ์ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำและอคติทางเพศ

    Share

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน


    ธงสีรุ้งปลิวไสว ต้อนรับการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQI

    สังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยความหลากหลาย โดยเฉพาะ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งหลายประเทศก็เปิดกว้างมากขึ้น ในเดือนมิถุนายนของทุกปี บรรยากาศทั่วทุกมุมโลกจึงเต็มไปด้วยสีสันแห่งสายรุ้ง เพื่อแสดงออกถึงความต้องการสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ก็ใช่ว่าความเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย…

    หมู่บ้านแม่สามแลบ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย – พม่า – รัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ที่มีความขัดแย้งและการใช้อาวุธสงคราม ประชากรกว่าร้อยละ 50 ในชุมชนแห่งนี้ยังเป็นชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่ไร้สัญชาติ สภาพปัญหาในระดับชุมชนมีความซับซ้อน ทั้งมิติความเป็นชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและสภาพปัญหาการถูกลิดรอนสิทธิชุมนุม สิทธิที่ดินและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร โดยกฎหมายและนโยบายของภาครัฐ มากไปกว่านั้นคนกลุ่มหนึ่งต้องเผชิญกับสภาพปัญหาที่ซับซ้อนกว่า ด้วยมิติความเหลื่อมล้ำและอติทางเพศ

    โครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดําเนินงาน ด้านการพัฒนาสิทธิผู้หญิง เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในชุมชนเผ่าพื้นเมือง มีพื้นที่ทํางานอยู่ในแนวชายแดนไทย – พม่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และนานาชาติ ร่วมกับชนชนเผ่าพื้นเมืองเครือข่าย จาก 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่สามแลบ และชุมชนบ้านทิยาเพอ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนบ้านแม่อมกิ และชุมชนบ้านปางทอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ ชุมชน บ้านหนองคริซู อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งร่วมกันทําวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยใช้แนวคิดเฟมินิสต์ เรื่อง การพัฒนาสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง โดยได้จัดเวที “รณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียงและสิทธิของผู้หญิง เด็กชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้ง ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ

    บาดแผลจากกรอบทางเพศที่ยากจะเปลี่ยนแปลง

    เด็กผู้หญิงโตไปเดี๋ยวก็ต้องแต่งงานอยู่บ้าน ทั้งที่ในความเป็นจริงเรามีทางเลือกมากกว่านั้น

    ภาพ : มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

    มะเมียะเส่ง สิริวลัย เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชนนักวิจัยโครงการจัดตั้งมูลนิธิสร้างสรรค์อยาคตเยาวชนชุมชนแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่าผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้กรอบเพศมีความแข็งแกร่งในชุมชนและสังคมไทย

    เราอยากให้เห็นว่ากรอบทางเพศชายหญิง มีผลต่อเด็กผู้หญิงเป็นอย่างมาก เพราะกรอบเหล่านี้มันควบคุมทั้งความคิดและร่างกาย จนทำให้เราเชื่อตามกรอบแบบนั้น แล้วเมื่อไหร่ที่เราหลุดออกจากกรอบนั้นเราจะรู้สึกผิดต่อตัวเองและสังคมเพราะเราถูกปลูกฝังมาแบบนั้น เราก็เป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกผิดแบบนั้น

    หากผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในครอบครัวที่เคร่งวัฒนธรรมมาก ๆ เมื่อพวกเขาเปิดเผยตัวตนก็จะเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้แต่งงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ เพราะยังเชื่อว่าผู้หญิงอยู่คนเดียวไม่ได้ถ้าไม่มีคนดูแล ผู้หญิงเหล่านั้นต้องใช้ชีวิตหลังแต่งงานโดยไม่มีความรักและไม่ได้รับการเคารพสิทธิ แม้จะถูกใช้ความรุนแรงก็ต้องอดทน

    เราจะโกรธทุกครั้งเมื่อต้องพูดถึงเพื่อนของเราคนหนึ่งที่เรียนจบชั้นประถมมาด้วยกัน แต่เขากลับไม่ได้เรียนต่อมัธยม สิ่งที่เขาต้องเผชิญคือการถูกบังคับแต่งงานเพราะความเชื่อที่ว่าต่อให้เรียนไปก็ไม่มีใครมาดูแลเขา เขาก็ยังไม่มั่นใจและเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

    ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและคนในชุมชน ยังถูกตีตราเหมารวม ทำให้เสี่ยงที่จะถูกเลือกปฏิบัติ บางคนต้องออกจากชุมชน เพราะถูกตีตรากล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ

    ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมนี้จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าคนในชุมชนไม่มีทางที่จะยอมรับได้ เพื่อนของเราคนหนึ่งที่เป็นทรานส์ เขาต้องออกจากชุมชนไปเพื่อที่จะได้มีความรักความสัมพันธ์อย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะถ้าเขายังอยู่ในชุมชนก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นตัวต้นเหตุของภัยพิบัติ ทั้งที่จริง แล้วเราต่างก็รู้ดีว่าภัยทางธรรมชาติมันเกิดจากอะไรกันแน่

    ครอบครัวสีรุ้ง

    หนูคิดว่าจริงๆ แล้วครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น เพราะหนูก็อยู่ในครอบครัวที่มีแม่สองคน ซึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกหรือบกพร่องอะไรเลย เพราะคำว่าครอบครัวหมายความถึงผู้คนที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วยเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

    ศิริวรรณ พรอินทร์ Asian Girl Aaward 2020 สาขา Human Right ผู้ที่เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้เธอและครอบครัวจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ด้วยทัศนคติของคนในสังคมที่ยังตั้งคำถามกับเธอ ทำให้ต้องเผชิญกับเรื่องราวที่กลายเป็นบาดแผลในจิตใจจากการที่สังคมยังมีความเข้าใจผิด ๆ

    ภาพ : มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

    โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนที่มีครอบครัวไม่เหมือนภาพจำของสังคมทั่วไป ด้วยความที่เรามีภาพครอบครัวที่ไม่เหมือนคนอื่นมันทำให้เราถูกตั้งคำถามจากคนในโรงเรียนว่าทำไมเราถึงมีแม่สองคน ซึ่งเราก็ตระหนักว่าสังคมยังไม่มีความเข้าใจ

    จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคงเงียบงันและไม่ได้รับการรับรอง ทำให้เธอและครอบครัว รวมถึง LGBTQI คนอื่น ๆ ที่อยากแต่งงานถูกกีดกันจากกฎหมายปัจจุบัน และกฎหมายนี่เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ยังทำให้สังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ด้วยกรอบของเพศและวัฒนธรรม

    นอกจากการถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคมแล้ว ในแง่ของกฎหมายเราเองก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ เราไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายที่มีความเป็นธรรมได้เหมือนกับครอบครัวที่มีพ่อและแม่ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่หนูอายุ 19 แล้วต้องการไปทำประกันชีวิตร่วมกับแม่ เขาก็บอกว่าไม่สามารถทำได้เพราะว่าหนูไม่มีพ่อและแม่ตามกฎหมาย ซึ่งการที่แม่แม่ทั้งสองไม่ถือเป็นผู้ดูแลของหนูตามกฎหมาย มันทำให้หนูรู้สึกโกรธมากในตอนนั้นว่าทำไมสังคมของเรามันถึงไม่ยอมรับ แล้วมันเจ็บปวดมากในฐานะคนที่เป็นลูกแล้วไม่ได้รับสิทธิเหมือนคนอื่น

    ในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดกฎหมายการรับรองสิทธิและสถานภาพของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เช่น กฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลรักเพศเดียวกัน ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ เช่น สิทธิในการได้รับความคุ้มครองเมื่อถูกกระทำความรุนแรง สิทธิที่เกี่ยวกับบุตร สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคู่สมรส เป็นต้น 

    เสียงเรียกร้องจากชนเผ่าพื้นเมือง

    จากเวทีรณรงค์ผลักดันนโยบายและกฎหมายที่คํานึงถึงเสียงและสิทธิของผู้หญิง เด็กชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่จัดขึ้นโดยองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะในการรณรงค์ผลักดันนโยบาย/กฎหมายกับพรรคการเมือง ชุมชน และสังคมไทย ซึ่งได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย/กฎหมาย ดังต่อไปนี้

    1.พัฒนากฎหมาย นโยบาย ที่ต้องปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมให้ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม มีความรู้ ความเข้าใจ เคารพและยอมรับสิทธิเด็ก สิทธิชนเผ่าพื้นเมื่อง สิทธิผู้หญิง และสิทธิ LGBTIQ

    2.ผ้าอนามัยต้องฟรีและเป็นสวัสดิการทางสังคม

    3.สมรสเท่าเทียม

    4.สนับสนุนการเข้าถึงสิทธิการมีสัญชาติของผู้หญิง เด็กและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และผู้สูงอายุที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง

    5.ความรุนแรงในความรักความสัมพันธ์และ/หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว: กฎหมาย และนโยบายเรื่องความรุนแรงในความรัก ความสัมพันธ์ที่ไม่ปกป้องคุ้มครองผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงที่ไร้สัญชาติและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องเปลี่ยนแปลง โดยคํานึงถึง 2.1) ความซับซ้อนของอัตลักษณ์ เช่น อายุ เพศ รสนิยมทางเพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ ภาวะการไม่มีสัญชาติ ฯลฯ  2.2) ภาษา 2.3) กระบวนการยุติธรรมที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทําให้กระบวนการไม่เป็นมิตร และปฏิเสธการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน

    6.สถานที่ให้บริการชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของหน่วยงานภาครัฐต้องมีล่ามชนเผ่าพื้นเมือง

    7.ยุติการบังคับแต่งงานเด็ก

    8.ยุติการเกลียดชังและการละเมิดสิทธิผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะการบังคับแต่งงาน ที่เสมือนเป็นใบอนุญาตข่มขืน

    9.ส่งเสริมและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ให้มีนโยบายและกฎหมายที่เคารพ ปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยคํานึงถึง Intersectionality/ความซับซ้อนกับมิติ และอัตลักษณ์ต่างๆ เช่น ความเป็นชาติพันธุ์/ชนเผ่าพื้นเมือง สถานะผู้ลี้ภัย การไร้สัญชาติ การไร้ที่ดิน ประสบการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่น ประสบการณ์การยุติการตั้งครรภ์ แรงงานข้ามชาติ และผู้พิการ ฯลฯ

    ภาพ : มูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

    มลิวัลย์ เสนาวงษ์ อาจารย์ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการเอาไว้ว่าการที่ชนเผ่าพื้นเมืองลุกขึ้นมาพูดปัญหาของตัวเอง สามารถเสริมพลังให้ผู้ที่ผลักไปอยู่ชายขอบสร้างความเป็นธรรมทางเพศ คนในสังคมจะต้องตระหนักถึงการถูกกดทับจากประสบการณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งการตระหนักนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

    เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริง เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้ผล แต่เราต้องมีเครือข่าย มีพันธมิตรในการต่อสู้ เรามีผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง เรามีคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรามีผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์ เรามีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมผลักดันและเราก็หวังว่ามันจะมีพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

    การสนับสนุนให้สังคมไทยเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ นับเป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมตามการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความเคารพในสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องคิดและพิจารณาให้รอบด้าน การขับเคลื่อนและสร้างความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สำคัญ คือ การสร้างความสำคัญและความหมายทางเพศให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างความปกติให้กับความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด

    ไม่ว่าคุณจะนิยามตนเองอย่างไร จงภูมิใจในความเป็นตัวตนของคุณ


    โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...