พฤษภาคม 9, 2024

    หนึ่งสัปดาห์ พันกว่าเรื่อง อลวนฝุ่น(PM2.5) ตลบ

    Share

    เรื่อง: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

    มาตราการแบบใดห์ แก้ไขปัญหากี่โมง ฟันธงบังคับใช้ช่วง? มัดรวมการเคลื่อนไหวภาครัฐ คืบหน้า(?)เร่ง(?)แก้ปัญหาฝุ่นพิษ

    ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 หลายจังหวัดสูงเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการติดตามและรายงานข่าวสถานการณ์นี้จากหลายหน่วยงาน หลายสำนัก ซึ่งด้านฝ่ายบริหารของประเทศได้เคลื่อนไหวโดยมีเหตุการณ์ที่กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องฝุ่นพิษถึง 2 ครั้ง ทั้งจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้แทนราษฏรที่นำไปพูดเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาถึงในสภา

    โดยในวันที่ 19 ธันวาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงข่าวสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ได้หารือกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดแนวทางและเร่งขับเคลื่อนตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือและพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10

    ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ กำกับดูแลการออก GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตพืช เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และการออกมาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้อำนาจประกาศให้ GAP เป็นมาตรการเชิงบังคับและกำหนดเรื่องนี้อย่างชัดเจนได้

    โดยในวันเดียวกันนี้ 19 ธันวาคม 2566 คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติให้รับทราบคำสั่งคณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 มีมรสุมความกดอากาศสูงมาจากทางภาคเหนือทำให้อากาศไม่กระจายตัว ประกอบกับเข้าสู่ภาวะเอลนินโญ่ ที่อากาศแห้งและร้อนจัด จึงอาจทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่าได้ง่าย

    จึงให้จัดทำมาตรการและกลไกแก้ไข โดยให้ความสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้

    1. กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่อีกเป้าหมายคือป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงพื้นที่เกษตรที่มีประวัติเผาซ้ำซาก

    2. สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

    3. ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสั่งการลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่

    4. ปรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

    5. ยกระดับจากอาเซียนไปสู่การเจรจาทวิภาคี

    โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จะเป็นหน่วยงานหลักจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาพรวมของประเทศ

    สำหรับอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ คือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงจากประกาศการนำเข้าข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในาราชอาณาจักรตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ.2564 ถึงปี พ.ศ.2566

    ภัทรพงษ์ จี้ ก.พาณิชย์ ขำไม่ออก เพราะไม่ได้จี้เอว แต่จี้ถามแก้ปัญหาPM2.5

    เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ ตั้งกระทู้ถามสดในประเด็น PM2.5 ที่มีต้นเหตุจากประกาศการนำเข้าข้าวโพด​อาหารสัตว์ต่อกระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2

    โดยกล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษมาจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน สถิติข้อมูลปี 2565 มีการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์​จากเมียนมาร์ ​1.8 ล้านตัน ถือเป็น 97% ของการนำเข้าอาหารสัตว์ในประเทศและเป็น 70% ของข้าวโพดอาหารสัตว์​ที่ปลูกใน​เมียนมาร์​ โดยกว่าครึ่งของพื้นที่มีการปลูกในรัฐฉาน​ที่ตั้งติดอยู่กับพื้นที่ภาคเหนือของไทย หลักฐานสถิติค่า Hotspot หรือจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรม​ ตลอดปี 63 มีจุด Hotspot สะสมกว่า 6,964 จุด ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของค่า PM2.5 ในไทย และค่า Burn scar (พื้นที่เผาไหม้)ในรัฐฉาน ที่มีพื้นที่เผาไหม้ช่วงเดือนธันวาคมประมาณ 300,000 ไร่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์​ และสูงที่สุดในมีนาคมกว่า 5 ล้านไร่ ก่อนจะลดลงในเดือนเมษายน จนกลับมาเหลือ 3 แสนไร่ในเดือนพฤษภา​ สอดคล้องกับห้วงเวลาสถานการณ์ฝุ่นของภาคเหนือตอนบนที่เคยทะลุเกิน 400 AQI ซึ่งเป็นแบบนี้มากว่า 10 ปีแล้ว

    สำหรับประกาศการนำเข้าข้าวโพด​อาหารสัตว์​ภายใต้การค้าเสรีอาเซียนที่แม้จะมีข้อดีในการช่วยให้ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพด​อาหารสัตว์​แบบปลอดภาษีได้ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์​ -​ 31 สิงหาคม​ ของทุกปี แต่กลับมีส่วนในการสร้างปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจ​ของประเทศ

    “ข้อ 3(2) มีระบุไว้ชัดเจนว่าสินค้าที่นำเข้ามาจะต้องมีหนังสือรับรองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพมนุษย์​ สัตว์ หรือพืช ของประเทศ จึงอยากถามรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงพาณิชย์​ว่าที่ผ่านมามีการใช้หลักฐานใดมารับรองสินค้าที่สันนิษฐาน​ได้ชัดเจนว่ามีที่มาจากการเผา ทำไมการรับรองถึงทำได้อย่างง่ายดายขนาดนี้ และกระทรวงพาณิชย์​ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน ในมาตราการการจัดการฝุ่นพิษที่เรื้อรังมาขนาดนี้”

    นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้คำตอบว่า ประเทศไทยใช้ข้าวโพด​เป็นอาหารสัตว์​ปีละประมาณ​ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังผลิตที่ 5 ล้านตัน จึงต้องนำเข้าจากประเทศ​เพื่อนบ้าน มีฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงกันยายน-มกราคม โดยนำเข้าผ่านองค์การคลังสินค้า ภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์

    โดยระบุต่อไปว่า การจะห้ามการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์​ที่มาจากการเผา ประเทศไทยก็จะต้องมีมาตราการห้ามเผาข้าวโพดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้จะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์​ชัดเจนว่าประชาชนมีปัญหาสุขภาพ​ที่เกิดจาก PM2.5 จากการเผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด​ในประเทศ​เพื่อนบ้าน​จริง และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า​เป็นสาเหตุให้เกิด PM2.5 ในไทยเพียงสาเหตุเดียว โดยไม่เกี่ยวกับปัจจัยภายในประเทศ เช่น การอุบัติไฟป่า การเผาโดยชาวบ้าน และมลพิษจากการคมนาคม

    แต่ถึงอย่างไร กระทรวงพาณิชย์​ได้เร่งหาวิธีการแก้ปัญหา ​PM2.5 โดยล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์​ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าข้าวโพด​เลี้ยงสัตว์​ให้สอดคล้องกับการค้าโลก โดยมีอธิบดี​กรมวิทยาการเกษตร​ และอธิบดี​กรมการค้าภายในเป็นประธานคณะอนุกรรมการ​ โดยมีหน้าที่ศึกษาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอน​ในขั้นตอนการผลิต​ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์​และพืชอาหารสัตว์​ในประเทศ​เพื่อนบ้าน​ นอกจากนี้กระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์​ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​ไม่เกิน 2.5 ไมครอนในภาคการเกษตร​เพื่อแก้ไขปัญหา PM2.5

    จากคำตอบดังกล่าว ภัทรพงษ์ ได้สรุปว่าเป็นคำตอบเดิมจากกระทรวงพาณิชย์​ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน จึงเสนอแนะว่า ในไทยได้มีการจัดทำพิกัดพื้นที่การทำการเกษตร​ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าพืชแต่ละชนิดทำการเกษตรบริเวณใดบ้าง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำไปปรับเข้ากับประกาศกระทรวงพาณิชย์​เรื่องการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ เพื่อความเสมอภาคของคนในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้ทำการเกษตรในประเทศเสียเปรียบจากการต้องทำเอกสารระบุพื้นที่ที่ทำการเกษตรแต่ผู้ปลูกต่างประเทศไม่ต้องมีภาระในส่วนนี้ ที่หากมีการปฏิบัติเช่นเดียวกันจะสามารถใช้เป็นข้อมูลพิสูจน์ทั้งค่า Hotspot, Brun scar ได้ว่าพิกัดพื้นที่ทำการเกษตรใดทำการเผาบ้าง จึงต้องย้อนกลับมาที่ข้อกังขาเดิมว่าหนังสือรับรองการนำเข้าที่ยืนยันว่าสินค้านั้นไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคน สัตว์ และพืช ใช้หลักฐานใดยืนยันในเมื่อไม่สามารถพิสูจ​น์ได้ว่าพิกัดที่ทำพื้นที่การเกษตรนั้นอยู่ที่ใดและมีการเผาหรือไม่

    “สำหรับประกาศฉบับนี้มีอายุระหว่างปี 2563 -​ 2566 ซึ่งหมายความว่าประกาศนี้กำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ รัฐบาลจะมีการต่ออายุประกาศฉบับนี้ และมีนโยบาย​หรือมาตราการที่จะเพิ่มข้อบังคับตามข้อเสนอแนะหรือไม่ เนื่องจากในแง่หนึ่งประกาศฉบับนี้มีประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงสัตว์ชัดเจน แต่จำเป็นต้องมีการอุดช่องโหว่ข้อเสียให้ได้ทั้งหมด ซึ่งหากสามารถจัดทำพิกัดพื้นที่ทำการเกษตร​ภายนอกให้ชัดเจนได้เหมือนกับภายในประเทศ จะสอดคล้องกับร่างพรบ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษ​ข้ามพรมแดน ที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าทางการเกษตร​ที่มีที่มาจากการเผาได้”

    ภัทรพงษ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ท่านเห็นระเบียบ กฎเกณฑ์​เหล่านี้สำคัญไปกว่าชีวิตของประชาชนหรือไม่ ประเทศไทยสูญเสีย​มาเยอะมากทั้งชีวิต สุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจ​ของประเทศ แต่กระทรวง​พาณิชย์​กลับยังไม่มีมาตรการ​แก้ไขที่เป็นรูปธรรมเลย ทั้งที่ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือนตั้งแต่วันที่รัฐบาลมีการแถลงนโยบาย ผมติดตามการประชุมครม. และบันทึกการประชุม​ครม.ทุกครั้ง ก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนใด ๆ จากกระทรวง​พาณิชย์​ในเรื่องนี้ ในฐานะที่เป็นสมาชิก​สภาผู้แทนราษฎร​ ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ​ ผมได้ทำสิ่งที่ผมทำได้แทบทุกอย่างแล้วไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย​เสนอแนะ ยื่นกระทู้สอบถาม รวมถึงการร่างพระราชบัญญัติ​และยื่นต่อสภาซึ่งเป็นกลไกที่ต้องใช้เวลาร่วมปีกว่าจะเสร็จ​สิ้น แล้วในฐานะฝ่ายบริหาร กระทรวง​พาณิชย์​และรัฐบาล​สามารถทำอะไรได้บ้างหรือไม่ในปีนี้ ที่จะไม่เป็นการรอกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ​เพียงอย่างเดียว”

    ตลบอบอวลยิ่งกว่า เพราะฝุ่นพิษอาจไม่ได้มีต้นตอจากเกษตรกร?

    ความต้องการซื้อ-ขายสินค้าทางการเกษตรในภาคธุรกิจเองก็เป็นเหตุผลให้เกิดการเร่งวัฏจักรการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตเหล่านั้น ซึ่งเป็นอีกภาคส่วนที่ต้องมีการรับผิดชอบให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาฝุ่นร่วมกันด้วย ข้อมูลจากเฟซบุ๊คเพจ มูลนิธิชีววิถี – BIOTHAI ได้ระบุถึงลำดับโรงงานในภาคธุรกิจที่รับซื้ออ้อยไฟไหม้ หรืออ้อยที่มีการเผาในกระบวนการผลิต โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2564-2565 โดยโรงงานที่รับซื้อมากที่สุด รับมากถึง 101,000 ตัน

    (ภาพ: เพจ BIOTHAI)

    นอกเหนือข้อมูลต้นตอปัญหาฝุ่นพิษที่ต้องไล่เรียงสืบเสาะเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดแล้ว ข้อมูลสถิติด้านสุขภาพก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่ทั้งสะท้อนผลถึงสภาวะการณ์ที่เป็นอยู่ และสภาพปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญ ซึ่งต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน

    (ภาพ: เพจ BIOTHAI)

    ผลการศึกษาอัตราการเสียชีวิตของคนไทยในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ระหว่างปี 2544-2557 โดยวารสาร International Journal for Equity in Health เมื่อเดือนธันวาคม 2559 มีข้อมูลการวิเคราะห์ว่า ประชาชนเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือของไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดสูงกว่าประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ

    หากพิจารณาข้อมูลโรคหอบหืดที่ในภาคใต้มีอัตราสูงเช่นกัน พบว่ามีเหตุสอดคล้องกับปัญหาฝุ่นพิษจากการเผาไหม้เพื่อขยายสวนปาล์มในอินโดนีเซียในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้ปัญหานี้เริ่มลดลงแล้วจากการออกกฎหมายเพื่อควบคุมฝุ่นพิษข้ามพรมแดนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับเรา

    แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ฝุ่นพิษของภาคเหนือในปัจจุบัน แต่เมื่อประกอบกับรายงานสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจของภาคเหนือล่าสุด ย่อมชัดเจนว่าปัญหานี้กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติแล้ว

    ค่าฝุ่นภาคเหนือเริ่มฉ่ำ พรบ.อากาศสะอาดและคณะก็ต่างคนต่างเบียด ผลักดันกันฉ่ำ

    ย้อนไปไม่ไกลนี้สำหรับความคืบหน้าพรบ.อากาศสะอาด (ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ) ที่ภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นถึงปลายทาง และการกำหนดข้อปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน มีมติอนุมัติหลักการ หลังลั่นวาจาว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภา ซึ่งนอกเหนือจากนี้แล้วยังมีร่างกฎหมายอากาศสะอาดอย่างน้อย 6 ฉบับที่มีโอกาสเป็นกฎหมายที่นำมาบังคับใช้จริงในอนาคต โดยมีร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาแล้ว ได้แก่

    1.ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

    2.ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …. โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ

    3.ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. …. โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล และคณะ

    4.ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)

    และอีกสองฉบับที่ได้ยื่นเข้าสภาแล้วล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .… ของพรรคก้าวไกล และถัดมา 14 ธันวาคม 2566 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. โดย น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 

    โดยยังเพิ่มเติมจากภาคประชาชนที่เดินหน้าเสนอกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน (กฎหมายเกี่ยวกับระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม – Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ที่บังคับให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีหรือสารมลพิษและของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือการเคลื่อนย้ายไปกำจัดหรือบำบัดให้แก่ประชาชนได้รับรู้รับทราบ เพื่อผลักดันสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อม โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรายงานข้อมูล การจัดทำฐานข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน และกำหนดโครงสร้างและกลไกคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ

    นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่กินระยะเวลาไม่กี่วันในห้วงสัปดาห์นี้ แต่น่าห่วงว่าผลกระทบจากฝุ่นพิษอาจจะตกค้างอยู่ในปอดของประชาชนไปจนนับวันไม่ได้ ขณะที่รัฐยังหาข้อเสนอที่ไม่ตอบโจทย์อย่างตรงจุดสักที

    อ้างอิง

    https://youtu.be/_-GAQFRWRAE?si=f_Vc8MsB_o0devmp

    https://www.youtube.com/watch?v=3Eo2jStW_pM

    https://greennews.agency/?p=34191

    https://www.igreenstory.co/pm25-solution-in-2024/?fbclid=IwAR3oCaX_M9UcEIDHxg1WldPqpuZFOfRXMNqj-lg0GxuJQYLFKogobQ0068E

    https://www.facebook.com/photo/?fbid=750078310498918&set=a.627833372723413

    https://www.bbc.com/thai/articles/c982gzlqp3xo

    https://ilaw.or.th/node/6699?fbclid=IwAR0T8afKJpjFPYqUGU-wk676E00CS-efojUHgQzBGWCwfx4BtmEin3ZKmec

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...