พฤษภาคม 18, 2024

    ค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่ที่ท่องเที่ยว

    Share

    เรื่อง: วิทยธรรม ธีรศานติธรรม

    ในช่วงที่ผ่านมา เพจเฟสบุ๊คแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวได้โพสต์ภาพค่ายผู้ลี้ภัยที่หนึ่งโดยระบุถึงความสวยงาม และมีคนมาแสดงความคิดเห็นอยู่เป็นจำนวนมากในทำนองว่าสถานที่สวย น่าเข้าไปท่องเที่ยว หรือบางคนก็แสดงความคิดเห็นว่าเคยเข้าไปแจกขนมเด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย ราวกับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานสังคมสงเคราะห์ แม้จุดประสงค์เบื้องหลังอาจเพื่อสร้างความตระหนักรู้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเหมาะสมและความเข้าใจบริบททางสังคม ที่อาจเป็นการไปเปลี่ยนสภาพความเป็นจริงอันยากลำบากของชีวิตผู้ลี้ภัยมาถ่ายทอดเหมือนส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่อบอวลความโรแมนติก

    ค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การเยี่ยมชมแบบสบายๆ แต่เป็นที่พักพิงชั่วคราวที่เกิดจากความจำเป็น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม

    อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1951 (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) เอกสารทางกฎหมายที่กำหนดการทำงานขั้นพื้นฐานของ UNHCR ลงนามและให้สัตยาบันโดย 146 รัฐภาคี ได้ให้นิยามผู้ลี้ภัยไว้ว่า ผู้ที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตน เนื่องจากความหวาดกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ การเป็นสมาชิกในกลุ่มทางสังคมหรือความคิดเห็นทางการเมือง และไม่สามารถอยู่หรือกลับประเทศของตนได้ เพราะรัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ 

    รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, ภาพหน้าจอ, ตัวอักษร, จำนวน
    (ภาพจาก UNHCR)

    ความจริงอันโหดร้ายของการถูกบังคับให้พลัดถิ่น

    ผู้ลี้ภัย คือ ผู้ที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ สงคราม ความรุนแรง การประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง และยังหวาดหวั่นต่ออันตรายเหล่านั้นเกินกว่าจะกลับไปได้

    ค่ายผู้ลี้ภัยจึงเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าว กลายเป็นบ้านชั่วคราวสำหรับบุคคลและครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความพลิกผันของชีวิตที่ไม่อาจจินตนาการได้ และพวกเขาไม่ใช่นักแสดงบนเวที แต่คือคนจริงๆ ที่ถูกถอนรากถอนโคนจากถิ่นที่อยู่ ถูกกดดัน บีบบังคับจากสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่อาจต่อต้านได้จนต้องหนีเพื่อเอาชีวิตรอด การไปเยี่ยมชมค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะนักท่องเที่ยวคงไม่ต่างจากการไปลดทอนศักดิ์ศรีของความพยายามมีชีวิตอยู่ของผู้ลี้ภัย

    เมื่อปี 2022 จากรายงานประจำปีของ UNHCR พบว่า มีจำนวนผู้ต้องย้ายถิ่นฐานทั่วโลกราว 108.4 ล้านคน มากกว่าปี 2021 กว่า 19 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนการเพิ่มสูงขึ้นที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีสงครามยูเครน-รัสเซียเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น และยังเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 แล้ว ในจำนวน 108.4 ล้านคน เกือบ 35.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

    ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว 96,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2566) ที่หนีความขัดแย้งภายในของเมียนมาร์ตั้งแต่ช่วงประมาณปี ค.ศ.1980 ส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) เข้ามาอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

    รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, แผนที่, สมุดแผนที่

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
    (ภาพจาก UNHCR)

    แม้ว่าข้อมูลด้านสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั้งในภาพรวมโลกรวมไปถึงประเทศไทยเองกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว ในด้านปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยเองก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ดีสักเท่าไรเช่นกัน จากกรณีที่เพจเฟสบุ๊คสายท่องเที่ยวเพจหนึ่ง ได้โพสต์ภาพค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในประเทศไทยพร้อมข้อความเชิงโรแมนติกไซต์ หรือสื่อสารในเชิงที่ว่าสถานการณ์ในภาพนั้นมันสวยงาม ซึ่งยังรวมไปถึงคอมเมนต์ต่างๆ ในโพสต์นั้นด้วย ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว

    รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์

    รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์ หนึ่งในผู้ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันรัฐไทยเองก็มีทัศนคติไม่ดีกับผู้ลี้ภัย นี่คือเรื่องที่เอื้อกันอย่างเป็นระบบเพราะไม่มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างที่ควรจะเป็น

    “เรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีอยู่แล้วเวลาเห็นการตอบรับของคนในสังคมเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยหรือค่ายผู้ลี้ภัยแบบนี้ แต่มันก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่นะ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกเป็นลูปซ้ำเดิมในสังคมไทย ซึ่งก็ต้องไปตั้งคำถามกันต่อว่าทำไมเรื่องนี้ไม่เคยถูกแก้ไข อยากให้มองและวิพากย์ลึกลงไปในระดับโครงสร้างมากกว่าการไปต่อว่าคนที่มาโพสต์หรือคอมเมนต์ เพราะส่วนหนึ่งรัฐไทยเองก็ไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ รัฐไทยเรียกเขาว่าผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้าง ผู้หนีภัยสงครามบ้าง แม้แต่ค่ายผู้ลี้ภัยเขาก็เรียกว่า ศูนย์พักพิงชั่วคราว เป็นชั่วคราวที่ถ้านับมาจนถึงปีนี้ก็ร่วม 39 – 40 ปีแล้ว เรามองว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมเราขาดความเข้าใจประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัย รัฐไม่ยอมเผชิญหน้ากับปัญหานี้อย่างจริงจังสักที ทั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์อยู่มานานมากๆ แต่กลับเหมือนไม่มีอยู่จริงเลยในสายตาของรัฐและคนไทย ฉะนั้นมันไม่แปลกเลยที่จะมีคนในสังคมมาแสดงความเห็นเชิงโรแมนติกไซต์ เพราะว่ารัฐไม่เคยสร้างความเข้าใจที่มากพอให้กับสังคมและคนในสังคมก็ยังไม่เปิดใจเนื่องมาจากอคติและมายาคติต่างๆ”

    ทั้งนี้รัศมิ์ลภัส ยังอธิบายเพิ่มว่าความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เป็นเรื่องที่ดีที่เราในฐานะมนุษย์ด้วยกันจะปฏิบัติต่อกันได้ แต่สิ่งที่เรามักหลงลืมไปคือการคำนึงถึงความยินยอม (Consent) และความปลอดภัยด้วย

    “ในแง่หนึ่งการเห็นอกเห็นใจกันมันเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาภาพมาเผยแพร่ก็ควรต้องคำนึงด้วยว่ามันเห็นหน้าไหม เห็น Identity ของเขาไหม ถ้ามีมันควรจะต้องได้รับความยินยอมจากเขาก่อน แต่ถ้าไม่เห็นมันก็น่าจะพอเผยแพร่ได้ แง่หนึ่งก็ช่วยให้สังคมได้เห็นด้วยซ้ำว่า เฮ้ย คนเรามาอยู่ในสภาพแบบนี้ได้ยังไง เราปล่อยให้คนไปอยู่ในสถานที่ที่แทบไม่ต่างจากคุกแบบนั้นได้ยังไง มันก็ชวนให้ตั้งคำถามมากขึ้น เกิดข้อสงสัย ข้อถกเถียงกันมากขึ้นและอาจนำไปสู่ทางออกที่ดีกว่านี้ก็ได้ ถ้ามองในด้านดีนะ แต่ถ้าในกรณีที่คนบางส่วนที่รับรู้ปัญหาอยู่แล้วแต่เพิกเฉยหรือพยายามสร้างแนวความคิดเห็นเชิงอคติหรือความเกลียดชังประมาณว่า ดีแล้วที่คนกลุ่มนี้ต้องอยู่แบบนี้ อะไรแบบนี้มันก็ต้องไปแยกประเด็นกันและสร้างความเข้าใจกันอีกที เพราะมันมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ คนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ที่สำคัญอีกอย่าง อยากเน้นย้ำว่าการเห็นอกเห็นใจกันหรือการบริจาคของเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เราต้องกลับไปที่ต้นตอปัญหาระดับโครงสร้างและแก้ไขตรงนั้นเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

    จากการศึกษารายงานวิจัยทางเลือกเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาในค่ายพักพิงชั่วคราว (ชยันต์ วรรธนะภูติ และมาลี สิทธิเกรียงไกร) พบว่าสิ่งที่ผู้ลี้ภัยกังวลมากคือการถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง แม้รัฐจะมีมาตรการจำกัดควบคุมและดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเข้มงวด ไม่ให้สิทธิ์ผู้ลี้ภัยในการออกนอกพื้นที่ค่าย การทำงานหารายได้ และยังมีการจำกัดปัจจัยด้านอาหาร แต่ผู้ลี้ภัยก็ต้องยอมรับสภาพดังกล่าว รวมถึงมีความพยายามในการแปลงพื้นที่ภายในค่ายเป็นพื้นที่การเกษตรแบบผสมผสานเพื่อดำรงชีพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ลี้ภัยมีเพียงความต้องการพื้นฐานคือการดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย

    ไม่มีใครคนไหนอยากจะเป็นผู้ขอไปตลอดชีวิตหรอก ทุกคนอยากใช้ชีวิต อยากทำมาหากินเลี้ยงชีพ อยากทำตามความฝันของตัวเอง มีชีวิตอย่างอิสระ ไม่ใช่ไม่ต้องทำอะไรเลย วันๆ ก็รอรับของบริจาคไปตลอดชีวิต เราลองคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะอยากไปอยู่ตรงนั้นไหม อยู่ในพื้นที่ที่ถูกจำกัด ไปไหนไม่ได้ ออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ ไม่สามารถมีการศึกษาที่ดีหรือทำตามความฝันของตัวเองได้ เราอยากมีชีวิตแบบนั้นหรือเปล่า โดยส่วนตัวมองว่าอย่างน้อยสิ่งพื้นฐานที่เขาควรจะได้รับคือ อิสรภาพ เสรีภาพในการที่จะใช้ชีวิตแบบมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่ต้องมาระแวงว่าจะถูกจับ ถูกส่งกลับประเทศที่หนีจากอันตรายมา ถูกทำร้าย หรือจำกัดบริเวณ แต่คือการมีชีวิตอย่างปกติและปลอดภัย นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดรัศมิ์ลภัส อธิบายเพิ่มถึงมุมมองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัย

    การแก้ปัญหาที่ไร้การเอาใจใส่

    ในช่วงที่ผ่านมาจากการสำรวจนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังไม่พบเรื่องนี้อยู่ในวาระการดำเนินการใดๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลยังขาดความเอาใจใส่และไม่คำนึงถึงสถานการณ์ความย่ำแย่ที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ได้เปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน เร่งกระตุ้นการทำงานของฝ่ายบริหาร โดยจะเชิญนักวิชาการ และตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงมาชี้แจงเรื่องแผนการดำเนินการ ซึ่งต้องรอติดตามต่อไป

    ต้องบอกจริงๆ ว่ายังไม่รู้สึกถึงความหวังสักเท่าไหร่เลยกับรัฐบาลปัจจุบัน (ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน?) รัฐยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนหรือแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่อยากจะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้ว่าสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมมาก ต้องย้ำอีกครั้งว่าศูนย์พักพิงชั่วคราวที่รัฐเรียกเนี่ย มันอยู่มาเกือบ 40 ปีแล้ว และในตอนนี้ก็มีผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นอีกเยอะมากจากสถานการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ แต่รัฐก็ยังไม่ได้ยอมรับสถานะของพวกเขา ไม่มีการจัดการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น พอไม่มีมาตราการที่จะช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกมันก็เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น การคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ลี้ภัย ความพยายามของรัฐที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือการพยายามออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ (NSM) ที่จะคัดกรองบุคคลเพื่อให้ความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ แต่มันยังอยู่ในกระบวนการจัดทำแนวปฏิบัติยังไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมันก็ยังมีปัญหาเรื่องข้อยกเว้นและการจำกัดสิทธิ์ของคนบางกลุ่มทำให้ไม่ถูกนับรวมอยู่ในผู้มีสิทธิ์ยื่นขอสถานะ เช่น กลุ่มโรฮิงญาที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยตรง หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีพ.ร.บ.เกี่ยวกับแรงงานบังคับใช้อยู่แล้ว เลยเป็นข้อถกเถียงและข้อกังวลของคนทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยอยู่ว่า แล้วกลุ่มผู้ลี้ภัยเมียนมาร์จะได้รับการคัดกรองและรับสถานะคุ้มครองไหม ใครบ้างที่จะสามารถยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยได้ หรือถ้ายื่นขอแล้วถูกปัดตก ไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ได้รับความคุ้มครอง จะถูกส่งกลับประเทศไหม มันมีข้อท้าทายอย่างมาก กว่าจะได้รับสถานะเป็นผู้ได้รับความคุ้มครอง แต่อย่างน้อยก็ถือเป็น movement ที่ดีของรัฐไทย ซึ่งต้องดูกันต่อไป นอกจากนี้ก็จะมีหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ทำงานเชื่อมต่อกับคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนที่พยายามแสวงหาความร่วมมือและหาทางออก หน่วยงานทางด้านการศึกษาในบางมหาวิทยาลัยก็มีการเปิดรับนักศึกษา มีคอร์สออนไลน์ให้ฟรี หรือความร่วมมือกันในระดับประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นนโยบายที่มาจากรัฐโดยตรง”

    นอกจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากต่างประเทศที่น่ากังวลภายใต้การจัดการของรัฐไทยแล้ว รัศมิ์ลภัสยังได้กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

    “การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะเป็น ไม่มีใครอยากหนีออกจากบ้าน ที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะมันจำต้องเป็น อยากให้สังคมไทยเปิดรับและทำความเข้าใจ อยากให้รัฐมีการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วมากกว่านี้ ให้เขาอยู่กับเราได้อย่างปลอดภัย การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเราเลย แม้แต่เราเองที่เป็นคนไทยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมากๆ แต่ถ้าสภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สภาพสังคมและการเมืองมันบีบบังคับ เราทุกคนก็สามารถกลายเป็นผู้ลี้ภัยได้เช่นกัน

    ผู้ลี้ภัยและค่ายผู้ลี้ภัยอาจยังคงถูกมองหรือตีความไปในมุมที่สวยงามโดยมองข้ามสภาพจริงที่ยากลำบาก เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นนี้ซ้ำอีกหลายครั้ง ตราบใดที่รัฐยังคงเพิกเฉยและไม่พยายามสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่เหมาะสมให้กับคนสังคมอย่างจริงจังเสียที

    อ้างอิง

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...