ลองลำพูน เปลี่ยนเมืองรองให้กลายเป็นเมือง belong ของทุกคน

27 สิงหาคม 2566

สัมภาษณ์/เรียบเรียง/ภาพถ่าย: กนกพร จันทร์พลอย 

“ลำพูนมันเป็นเส้นตรงมาตลอด มันไม่ได้แย่ลงหรือดีขึ้น ถูกมองว่าเป็นเมืองผู้สูงอายุ แต่เราว่าลำพูนมันคือขั้นกว่า มันคือผู้ป่วยติดเตียง คือมันหนักกว่านั้น มันมีความแตกต่างกันทางสังคม เศรษฐกิจสูง เทียบง่าย ๆ คือมันมีร้านก๋วยเตี๋ยวถ้วยละสิบบาทและมันก็มีร้านกาแฟราคาแก้วละสองร้อย” 

Lanner ได้พูดคุยกับอิงฟ้า เบญจมาภรณ์ ดวงเกิด Project coordinator ของโปรเจกต์ “ลองลำพูน” ซึ่งเธอเกิด อยู่ และอยากจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่ลำพูน อิงฟ้าคือคนรุ่นใหม่ ใฝ่ฝันอยากเมืองลำพูนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คนในอยากจะอยู่ คนนอกอยากลองอยู่ให้นานกว่าเดิมผ่านโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “ลองลำพูน” ที่นิยามตัวเองว่าเป็นพื้นที่กลางเชื่อมต่อคนลำพูนไปด้วยกัน

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ ลำพูนไม่ใช่เมืองผู้สูงอายุ แต่คือเมืองผู้ป่วยติดเตียง

อิงฟ้าเล่าว่า “ลำพูนมันเป็นเส้นตรงมาตลอด มันไม่ได้แย่ลงหรือดีขึ้น ถูกมองว่าเป็นเมืองผู้สูงอายุ แต่เราว่าลำพูนมันคือขั้นกว่า มันคือผู้ป่วยติดเตียง คือมันหนักกว่านั้น มันมีความแตกต่างกันทางสังคม เศรษฐกิจสูง เทียบง่าย ๆ คือมันมีร้านก๋วยเตี๋ยวถ้วยละ 10 บาทและมันก็มีร้านกาแฟราคาแก้วละ 200”

อิงฟ้าเล่าต่อไปว่า “เราอยากเปรียบเทียบลำพูนกับงานคลาสสิค สิ่งที่คนลำพูนรุ่นเดิม ๆ ทำมันคืองานคลาสสิคแต่สิ่งที่เรากำลังทำมันคืองานนีโอคลาสสิค หรือการสร้างความร่วมสมัยให้กับมัน เป็นลำพูนในแบบเราทุกคน คือมันไม่มีทางลบรากเหง้าประวัติศาสตร์ของลำพูนได้อยู่แล้ว ถ้าเราอยู่ลำพูน มันจะมีความเป็นลำพูนในตัวเราเสมอและส่งทอดเองโดยอัตโนมัติ อย่างน้อยเราคิดว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงมันในทางที่ดี ไม่ว่าจะสไตล์ไหน มันก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

กว่าจะมาเป็นโปรเจกต์ “ลองลำพูน”

“โปรเจกต์นี้มันเกิดจากการที่เราเป็นคนลำพูน แล้วเรารู้สึกว่าลำพูนมันเงียบมาก คือมันไม่มีการเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจอะไรเลย จริง ๆ แล้วมันมีแหละ แต่มันน้อยมาก หลายคนจะบอกว่าลำพูนคือเมืองที่ปราบเซียน ใครมาทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะไปไม่รอด มากกว่านั้น ตัวกฎหมายก็ซ้ำเติมเมืองลำพูนไปอีก คือการประกาศจากคณะคสช. กำหนดให้เขตรอบเมืองชั้นในห้ามเปิดร้านเหล้า-เบียร์ และร้านที่เคยเปิดก่อนหน้าประกาศฯ หากหมดรุ่นแล้ว ก็ไม่สามารถเปิดร้านเหล้าต่อไปได้ คือตอนนี้จำนวนคนในเมืองลำพูนเริ่มลดลง เหลือเพียง 2,000 คนเทียบเท่ากับคนที่อาศัยบนถนนวัวลายแค่เส้นเดียว”

Lamphun City Lab กลุ่มคนลำพูนที่อยากพัฒนาเมืองลำพูน เคยได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานท้องถิ่น และได้พูดคุยกันว่าเราจะทำอย่างไร ให้ลำพูนมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มี dynamic ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ลองลำพูน” ที่รวมตัวทั้งสถาปนิก คนรุ่นใหม่ ศิลปิน ผู้ประกอบการ และกลุ่มคนที่อยากออกแบบเมือง รวมถึงอิงฟ้า ได้เริ่มเข้าไปร่วมทำงานก่อนหน้าโปรเจกต์อื่น ๆ หลายครั้งภายใต้ Lamphun City Lab และการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้รับความอนุเคราะห์การใช้พื้นที่จากธนาคารกรุงไทย ที่เป็นตึกร้างมาก่อน จากจุดเริ่มต้นนี้ทำให้อิงฟ้าเริ่มมีไฟ แรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างเศรษฐกิจเมืองลำพูนให้ดีขึ้น

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

“ลองลำพูน มันเริ่มจากการที่ได้ไปสำรวจผู้คนที่เดินทางมาเที่ยวลำพูน แต่เขาอยู่เพียง 40 นาทีแล้วก็กลับ ส่วนใหญ่จะมาเที่ยววัดพระธาตุหริภุญชัย มากินเฉาก๊วยมุกดา เราเริ่มอยากให้คนเข้ามาใช้ชีวิตในลำพูนให้มากขึ้น เลยเกิดชื่อโปรเจกต์นี้ว่า “ลองลำพูน” คล้องกับคำว่า Long ที่แปลว่ายาวนาน เชื่อมโยงกับเมืองลำพูนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี มันมีเรื่องราว วิถีชีวิต เราอยากนำเสนอให้มันอยู่ในงานของเรา และ คำว่า ลอง ที่อยากให้ลองมาใช้ชีวิตให้นานมากขึ้น ลองมาอยู่ และลองมาเข้าใจ” อิงฟ้ากล่าว

ภาพ: เพจลองลำพูน

เปลี่ยนบ้านเกิดของเราให้เป็นเมืองนอนที่อบอุ่นต้อนรับทุกคน 

“อย่างที่บอกว่ากลางเมืองมันเงียบ เราต้องการจำนวนคนเพิ่มเข้ามาอาศัยในเมืองลำพูน  และต้องเป็นคนที่อยากจะพัฒนาเมืองร่วมกันไปกับเรา ภายใต้ชื่อ “บ้านเกิดของฉัน เมืองนอนของทุกคน” คืออยากให้อยู่มากกว่า 40 นาทีหรือตลอดไปก็ได้”

อิงฟ้ายกตัวอย่าง photo exhibition อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของงานนี้ที่ชื่อว่า “บ้านเกิดเมืองนอน: บ้านเกิดของฉัน เมืองนอนของทุกคน” มาจากแนวคิดที่อยากจะให้เศรษฐกิจลำพูนขับเคลื่อน จึงต้องถึงคนเข้ามาอยู่ในลำพูนให้ยาวนานขึ้นผ่านแนวคิดนี้ และคนที่เข้ามาต้องอยากจะพัฒนาเมืองลำพูนไปด้วยกันจริง ๆ 

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย
ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ลองลำพูน อยากบอกอะไรกับเรา

“เราต้องการนำเสนอวัฒนธรรมของความเป็นลำพูน อย่างงานคราฟต์ งานศิลปะ และ element ต่าง ๆ หรือจะเป็นงานดีไซน์ เสื้อผ้า กระเป๋า หรือร้านกาแฟ โดยเราจะแบ่งโซนทั้งหมดออกเป็น 6 โซน คือ

1.Photo Exhibition นิทรรศการภาพถ่าย เรื่องราวของคนในเมืองลำพูน

2. Lamphun Art Bienale หรือ Art Gallery ที่รวมผลงานของศิลปิน เพื่ออยากจะสื่อสารประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับคนที่มาร่วมงานว่าคนลำพูนจริง ๆ แล้วลำพูนเป็นเมืองแห่งศิลปะ เพราะศิลปินกันในลำพูนมีเอกลักษณ์ เรื่องราวที่มีความเป็นตัวของตัวเอง 

3. Creative Community Space ที่เปิดให้ทุกคนในลำพูนเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานกาแฟ งานอาหาร งานเบียร์คราฟต์ และงานสินค้าคราฟต์ต่าง ๆ อย่างงานผ้าที่ลำพูนมีความโดดเด่นในเรื่องนี้

4. Room Prototype หรือการจำลองห้องพักต้นแบบ มาดูเป็นตัวอย่างได้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่ที่ว่างให้เกิดมูลค่าอีกครั้ง

5. Landscape of Home ภูมิทัศน์แห่งบ้านเกิดเมืองนอน เราได้รวบรวม asset ร้างในเมืองลำพูนมานำเสนอในงาน และมีสถาปนิกที่ปรึกษาในออกแบบจากการเปลี่ยนพื้นที่ร้างให้เกิดมูลค่าได้อย่างไร

6. Festival Space พื้นที่สำหรับเทศกาล อย่างงานเสวนา วงแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ของเมืองลำพูน”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ฝันให้ Long แบบลำพูน

“เราอยากเห็นลำพูนเป็นเมือง Public Art ที่ใคร ๆ ก็สามารถเอางานมาโชว์ได้ และจะเริ่มผลักดันการเกษตรเชิงท่องเที่ยวขึ้นมา สร้างวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว คือแทนที่ชาวบ้านจะต้องรอหน้าฤดูกาลลำไยก็มารับนักท่องเที่ยวแทน เพราะอาจจะกลายเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนได้” และอิงฟ้าเล่าความหวัง ความฝันที่ไกลกว่านั้นต่อว่า “เราอยากเห็น ลำพูนเป็นเมืองแห่งสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ที่มีการประกันสิทธิต่าง ๆ อยู่ในนั้น เช่น สิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนกับที่เราเคยเรียนและเชื่อมัน เพราะมันจะเป็นทางออกที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้” อิงฟ้าบอกความเป้าหมายสูงสุดของการทำงานพัฒนาเมืองให้เราฟัง

สิ่งใหม่ สิ่งเดิม เพิ่มเติมความท้าทาย

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

อย่างนเรนทร์ ปัญญาภู เจ้าของพิพิธภัณฑ์มิกกี้เมาส์ จ.ลำพูน เล่าถึงสิ่งที่อยากเห็นข้างหน้าว่า “ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่กลับมาทำหลาย ๆ อย่างในลำพูนแล้วก็จริง แต่หลังจากนี้ ต้องมีการคุยกันมากขึ้น และทำความเข้าใจในความเป็นลำพูน เราจะเชื่อมกันและสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นลำพูนอย่างไร หวังว่าคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่จะเข้าใจกัน ลำพูน มันมีความเป็นจุดเด่นของแต่ละอัน อยากน่ารักอย่างลำพูน อร่อยแบบลำพูน แต่ละที่มีความน่าสนใจ ที่ดึงความเป็นลำพูนออกมาได้”

“ตอนนี้มันยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ระหว่างคนรุ่นเดิมกับคนรุ่นใหม่ในการทำงานร่วมกัน สุดท้ายมันต้องมีการคุยกันต่อไป มีพื้นที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน” อิงฟ้าทิ้งท้าย

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

งาน ลองลำพูน จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 17 กันยายน 2566 ณ กรุงไทยอาร์ตแฟคตอรี่ วันธรรมดา เปิดให้เข้าร่วมตั้งแต่ 10.00-17.00 น. วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เปิดให้เข้าร่วมได้ตั้งแต่ 10.00-20.00 น. สามารถติดตามรายละเอียด ตารางกิจกรรมของงาน ได้ทางเพจ ลองลำพูน Long Lamphun

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง