เปิดตัวร้าน Golden Land Solidarity Collective

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่รัฐประหารในเมียนมานำไปสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของเมียนมา สงครามนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวเมียนมาอย่างยากที่จะจินตนาการได้ ชาวเมียนมาต้องเผชิญกับความโหดร้ายจากระบอบทหารทั้งการสังหาร ทรมาณ บังคับสูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกนับไม่ถ้วน นอกเหนือจากการต่อสู้ของชาวเมียนมาภายในประเทศแล้ว ภายนอกประเทศอย่างประเทศไทยก็มีการช่วยเหลือการต่อสู้ของชาวเมียนมาอย่างช้านานตั้งแต่การต่อสู้ในปี 1988 เป็นต้นมา ซึ่งกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนชาวเมียนมาในการต่อสู้เสมอมา

ในวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ร้านขายของชำร่วย Golden Land Solidarity Collective เปิดตัวขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างนักกิจกรรมประเด็นเมียนมา ซึ่งขายหัตถกรรมจากผู้หญิงในเมียนมาเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมา ในงานมีการแสดงดนตรีสดจากศิลปินชาวเมียนมาและไทย ซุ้มขายสินค้าของเครือข่าย และอาหารเมียนมา มีผู้เข้าร่วมงานหลากหลายทั้งจากประเทศไทยและเมียนมา ประกอบกับชาวต่างชาติผู้ที่สนใจประเด็นเมียนมา

คุณ Breanna Randall หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Golden Land Solidarity Collective ได้เล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อตั้งร้านไว้ว่า พื้นที่แห่งนี้เกิดขึ้นด้วยความต้องการที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสนับสนุนให้ผู้หญิงและศิลปินที่อาศัยอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากมีชีวิตชีวาขึ้น พื้นที่นี้ยังมีไว้เพื่อสร้างภารดรภาพระหว่างชาวไทยและเมียนมาโดยเฉพาะในระหว่างวิกฤตในเมียนมาที่ทำให้ผู้คนต้องทุกข์ทรมาณ เธอได้เพิ่มเติมอีกว่า พื้นที่นี้มีเป้าหมาย 1.เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสามารถของฝีมือของเหล่าศิลปินและช่วยพวกเขาเรื่องการตลาดอีกทั้งเป็นสถานที่ขายสินค้า 2.เพื่อตอบแทนพวกเขาจากงานที่ทำและช่วยสนับสนุนด้านการเงินกับชุมชนของพวกเขา 3.เพื่อสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาไปยังสังคมที่กว้างขึ้นซึ่งเป็นการสร้างมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างไทยเมียนมาไปในตัว

เธอแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า นักกิจกรรมไทยและเพื่อน ๆ แสดงความใจดีและใจกว้างมาโดยตลอดด้วยการให้เวลาและความสนใจ พวกเขารับฟังและเข้าร่วมงานระดมทุนของเราในวันนี้ อีกทั้งช่วยเหลือชาวเมียนมาที่เข้ามาใหม่เพื่อให้มีเครือข่ายอีกด้วย มีผู้คนมากมายที่ช่วยสนับสนุนโปรเจคที่สนับสนุนความมีชีวิตชีวาหรือชวนพวกเราไปยังพื้นที่ของเขา พวกเราทั้งหมดทั้งจากเมียนมาและผู้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนเมียนมารู้สึกทราบซึ่งกับการต้อนรับของสังคมไทยในช่วงเวลาที่น่าสะพรึงกลัวในเมียนมา

คุณ Becky Goncharoff ผู้อำนวยการองค์กร Radical Grandma Collective หนึ่งในผู้ก่อตั้งอีกท่านหนึ่งยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือระหว่างชาวไทยและเมียนมาไว้ว่า เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยทั้งเมียนมาและไทยที่จะทำงานด้วยกันเนื่องจากรากฐานของการต่อสู้มาจากที่มาเดียวกัน พวกเราคงละเลยเรื่องสำคัญหากไม่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในของการต่อสู้ดิ้นรนด้วยกัน ไม่เพียงแค่เรียนรู้กลยุทธแต่รวมถึงร่วมกันรู้สึกถึงการสนับสนุนและความเข้าใจกันของผู้คนที่ต่างต้องดิ้นรนอยู่ในการต่อสู้ที่คล้ายกัน

อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งภายใต้นาม C ได้ทิ้งท้ายว่า พวกเรารู้สึกยินดีสำหรับโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน การที่คนไทยต้องการเข้าใจเมียนมามากขึ้นและอยากรู้ความเป็นไปในเมียนมาเป็นแรงสนับสนุนอย่างมากสำหรับเรา ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง