เมษายน 27, 2024

    อิสรภาพบนกระดานสเก็ต จากเชียงใหม่ถึงฮานอย การเดินทางไร้ระเบียบบนสเก็ตบอร์ดของ โตโต้-จิรวัฒน์ นาวาจักร์

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

    “อิสรภาพเวลาที่อยู่บนสเก็ตบอร์ดทำให้ไม่เคยคิดจะเลิกเล่นมันอีกเลยทั้งชีวิต”

    ‘Tony Hawk’ Pro Skateboarder ผู้ลือลั่นที่สุดในโลก เปล่งวาจาฝังโลกนี้ไว้ ไม่ว่า Hawk จะพูดเพื่อตัวเองหรือผลตอบแทนแบบใด มันกลับผลักดันให้ผู้คนที่หลงไหลในสเก็ตบอร์ดเคลื่อนไปบนถนนหนทางที่เต็มไปด้วยอิสระตามใจนึก เหมือน โตโต้-จิรวัฒน์ นาวาจักร์ ที่เตรียมตัวไถสเก็ตออกเดินทางโดยลำพังจากบ้านเกิดที่เชียงใหม่มุ่งสู่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ด้วยระยะทางกว่า 1,189 กิโลเมตร

    ใช่แล้ว การเดินทางครั้งนี้คือการไถสเก็ตบอร์ดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปลายทาง โดยไม่มียานพาหนะใดเป็นส่วนประกอบของการเดินทางในครั้งนี้ เริ่ม 31 ตุลาคม 2566 ไม่มีกำหนด ไม่มีแผนการรัดกุม

    “เมื่อผมละทิ้งทุกบทบาทหน้าที่การงานทั้งหมดผมจึงมีสถานะเป็นเพียงคนไร้บ้านและนักเดินทางผู้เต็มไปด้วยศรัทธาแห่งศาสนาสเก็ตบอร์ดก็ว่าได้”

    มีแต่ความทะเยอทะยานที่พกพาความฝันที่คอยปลอบประโลมหัวใจ และสหายที่กลืนกลายเป็นอวัยวะอีกชิ้นของเรือนร่างอย่างสเก็ตบอร์ด

    “หากทุกสิ่งมีศูนย์กลาง ความสมดุลจะถูกกำหนดโดยแรงโน้มถ่วงของโลกเอง สิ่งที่เหลืออยู่คือการกระทำของมนุษย์ ดังที่นักสเก็ตบอร์ดมืออาชีพทุกคนรู้ดี ไม่มีทักษะใดที่ยากไปกว่าทักษะใด ทุกอย่างเท่าเทียมกัน มันเป็นเพียงเรื่องของการปฏิบัติ และนี่คือหัวใจของสิ่งประดิษฐ์และการเดินทางของฉัน”

    โตโต้บอกกับเราว่านี่คือการเดิมพันครั้งสำคัญของชีวิต เดิมพันด้วยวัยหนุ่ม เพราะถ้าช้าไปกว่านี้อาจไม่ทัน

    ในวัย 35 โตโต้ผ่านประสบการณ์ที่วนเวียนหายใจอยู่ในวิถีชีวิตของชาวสเก็ตบอร์ด มาเกินค่อนชีวิต ตั้งแต่อายุ 11 ปี จากนักฟุตบอลประจำห้อง ในงานกีฬาสีโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นความหวังเพราะตัวใหญ่กว่าใครเพื่อน ก่อนที่รุ่นพี่ต่างโรงเรียนจะมารู้จักกับสเก็ตบอร์ด แน่นอน หลังจากนั้นโลกของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป

    “มีอยู่วันหนึ่งมีแข็งบอลที่เป็นรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งใจตอนนั้นไม่อยากเล่นบอลแล้ว ร้อนก็ร้อนให้มาตากแดดอีก เรารู้สึกเคาะเขินกว่าปกติ เหมือนใจมันไปทางสเก็ต กลุ่มเพื่อนต่างโรงเรียนก็มาเชียร์กันตรงอัฒจันทร์ที่มงฟอร์ต เขามารอเราออกไปเล่นสเก็ต เราก็เลยเตะบอลเข้าประตูตัวเองเลยเพราะอยากไปเล่นสเก็ตแล้ว ตอนนั้นโดนเพื่อนแม่ด่ายับเลย ทำไมไม่อยากเล่นทำไมไม่บอก ก็บอกแล้วก็ไม่เชื่อไง ตลกมาก”

    “อีกเรื่องเรามีพี่ชายที่แก่กว่าเรา 3-4 ปี เขาก็มีเพื่อนที่เล่น BMX สมัยนั้นเรียกว่า Flatland ก็เล่นกันที่ลานสามกษัตริย์ เขาก็มีเพื่อนที่เล่นสเก็ตบอร์ดก็เอาสเก็ตบอร์ดมาที่บ้าน เราก็ได้ซึมซับอะไรเหล่านี้จากพี่ชายทั้งตัวสเก็ตบอร์ด ดนตรี เพลง Magazine อะไรที่เป็นสื่อต่างประเทศ มันนำพาเราไปในโลกที่ไม่เคยรู้จัก” โตโต้เล่าเสริม

    จากแค่ความสนใจชั่วคราว เล่นๆ หยุดๆ ไปค้นหาความน่าสนใจอย่างอื่นตามประสาวัยรุ่น เช่น ถ่ายภาพ ทำวงดนตรี ก่อนที่จะวกกลับมาที่อุปกรณ์กระดาน 4 ล้อ เหมือนเก่า

    การจับเลื่อยควงสว่านทำงานไม้ เพื่อทำ Ramp Skateboard ก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักให้โตโต้หันหลังจากสายงาน Production ที่กรุงเทพฯ กลับสู่เชียงใหม่

    “อยากทำอะไรซักอย่างที่ทำให้เราได้เล่นสเก็ตบอร์ดละก็เป็นงานให้กับตัวเองได้ด้วย สุดท้ายก็มาทำ Ramp Skateboard ที่ไม่มีในเชียงใหม่ โฟกัสตรงนั้น แต่ก็ขายไม่ได้หรอกนะ แต่ก็ทำให้เราได้เห็นว่าตามสถานที่ที่เราได้ไปเล่นไปเห็นมาเนี่ย มันก็คือปัญหาเดิมคือเด็กไม่มีที่เล่น สถานที่เล่นก็มีนะแต่จะเป็นที่จอดรถหน้าอาคารราชการ ใต้ถุนมหา’ลัย เรียบๆ พื้นดีๆ หน่อย เราก็ทำ Ramp เล็กๆ มาตั้งเล่นกัน แต่สุดท้ายก็เข้าอิหรอบเดิมคือโดนไล่ เรื่องสถานที่เล่นก็ยังไม่มีขนาดนั้นในเชียงใหม่ นี้ก็เป็นยุคก่อน Covid-19 อีกนะ มันเป็นปัญหาเดิมที่ไม่มีใครแก้”

    อยู่กันอย่างง่ายๆ ปราศจากโครงสร้างที่ภาครัฐควรจะช่วยเหลือ ผลผลิตของความทุ่มเทอย่างโดดเดี่ยวและกล้าหาญในสภาพแวดล้อมข้างถนนอย่างแท้จริง ไม่มีใครสนใจ และจากความเป็นจริงนี้ก็ทำให้เขาลุกขึ้นมารณรงค์ลานสเก็ตปาร์คสาธารณะในเชียงใหม่อีกด้วย รวมไปถึงการจัดกิจกรรม Go Skateboarding Day ที่ร่วมจัดกับเพื่อนฝูง เพื่อดำรงไว้ซึ่งชุมชนแข็งแรง แต่สถานการณ์ของ Covid-19 ก็สั่นคลอนหลายสิ่งไปจนเกิดเป็นความท้อแท้ ก่อนที่จะฮึดขึ้นมาอีกครั้ง เพียงเพราะปล่อยวางความหนักอึ้งข้างใน เพื่อที่จะเป็นอิสระ และออกเดินทาง 

    “ที่ผ่านมาผมมีเวลาว่างจนสามารถประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาได้หนึ่งชิ้น ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร และถึงเวลาต้องออกเดินทางอยากหาอะไรทำไม่ให้ตัวเองฟุ่งซ้านอยู่ในเมือง ผมอยากไถสเก็ตบอร์ดอยู่ที่ไหนซักแห่งบนโลกใบนี้ด้วยความรู้สึกเป็นอิสระ ในฐานะบทบาทนักเดินทางแสวงบุญและผู้เล่าเรื่องในทริปนี้ผมไม่ได้เดินทางอย่างล่องลอยไร้เหตุผลและจุดหมาย”

    เราถามต่อว่าทำไมต้องไปที่ฮานอย? มันมีเหตุผลอะไรประกอบไหม

    “ฮานอยเป็นสนามซ้อมมากกว่า อยากไปไกลกว่านั้นนะ แต่ขอเริ่มต้นก่อนว่าเราอยากไปฟิลิปปินส์ อย่างที่บอกสิ่งประดิษฐ์นี้เราอยากได้คำปรึกษาของคนที่มีอิทธิพลของโลกในวงการสเก็ต เราไม่อยากจดสิทธิบัตรในไทย เราก็แอบน้อยใจประเทศไทย เชียงใหม่ ไม่เคยให้อะไรกับกูเลยเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด อยากให้มันสากลหน่อย อยากได้คำปรึกษาจากคนๆ นั้น เขาเป็นเพื่อนซี้ของ Tony Hawk ชื่อ Willy Santos เขาเป็นคนฟิลิปปินส์ ในวงการสเก็ตบอร์ดคือดังมาก เราเคยส่งไปทางอีเมลไปหาเขา ทีมงานก็ไม่ตอบ เคยส่งไปทาง Tony Hawk ฝ่าย Management เขาก็บอกว่าเป็นไอเดียที่ดีนะ แต่เราไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือในสิ่งที่คุณขอได้ แต่ผมแค่อยากให้เขาเห็นคลิปวิดีโอแนะนำตัว แต่เค้าก็ไม่เปิดให้ Tony Hawk ดูหรอก มันหมายถึงว่ากูสำคัญตัวเองผิดไปนี่หว่า กูเป็นไอ่เด็กตี๋คนหนึ่ง อยู่ดีๆ จะไปอะไรกับคนระดับนั้นวะ ตอนนั้นเราเชื่อว่าโลกมันใกล้กันไม่ใช่หรอ อินเตอร์เน็ตมันเชื่อมกันไม่ใช่หรอ Hashtag กันไปมันก็คุยกันได้ไม่ใช่หรอ สุดท้ายเรารอไปประมาณ 5-6 เดือน เรารู้สึกกูปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ละ เลยคิดว่าถ้าถึงฮานอยปุ๊บเราอาจจะนั่งเครื่องบินไปฟิลิปปินส์ ไปหาแกเผื่อจะเป็นช่องทางให้เราคุยกับ Hawk ได้บ้าง เพราะเราไม่สามารถไถ่สเก็ตบอร์ดในทะเลได้ (ฮา) เรื่องตลกอีกอย่าง ฮานอยถ้าอ่านเป็นคำเมืองมันแปลว่า ฮาหน่อยเตอะ ไรงี้ ขำๆ หน่อยเถอะไรงี้ เราเลือกขึ้นไปทางเหนือ สตาร์ทที่หน้าบ้านเราเลย ไปทางพะเยา ผ่านเข้าประเทศลาว อาจจะนอนลาวไรงี้ เฉียงขวา เฉียวๆ ข้างบนหลวงพระบาง ไถไปบนถนนเลข AH13”

    แม้การเดินทางด้วยสเก็ตครั้งนี้จะมีเสียงคัดค้านทางครอบครัวอยู่บ้าง แต่กลับกันมิตรสหายต่างส่งเสียงเชียร์ให้ไปเลย

    “พี่หอย วิศววิท เตพา มือกลอง วง Migrate to the Ocean แกก็เล่นสเก็ตนี้แหละ แกเป็นคนจำกัดความ Hashtag Skate pilgrim มาก่อนเราอีก ที่แปลว่าสเก็ตแสวงบุญนี้นะ แกก็บอก ‘โหโต้แม่งมึง ฝากจิตวิญญาณกูไปกับมึงด้วยนะ กูอยากไปเหมือนกันแต่กูเปิดร้านกาแฟ มีแฟนละ ไปไม่ได้’ แกโคตรอยากไปเลย แต่ก็มีคนอยากไปส่งถึงปากเขื่อนแม่กวงด้วยนะ จา RECAP, ไบค์ Do you ever social club, เจี๊ยบ ขายถั่ว, มาย Dontree คนเชียร์ให้ไปเยอะมาก มันมีค่าที่จะไป”

    โตโต้บอกกับเราเพิ่มเติมว่าการเดินทางในครั้งนี้ เป็นการแสวงบุญ บุญในความหมายของการแบ่งปันระหว่างเส้นทาง ผ่านการชวนเด็กๆ เล่นสเก็ต แลกเปลี่ยนกับอาหารและที่พัก เหมือนแบ่งปันเนื้อนาบุญระหว่างกัน

    “เพื่อนรักกระดานไม้ตัวนี้ แม้จะไม่มีเลือดเนื้อ ไม่มีลมหายใจ แต่มันคือผม ผมคือสเก็ตบอร์ด จะไถมันสร้างเรื่องราวประดับไว้ในออนไลน์ด้วย ผมไม่ได้เป็นคนแรก และไม่ได้ต้องการแข่งขันกับใครแน่นอน การแข่งขันไม่ใช่วิถีชีวิตของผมและผมไม่รู้ว่าจะจากบ้านไปนานเท่าไหร่เหมือนกันนะ มีแต่คนถามว่ามึงจะกลับบ้านเมื่อไหร่วะ มึงจะถึงเมื่อไหร่วะ เราก็บอกเพื่อน พ่อแม่ ว่าไปครั้งนี้เราก็ไม่รู้นะว่าจะได้กลับเมื่อไหร่ จนกว่าจะได้ไปเจอ Tony Hawk ให้ได้ ช่วงนี้ก็เข้าหาเพื่อนบ่อยๆ คิดถึงเพื่อน คิดถึงอะไรเก่าๆ ก็ไปให้นานที่สุดจนได้เจออย่างที่ฝัน แต่มี Rule คือถ้าฉุกเฉินจริง อาจจะขออนุญาตนั่งเครื่องบิน นั่งเรือ นั่งรถกลับไปแปปหนึ่ง”

    ก่อนจะทิ้งท้ายจากกันไป เราถามว่าจะติดตามการเดินทางครั้งนี้ได้ที่ไหนบ้าง โตโต้ บอกว่า ใน Instragram  https://www.instagram.com/theskatepilgrim และก็มีใน Youtube ช่อง https://www.youtube.com/@skatepilgrim ด้วย จะสื่อสารทุกวันเพื่อให้รู้ว่ายังปลอดภัยดี ถ้าเป้าหมายทุกอย่างเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ก็จะกลับมาขับเคลื่อนชุมชนสเก็ตที่เชียงใหม่ต่อเหมือนเดิม เพราะที่นี่คือบ้าน

    แม้จะยังไม่สามารถเดาอะไรได้ในตอนนี้ก็ตาม ก่อนจะโบกมือลากันไป ในขณะที่โตโต้ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนกระดานขับเคลื่อน 4 ล้อ เคลื่อนที่อย่างที่ใจต้องการ ‘อิสรภาพ’

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...