ชวนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม กำหนดทิศทาง-นโยบายกองทุน 2.3 ล้านล้านเพื่อคนทำงาน

เรื่อง: สุรยุทธ รุ่งเรือง

วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ถือเป็นวันเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือ ‘บอร์ดประกันสังคม’ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งผู้จ้างและลูกจ้าง ได้ร่วมเสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคมจำนวนกว่า 2.3 ล้านล้านบาท เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้แรงงาน

โดย We Watch ได้เปิดข้อมูล 3 เหตุผลใหญ่ ทำไมต้องไปเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม? ข้อแรกคือนี่เป็นการเลือกตั้งที่ตัวแทนของประชาชนที่จะได้เข้าไปดำรงตำแหน่ง จะมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด ข้อสองคือการเลือกตัวแทนประชาชนเข้าไปดูแลกองทุนกว่า 2.3 ล้านล้านบาทให้ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และข้อสุดท้าย คือนี่เป็นการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งแรก ที่เสียงของแรงงานทุกคนจะไม่ถูกมองข้าม ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ 1 คน = 1 เสียง หลังการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคมโดยคสช.ในปี 2562 

ตัวแทนของประชาชนที่จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่


ภาพ: We Watch

ในส่วนของโครงสร้างของบอร์ดประกันสังคมนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.ข้าราชการ จำนวน 7 คน (มาจากหน่วยงานรัฐ) 2. นายจ้าง จำนวน 7 คน (มาจากการเลือกตั้ง) 3. ลูกจ้าง จำนวน 7 คน (มาจากการเลือกตั้ง) การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจึงมีความสำคัญในแง่ของการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน เพราะการเลือกตั้งจะทำให้มีตัวแทนจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมดมาจากเสียงของประชาชนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะเข้าไปดูแลกองทุนประกันสังคม บริหารจัดการสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของแรงงาน รวมไปถึงการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในประเทศด้วย

กองทุนส่วนรวมในการดูแลของคนที่มาจากเสียงประชาชน


ภาพ: We Watch

นอกจากการปกป้องดูแลผู้ใช้แรงงานภายในประเทศอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงแล้ว การมีคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังเป็นหลักประกันว่าเงินกองทุนจะถูกดูแลให้ปลอดภัย และหยิบมาใช้ในเวลาและโอกาสที่ถูกต้องอย่างแท้จริงด้วย เพราะเราจะสามารถเลือกตัวแทนเข้าไปนั่งในบอร์ดประกันสังคมเพื่อดูแลกองทุนขนาด 2.3 ล้านล้านบาทได้ โดยกองทุนประกันสังคม มาจากการสบทบเงินระหว่าง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่เทียบเป็น 70% ของงบประมาณรายจ่ายรายปีของประเทศ และครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์บ้านเมือง ก็เคยมีเหตุการณ์ที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินกองทุนไปใช้อย่างน่ากังขา


โรงแรมศรีพันวา (ภาพ: Wongnai.com)

ย้อนไปในช่วงเดือนกันยายน 2563 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นของโรงแรม ‘ศรีพันวา’ พบว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของศรีพันวา คือ สำนักงานประกันสังคม ที่จำนวนหุ้นอยู่ที่ 63,072,615 หุ้น หรือคิดเป็น 22.60 เปอร์เซ็นต์ จนนำไปสู่การตั้งคำถามจากประชาชน ว่าการนำกองทุนมาใช้ลงทุนนี้หรือไม่ คือสาเหตุที่ประกันสังคมไม่สามารถเอาเงินมาจ่ายให้ผู้ประกันตนช่วงสถานการณ์โควิด 19 ณ ตอนนั้นได้ เพราะในช่วงเวลานั้น ผลประกอบการปี 2561 ของโรงแรมศรีพันวา ขาดทุนไปกว่า 150 ล้านบาท

อีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ คือความเหมาะสมในการนำเงินกองทุนมาลงทุนถือหุ้นธุรกิจ แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ประกันสังคมนำเงินกองทุนมาลงทุนในธุรกิจใดๆ แต่เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจในการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวคืออะไร รวมถึงผู้ตัดสินใจลงทุนคือใคร ก็ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ อีกทั้งการนำเงินกองทุนมาลงทุนในธุรกิจใดๆ ก็ควรเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำและทำกำไร แต่ธุรกิจโรงแรมศรีพันวาในตลาดหลักทรัพย์นั้นยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง จึงชวนให้ขบคิดว่านี่เป็นการลงทุนเพื่อหาผลกำไร หรือเป็นการนำเงินกองทุนไปช่วยให้พวกพ้องนายทุนหมุนเวียนในกิจการ แทนที่จะถูกเก็บไว้ใช้จ่ายเป็นเงินส่วนรวม ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานภายในประเทศกันแน่

ครั้งแรกกับการเลือกตั้งที่สิทธิ์เสียงของแรงงานจะไม่ถูกละเลย

อีกหนึ่งความสำคัญของการของการเลือกต้องบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ คือการที่นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบ 1 คน = 1 เสียง โดยที่ลูกจ้างสามารถเลือกตัวแทนฝั่งลูกจ้างได้ไม่เกิน 7 คน และฝั่งนายจ้างสามารถเลือกตัวแทนฝั่งนายจ้างได้ไม่เกิน 7 คน ต่างจากในอดีต ที่การเลือกตั้งจะใช้ระบบ 1 สหภาพ = 1 เสียง ทำให้เกิดการละเลยเสียงของผู้ใช้แรงงานบางคนในสหภาพไป ต่อมาในปี 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ ม.44 ออกคำสั่งยกเลิกและยกเว้นกระบวนการเลือกตั้งและเปลี่ยนมาใช้การแต่งตั้งแทน จนกระทั่งคำสั่งดังกล่าวของคสช. ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2562 จึงทำให้ที่มาผู้แทนฝั่งนายจ้างและลูกจ้างของบอร์ดประกันสังคมกลับมาใช้วิธีการเลือกตั้ง ที่ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ใช้แรงงานจะสามารถใช้สิทธิรักษาผลประโยชน์ได้โดยตรงและตรงเจตนารมของตัวเองอีกครั้ง


ภาพ: We Watch

เปิดสมาชิกทีมประกันสังคมก้าวหน้า อุดมการณ์พัฒนาประกันสังคมอย่างเป็นประชาธิปไตย

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สมัครคณะกรรมการประกันสังคมที่น่าจับตามองในตอนนี้ โดยเป็นกลุ่มตัวแทนที่มาจากหลากหลายอาชีพที่มาทำงานร่วมกันด้วยอุดมการณ์เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบประกันสังคมให้กลายเป็นรัฐสวัสดิการที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้เปิดตัวผู้สมัครฝ่ายผู้ประกันตนทั้ง 8 คนของทีมออกมาแล้ว ประกอบไปด้วย

(เบอร์ 27) รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี –  รองศาสตราจารย์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(เบอร์ 28) ศิววงศ์ สุขทวี – ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน
(เบอร์ 29) ชลิต รัษฐปานะ – สมาชิกสหภาพคนทำงาน
(เบอร์ 30) ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน – ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
(เบอร์ 31) นลัทพร ไกรฤกษ์ – ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
(เบอร์ 32) ลักษมี สุวรรณภักดี – ประธานสหภาพแรงงานมอลลิเก้ เฮลท์ แคร์
(เบอร์ 33) ธนพร วิจันทร์ – ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
(เบอร์ 34) บุญยืน สุขใหม่ – ประธานสหภาพแรงงานพนักงานไอทีเอฟและประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย


ภาพ: Facebook ประกันสังคมก้าวหน้า – เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ผ่านเว็บไซต์ https://sbe.sso.go.th/sbe/ โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง