ความหมายของพระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์ไทย  

ความสวยงามของพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศไทยคือพระพุทธชินราช ตั้งอยู่ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัด พิษณุโลก การนำเสนอภาพของพระพุทธชินราชในช่วงเวลาต่างๆ มิได้นำเสนอภาพของความงดงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ภาพการอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้มีความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

ความหมายของพระพุทธชินราชช่วงแรกปรากฏในพงศาวดารเหนือ สันนิษฐานว่าเขียนในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นการเขียนในแบบจารีต กล่าวคือเล่าเรื่องภายใต้พระบารมีของกษัตริย์คือพระยาจักรพรรดิราชเป็นผู้สร้างพระองค์นี้ ความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่อมาคือคำอธิบายพระพุทธชินราชภายใต้รัฐแบบใหม่ กล่าวคือการอธิบายภายใต้แนวคิดจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิใช้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องอธิบายภายใต้ขอบเขตอำนาจรัฐของสยามที่มีพรมแดนแผนที่ชัดเจน

ฉะนั้น การอธิบายทำนองนี้ต้องมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง (เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์) มารองรับการเล่าเรื่อง ภายใต้รัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายหัวเมืองต่างๆให้เข้ากับสยาม โดยอ้างความสัมพันธ์สืบเนื่องกับพระยาจักรพรรดิราช (ที่เชื่อว่าเป็นเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช) ว่าราชวงศ์จักรกรีสืบเชื้อสายมาจากพระองค์

ความคิดเรื่องอาณานิคมภายในได้แสดงถึงรวมพื้นที่อื่นๆ ที่กระจัดการะจายโดยรอบให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกับสยาม แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปในพื้นที่ต่างๆ ไปไว้ที่ส่วนกลาง(กรุงเทพฯ) คือวัดเบญจมบพิตร วัดเบญจมบพิตรมีความสำคัญกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามเนื่องจากอธิบายโครงสร้างอำนาจรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธราชย์ผ่านภาพวาดรอบอุโบสถวัดที่อธิบายลักษณะของมณฑลต่างๆ ที่มิใช่สยามตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองอีกด้วย

ความหมายของพระพุทธชินราชจำลองจึงเป็นการอธิบายรากของรัฐสยามได้มากกว่าพระแก้วมรกตเนื่องจากอธิบายภายใต้พรมแดนของอำนาจรัฐของสยามได้ชอบธรรมกว่า ความหมายของพระพุทธชินราชเปลี่ยนกระบวนทัศน์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เปลี่ยนความสัมพันธ์จากอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นความสัมพันธ์กับชาติที่ยาวนาน ที่ต้องการวิพากษ์ความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปและใช้ความเจริญรุ่งเรืองของชาติสยามผ่านการอธิบายองค์พระพุทธชินราชซึ่งเป็นตัวแทนของยุคคลาสสิกของสยามนั่นคือยุคสุโขทัย 

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างองค์พระพุทธราชจำลองซึ่งจัดทำโดยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มหล่อและถอดแบบมาจากพระพุทธชินราชองค์จริงที่พิษณุโลกและเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานต่อที่กรุงเทพฯเนื่องจากมีวัสดุที่พร้อมกว่า ท้ายที่สุดพระพุทธชินราชจึงถูกประกอบสร้างอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านการอธิบาย การจำลอง ฯลฯ อย่างมากมาย

อ้างอิง

  • ชาตรี ประกิจนนทการ, พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551).

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง