เมษายน 26, 2024

    สภาชนเผ่าพื้นเมืองเร่งผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง เดินสายเข้าพบพรรคการเมือง เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯโดยเร็ว

    Share

    22/06/2022

    เมื่อ 21 มิ.ย 65 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(สชพ) พร้อมด้วย IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง เดินทางเข้าพบพรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเร่งพลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯโดยเร็ว


    เวลา 10.00 น. ตัวแทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยนำโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างวงศ์ ประธานสภา นายศักดา แสนมี่ เลขาธิการสภา และตัวแทนสภา เดินทางเข้าพบพรรคประชาชาติ เพื่อประชุม หารือ แลกเปลี่ยนความเห็นในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมือง และต้องการผลักดันร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์เข้าสู่สภาฯ รวมทั้งเชิญชวนพรรคประชาชาติ และเครือข่าย มาร่วมรณรงค์และสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย “ยอมรับตัวตน คุ้มครองสิทธิ ส่งเสริมวิถีชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศไทย” เข้ายื่นหนังสือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมือง


    พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติกล่าวว่า “พรรคประชาชาติ ขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นตัวแทนในการนำข้อมูลที่สำคัญเรื่องที่สำคัญ อย่าง ร่างฯพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ที่ทุกท่านได้มีส่วนร่วม ได้เห็นว่าถ้ามีกฎหมายชนิดนี้ขึ้นมาจะเป็นการยกระดับสังคมไทยที่ทำให้คนใกล้เคียงกับคนหรือเท่ากับคนขึ้นมา โดยการก่อกำเนิดของพรรคประชาชาติ ถ้าถามอุดมการณ์และก็นโยบายของพรรคนี้ ก็คือ เรามองว่าเราให้ความสำคัญกับการมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และก็จะมีความเสมอภาคไม่ว่าจะมีแตกต่างหลากหลาย แต่ว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับเกียรติ มีความเสมอหน้ากัน คือนโยบายหลักของพรรคประชาชาติ”


    “นโยบายหลักของพรรคประชาชาตินั้น เราเชื่อว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย วันที่ทำให้คนเท่ากับคน ก็คือ วันที่คนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คนรวยที่สุดกับคนไม่ว่าจะอยู่บนดอยหรืออยู่ใดๆก็ตาม ถ้าไปใช้สิทธิ์เสียงของคนจะเท่ากัน หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง แต่หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง มันควรจะเป็นหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงที่มีเกียรติยศเท่ากัน แต่ความเป็นจริง เรายังมีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากมนุษย์สร้าง ที่ไม่ใช้วัตถุ มนุษย์สร้างกฏหมาย กฏหมายจำนวนมากของสังคมไทย จะเป็นกฏหมายในลักษณะชาตินิยม อำนาจนิยม เมื่อความนิยมว่าวัฒนธรรมหนึ่งใหญ่ไปกว่าวัฒนธรรมหนึ่ง ตัวคนออกกฏหมายใหญ่ อีกคนผู้บังคับใช้กฏหมายมันจึงมีลักษณะกฏหมายกดทับ กดทับอย่างเดียวไม่พอบางส่วนทำลายวัฒนธรรม ทำลายความเชื่อทำลายเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะกฏหมายที่ระบุว่าอันตรายต่อรัฐ เป็นอันตรายต่อความมั่นคง หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย ทำให้เกิดอคติต่อชนเผ่า หรือชาติพันธ์ คนบนดอยจะมีกฏหมายจำนวนมากที่มองว่าเป็นคนผิด เพราะอยู่บนดอย เช่น คนดอยรุกป่า ทั้งๆที่จริง คือว่าคนในที่ราบที่ไม่มีป่าแสดงว่าที่ราบต้องรุก แต่ถูกมองเป็นคนดี แต่บนดอยยังมีป่าอยู่กับมองเป็นคนรุกป่า”


    พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เราได้รับฟังข้อมูล ตัวกฏหมายก็สิ่งที่บอกไว้ 2 เรื่อง เรื่องแรกนั้น วาระแรก พรรคประชาชาติมีคณะไปช่วยดูช่วยศึกษา แต่เราก็เชื่อมั่นอยู่แล้วว่า ถ้ากฏหมายที่ประชาชนเสนอ ตัวพรรคประชาชาติ เราไม่ได้อยากจะไปแก้ไขอะไรเลยแม้แต่แรกเดิม เราอยากจะส่งเสริม เพราะว่าคนที่เป็นประชาชน ไม่มีเงินเดือนเหมือน ส.ส. ที่มีเงินเดือนมีอาหารฟรี ขึ้นเครื่องบินก็ฟรี พวกเรานี้ขึ้นเครื่องบินเสียเงินหมด ดังนั้น เราก็จะพยายามรักษาไว้ วาระที่สองก็จะมาดูว่า กฏหมายควรให้เกิดความยุติธรรมกับคนส่วนใหญ่และคนในประเทศหมดทุกคน ในส่วนของพรรคประชาชาติ ในฐานะที่พรรคเรามีพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่จะนำไปเข้าเวทีพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีข้อสังเกตกรณีประชาชนส่วนใหญ่ที่พบว่าเสียงของประชาชนถ้าในทางการปกครองหรือในทางกฏหมายจะเป็นเสียงที่ไม่เป็นเสียง แต่คนบางคนส่วนน้อยเสียงดังมากกว่าโดยเฉพาะชนเผ่าพื้นเมือง เป็นเสียงที่นอกจากจะไม่มีเสียงแล้ว เป็นเสียงที่รัฐใมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงก็ได้”


    “พรรคประชาชาติเราเชื่อว่า ถ้าเราทำให้คนเท่ากัน ทำให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ประชาชนครับ” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวปิด


    ต่อมาเวลา 15.30 น. ตัวแทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้เดินทางไปพบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทางนายชัยวุฒิ ธนาคนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยตัวแทนจาก ส.ส.พลังประชารัฐจากกาญจนบุรี เชียงใหม่ ได้เดินทางมารับหนังสือและร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ สภาชนเผ่าฯ


    นายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคกลาง ออก ตก เป็นตัวแทนถาม ช่วยยืนยันแนวทางหรือโอกาสที่จะทำให้ ร่าง สภาชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านการพิจารณาโดยเฉพาะในฐานะฝ่ายรัฐบาลมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง


    ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคนุสรณ์ ได้กล่าวว่า “ถ้าเกิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมมี ร่าง ในทำนองแบบนี้อยู่ อาจจะขออนุญาตไปศึกษาว่าเป็นอย่างไรและมีข้อแตกต่างอย่างไร ถ้ารัฐบาลมีแนวทางในลักษณะนี้แล้วก็จะเร่งผลักดันเข้ามาพร้อมๆกัน และจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด เนื่องจากประชุมในอีก 2-3 เดือนนี้ หรือถึงธันวาคม มกราคม อาจจะไม่ทันแต่จะพยายามเร่ง และกล่าวต่อว่า ถ้ากฎหมายที่มาตราไม่เยอะและไม่มีความขัดแย้งอาจจะเร็วขึ้นก็ได้จะพยายามผลักดันในสมัยนี้ตราบใดที่ยังไม่มีการยุบสภา และคิดว่าไม่น่าจะขัดแย้งอะไรเพราะไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หรือเป็นองค์กรที่ขัดแย้งกับใคร เป็นการส่งเสริม อย่างไรก็ตามจะต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงวัฒนธรรมและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง”


    และกล่าวปิดท้ายว่าถ้าทุกพรรคเห็นพ้อง และไม่ขัดแย้งกันก็น่าจะเลื่อนการพิจารณาในสภาฯได้ เพราะคิดว่าการพิจารณาไม่น่าจะใช้เวลานาน


    #lanner
    #ชนเผ่าพื้นเมือง
    #ชาติพันธุ์ก็คือคน

    Related

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...