พฤษภาคม 6, 2024

    เรื่องเล่าจากนักเรียน “คิวรถขาวรอบสุดท้าย”

    Share

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น

    เมื่อเข้าสู่การเปิดภาคเรียนการศึกษาของชั้นมัธยมศึกษา เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ค่อยๆ ปรับตัวเรื่องการเรียน จากระดับชั้นประถมศึกษาไปสู่ชั้นมัธยมต้น หรือบางคนก็จากมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย  แต่ยังมีเด็กนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังต้องปรับตัวกับการเดินทางไปโรงเรียน ซึ่งมีระยะทางห่างไกลจากบ้านและจำเป็นต้องเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ โดยจะขอเน้นเฉพาะรถสองแถวคันสีขาว แม่แตง – เชียงใหม่ หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “รถขาว” และ “รถแม่แต๋ง”

    จากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เด็กนักเรียนโรงเรียนในตัวเมืองมักจะเข้าถึงโอกาสในการเรียน และการทำกิจกรรมมากกว่าเด็กนักเรียนโรงเรียนในต่างอำเภอ จึงทำให้เด็กนักเรียนที่อยู่รอบนอกตัวเมืองถูกผลักดัน และส่งเสียจากผู้ปกครองให้ได้เรียนโรงเรียนชั้นนำในจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนเหล่านั้นตั้งอยู่ในตัวเมืองที่มีความเจริญรอบด้าน ผู้ปกครองบางคนที่มีเวลาและมีกำลังทรัพย์มากพออาจจะเดินทางไปส่งลูกด้วยตนเองด้วยรถส่วนตัว แต่ในทางกลับกันผู้ปกครองบางคนก็ไม่มีทรัพย์มากพอที่จะมีรถส่วนตัวหรือไม่มีเวลาที่จะไปส่งด้วยตนเองได้ เด็กนักเรียนเหล่านี้จึงต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งอำเภอแม่แตงในจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นอีกอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองกว่า 50 กิโลเมตร และยังมีเด็กนักเรียนเดินทางเข้ามาเรียนในตัวเมืองทุกปีเป็นจำนวนมาก ทำให้รถสองแถวสีขาวมีความสำคัญและผูกพันเสมือนดูแลเรื่องการเดินทาง รับ – ส่ง ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าเรียนจนเด็กนักเรียนเหล่านี้เรียนจบ

    สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนมัธยม ผู้เขียนเองก็เคยเป็นเด็กนักเรียนที่ต้องเผชิญความเป็นจริงเหล่านั้นมาก่อนเหมือนกัน เด็กนักเรียนที่ถูกผลักดันจากพ่อแม่ให้ไปเรียนโรงเรียนในตัวเมือง เด็กนักเรียนที่พ่อแม่ไม่มีกำลังทรัพย์และเวลาพอที่จะเดินทางไปส่งด้วยตนเองได้ เด็กนักเรียนที่ต้องนั่งรถสองแถวสีเหลืองเดินทางไปโรงเรียน เนื่องจากบ้านของผู้เขียนอยู่ในอำเภอแม่ริม แล้วกลับด้วยรถสองแถวสีขาว เนื่องจากรถสองแถวสีเหลืองอำเภอแม่ริมมีคิวรอบสุดท้ายเวลา 18.00 น. จึงต้องขึ้นรถสองแถวสีขาวแทน หากกลับหลังรอบคิวรถสองแถวสีเหลืองหมด 

    ส่วนตัวแล้วผู้เขียนมักจะชอบเกาะบริเวณโครงของท้ายรถ หรือถ้าพูดภาษาเด็กนักเรียนที่นั่งรถสองแถวเรียกกันก็คือ “โหนรถ” เนื่องจากผู้เขียนมีรูปร่างใหญ่และไม่อยากที่จะนั่งเบียดติดกับคนอื่น การโหนรถจึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนทำเป็นประจำ เด็กนักเรียนคนอื่นๆ รวมถึงผู้เขียนเอง เมื่อเห็นทั้งเด็กเล็ก ผู้หญิงหรือผู้สูงอายุก็ตาม ก็จะสละที่นั่งให้แล้วออกไปโหนส่วนท้ายของรถแทน เมื่อทำการโหนเป็นประจำจึงเกิดความเคยชิน ยิ่งเมื่อเป็นรถคิวรอบสุดท้ายแล้วการโหนรถจึงเป็นเสมือนการมัดมือชก ถ้าหากไม่ขึ้นรถคันนี้ที่เป็นคันสุดท้ายก็จะไม่มีรถรอบอื่นให้ขึ้นอีกแล้ว แม้ว่าด้านในจะเต็มแล้วหรือจะมีคนโหนอยู่ส่วนท้ายรถแล้วก็ตาม เมื่อมีคนโบกรถคนขับก็จะจอดรับอยู่ดี ผู้เขียนเคยประสบการโหนรถพร้อมกันสูงสุดถึงห้าคน ซึ่งแทบจะไม่มีที่ยืนแล้ว ผู้โดยสารที่นั่งด้านในก็เกิดความแออัดเช่นกัน อากาศด้านในก็ไม่ค่อยถ่ายเทเท่าไหร่ แต่ทุกคนก็จำใจต้องโดยสารกันต่อไปอย่างเลือกไม่ได้

    รูปภาพจาก Facbook แม่ริม เชียงใหม่
    รูปภาพจาก Facbook แม่ริม เชียงใหม่

    “ตูน” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นเพื่อนกับผู้เขียนตั้งแต่สมัยมัธยม บ้านของตูนนั้นอยู่ที่อำเภอแม่แตง จึงทำให้ตูนต้องเดินทางมาโรงเรียนโดยรถสองแถวสีขาวเป็นประจำ ผู้เขียนได้ย้อนวันวานและพูดคุยเรื่องนี้กับตูน คนที่เคยประสบพบเจอชะตากรรมแบบนี้เช่นเดียวกับผู้เขียน ตูนได้เล่าว่าต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าแล้วออกเดินทางโดยรถขาวตั้งแต่หกโมงเช้า เนื่องจากใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมงจึงถึงโรงเรียนเจ็ดโมง ส่วนขากลับตูนก็มักจะขึ้นรถคิวรอบสุดท้าย และถึงบ้านเวลา 21.30 น. ตูนเสริมขึ้นมาว่าส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากที่รถสองแถวสีเหลืองแม่ริมมีรอบคิวน้อยกว่ารถสองแถวสีขาว จึงทำให้คนที่จะลงอำเภอแม่ริมต้องขึ้นรถสองแถวสีขาวแทน เนื่องจากการไปอำเภอแม่แตงต้องผ่านอำเภอแม่ริมก่อน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารของรถสองแถวสีขาวในรอบสุดท้ายมีจำนวนมาก

    เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้เดินทางไปยังสถานีขนส่งช้างเผือกและพูดคุยกับคุณลุงขับรถสองแถวสีขาว คุณลุงได้เล่าว่า หลังจากเกิดโรคระบาดของโควิด-19 ผู้คนมีการใช้ขนส่งสาธารณะลดลง ทำให้คนที่ทำอาชีพขับรถสองแถวต้องปรับตัวและหันไปทำอย่างอื่น โดยรถสองแถวสีขาวก็มีการปรับเวลาการออกรถและรอบคิวที่ลดน้อยลง โดยปัจจุบันนั้นคิวรอบสุดท้ายคือเวลา 19.00 น. และเป็นรถคันสุดท้ายของสถานีช้างเผือกแห่งนี้

    แม้ว่าหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ทุกอย่างจะกลับมาสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ผู้โดยสารของรถสองแถวกลับมีไม่มากเหมือนเช่นเคย รถสองแถวสีขาวที่เคยมีผู้โดยสารอยู่เต็มรถและแทบจะล้นออกมากลับไม่มีภาพเหล่านั้นให้ผู้เขียนได้เห็น การโหนท้ายรถของเด็กนักเรียนที่ผู้เขียนเคยทำกลับหายไปอย่างมาก ถึงมีการโหนก็มีเพียงหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น 

    สุดท้ายนี้ต้องยอมรับว่าการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังกรณีรถสองแถวสีขาวที่ผู้เขียนได้เล่ามาข้างต้น ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนมีการปรับตัวต่างจากเมื่อก่อน ทั้งอาจจะให้ขับรถมาโรงเรียนเอง หรืออาจจะให้ผู้หอพักใกล้โรงเรียนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ต้องลำบากและเสี่ยงอันตรายจากการโหนรถและการบรรทุกผู้โดยสารเกินของรถสองแถวเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนเคยประสบพบเจอ

    หวังว่าในอนาคตขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แล้วสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวเชียงใหม่กลับมาใช้งานมากขึ้นในภายภาคหน้า

    Related

    Lanner Joy : จากใจผู้สร้างสเปซศิลปะ SOME SPACE ที่อยากเห็นเด็กศิลป์รุ่นใหม่ทำงานที่รักได้โดยไม่ต้องย้ายไปเมืองอื่น

    เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ เป็นเวลานานแล้วที่ไม่ได้มาเยือนชุมชนควรค่าม้า ฐานทัพของ Addict Art Studio สตูดิโอที่ทำให้เทศกาลศิลปะชุมชนในเชียงใหม่กลายเป็นหมุดหมายประจำปีของใครหลายคน วันนี้เราได้กลับมาอีกครั้งเพื่อพบกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง...

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...