พฤษภาคม 18, 2024

    น่านโปเอซี 3 เมื่อกวีมีเสรีภาพ และบทกวีไม่ควรหมอบกราบ

    Share

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม

    ภาพถ่าย: มณีวรรณ พลมณี

    1.

    “เสรีภาพคือเรื่องของทุกคน”

    นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสเดินทางมาที่จังหวัดน่าน จังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่าน ที่ๆ ไม่เคยมีวาระคล้องเกี่ยวที่จะต้องไปเลยสักครั้ง แต่ครั้งนี้มันต่างไป มันคือการลัดเลาะเข้าสู่สวนอักษรของบทกวีที่มีความหมายถึงเสรีภาพ

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    ‘น่านโปเอซี 3’ คืองานอ่านบทกวีที่มีบทกวีเป็นตัวเอก ไม่ใช่เพียงองค์ประกอบที่คิดจะหยิบมาใส่ได้เป็นครั้งคราว

    “บทกวีเป็นพระรองเสมอ งานนี้เป็นงานของกวี”

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนนักสัมภาษณ์ที่ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดน่าน และ ชโลมใจ ชยพันธนาการ แห่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ริเริ่มเทศกาลน่านโปเอซีมาตั้งแต่ปี 2561 และจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ โดยครั้งนี้เปิดพื้นที่ให้กวีจากทั่วประเทศส่งบทกวีเข้ามาในหัวข้อ ‘เสรีภาพ’ กวีจากทั่วสารทิศ ต่างวัย เพศ ท่วงทำนอง ต่างตบเท้าเข้าร่วม

    กฤษณา หรนจันทร์, เกษมณี วรรณพัฒน์, ชนาธิป อุ่มมี, ฐากูร บุญสุวรรณ, ปภาตพงศ์ วันภักดี, ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง, พิชญ อนันตรเศรษฐ์, มานิตย์ หวันชิตนาย, วาริส วารินทร์กวี, สันติภาพ วัฒนะ,  สิริกานต์ ชัยศรี, อนุชา วรรณาสุนทรไชย, อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, อุรุ อุรุพงษ์

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    พร้อมกับศิลปินรับเชิญ ชวด – ฮวก สุดสะแนน, ชัชชล อัจฯ, เมฆ‘ครึ่งฟ้า, รชา พรมภวังค์, อรรณพ วันศรี ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย และ speech โดย ธิติ มีแต้ม

    “น่านโปเอซี 3 ครั้งนี้เกิดจากความตายของไม้หนึ่ง ก.กุนที และปีที่ผ่านมาเพื่อนของเรา วาด รวี, วัฒน์ วรรลยางกูร และเรืองรอง รุ่งรัศมี ที่จากไปเมื่อหลายปีก่อน ทั้งหมดทำให้เห็นว่ามีคนตาย มีคนต้องลี้ภัย ไม่ได้ใช้ชีวิต และไม่ทันได้เห็นเสรีภาพ”

    “อยากขอเป็นโอกาสของคนที่มีชีวิตอยู่ ได้คุยกัน วรพจน์ พันธุ์พงศ์บอกว่าการคุยกันทำให้ชาติเจริญ”

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เกริ่นนำถึงที่มาที่ไปของน่านโปเอซี 3 ก่อนที่ท่วงทำนองของบทกวีที่ค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ เสียงของเสียงภาพดังขึ้น ในใจเรานึกถึงภาพของผู้ที่จากไปไกลแต่ฝากตัวอักษรอบอวลวิญญาณขบถที่ฝังแน่น

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    สิ่งที่เราทำได้ในน่านโปเอซีคือการสยายปีก บินขึ้นฟ้า ล่องลอยไปในบทกวี

    2.

    “จากป่าเขา ทิ้งบ้านนามาก็นาน นานจนแทบจำความไม่ได้

    สู่เมืองกรุง กรุงเทพมหานครแห่งความหวัง

    จากอ้ายคำ ร่างกำยำผมดกดำ ตาสีน้ำตาลไหม้เข้ม

    สู่เดวิดผมสีทอง ตาสีฟ้าส่องประกายความมั่งมี


    จากวันนั้นที่อุ้มลูกน้อยห้อยโตงเตง กล่อมบทเพลงแข่งเสียงหวูดรถไฟ

    สู่นมผงกล่องใหม่ แทนที่เต้านมไร้น้ำเหี่ยวแล้ง

    จากยอดรัก ชายผู้มีรักเพียงอย่างเดียว ความรักคลุกข้าวเริ่มเคี้ยวกลืนไม่ลง

    หวังเพียงแค่เอ็งยังคงรัก… และอภัย 

    Hi, hello How are you ? I’m fine.

    I’m fine ฉันสบายดี

    ความรู้ ป.4 ฝากบอกพ่อแม่พี่น้อง I miss you

    I miss you and I love you…

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี


    เพลง Hi Hello ของคณะ ‘เยนา’ ค้างคาในใจผมมาหลายปี 

    ผมเคยสัมภาษณ์ กุล พงศ์พิพัฒน์ มือกีตาร์และคนแต่งเพลงนี้ เขาบอกถึงที่มาสั้นๆ ว่า “ผมเข้าใจว่าพอคนมีลูก เวลาจะตัดสินใจอะไรในชีวิต เขาต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด”

    มันเป็นเพลงที่พยายามทำความเข้าใจความยากจนข้นแค้นของใครบางคนที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเราไม่สามารถไปตัดสินผิดถูกดีชั่วได้ การอยากมีชีวิตที่ดีกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ทุกคนอยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุด หมายถึงเรา และคนเราที่เกลียดด้วย ไม่ว่าจะมีลูกหรือไม่ก็ตาม

    และการได้เลือกจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเรามองข้ามหรือกระทั่งเหยียบย่ำ ขยำ 1 สิทธิ์ 1 เสียงทิ้งไป

    ‘1 สิทธิ์ 1 เสียง’ ยุคสมัยนี้กลับมีความหมายเหลือเกิน อาจจะไร้ค่า-ความหมายกับบางคน อาจถูกปรามาสว่าเห็นแก่ตัว

    แต่เพียง 3-4 วินาที ในคูหาก็ทำให้เราใจเต้นแรง ค่าที่มันเป็นสิทธิ์ของเรา เสียงของเรา เราเลือกเอง รับผิดชอบเอง ไม่นับว่าก่อนนี้มีคนบางกลุ่มเอาปืนออกมาจ่อ ขับรถถังออกมาขวาง และบอกให้เราหุบปาก

    กฎกติกาไม่มี เคารพกันอย่างเท่าเทียมไม่มี คำสั่งเท่านั้นที่โยนลงมา สั่งให้เราเดินไปข้างหน้า หมายถึงเดินตามกันไป ไม่ใช่ก้าวไปข้างหน้าด้วยสติปัญญาอันเปี่ยมเสรีภาพ

    ผมไม่แน่ใจว่าในอนาคต คำๆ นี้ ‘1 สิทธิ์ 1 เสียง’ ยังมีใครพูดอยู่ไหม คงไม่มีใครมาคอยอธิบายให้ได้ยินอีกแล้วว่ามันสำคัญอย่างไร วันนั้นลูกผมอาจเดินเล่นกันอยู่บนดาวอังคารแล้ว แต่ยุคสมัยผม คำๆ นี้ แวดล้อมไปด้วยคนบาดเจ็บล้มตาย ซ้ำร้ายยังมีคนไม่น้อยอ้างคำใหญ่คำโต อย่าง ‘คนดี’ มาปิดปาก เพียงเพราะพวกเขาแสลงใจกับคำว่า ‘1 สิทธิ์ 1 เสียง’

    อะแกว แซ่ลิ้ว เป็นหนึ่งในศพที่ถูกเหยียบย่ำข้ามไป 

    คำว่าโปรดเคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงในวันข้างหน้า อาจกลายเป็นคำจำพวกที่เชยที่สุด นั่นแปลว่าถ้าบ้านเมืองเรามีอนาคต

    ระหว่างอยู่ในคูหากลางแดดจัดเดือนพฤษภาคม ผมไม่มีคาถาบทสวดอะไรทั้งสิ้น วินาทีที่จรดปากกาลงไปในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ลากเส้นแน่นๆ จากซ้ายลงไปขวา จากขวาลงไปซ้าย คนที่ผมระลึกถึงคือลุงอะแกว วินาทีนั้นน่าจะเป็นกากบาทสั้นๆ ที่มีความหมายที่สุดในโลก และยุคสมัยของเรา

    ผมเกริ่นเรื่องนี้มาเพราะว่าพวกเราเพิ่งไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมา มันคงเป็นหนึ่งใน favorite things ในรอบหลายปี

    พูดถึง favorite things ผมนึกถึงบางฉากของหนัง The Sound of Music 

    ตอนที่เด็กๆ มาออกันในห้องนอนคืนฝนตก เสียงฟ้าผ่าทำให้เด็กๆ กลัว นอนไม่หลับ พี่เลี้ยงของพวกเขาร้องเพลงกล่อม เพลงนั้นคือ My favorite things และนั่นคืออุบายที่แสนอบอุ่นสำหรับเด็กอย่างเราๆ ที่เคยผ่านความกลัวมา กระทั่งชราลงแแล้ว

    “เมื่อฉันเศร้า

    ฉันแค่คิดถึงสิ่งที่ฉันชอบ

    แล้วฉันก็ไม่แย่มาก” 

    แล้ว My favorite things ของคุณคืออะไร 

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    สำหรับผมคือร่องรอยบางอย่างที่เพลงทิ้งเอาไว้ ร่องรอยของความเป็นมนุษย์ที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงเรื่องราวของคนแต่งและบทเพลงเอาไว้ เป็นข้อเท็จจริงในความทรงจำ เกี่ยวรัดเราเอาไว้ทั้งยามคิดถึงและไม่คิดถึง แนบเนียนไปในชีวิตจริง อิงแอบไปตามจินตนาการ และบันดาลอารมณ์ เหตุผลไปในคราเดียว

    ผมจะยกตัวอย่าง My favorite things ของผม

    และนี่คือคนที่เอาเพลง My favorite things มาประยุกต์ในแบบ Jazz จนโลกไม่ยอมให้ตาย

    ตอนที่ภรรยาผมกำลังล้างหมึกกล้วยกว่า 10 กิโลฯ เพื่อเตรียมเปิดร้านขายอาหารเวียดนามในช่วงสายของวัน ลูกอยู่ในท้องเธอมา 7 เดือนเศษ ผมกำลังปั้นหมูแหนมเนืองย่างอยู่หน้าเตา มันเป็นช่วงเวลาที่หน่วงหนัก เราทำงาน กินนอนอยู่ในร้านทั้งวันทั้งคืน ขณะที่ลูกค้าของเราค่อยๆ น้อยลง เพราะสภาพเศรษฐกิจประเทศโดยรวมอยู่ในขั้นตกต่ำ 

    รัฐบาลเผด็จการขยันสร้างอารมณ์ให้ผู้คนทนทุกข์ เหนื่อยหน่ายอยู่เสมอ และความจริงคือเรามองเห็นอนาคตว่าไม่สามารถแบกต้นทุนค่าเช่าร้านที่แสนแพงได้อีกต่อไป เราปรับห้องเก็บของในร้านเป็นที่นอน เอาผ้านวมปูกับพื้น วางไม้ตียุงไฟฟ้าไว้ใกล้ๆ มือ 

    พอมองย้อนกลับไป มันเป็นโชคชะตาที่เราร่วมแบกรับกันมา ไม่ว่าจะอยากเลือกหรือไม่ เราก็ผ่านมาได้

    ตอนนั้นผมเพิ่งเคยฟังเพลงแจ๊สไม่นาน เราเปิดเพลง Acknowledgement อัลบั้ม A Love Supreme (1964) ของ John Coltrane ฟังกันในห้องเล็กๆ มันช่างตื่นตาตื่นใจนัก

    หลายครั้งที่ผมเรียกชื่อลูกผ่านผิวหนังหน้าท้องของภรรยาเข้าไป ยังเผลอเรียกตามสำเนียงดับเบิลเบสของ Jimmy Garrison ในท่อนอินโทรเพลง Acknowledgement ว่า “เวลา เวล้า”

    โคลเทรนเป็นคนดำ วัยเด็กของเขาอยู่ในยุคที่อเมริกายังแบ่งแยกสีผิว 

    คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) นักปรัชญาคนดำอเมริกันที่ศึกษาชีวิตโคลเทรนบอกว่า “ดนตรีของคนดำคือคำตอบจากคนดำ ต่อการถูกคุกคามและทำร้าย เราจะแบ่งปันและเผยแพร่การปลอบประโลมอันอ่อนหวานท่ามกลางความหายนะ”

    ตอนเด็กชายโคลเทรนอายุ 12 ปี เขาฝึกเล่นแคริเน็ท และอัลโต แซ็กโซโฟน หลังจากที่เขาสูญเสียครอบครัวไปเกือบหมดในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี 

    เราคงพอเดาภาวะในใจของเด็กชายโคลเทรนในเวลานั้นออกบ้าง

    ปี 1943 เขาย้ายตามแม่ไปที่ฟิลาเดเฟีย และสมัครเข้าเรียนดนตรีต่อที่นั่น แต่หลังเรียนจบ โคลเทรนสมัครเข้ารับราชการกับกองทัพเรือ ไปประจำการอยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ สังกัดวงดุริยางค์ทหารเรือจนถึงปี 1946

    หลังปลดประจำการ เขากลับบ้านและออกเดินทางเพื่อเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพ จนได้มาร่วมวงกับ Dizzy Gillespie และค่อยๆ เติบโตผ่านการฝึกหนัก

    การได้ร่วมวงกับ เธโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) มือเปียโนผู้อัจฉริยะ กระทั่ง Miles Davis นักทรัมเป็ตจอมโวยวายผู้สร้างยุคสมัยแจ๊ส ทำให้ชื่อของเขาถูกปักหมุดลงในยุคนั้น 

    ผมคิดว่าดนตรีคือ favorite things ของเขา เขาซ้อมหนักขึ้นไปอีก หนักขนาดที่พอนักดนตรีรุ่นพี่สั่งให้เขาหยุดซ้อมเป่าเพราะหนวกหู เขายังไล่นิ้วไปบนแซ็กโซโฟนเปล่าๆ เงียบๆ ราวกับมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย 

    หรือเพราะโคลเทรนเป็นคนดำ เขาจึงไม่ตัดขาดตัวเองออกจากความเจ็บปวดของยุคสมัย ข้อนี้ผมไม่มีคำตอบ

    เพลง Alabama ในอัลบั้ม Coltrane Live at Birdland ถูกบันทึกในเดือนพฤศจิกายน 1963 หลังเกิดเหตุวางระเบิดโบสถ์ที่เมืองอลาบาม่า (16th Street Baptist Church) โดยพวกคนขาว Ku Klux Klan (KKK) 2 เดือนก่อนหน้า มีเด็กสาวผิวดำตายไป 4 คน

    เขาแต่งเพลงนี้จากแรงบันดาลใจในสุนทรพจน์ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่กล่าวไว้อาลัยให้ผู้ตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นบทเพลงท่ามกลางบริบท Civil Rights Movement แต่ไม่เฉพาะประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของคนดำด้วยกันหรอก

    ปี 1966 โคลเทรนและวงของเขาไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น ตอนรถไฟไปถึงเมืองนางาซากิ ทุกคนลงจากรถไฟหมดแล้ว แต่เขายังนั่งอยู่และกำลังเป่าฟรุตอย่างมีสมาธิ คนญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่ไปรับวงโคลเทรน ถามเขาว่า “คุณเป่าฟรุตทำไม” โคลเทรนตอบว่าเขากำลังหาเสียงของนางาซากิ เขายิ้มให้และขอให้พาไปจุดที่ถูกทิ้งระเบิด เพื่อรำลึกดวงวิญญาณเหยื่อก่อนเข้าพักในโรงแรม

    Live in Japan เป็นทัวร์สุดท้าย อีกปีต่อมาเขาก็เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับในวัย 40 ปี

    เพื่อที่จะตอบคำถามของบางคนที่เข้าใจว่า Jazz นั้นไฮโซ หรูหรา เกินกว่าเอื้อมถึง ตัวอย่างที่ยกมาคงพออธิบายในตัวมันเอง

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    ผมขอยกอีกตัวอย่าง My favorite things 

    แม้ว่า ชาลี มัสเซิลไวท์ (Charlie Musselwhite) นักดนตรีบลูส์จะเป็นคนขาว ไม่ได้เกิดมาถูกเหยียดหรือถูกกีดกันทางเชื้อชาติสีผิวแบบคนแอฟริกัน-อเมริกัน ไม่ได้ผ่านการรวมกลุ่มแแบบทาสคนดำแล้วแอบย่องลงไปที่ริมห้วยในเวลากลางคืน จับมือกันร้องเพลงเพื่อปลดปล่อย โหยหวนอ้อนวอนต่อพระเจ้าจนกลายเป็นสายธารของเพลงบลูส์ แต่ชาลีก็ซึมซับและเข้าไปอยู่ในสายธารบลูส์มาทั้งชีวิต

    อาจเพราะเขาเกิดในบ้านนอกตอนกลางของรัฐมิสซิสซิปปี้ที่แวดล้อมไปด้วยชาวไร่ชาวนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนดำ ความข้นแค้นขัดสนทางฐานะครอบครัว ทำให้ชาลีต้องย้ายบ้านย้ายเมืองตั้งแต่ยังเด็ก 

    เขาไปเติบโตที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี่ พอโตเป็นวัยรุ่นหน่อยก็แอบต้มเหล้าเถื่อนขาย หารายได้จุนเจือชีวิต รายได้ส่วนหนึ่งของเขาเอาไปซื้อแผ่นเสียง เขาใช้เวลาว่างไปกับการฟังเพลงและเป่าฮาร์โมนิก้า

    แม้ว่าเขาจะได้อิทธิพลทางดนตรีด้วยการฟังเพลงแนวกอสเปล ป๊อป แจ๊ส มาพอๆ กัน แต่บลูส์เป็นสิ่งที่ตรงใจเขามากที่สุด

    ช่วงปี 1960 เขาเลิกอาชีพต้มเหล้าเถื่อน เพราะถูกตำรวจกวาดล้าง เขาพเนจรไปอยู่ที่ชิคาโก ที่นี่ เขาฝังตัวอยู่ที่ผับ ใช้ชีวิตกินนอนอยู่ท่ามกลางเหล้า ยา โสเภณี และเสียงเพลง

    เมื่อได้รู้จักกับ Muddy Waters, Big Walter Horton และ Little Walter วันหนึ่งมัดดี้ก็เชื้อเชิญให้เขาขึ้นแจมดนตรีด้วยกัน วิถีบลูส์ของเขาเริ่มต้นตั้งแต่นั้น พวกเขาตะลอนทัวร์เล่นดนตรีไปทั่วชิคาโก และเริ่มมีชื่อเสียง 

    ทำไมการเป่าฮาร์ปถึงเข้ากันกับวิถีของบลูส์ ชาลีเคยบอกว่า “เสียงฮาร์ป คล้ายกับเสียงพูดของคน สำหรับผมมันเหมือนการร้องเพลง เพียงแต่ไม่มีเนื้อร้องเท่านั้น”

    ใบหน้าเปื้อนยิ้มของชาลี ไม่ใช่คนประเภทมีชีวิตสุขสมตลอดเวลา เขาเคยเป็นคนติดเหล้า และพยายามจะเลิกมาหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล

    เดือนตุลาคม 1987 มีข่าวเด็กน้อยวัย 18 เดือน ชื่อ Jessica Mcclure ตกลงไปในท่อน้ำที่ทั้งลึก มืดและหนาว แขนของเจสสิก้าหัก ติดแง็กอยู่ในท่อนั้นถึง 3 วัน

    ระหว่างรอการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่กู้ภัย สำนักข่าวก็ถ่ายทอดสดปฏิบัติการกู้ระทึกไปทั่วประเทศ หนูน้อยเจสสิก้าก็ร้องเพลงออกมาอย่างมีความหวัง และสุดท้ายเธอกรอดตาย

    ชาลีบอกว่า “แม้ว่าจะยากลำบากขนาดไหน เธอก็ยังมีความหวังและขวนขวายให้ตัวเองมีชีวิตรอดต่อไป ผมสวดมนต์ให้เธอ และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่แตะเหล้าอีกเลย เธอรอด ผมก็เช่นกัน ทุกวันนี้ผมเลิกเหล้ามา 30 ปีแล้ว”

    มนุษย์หนอ มนุษย์

    ชาลีเก็บความทรงจำนี้มาถึงปี 2010 เขาออกอัลบั้มชื่อ The Well เขาเขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงหัวใจของหนูเจสสิก้าที่ไม่ยอมจำนน

    ปี 2018 ชาลีร่วมงานอัลบั้มกับเบน ฮาร์เปอร์ นักดนตรีรุ่นลูก อัลบั้มชื่อว่า No Mercy in This Land แรงบันดาลใจของเขามาจากความทรงจำเกี่ยวกับแม่ เขาเป็นลูกคนเดียวของรูธ (Ruth Maxine Musselwhite) แม่เลี้ยงเดี่ยว 

    ตอนที่ชาลียังเด็ก แม่พาเขาไปโบสถ์หลายแห่ง เพื่อซึมซับวัฒนธรรมของคนในชุมชนต่างๆ ชาลีได้รู้จักการเขียนบทกวี เขาได้ฟังเพลงของบิลลี่ ฮอลิเดย์ และหลุยส์ อาร์มสตรอง จากแม่ของเขา

    แม่เคยบอกกับชาลีว่า “พระเจ้าสร้างทุกคนมาให้เคารพกันและกัน ไม่ว่าเขาจะมีสีผิวต่างกันอย่างไร และยังบอกชาลีว่า แม่ไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหาร ซึ่งเธอคัดค้านมาตลอด 

    ในปี 2005 ความเชื่อของรูธก็เขย่าหัวใจชาลี รูธถูกหัวขโมยย่องขึ้นบ้าน ปล้นทรัพย์ พร้อมกับสังหารเธอในวัย 93 ปี

    ชาลีเล่าว่า “วันที่ศาลตัดสินคดีความ ญาติโทรฯ มาเพื่อบอกผมเรื่องฆาตกรคนนั้น เขาได้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนที่จะถูกประหาร” 

    ชาลีแสดงความดีใจที่ได้พูดเจตนารมณ์ของแม่ให้สาธารณชนในศาลฟัง ซึ่งรวมถึงฆาตกรคนนั้นด้วย

    ชาลีเล่าถึงการทำอัลบั้ม No Mercy in This Land ว่า “ยิ่งคุณเก็บความทุกข์นั้นไว้กับตัวมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งแย่ นี่อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้เยียวยามัน” 

    ทุกครั้งที่มีคนถามเขาว่า “บลูส์ที่แท้จริงคืออะไร” เขามักจะตอบว่า “บลูส์เป็นมากกว่าดนตรี มันเป็นทัศนคติที่อยู่กับคุณไปทั้งชีวิต”

    กล่าวโดยสรุปนี่คงเป็น favorite things ของชาลีด้วยก็ได้ 

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    มนุษย์หนอ มนุษย์ 

    และนี่คือช่วงสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าว ผมคิดว่าโลกทัศน์ ชีวทัศน์ของโคลเทรนและชาลีนั้นงดงาม ผมเชื่ออย่างนั้น แต่หลายครั้ง ความเชื่อมันยอกย้อนและทรยศ เมื่อทบทวนบางท่อนของสปีช วาด รวี ที่นี่

    “คุณอาจสงสัยกันว่า ทำไมบทกวีต้องทรยศ ?

    ก็เพราะว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง และคนไม่ได้เกิดมาเพื่อภักดีต่อเจ้าของ คนไม่จำเป็นต้องรับใช้คน คนไม่ต้องการมีเจ้าของ คนไม่จำเป็นต้องเชื่อง”

    ผมอยากจะคล้อยตาม และอิ่มเอมไปกับหลากถ้อยคำ หลายวลีที่บทกวีมักโปรยปรายลงมาราวเม็ดฝน 

    แต่ผมเห็นมากับตา บางคนรักหมามากกว่ารักคน หลายคนเกลียดเสียงเด็กร้องมากกว่าเสียงหอนของสุนัข และเพื่อนรักหลายคนก็รักในสิ่งที่ผมเกลียด อันที่จริง ถ้าบทกวีคือการทรยศ แล้วอะไรที่ทรยศต่อบทกวี เราแน่ใจได้จริงๆ ใช่ไหม ว่าเราจะไม่ทรยศเสียเอง หากเรามีเวลามากพอที่จะสบตากับความเปลี่ยนแปลงความเชื่อของเรา ผมอยากให้เกิดการพิสูจน์นั้น

    บางที My favorite things ของเราอาจคล้ายกล่องดวงใจที่หลบซ่อนอยู่ในหุบเขา ใช่หรือไม่เราต่างก็เป็นทศกัณฐ์ และบางครั้งเราก็เล่นบทหนุมานไปเอากล่องดวงใจนั้นมาขยี้เสียเอง

    งดงามไหม โศกเศร้าไหม ลึกซึ้งไหม เอมพาตี้ไหม แล้วแต่คุณ 

    เราชอบมันด้านนี้ เราก็เลือกโอบรับเข้ามา เช่นเดียวกับที่เรามักปฏิเสธอีกด้านเสมอไปในที 

    เรามีเหตุผลเสมอที่จะอธิบายถึงความกะล่อนของเราเอง

    เราโกรธหมอฟันเป็นฟืนเป็นไฟที่ถอนฟันคุดเราอย่างบ้าคลั่ง แต่เราไม่มีวิธีอื่น เราไม่รู้แม้กระทั่งว่ามันชิงหมามาแทงเหงือกเกิดในปากเราทำไม

    มนุษย์หนอ มนุษย์

    ผมคิดแบบนี้เพราะหลายปีมานี้ผมค่อนข้างมีอึดอัดกับคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ไม่ใช่ลังเล หรือสงสัย

    ใช่, คำนี้แหละที่เรามักใช้กันปลิวว่อน ทั้งโซเชียล วรรณกรรม ภาพยนตร์ ข่าว สารคดี บทกวี 

    บางเราใช้มันเรียกร้องต่อผู้อื่น ทั้งที่เรารู้จักหรือไม่รู้จัก 

    เมื่อมีเรื่องไม่ถูกใจ เราใช้มันเพื่อประทับตราว่าเขาไม่ค่อยเป็นมนุษย์ หรือเป็นน้อยกว่าเรา หรือเพื่อให้เราสูงส่งกว่า ผมไม่แน่ใจนัก

    โคลเทรนและชาลีพิสูจน์ให้เราเห็นคุณค่าในยุคสมัยของเขา

    ขณะที่อำนาจเคลื่อนผ่านยุคสมัย แผ่ซ่านไปทุกหลังคาเรือน ท่วมท้นไปถึงไร่นายิ่งกว่าอุทกภัย แต่ผู้รับใช้อำนาจมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเราไหม เราควรปกป้องความเป็นมนุษย์ของพวกเขาไหม เอาไงดีล่ะทีนี้

    ตุลาการ นายพล ครู หมอ พ่อค้า นักโฆษณา นายทุน รวมถึงชายชุดดำ

    บทกวียังคือการทรยศอยู่ไหม 

    “มีเอมพาตี้กันหน่อยสิ” บางคนพร่ำบอก ผมถามว่าบอกใคร คนที่บูลลี่เพื่อนของคุณ ? คนที่บูลลี่คุณ ? หรือตัวคุณเอง ?

    หลายครั้งเราสุภาพกับคนอื่น เพื่อซ่อน Toxic ไว้ภายใน และหลายครา เรา Toxic กับคนอื่น เพื่อเคารพตัวเองให้ได้

    เราจะสร้างรั้วกั้นอาณาเขตเพื่อสำเร็จความใคร่ในสภาพจิต ด้วยลวดหนามแห่งเอมพาตี้ หรือเราจะทรยศมัน ปล่อยให้เอมพาตี้ได้งอกเงย ไร้คนครอบครอง

    หรือมันเลี่ยงไม่ได้ ทันทีที่เราเรียกร้อง ‘ความเป็นมนุษย์’ จากพวกเขา ผมคิดว่าเขาได้ให้ ‘ความเป็นมนุษย์’ กับเราอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ถ้าการไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือความเป็นมนุษย์แบบหนึ่ง เรายังเอมพาตี้กันได้ไหม

    วันที่เวลาไม่เดินเป็นวงกลม วันที่เวลารุดไปข้างหน้าแบบหัวรถไฟความเร็วสูง และการหาเหตุผล คำขอโทษ สะสางคดีความเบาบางจางหายไปเรื่อยๆ เราเงยหน้ามาอีกทีกับการสำรวจตะกอนภายในอยู่คนเดียวที่สถานี ไม่เหลือใครให้เอมพาตี้อีก แปลว่าโลกนี้หมดยุคความเป็นมนุษย์แล้วจริงหรือ 

    โคตรไร้เหตุผล ? โคตรไร้สาระ ? ชักไม่แน่ใจ ผมอาจจะซาดิสม์

    ถ้าจะมีอะไรที่เราไม่น่าเรียกร้องเอากับสายลมแห่งความว่างเปล่า หากเราไม่จำนน สิ่งที่โคลเทรนและชาลีบอกไว้ในระหว่างบรรทัด คือการเติมคำในช่องว่างลงไป และคำๆ นั้นอาจหมายถึง Your favorite things

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    ส่วนความเป็นมนุษย์ ต้องเป็นแบบไหน ผมไม่ริอาจบัญญัติสถาปนา แต่ผมเชื่อว่าในโลกที่ยอกย้อน เสียงเรียกร้อง ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่มีเสมอมา คงจะมีเสมอไป 

    เหมือนบทเพลงเพื่อชีวิตกล่อมโลกที่เราตะโกนร้องกันเพื่อให้เรายังรู้สึกคิดถึงคนอื่นอยู่ ทั้งที่ความจริงไม่ได้ขนาดนั้น

    เหมือนครอบครัวผู้ตายจำใจยอมให้ฆาตกรลอยนวล เพียงเพื่อจะให้เพื่อนผู้ตายที่อยู่ในคุกได้อิสรภาพ

    เหมือนผู้ผลิตกระสุนปืนที่ไม่เคยตกงาน และไม่เคยขาดกำลังใจจากมิตรสหายและครอบครัวของเขา

    สุดท้าย สำหรับ ‘น่าน โปเอซี’

    คลับคล้ายว่าจะเป็นดั่งถ้อยคำที่แปะไว้ข้างรถบัสของทีมชาติฝรั่งเศส–ความแข็งแกร่งของคุณ ความหลงใหลของเรา สู้ๆ (Votre force, notre passion, allez les bleus.)

    สำหรับ ‘น่าน โปเอซี’ คลับคล้ายว่าจะเป็นดั่งที่ระพี เรือนเพชร แต่งเพลงเต็มเหนี่ยวให้ยุ้ย ญาติเยอะ ร้อง

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี


    เต็มเหนี่ยวไปเลยพี่ เต็มที่ไปเลยเธอ 

    ลังเลทำไม ใส่ให้ดังระเบิด 

    ให้เต็มแรงเกิด เลยดีไหม

    อย่ามัวเกรงใจกัน สร้างสรรค์ไป 

    ใจอย่าทำยึกยัก จะรักเชิญ

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี


    สำหรับ ‘น่าน โปเอซี’ คลับคล้ายว่าจะเป็นดั่งเนเวอร์แลนด์ ที่เหล่าปีเตอร์ แพน มาเซอร์ไพร์สให้ผองเพื่อน

    และวันหนึ่ง เด็กสาวเวนดี้ ถามปีเตอร์ว่า “ทำไมเธอถึงบินได้” 

    ปีเตอร์ตอบเวนดี้ว่า “ให้เธอลองหลับตา และคิดถึง favorite things”

    ขอให้พวกเราบินให้มากพอ อย่าไปลังเลกับความจริงที่ว่าเราต่างเจ็บปวดที่อาจเหลือปีกข้างเดียว.


    แด่ เพื่อนเมียนมาร์ในสงคราม”

    My Favorite Things จาก speech โดย ธิติ มีแต้ม

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    3.

    แม้ความร้อนระอุของอากาศจะแผดเผาเราตลอดทั้งคืน แต่ความเร่าร้อนของกวีที่เอื้อนเอ่ยบทกวีออกมาฝังกลบอากาศ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง สดับฟังบ้างคุยบ้าง นั่นแหละ เพราะมันไม่มีระเบียบตายตัวว่ามึงต้องฟังแต่บทกวีเท่านั้น เพราะเรามีเสรีภาพที่จะทำ ในหัวเราคิดถึงอยู่หลายเรื่อง ทั้งที่ทางของวรรณกรรมที่มีน้อยนิด หรือความเป็นเมืองวิมานของกรุงเทพฯ ที่ทุกอย่างต่างกระจุกอยู่ที่นั่น ที่ๆ เราต้องฆ่าแกงกันเองเพื่อให้มีชีวิต ทั้งๆ ที่ทุกตารางวาของประเทศนี้ควรจะมีไว้ให้เราหายใจได้อย่างเต็มปอด

    เราคิดถึงกวีที่โค้งคํานับหมอบกราบให้กับอำนาจเถื่อน หันหลังให้ประชาชนเจ้าของอำนาจและรั่วกระสุนปืนแห่งความละโมบสาดใส่ไม่ยั้ง คิดถึงความเจ็บปวดที่เราถูกพรากเสรีภาพ ไปพร้อมๆ กับการคิดถึงวันฟ้าใหม่และความวุ่นวายไม่จบสิ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษาคม

    บทกวีคือเสรีภาพไม่ควรมอบกราบ เฉกเช่นที่น่านโปเอซี

    ภาพ : มณีวรรณ พลมณี

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...