เมษายน 27, 2024

    ไกลศูนย์กลาง: ความอีหลักอีเหลื่อของมโนทัศน์ล้านนาไทยในบทเพลงของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’

    Share

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน

    “เราวิพากษ์คนอื่นโดยหาคู่คัดแย้ง มันง่ายที่จะพูดถึง แต่เราวิพากษ์ตัวเองน้อยเกินไป…”[1] ข้อความข้างบนนี้มาจากปาฐกถาในหัวข้อ “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วราภรณ์ เรืองศรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    จากปาฐกถาในครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนาผ่านบทเพลงที่เรียกกันติดปากว่าโฟร์คซองคำเมือง จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘จรัล มโนเพ็ชร’

    บทความนี้จึงพยายามวิเคราะห์และตรวจสอบการสร้างอัตลักษณ์ในบทเพลงของเขา เนื่องจากคนที่เขียนถึงเขาในฐานะที่เขาเป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนานั้นมีค่อนข้างมาก แต่การตรวจสอบความยอกย้อนย้อนแย้งของความเป็นล้านนาในบทเพลงของเขามีงานเขียนแทบจะนับนิ้วได้ งานชิ้นนี้จึงเป็นการทดลองเปิดประเด็นต่อการวิพากษ์ตนเองในเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ล้านนาโดยใช้บทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร สองบทเพลงคือ เพลงลูกข้าวนึ่ง และเพลงล้านนา ซึ่งทั้งสองเพลงนี้ผมมองว่าเป็นการแสดงถึงความคลุมเครือของอัตลักษณ์ล้านนา แต่อย่างไรก็ตาม ผมมิได้มีเจตนาที่จะหมิ่นอ้ายจรัลฯแต่อย่างใด

    ลักษณะวัฒนธรรมประชานิยมของล้านนาแต่เดิมนั้น ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์[2] อธิบายลักษณะมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาว่า วัฒนธรรมประชานิยมอย่างบทเพลงล้านนานั้นต้องย้อนไปถึงเพลงในยุคอาณานิคมบทเพลงไทยเดิม จำนวนไม่น้อยมักขึ้นต้นด้วยคำว่าลาว ถูกนำมาบรรเลงในวงดนตรีแบบวังเจ้านายกรุงเทพฯ อย่าง ลาวดำเนินทราย, ลาวกระทบไม้, ลาวเสี่ยงเทียน, ลาวดวงเดือน ฯลฯ แต่ในยุคหลังเพลงที่เป็นตัวแทนของคนเหนืออาจยกในบทเพลงของจรัลฯ เพลงของเขาเป็นที่น่าจจดจำว่าแสดงอัตลักษณ์ความเป็นชาวเหนือ ความเป็นล้านนาได้ค่อนข้างดี ทั้งท่วงทำนองที่จัดเป็นโฟร์คซองแบบแบบตะวันตก ที่ต่อมาเรียกว่า “โฟร์คซองคำเมือง” ที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา

    อ้ายจรัลฯ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2498 เส้นทางการเป็นนักดนตรีของเขาเริ่มต้นด้วยการเล่นดนตรีในร้านอาหารและคลับบาร์ในเชียงใหม่ ดนตรีที่อ้ายจรัลฯชื่นชอบเป็นพิเศษคือดนตรีโฟร์คคันทรีและแนวบลูส์ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นอิทธิพลต่อการทำดนตรีของเขา เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคพายัพ อ้ายจรัลฯทำงานแรกด้วยการรับราชการที่แขวงทางหลวงพะเยา ควบคู่ไปกับการร้องเพลงตามร้านอาหารดังที่เคยทำเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา เขาได้ผสมผสานระหว่างดนตรีแนวคันทรี่และบูลส์เข้ากับเนื้อร้องของความเป็นคนเมือง และแฝงไปด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนาอย่างชัดเจน[2]

    จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 เขาได้กลายเป็น “ตัวแทนคนท้องถิ่น” และ “นักรบทางวัฒนธรรมแห่งล้านนา” ผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของเขา และการเสียชีวิตของบุคคลทั้งสองได้ถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของล้านนา[3]

    แม้หลายบทเพลงของเขาจะกล่าวถึงความเป็นล้านนา อย่างเพลงของกิ๋นคนเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ความย้อนแย้งในบทเพลงของเขาก็ปรากฏให้เห็นอยู่เนื่อง ๆ เนื่องจากการประดิษฐ์อัตลักษณ์ดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีการก่อองค์อำนาจ-ความรู้แบบสงครามเย็นเข้าไปด้วย[3]อุดมการณ์ความเป็นไทยที่ก่อตัวขั้นในสมัยสงครามเย็นได้แพร่ขยายและรัฐไทยก็สามารถควบคุมในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเพลงของจรัลฯก็สามารถเห็นได้จากเพลงอย่าง ลูกข้าวนึ่ง ที่มีลักษณะของอุดมการณ์ของความเป็นที่เห็นได้ชัด

    “บางคนกิ๋นขนมปัง บางคนยัง กิ๋นข้าวสาลี ข้าวโพดข้าวโอ๊ดอย่างดี ข้าวเจ้า ก็มีมากมาย เฮานั้นเป๋นคนไทย บ่ใจ่ คนลาวฝ่ายซ้าย ข้าวนึ่ง กิ๋นแล้วสบาย ลูกป้อจาย ข้าวนึ่ง…”

    สิ่งที่จรัล มโนเพ็ชร ในฐานะ “นักรบทางวัฒนธรรมล้านนา” เขาได้ใช้วัฒนธรรมล้านนาผ่านบทเพลงเพื่อให้มีตำแหน่งแห่งที่ในความเป็นไทยซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมลาวได้ใช้วัฒนธรรมการบริโภคของคนล้านนาที่นิยมบริโภค “ข้าวเหนียว” หรือ “ข้าวนึ่ง” ซึ่งเป็นการดูถูกความเป็นลาว การรับประทานข้าวเหนียวในเพลงลูกข้าวนึ่ง ยังเป็นภาพแทนของการสร้าง “รัฐชาติ” โดยปฏิเสธความเป็นลาว และลาวในความหมายของเพลงลูกข้าวนึ่งคือประชากรที่อยู่นอกพรมแดนรัฐชาติโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเครื่องมือที่แบ่งอาณาเขต[4]

    หากสืบย้อนกลับไปในมโนทัศน์ลักษณ์นี้ก็ต้องอธิบายถึงกระบวนการสร้างชาติไทย ต้องย้อนกลับไปในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นอกจากสร้างโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมแล้ว ยังมีการสร้างการรับรู้ว่าคนไทยภาคเหนือหรือชาวล้านนาเป็นคนไทยเชื้อสายเดียวกันกับคนไทยในภาคกลางหรือชาวสยาม การสร้างความรู้สึกร่วมนี้ก็เพื่อที่จะให้ประเทศไทยเป็นเอกภาพ ผ่านบทละครอิงประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยหลวงวิจิตรวาทการ เช่น เลือดสุพรรณ เจ้าหญิงแสนหวี น่านเจ้า มหาเทวี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแฝงความรักชาติในเวทีประกวดนางงามผ่านการแต่งเพลงและร้องเพลง เรียกว่า “นางสาวถิ่นไทยงาม” ผู้ชนะการประกวดจะเข้าสู่เวทีระดับชาติต่อไป[5]

    ด้วยนโยบายของรัฐในซึ่งมุ่งสร้างชาติและสร้างความเป็นไทยโดยผ่านสื่อต่าง ๆ เหล่านี้เอง จึงเห็นได้ว่า การกลายเป็นตัวตนเป็นคนไทยประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตสังคมเมือง สังคมล้านนาที่เคยมีความหลากหลายของคนต่างชาติพันธุ์ค่อยๆหมดไปตามกาลเวลา ดังนั้นสำนึกของคนไทยภาคเหนือ (รวมทั้งภาคอื่น ๆ ) จึงมีหลายสำนึก กล่าวคือ ในบางสถานการณ์ก็อ้างความเป็นไทย และในบางสถานการณ์ก็อ้างความเป็นคนเมือง หรืออ้างความเป็นยอง/ลื้อ/จีน ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการแสดงตัวตน[6]

    กระบวนการข้างต้นนี้จึงเห็นได้จากอีกเพลงหนึ่งที่สามารถเห็นถึงความเป็นไทยยังปรากฏในอีกเพลงหนึ่งที่สามารถเห็นถึงความเป็นไทยยังปรากฏในเพลงที่ชื่อว่า ล้านนา ในอัลบั้มโฟร์คซองอมตะ 2 ปี 2521 ยังเป็นเพลงที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา อย่างพญามังราย ที่เป็นผู้สร้างอาณาจักรล้านนาและได้กล่าวถึงบุคคลที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างล้านนากับราชวงศ์จักรี อย่างพระเจ้ากาวิละที่นำไพร่พลลงไปเฝ้ารัชกาลที่ 1 และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระยาวชิรปราการ เจ้านครเชียงใหม่”[5] นอกจากนี้ยังกล่าวถึง “เจ้าชายาดารารัศมี พระชายาราชภูมมินทร์” ผู้ที่ภายหลังได้ถูกสร้างขึ้นให้มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างล้านนากับเชียงใหม่ ด้วยการถวายตัวเป็นพระชายาในรัชกาลที่ 5[6]

    “โอ…ล้านนา นามสืบมาในโบราณตำนานก่อน คือเชียงใหม่หริภุญไชยนคร เขลางค์นคร แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย ข้าเจ้าใหว้สา น้อมใจลบมือวันทาพญามังรายบูชาติโลกราชย์ลือชัย เจ้าเจ็ดตนไท้ เจ้ากาวิลนพิสีดารารัสมี พระราชชายาภูมินทร์..” 

    สุนทร คำยอด[7] อธิบายว่า การกล่าวถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชี้ให้เห็นภาพความสัมพันธ์อันดีงามราบรื่นพระบรมโพธิสมภารของราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นการยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสถาบันกษัตริย์และเป็นอุดมการณ์หลักและความมั่นคงอย่างหนึ่งของรัฐไทย ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “อุดมการณ์ล้านนา-ราชาชาตินิยม” 

    นอกจากนั้น คำเรียก “คนอื่น” ของส่วนกลางมักใช้คำว่าลาว แทนกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ อย่าง ลาวพุงดำ ลาวพุงขาว ลาวกาว เป็นต้น การสร้างความเป็นล้านนาให้โดดเด่นคือการเชื่อมโยงให้เข้ากับรัฐส่วนกลาง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจรัลฯ พยายามหาที่ยืนให้กับความเป็นล้านนาภายใต้ความเป็นไทย และสามารถสร้างจินตภาพล้านนานี้ดี[8]ได้ในอีกแง่หนึ่งด้วย 

    บทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ทั้งสองเพลงที่ผมนำมาคลี่คลายในแง่ของอุดมการณ์ความเป็นไทยจึงนำไปสู่การทำความเข้าใจความเป็นไทย ผ่านการเล่าถึง “คนอื่น” ในบทเพลงของเขา ซึ่ง “คนอื่น” ในที่นี้ก็ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่เป็นคนอื่นในแดนตน[9] คนอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตร่วมกัน และถูกอำนาจทางวัฒนธรรมผลักไสเพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของตนในความเป็นไทย เนื่องจากบทเพลงของจรัลฯจะเป็นไทยหรือไม่ก็ไปไม่ถึง จะเป็นอัตลักษณ์ล้านนาหรือก็ไม่เชิง

    หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ทั้งสองเพลงของเขาจึงแสดงนัยของความกระอักกระอ่วนใจในอัตลักษณ์ของล้านนา เพื่อหาตัวตนในความเป็นไทย ในแง่นี้มรดกทางความคิดแบบอาณานิคมอำพรางจึงเห็นได้ชัดจากบทเพลงทั้งสอง ซึ่งแฝงฝังโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามแต่ และทั้งสองเพลงนี้ก็บ่งบอกสภาวะที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึงของจรัลฯในการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา บทความนี้จึงเป็นการทดลองวิพากษ์วิจารณ์อัตลักษณ์ล้านนาในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเป็นอาณานิคมไม่จำเป็นต้องมาจากสยามหรือที่พื้นอื่น แต่อาจมาจากการสร้างอัตลักษณ์และความอีหลักอีเหลือจากคนพื้นที่ตนเองนี่แหละครับ


    อ้างอิง

    • [1] กองบรรณาธิการLanner, ปัญหาการไปไม่ทะลุกรอบอาณานิคม, lanner, https://www.lannernews.com/11032567-01/?fbclid=IwAR23qxFG3qGg1dlv1qWoHKNw4_3q0bVPPhVK4ZGcyi8ziYM1hfGgKito9qM (เข้าถึงเมื่อ 11/3/2567).
    • [2]เทศบาลนครเชียงใหม่, “ปะติมากรรมจรัล มโนเพ็ชร” เทศบาลนครเชียงใหม่, https://www.cmcity.go.th/list/page/509/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%20%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A5%20%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8A%E0%B8%A3/. (เข้าถึงเมื่อ 18/03/2567).
    • [3] เปรมวดี กิรวาที, “ความตายของจรัญ มโนเพ็ชร ความทรงจำและกิจกรรมรำลึกในสังคมล้านนา,” วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่21 ฉบับที่2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2552).
    • [2] ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ต่างจังหวัดในแดนไทย: การควบคุมพื้นที่ ความรู้ และความทรงจำนอกกรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2567) หน้า 426-427.
    • [3] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
    • [4] สุนทร คำยอด, “อุดมการณ์ล้านนานิยม ในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร,” สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่, ฉบับที่1 ปีที่11 (มกราคม-กันยายน, 2559) หน้า18-21.
    • [5] สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา, พิมพ์ครั้งที่10 (เชียงใหม่, สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2557) หน้า565-673.
    • [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า573.
    • [7] สุนทร คำยอด, “อุดมการณ์ล้านนานิยม ในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร,” สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่, ฉบับที่1 ปีที่11 (มกราคม-กันยายน, 2559) หน้า24.
    • [6] ดารุณี สมศรี, ประวัติศาสตร์นิพนธ์และอัตลักษณ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ (ทศวรรษ 2490-2550) (พิษณุโลก, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2566).
    • [8] สุนทร คำยอด, “อุดมการณ์ล้านนานิยม ในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร,” สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่, ฉบับที่1 ปีที่11 (มกราคม-กันยายน, 2559) หน้า25.
    • [9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 27.
    • [10] อ้างถึงใน  ธงชัย วินิจจะกูล, “คนอื่นในผืนตน: การเดินทางกับการจำแนกชาติพันธ์ของราษฎรสยามตามถิ่นฐานระหว่าง พ.ศ.2428-2453,” ใน คนไทย/คนอื่น: ว่าด้วยคนอื่นในความเป็นไทย, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน 2560.

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...