เมษายน 20, 2024

    ภาพทรงจำพฤษภา’35 ในเชียงใหม่

    Share

    24/05/2022

    “ผมจําไม่ได้ เรื่องลําดับเหตุการณ์ แต่คิดว่า ถ้าดูจากพฤติกรรมตัวเองก็คงอยู่ในช่วงประมาณอาจจะ 15 – 20 พฤษภา หรือว่า 15 – 19 พฤษภา ปี 2535 ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าตัวเองแบกกล้องไปไม่น่าจะเอาติดตัวไปทุกวัน อาจจะเป็น 2-3 วันที่ถ่ายเก็บไว้”​

    ในโอกาสครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535 Lanner มีโอกาสพูดคุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นนักพัฒนาเอกชนอิสระด้านเพศและสุขภาพ ถึงการเคลื่อนไหวช่วงก่อนและหลัง พฤษภา’35 ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนิวัตร ได้หยิบอัลบั้มภาพการชุมนุมช่วงพฤษภา ปี 2535 มาด้วยเพื่อเป็นประจักษ์พยานในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนเชียงใหม่ เพื่อย้ำเตือนให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ในความเคลื่อนไหวไม่เคยหยุดนิ่ง ประชาชนยังคงต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า พฤษภา ปี 2535 ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่บนถนนราชดำเนิน​

    อ่าน 30 ปี พฤษภา’35 ในเชียงใหม่: คุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา NGOs รุ่นไล่สุจินดาที่ท่าแพ สู่การร่วมยืนหยุดทรราช ได้ที่ https://www.facebook.com/112806724745613/posts/pfbid0TxqSVSMxGrDL7jy8Q2d1jsLGg8rmdsnQnauSL5DBGGA5sstEtHoAMUpYcUcMDPzcl/?d=n​

    “ภาพชุดนี้ที่รวมตัวกันที่จวนผู้ว่าฯ ตรงเชิงสะพานเนาวรัตน์ ตั้งขบวนเพื่อจะรณรงค์ ออกมาขับไล่ สุจินดากับพวก น่าจะเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดการปราบปรามรุนแรงวันที่ 17 พฤษภาคม

    ในขบวนนี้เท่าที่จําได้ ในภาพก็จะมีคณะอาจารย์ที่ออกมาร่วมขบวน จําได้ว่ามี อาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์ ท่านเสียไปแล้ว เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีอาจารย์สุวิทย์ รุ่งวิสัย อาจารย์เบญจวรรณ ทองศิริ เป็นอาจารย์ฝั่งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหว”

    “แล้วภาคกลางคืนก็จะเห็น มีอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หลายคนที่ออกมา ก็ขึ้นไฮด์ปาร์ค อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ ถ้าผมจําไม่ผิด ผมคิดว่าระหว่างนั้น ผมได้มาคุยกับอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล แกเพิ่งย้ายมาสอน ฉากที่ผมจํา คือคุยกันที่โรงอาหารคณะสังคม ผมจําบทสนทนาได้ไม่ถนัด แต่จําได้ว่า แกกังวลเรื่องการพาคนไปตาย เกรงว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง เราก็จะเห็นอาจารย์ฝั่งสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ออกมาเยอะมาก แล้วก็พากันเดินขบวน

    จากเชิงสะพานเนาวรัตน์มาจนถึงลานประตูท่าแพ ก็เริ่มล้อมวง แล้วก็ปักหลักเลยว่าจะตั้งเวทีประชาชน”

    “ผมจําไม่ชัดเจนว่าเรียกว่าอะไร แต่คิดว่าเรียก “กําแพงข่าว” ก็คือช่วงนั้นสื่อถูกเซ็นเซอร์ ข่าวหนังสือพิมพ์คือดำหมด ทีวีก็ออกข่าวไม่ชัดเจน เราไม่ทราบสถานการณ์ต่าง ๆ วิธีการคือใช้วิธีส่งข่าวจากกรุงเทพฯ มา ส่งแฟกซ์มาที่เชียงใหม่แล้วเราก็เอามาเขียนข่าวมาอีกครั้ง ลงบนกระดาษแล้วเอามาติดบนกําแพงที่ท่าแพเลย

    แล้วก็ประกาศว่าใครที่สนใจข่าวความเคลื่อนไหวสามารถมาเดินมาอ่านได้ เราเขียนข่าวกันทั้งคืน แล้วเริ่มทยอยติดตอนสามโมง ติดเสร็จคนก็ทยอยมายืนอ่าน มาติดตามข่าวสาร แล้วก็มาชุมนุมต่อ บางคนก็อยู่ยาวจนถึงค่ำเลย”

    “แล้วก็จะมีคนเขียนป้ายประท้วงมาอยู่ด้วย ทีมที่เขียนผมจําได้ว่ามี กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา อยู่ด้วยกัน พี่เปิ้ล นันทา เบญจศิลารักษ์ เหมือนจําได้ว่า เหนื่อยมากแล้วออกมาซื้อโรตีกินกัน

    ต่างคนต่างช่วยกันทํา ผมก็ช่วยทํา จําไม่ได้ว่าใครชวนกันมาเขียนบ้าง หาอาสามาก็ช่วยกันเขียน นั่งเขียนกันทั้งคืน อันนี้จะเป็นภาพที่เราอยากจะทําให้คนรู้ความเคลื่อนไหวผ่านป้ายด้วย”

    “นี่จะเป็นภาพบรรยากาศของการเคลื่อนไหว ซึ่งมีพิธีกรรม เผาพริกเผาเกลือ ใช้หม้อไหชามที่มันแตกมา แล้วก็เอาเกลือพริกมาสาปแช่ง โดยทําพิธีโดยหญิงม่าย แล้วไล่สุจินดา เป็นการทําพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ความเชื่อ แต่ว่าเป็นพิธีกรรมทางเหนือขับไล่ ซึ่งก็ตื่นตาตื่นใจมาก”

    “มีไฮปาร์ค มีดนตรี ถ้าพูดง่าย ๆ ก็ใครอยากเล่นก็เล่นกัน ตอนนั้นจําได้ว่ามีโชว์หนึ่งน่าทึ่งมาก เค้าเรียกแกว่าอาจารย์เข้ม แกมาแสดง เค้าเรียกกระดูกสังคีต ก็คือ เอาไมค์มาก็คือเคาะ ใช้นิ้วเคาะกระดูก ตามเนื้อตัวออกมาเป็นเพลง ต้องตั้งใจฟังให้ฟัง แล้วก็เคาะ เคาะ เคาะ เคาะ ขบวนการเคลื่อนไหวช่วงนั้นรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พอหลังทักษิณมาก็แตก กระจัดกระจาย แบ่งหลายฝักหลายฝ่าย”

    “ตรงเวทีตอนนี้ปัจจุบันเป็นป้อมยาม ป้อมตํารวจ เพราะฉะนั้นจะคนทยอยมาก็จะมีภาพที่มีมอเตอร์ไซค์ ตอนนั้นไม่ต้องไปขอใช้สถานที่ ไม่มีใครมาห้าม จัดชุมนุมจัดได้เลย คนไปกันเยอะมาก เดี๋ยวนี้ไม่แจ้งการชุมนุมคือโดนหมด เพราะหลังจากนั้นถึงมีกฎหมายการชุมนุมเพื่อออกมาอ้างว่าเพื่อเอื้ออํานวยให้การชุมนุม จริง ๆ แล้วควบคุม”

    เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม​
    ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย​

    #lanner

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...