ชาวบ้านห้วยตาด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เจรจาทหารผ่อนผันทำกิน หลังทหารยึดที่ ด้านทหารย้ำต้องขอ ผบ.ทบ.รับรอง

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

6 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจ กรณี การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกองทัพบก โดยกองร้อยพิเศษที่ 3 (ค่ายประตูผา) และราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีนาย อบต. บ้านดง, ผู้แทนจากอำเภอแม่เมาะ, ผู้แทนกองร้อยพิเศษที่ 3 (ค่ายประตูผา), สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และชาวบ้านห้วยตาด หมู่ที่ 4 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในฐานะผู้เดือดร้อนเข้าร่วมการประชุม

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจากชุมชนบ้านห้วยตาด ซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน กรณีบ้านห้วยตาด ถูกทหารจากกองร้อยพิเศษที่ 3 (ค่ายประตูผา) ยึดที่ทำกิน 40 ครัวเรือน 359 ไร่ 59 แปลง โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ได้มีหน่วยเฉพาะกิจค่ายประตูผาและหน่วยป่าไม้ท่าสี (ลำปาง) สนธิกำลังตรวจยึดที่ทำกินชาวบ้านห้วยตาด ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าเป็นที่ทำกินดั้งเดิม ทำไร่หมุนเวียนและไร่ข้าวโพด โดยมีการข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน และกดดันให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ทำกินให้กับทหาร จนเกิดการประชุมครั้งนี้

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ผู้แทนทหารจากกองร้อยพิเศษที่ 3 (ค่ายประตูผา) ชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวใช้หลักเกณฑ์แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศในปี 2545 ซึ่งพบว่าชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำกิน จากประมาณ 2,000 ไร่ เป็นประมาณ 4,000 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวนั้นทหารได้ขอใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ตั้งแต่ปี 2516 ขณะที่ปัจจุบันพบว่าอาจมีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมอีกจึงได้เข้าดำเนินการตรวจสอบโดยชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบแล้วก่อนลงนามในเอกสาร พบว่ามีพื้นที่บุกรุก 5 แปลง เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ส่วนอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหลังจากนี้อยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก ตนไม่มีอำนาจตัดสินใจ

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ด้าน สมนึก ณ คำมูล ชาวบ้านห้วยตาด ชี้แจงว่า ปัญหาเกิดจากแนวเขตปี 2545 ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารกันพื้นที่ให้ชาวบ้านไม่ครอบคลุม แต่เจ้าหน้าที่ทหารและป่าไม้ยืนยันว่าต้องยึดเขตป่า 2545 เท่านั้น จึงเรียกร้องให้มีการสำรวจแนวเขตชุมชนร่วมกันอีกครั้งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยที่ผ่านมาชุมขนบ้านห้วยตัดได้จัดทำแผนที่ของตนเองแล้ว อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเดินสำรวจได้

“จริงๆ ถ้าตกลงกันได้ ต่อไปก็จะไม่มีปัญหา ส่วนไหนที่รุกล้ำไปจริงๆ ก็คุยกันได้ ส่วนกระบวนการแก้ไขปัญหา ก็อยากจะให้ชาวบ้านได้ทำกินไปก่อน” สมนึกกล่าว

นอกจากนั้น ชาวบ้านห้วยตาดยังเรียกร้องให้ทหารคืนเอกสารที่ให้ชาวบ้านลงลายมือยอมรับว่าบุกรุกพื้นที่ ‘ฝึกทางยุทธวิธี’ เนื่องจากเกรงผลกระทบที่อาจตามมา เช่น ถูกดำเนินคดี

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

สมชาติ รักษ์สองพลู สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง กล่าวว่า การใช้หลักเกณฑ์ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 นั้น ทำให้ชาวบ้านต้องเสียสิทธิ์ โดยเฉพาะระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่ต้องมีการพักฟื้นที่ดิน ทำให้ไม่มีร่องรอยตามภาพถ่ายทางอากาศ แสดงถึงความไม่เข้าใจของหน่วยงานต่อไร่หมุนเวียน และย้ำว่าชาวบ้านห้วยตาดอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ และก่อนที่ทหารจะขอใช้พื้นที่

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

“คนบ้านห้วยตาดอยู่ก่อนเกิดค่ายประตูผสและป่าสงวนแห่งชาติด้วยซ้ำ เป็นขาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนที่กลับถูกมองว่าเป็นการบุกรุกป่า เวลาพิสูจน์สิทธิ์กันทีไรก็ถูกมองว่าไร่หมุนเวียนเป็นพื้นที่ป่า ตอนนี้ชาวบ้านทิ้งไร่หมุนเวียนเก่าๆ ไปเยอะมาก ที่ทำกินตอนนี้อาจจะมีไม่พอแล้วด้วยซ้ำ หน่วยงานรัฐเข้าไปบีบ เสียที่ทำกินปีละน้อยๆ จนไม่รู้จะเสียอย่างไรแล้ว พอกลับไปทำกินในพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมก็ถูกมองว่าบุกรุกป่า เป็นการรุกล้ำ แต่แนวเขตมันไม่เคยชัดเจนเลยตั้งแต่ต้น เป็นความผิดทั้งป่าไม้ทั้งทหาร” สมชาติกล่าว

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

ผลสรุปจากการประชุมเห็นร่วมกันว่าให้การคุ้มครองชั่วคราวชาวบ้านห้วยตาดสามารถทำกินในที่ดินเดิมได้ ในระหว่างรอกระบวนการตั้งกลไกขึ้นมาเดินสำรวจแนวเขตร่วมกัน ส่วนการกันแนวเขตทหารออกจากพื้นที่ชุมชนหรือการสำรวจแนวเขตใหม่ ผู้แทนทหารย้ำว่าต้องให้มีคำบัญชาจากผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น

ด้าน ศุกร์ ไทยธนศุกานต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง วันนี้เป็นเวทีให้เกิดการพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน โดย อบต. จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ และเห็นด้วยที่จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันของทุกภาคส่วนต่อไป

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง