พฤษภาคม 7, 2024

    นิสิต จิรโสภณ ยังมีชีวิตในความทรงจำของเรา

    Share

    14/06/2022

    เสวนา “นิสิต จิรโสภณ ยังมีชีวิตในความทรงจำของเรา” เป็นเสวนาช่วงแรกของวาระ 47 ปี นิสิต จิรโสภณ โดยจะเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนที่มีต่อ นิสิต จิรโสภณ และคุณูปการที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของ นิสิต จิรโสภณ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ พลากร จิรโสภณ,คำรณ คุณะดิลก,ชัชวาลย์ นิลประยูร,เกษตร ศิวะเกื้อ และ ผดุงศักดิ์ พื้นแสน​

    การเสวนาเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าของ พลากร จิรโสภณ ถึงความเกี่ยวข้องของตน ทั้งในแง่ของความเป็นพี่น้องกัน และในแง่มุมการต่อสู้ของ นิสิต จิรโสภณ ที่แสดงออกถึงความกล้าที่จะตั้งคำถาม และหาคำตอบต่างๆ ที่เกิดมาจากอัตลักษณ์ “ความเป็นกบฎ” และ “ความรักในความยุติธรรม” ซึ่งมีส่วนช่วยให้ นิสิต จิรโสภณ ตื่นตัวทางการเมือง และยังเป็นผู้ที่ทำให้ตนได้ตื่นตัวทางการเมืองด้วยเช่นกัน แนวคิดการต่อสู้เพื่อคนด้อยโอกาศ และการทำให้คนเท่าเทียมกัน พลากร เองถือว่านี่เป็น คุณูปการ 2 ข้อหลัก ๆ ของตัว นิสิต จิรโสภณ​

    การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ นิสิต จิรโสภณ ที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากแนวคิดเสรีนิยม กลายเป็นสังคมนิยมซึ่งในยุคนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดสังคมนิยมจีน ที่ต้องมีความเข้มงวดในตัวเองเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้นิสิต จิรโสภณ ต้องดัดแปลงตนเองให้มีความเข้มงวดมากขึ้นตาม​

    พลากร พูดคุยถึงคำถามที่ว่า “นิสิต จิรโสภณ เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อไหร่” ละความเชื่อว่า “ชมรมหนังสือแสงตะวันเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์” โดยถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลวันเวลาที่แน่ชัดนัก ​ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความลับทางการจัดตั้ง อย่างไรก็ดีพลากร เองเชื่อว่ากว่าที่ นิสิต จิรโสภณ จะได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็น่าจะเป็นช่วงหลังจาก ปีพ.ศ. 2517 ไปแล้ว ทำให้ตนไม่เห็นด้วยที่ชมรมหนังสือแสงตะวันจะเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ ​
    ในช่วงท้ายของการบอกเล่า พลากร พูดถึงประสบการณ์การพูดคุยกับ นิสิต จิรโสภณ ที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่ นิสิต จิรโสภณ มักจะมอบหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดต่าง ๆให้ตนไปอ่านเอง โดยไม่มีได้การถกเถียงอะไร พร้อมทั้งได้กล่าวว่า “พี่นิสิต ไม่ใช่นักทฤษฐี” และการแนะนำตนเข้าไปในองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะจัดทำหนังสือ “กด กด กด” ซึ่งมี ไกรวุฒ ศิริณุพงศ์ ซึ่ง พลากร ถือว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ตนได้เข้าร่วมต่อสู้ทางประชาธิปไตย​

    พลากร ปิดท้ายการบอกเล่าของตนด้วยการยกข้อสรุปของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่เขียนไว้ว่า “นิสิต เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักจัดตั้ง นักโฆษณาวรรณกรรมเพื่อชีวิต และต่อมาเป็นนักปฏิวัติ”​

    การเสวนายังดำเนินต่อไป โดยการบอกเล่าสั้น ๆ ของ คำรณ คุณะดิลก เกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีร่วมกับ นิสิต จิรโสภณ ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คำรณ กล่าวว่าตนนั้นได้รู้จักกับ นิสิต จิรโสภณ ในสมัยที่เข้ามาเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ด้วยความที่มีอายุไล่เลี่ยกัน และไม่ได้เป็นอาจารย์ของ นิสิต จิรโสภณ โดยตรง ทำให้ตนและ นิสิต มีความสัมพันธ์กันทั้งในแง่อาจารย์ เพื่อน และเป็นสหาย โดยแม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดอะไรมาก แต่เมื่อนึกถึง นิสิต จิรโสภณ ก็ทำให้ คำรณ นึกถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม วลัญชทัศน์ แม้ตัวนิสิต จิรโสภณ จะเสียชีวิตไปแล้ว กลุ่มดังกล่าวก็ยังเดินหน้าทำงานต่อไป​

    ต่อไปเป็นการบอกเล่าของ ชัชวาลย์ นิลประยูร เกี่ยวกับตัวนิสิต จิรโสภณในช่วงเวลาที่ทำงานหนังสือพิมพ์ โดยชัชวาลย์ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับ นิสิต จิรโสภณ และยังได้กล่าวถึงช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของ นิสิต จิรโสภณ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 2 ช่วง แม้ว่าตนจะได้รู้จักแค่ในช่วงแรก ที่เป็นช่วงสายลมแสงแดด และยังไม่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเท่านั้นก็ตาม โดยได้มุ่งเน้นไปที่ “ความจีบสาวเก่ง” ของ นิสิต จิรโสภณ​

    อย่างไรก็ตาม ชัชวาลย์ ก็มีประสบการณ์การการเคลื่อนไหวร่วมกับ นิสิต จิรโสภณ ซึ่งไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรม ในช่วงปีพ.ศ. 2513-2514 ร่วมกับ สถาพร ศรีสัจจัง, สุเมธ แสงนิ่มนวล, สุภาพ คลี่ขจาย, สงวน พิสรรรัศมีและ ปัญญา ศิริวัฒนะ ​

    ชัชวาลย์ กล่าวถึงอีกเรื่องที่ตนถือว่าน่าสนใจ โดยนักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นปี 2511 มีส่วนที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งตนไม่ขอกล่าวชื่อ โดยชัชวาลย์ กล่าวว่ามีวิถีชีวิตต่างกันโดยสิ้นเชิง “ไอ้พวกผู้ว่านี่เป็นขวาจัด แต่เรานี่คือพวกซ้าย” ชัชวาลย์กล่าว มีข้อสงสัย ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยกัน 4 ปี ภายในภาควิชาเดียวกัน กลุ่มหนึ่งกลายเป็นขวาจัด ภายใต้เผด็จการในสมัยของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี พ.ศ. 2550 ซึ่งตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง โดยชัชวาลย์ ยังกล่าวอีกว่า ถ้านิสิต จิรโสภณ ยังมีชีวิตอยู่ คงกลายเป็น “บิ๊กใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์” ไปแล้ว ถือว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการบ่มเพาะในการศึกษาของประเทศไทยต่อมวลชน ที่มีความแตกต่างกันไป ที่ชีวิตของประชาชนในประเทศไทยมีจิตวิญญาณและอุดมคติที่แตกต่างกัน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยปีพ.ศ. 2475 ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองแล้ว ซึ่งเป็นผลให้เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นประโยคปิดท้ายของตนว่า “ประชาธิปไตยในประเทศไทย มันไปไม่นานเลย”​

    การเสวนาดำเนินต่อไปโดย เกษตร ศิวะเกื้อ เล่าถึงประสบการณ์ตั้งแต่พบเจอกับ นิสิต จิรโสภณ ช่วงปลายปีพ.ศ. 2514 และได้เริ่มรู้จักกันในช่วงปีพ.ศ. 2515 ​

    เกษตร บอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามช่วงเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 – 2518 โดยแบ่งประเด็นสำคัญต่าง ๆ ไว้ดังนี้​

    พ.ศ. 2515​
    -การต่อต้านอเมริกาผ่านหนังสือ “จักรพรรดินิยมจงพินาศ”​
    -การต่อต้านการแทรกแซงเศษรฐกิจของญี่ปุ่น ผ่านการนำเสื้อผ้าท้องถิ่นไปขายที่ห้างในจังหวัดกรุงเทพมหานคร​
    -การเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการยกเลิกการติด F ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ​

    พ.ศ. 2516​
    -การเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น​
    -การหาต้นทุนให้กลุ่ม วลัญชทัศน์ โดยการไปติดต่อกับ อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ และการทำพ็อกเก็ตบุ๊คจำหน่าย​
    -การเคลื่อนไหวที่เริ่มจากการต่อต้านอเมริกา และอิสรภาพของอินโดจีน ที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มตื่นตัวทางการเมือง​
    -การเปลี่ยนแปลงกลุ่ม “วลัญชทัศน์” ไปสู่ “แนวร่วมนักศึกษา”​
    -การลงสมัครเลือกตั้งสภานักศึกษาของกลุ่ม นิสิต จิรโสภณ ในสมัยที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานสภานักศึกษา​
    -เหตุการณ์ “14 ตุลา”​
    -“การเบ่งบานของประชาธิปไตย” หลังความพ่ายแพ้ของกองทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม​
    ปีพ.ศ. 2517​
    -การเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่เสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และเกิดการก่อตั้ง “ศูนย์นักเรียน”​
    ปีพ.ศ. 2518​
    -การมองเห็นการเติบโตของขบวนการนักศึกษา ของ เกษตร ศิวะเกื้อในช่วงเวลาที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าว​
    -การเกิดขึ้นของ “ขบวนการสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ” หลังประชาธิปไตยเบ่งบาน โดยกล่าวถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวนาชาวไร่ต่อนักศึกษา ที่เกิดขึ้นผ่านการออกไปทำงานในภาคชนบทของนักศึกษา โดยนำไปสู่การเคลื่อนไหวของขบวนการสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา เรื่องการเรียกร้องการต่อรองค่าเช่า ที่ประสบความสำเร็จ​
    -การปะทะกัน ณ เหมืองแม่เลียง ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ จนนำไปสู่การเสียชีวิต การจับกุมชาวนาและนักศึกษา และการสังหารชาวนา​

    เกษตร ศิวะเกื้อ กล่าวสรุปถึง นิสิต จิรโสภณ ไว้ว่า “พี่นิสิต เป็นคนเอาจริง” และการรู้จักขอโทษผู้อื่นของ นิสิต จิรโสภณ แม้ว่าจะกับรุ่นน้องก็ตาม​

    ผดุงศักดิ์ พื้นแสน เป็นคนสุดท้ายในเวทีเสวนา โดยกล่าวถึงชีวิตของผู้คนสมัยนั้น โดยเริ่มกล่าวถึงการเข้าไปเป็นครูดอยของ คำรณ คุณะดิลก ณ ผาหมอน ก่อนจะเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทำให้เกิดการเฟื่องฟูของการละครภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้ทางวรรณกรรมของฝ่ายก้าวหน้าในสมัยนั้น รวมถึง ชัชวาลย์ นิลประยูร ที่มีความเชี่ยวชาญในงานเขียน ก่อนจะเข้าป่ากลายเป็นสหาย และกลับออกมาบุกเบิกงานเขียนที่แม่แจ่ม ซึ่งตัวผดุงศักดิ์ถือว่าเป็น “การเผชิญหน้าในแนวหน้า” ผดุงศักดิ์ ยังกล่าวถึงภาระการควบคุมทิศทางการต่อสู้ของรุ่นถัดไป โดยได้กล่าวถึงความต้องการผู้นำทางการ และเป็นที่รู้จักของมวลชนของขบวนการนักศึกษาที่เติบโตขึ้น ก่อนจะดำเนินมาถึงยุคของ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง, จาตุรนต์ ฉายแสง, และ เข้ม มฤคพิทักษ์​

    ก่อนจะปิดการเสวนาด้วยการกล่าวถึงแนวคิดการเติบโตด้วยตัวเอง ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำให้เชียงใหม่เติบตัวด้วยประสบการณ์ของตัวเอง เข้าใจตัวเอง และไม่แปรปรวนไปตามกระแสอื่นๆไวจนเกินไป ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน การเติบโตด้วยตัวเองที่ว่านั้น อาจจะทำให้เติบโตได้ช้าลง ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับวิถีทาง​

    ภาพ: ศรีลา ชนะชัย​

    รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ
    #Lanner

    Related

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...

    โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

    เรื่อง: การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์*  คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด”...

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...